แด่เธอผู้หนุ่มสาว : แลกเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เกี่ยวกับขัอวัตรเรื่อง "เครื่องแต่งกาย"


เมื่อเย็นวานนี้ (๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗) ผมมีโอกาสได้สนทนา "ถกเถียง" ตามคำชวนจากนิสิตกลุ่มหนึ่ง ซึ่งรวมหลากหลายทั้งสาขาและชั้นปี มีทั้งคณะศึกษาศาสตร์ (สาขาสังคมศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป) คณะวิทยาลัยการเมืองการปกครอง คณะบัญชี คณะศิลปกรรม ฯลฯ  จำนวนประมาณ ๑๐ คน มาสนทนาแลกเปลี่่ยนกระบวนทัศน์เรื่องหลากหลายเรื่อง เรื่องที่เราคุยกันมากสุดคือ เรื่อง นิสิตกับเครื่องแต่งกาย เขาบอกผมว่านี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "แด่เธอผู้หนุ่มสาว" ที่พวกเขากำลังกระตุ้นให้ เยาวชนรุ่นใหม่ตระหนักในอิสรภาพของใจตนเอง ....

หลังจากคุยไปได้พักใหญ่ ธีรธรรม วงศ์สา (น่าจะเป็นพี่ผู้นำกลุ่มโดยธรรมชาติคนหนึ่ง) ได้โยนประเด็น  FUFS (Free Uniform Free Spiritual) ที่พวกเขา "คิด" และกำลังทำอยู่ในขณะนี้.. เพื่อให้แต่ละคนแสดงความคิดเห็น....  ผมเสนอว่า "การรู้จักตนเอง" ดีที่สุด ดังนี้ครับ

เมื่อมนุษย์สำคัญว่าตนเอง "มีตัวตน" มีตนเอง และมาอยู่ร่วมกันกับคนอื่นเป็นสังคม เกือบทั้งหมดสวม "หัวโขน" บนบริบทและฐานะต่างๆ ทางสังคม บ้างเป็นพ่อ บ้างเป็นแม่ บ้างเป็นพี่ เป็นน้อง บ้างเป็นหมอ ตำรวจ ครู ชาวนา รวมถึง พระสงฆ์องค์เจ้า ก็ถือได้ว่าเป็น "หัวโขน" หนึ่งที่แสดงสู่สังคม เมื่อสวม "หัวโขน" คำว่า "คน" จึงเหมาะสมกว่าคำว่า "มนุษย์"

เมื่อสวม "หัวโขน" คนก็เริ่มใส่เสื้อผ้าหรือใส่ชุด ที่คิดว่าเหมาะสมกับฐานะของตนเอง แสดงถึงความเป็น "เรา" เป็น "ฉัน" มีชุดนักเรียน ชุดนิสิต ชุดพยาบาล ชุดตำรวจ ชุดข้าราชการ ฯลฯ เกิดขึ้นมากมาย ด้วยวัตถุประสงค์เกินไปกว่า "คุณค่าแท้" ของเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ที่ไม่ได้มีไว้ "เชยชม" แต่มีไว้ห่อลมบังแดดและปกปิดความอุจาดตา ป้องกันตัณหาราคะดิบของ "ทรชน" เพื่อความสุขของสังคมส่วนรวม

นอกจากจะสวม "หัวโขน" หลายอัน คนยังใส่เสื้อหลายตัว ทั้งเสื้อที่มองเห็นและมองไม่เห็น มนุษย์ทั่วไปส่วนใหญ่จะรู้ว่ากำลังใส่เสื้อตัวหลังนี้อยู่ ความไม่รู้ "ตัวเอง" นี่เองที่สร้างความขัดแย้งและปัญหามากมาย....

ผมชี้ให้นิสิตในกลุ่มเห็นว่า ทุกคนกำลังใส่เสื้อของ "คุณธรรมพื้นฐานของความเป็นมนุษย์" หรือเรียกว่า "เสื้อคุณธรรม"  ที่เรียกว่าพื้นฐาน หมายถึง หากไม่ใส่จะอยู่สังคมไม่ได้ เสื้อตัวแรกนี้ก็คือ "กฎหมาย" สำหรับผมที่มีศรัทธาทางพุทธศาสนาแล้ว เสื้อคุณธรรมตัวนี้ก็คือ ความดีตาม "ศีล ๕" นั่นเองครับ  เมื่อไหร่ที่ไม่ใส่เสื้อ ไปฆ่าหรือทำร้ายคนอื่น ต้องไปอยู่แยกจากสังคม ในที่นี้คือ ติดคุกติดตาราง ซึ่งเป็นบทลงโทษของสังคม จนกว่าจะมีสิทธิ์ตามกติกาว่าจะได้สวมเสื้อนี้อีกและถูกปล่อยตัวออกมา  การลักขโมย การละเมิดสิทธิ์ทางกาม การโกหกคอรัปชั่น ก็ถือเป็นการถอดเสื้อคุณธรรม ที่ต้องรับโทษทัณฑ์สักวันข้างหน้าแน่นอน  ข้อควรระวังที่สำคัญคือ แม้จะไม่ตั้งใจถอดเสื้อตัวนี้ แต่หากดื่มสุราเมรัย ใจขาดสติครอง ก็อาจต้องรับโทษได้เช่นกัน เพราะท่านจะเผลอถอดเสื้อได้โดยไม่รู้ตัว ทางพุทธจึงห้ามข้อนี้ด้วย

มีนิสิตคนหนึ่งแสดงชัดว่าเข้าใจในสิ่งที่ผมนำเสนอ เขาบอกว่า ผมเข้าใจแล้วว่า การใส่ชุดนิสิตก็เป็นการสวมเสื้อตัวหนึ่ง และการยึดว่าไม่ต้องใส่ชุดนิสิต ก็เป็นการสวมเสื้ออีกตัวหนึ่ง.... ถูกต้องแล้ว การยึดมั่นว่าต้องทำอย่างนี้เท่านั้น ไม่ใช่ทางที่จะทำให้พวกเขาเข้าใกล้ "อิสรภาพ" ได้เลย ....  นั่นคือข้อสรุปเบื้องต้นว่า Free Uniform ไม่ได้ช่วยให้พวกเขา  Free Spiritual ... เป็นเพียงการทิ้งสิ่งหนึ่ง ต่อต้านสิ่งหนึ่ง แล้วไปปล่อยให้ "ใจ" ไปยึดสิ่งใหม่ เท่านั้นเอง ....หากวิเคราะห์ดังนี้ คำตอบคือ "No"

เสื้อตัวที่ ๒ คือ "เสื้อสังคม" ในที่นี้ก็คือ เสื้อที่มาพร้อม "หัวโขน" ฐานะทางสังคม เช่น ชุดตำรวจ ชุดนิสิต ชุดข้าราชการ ฯลฯ เสื้อตัวนี้ เมื่อใส่แล้ว จะต้องปฏิบัติตนตาม "ระเบียบ กติกา" บางอย่าง ที่ถูกสร้างขึ้นจากสังคมนั้นๆ เพื่อความสุข สงบเรียบร้อยของส่วนรวม แม้บางปัจเจกชนหรือบุคคลใดจะไม่พึงใจปฏิบัติตาม ลุกขึ้นมาตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบให้ตนเอง (ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี) เพราะยังไม่ได้คำตอบ จึงไม่ปฏิบัติตาม จึงส่งผลทันทีกับคนอื่นหรือส่วนรวม เกิด "กลุ่ม" ซึ่งหมายถึง "เหมือน" (คนใน "กลุ่ม" ย่อมมีความคิดอะไรบางอย่างเหมือนกัน)

การเปลี่ยนแปลง "กติกา" หรือ "ระเบียบ" หรือในที่นี้คือ เปลี่ยน "เสื้อสังคม" สามารถทำได้ ซึ่งย่อมมีแนวทางหรือกระบวนการปรับเปลี่ยนได้ ผู้ต้องการเปลี่ยนเสื้อตัวนี้ ควรศึกษาให้ดี และผมคิดว่าเขาจะพบว่ามีทางทำได้.... แต่อาจจะมีข้อแม้ว่าผู้เปลี่ยนเปลี่ยนแปลงจะต้องมีหัวใจประชาธิปไตยเต็มเปี่ยม....

ผมพยายามตอบคำถามนิสิตทุกๆ คน ที่ตั้งความเห็นในประเด็นนี้อย่างหลากหลาย... ซึ่งหลายๆ ประเด็นย่อยไม่ตรงกับความเข้าใจของผม เช่น

  • บอกว่า ..หากพวกเขาตั้งใจเรียน ทำงานตามที่ตนเองรับผิดชอบ มาสอบตรงตามเวลา ก็ไม่น่าจะมาบังคับว่าต้องใส่ชุดนิสิต ...การเรียนได้ดี เกี่ยวกับสมอง ไม่เกี่ยวกับชุดนิสิต... ส่วนผมเข้าใจว่า นิสิตมีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ "การปฏิบัติตนตามกฎระเบียบกติกาของมหาวิทยาลัย" ซึ่ง โดยเจตนาแล้ว สิ่งนี้มีไว้ฝึกฝน "กาย" "ใจ" ให้พวกเขาเป็นผู้มี "สัมมาทิฐิ" หรือมีปัญญาและเป็นอยู่เพื่อมหาชน ตามปรัชญาของมหาวิทยาลัยต่อไป 
  • บอกว่า ..ชุดนิสิตทุกวันนี้ ใส่แล้วไม่น่าภูมิใจ บางคนใส่สั้น รัดอกแน่นติ้ว บางคนลอยชาย ขาเดฟ ดูแล้วไม่เรียบร้อย....   ผมตอบทันทีว่า นี่คือสิ่งที่น่าเสียดาย ชุดที่ผมเห็นตอนนี้ตามที่พูดมานั้น ไม่ใช่ชุดนิสิต ไม่ใช่ชุดนิสิตที่ถูกระเบียบ... นิสิตที่แต่งกายไม่ถูกระเบียบเหล่านั้นเอง ที่เป็นผู้ทำลายความภาคภูมิใจของตนเองไป .... ดังนั้น การ Free Uniform  จึงเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ในมุมหนึ่งเป็นเพียงต้นเหตุในใจที่ตกเป็น "ทาส" ของกระแสแฟชั่น ความสะดวกสะบาย อยากได้อยากเป็นเช่นที่ตนอยากให้เป็น... ซึ่งแน่นอนว่า ไม่ใช่ "Free Spiritual"
  • บอกว่า ...ชุดนิสิตหรือ "เสื้อสังคม" อื่นๆ ทำให้เกิดการดูหมิ่น ดูแคลน แบ่งชนชั้น ของคนในสังคม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกันมากขึ้น  เช่น คนที่มีเงินมีฐานะในสังคม จะมีชุดนิสิตใหม่ ผ้าเนื้อดี ราคาแพง แตกต่างจากชุดเก่าเอามาซ่อมหรือใช้มานานของคนจน .... ผมชี้ให้นิสิตเห็นว่า ความเหลื่อมล้ำในลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอย่างมากแบบที่คาดไม่ถึงทีเดียวหากเรา "Free Uniform"..... นี่ก็ไม่ใช่ทางที่จะ "Free Spiritual" 
  • ฯลฯ

มีนิสิตคนหนึ่งเสนอว่า ที่เราต้องมีชุดนิสิตแบบนี้ หรือมีวัฒนธรรมแบบนี้ ถือเป็น "บริบท" หรือ "วัฒนธรรม" ของเรา ซึ่งจะเอาไปเปรียบเทียบกับ "ต่างชาติ ปราชญ์ ตะวันตก" ไม่ได้ ...  ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในประเด็นนี้ ผมใช้เวลาพอสมควรในการอธิบายความเข้าใจเรื่อง "บริบท" ของตนเองให้นิสิตฟัง

ผมเห็นพลังบางอย่างในกลุ่ม "แด่เธอผู้หนุ่มสาว" นี้ที่ผมไม่เคยเห็น  ผมฝันว่า พลังนี้จะถูกใช้ไปในทางที่ถูกและเป็นประโยชน์ทั้งตัวพวกเขาเองและแด่สังคมของ"เธอผู้หนุ่มสาวอื่นๆ" ในวงกว้างต่อไป เลยถือโอกาสตอนท้าย สรุปให้พวกเขาฟังหลายอย่าง พอสรุปเป็น "หลัก" ในการเดินทางของพวกเขา ว่า...

  • เราต้องไม่ตกอยู่ใน "กระแส" แม้จะปฏิบัติตนตามกระแส สิ่งเร้าที่พุ่งเข้ามาหาใจ จะต้องถูกวินิจฉัยอย่างรอบด้านรอบคอบด้วยตน ด้วยความไม่ประมาท และถือเป็นการฝึกฝน "ตนเอง" เพื่อให้รู้จักตนเองดีขึ้นเรื่อยๆ 
  • การศึกษาเพื่อใคร? การศึกษาคือ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาฝึกฝนตนเองเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น การศึกษาหรือการกระทำใดๆ จะดีที่สุด ถ้าถึงพร้อมด้วย "ประโยชน์ตน" และ "ประโยชน์ท่าน" หรือก็คือประโยชน์ส่วนรวมนั่นเอง ....สิ่งนี้สำคัญต่อประเทศไทยมาก โดยเฉพาะขณะนี้ 
  • ดังนั้นก่อนที่กลุ่มจะทำอะไรๆ ต่อไป ให้พิจารณาว่า สิ่งที่จะทำต่อไปนั้นถือเป็นเหตุ ที่จะก่อให้เกิดสิ่งใดหรือส่งผลกระทบต่อใครอย่างไรบ้าง จะมีผลดีผลเสียอย่างไรหรือไม่ เป็นผลดีมากกว่าผลเสีย หรือเป็นผลเสียมากกว่าผลดี 

ตอนท้ายๆ เราคุยกันเรื่องประเด็นอื่นๆ  ที่น่าสนใจ และผมเองก็ยินดีที่จะสนับสนุนทุกวิธีที่ทำได้ ให้พวกเขาต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้น

แต่วันนี้ โดยส่วนตัว ผมคิดว่า การ Free Uniform ไม่ได้ Free Spiritual ครับผม

 

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ฤทธิไกร

หมายเลขบันทึก: 561874เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 19:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2014 22:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ธีรธรรม วงศ์สา..หรือพี่ท็อป..เป็น ไอดอล ของผมเลยครับในด้านของการเเต่งเพลง...

ผลงานที่ออกมาจากใจ จะบ่งบอกสภาพของใจในขณะนั้นด้วย .... ดังนั้น ถ้าต้องการผลงานที่ลึกซึ้งกินใจ จะต้อง ฝึกใจให้ ลึกซึ้งถึงธรรม เพราะธรรมชาติ คือธรรมดา ไร้ท่า ไร้กรอบ ไร้ที่ครอบ ไร้กระบวน....

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท