ข้างเก้าอี้มีการโบ้ย


ทันตแพทย์ในฐานะ "เจ้าของไข้" หรือ "ผู้ขายบริการสุขภาพ"

การให้บริการทันตกรรม มองเผินๆ คงเข้าใจได้ว่า ไม่มีอะไรมาก หมอคนเดียวน่าจะทำได้ทุกอย่าง

แต่ในความเป็นจริงนั้น หมอฟันประมาณครึ่งหนึ่งศึกษาต่อเฉพาะทาง และมีแนวโน้มที่จะทำงานเฉพาะ หรือเน้นหนักในสาขาที่ตนได้ศึกษามา

 

 ทันตแพทย์ทั่วไป หรือ หมอ GP นั้น ว่าตามปริญญา DDS ทบ. สามารถให้บริการบำบัดความทุกข์เบื้องต้น อันเนื่องด้วยโรคในช่องปากของเพื่อนมนุษย์ได้

 

ปัญหามันอยู่ที่ว่า สภาวะ หรือโรคบางอย่าง เกินกว่าความสามารถ GP ตาดำๆ จะให้บริการได้ จึงมีสิ่งที่เรียกว่า "การส่งต่อ" ให้ทันตแพทย์เฉพาะทางได้แก้ปัญหาต่อ

 

ความทุกข์คงจะไม่เกิดขึ้นหากหมอผู้ส่งต่อ ได้บำบัดความทุกข์เบื้องต้นให้หายปวด หรืออย่างน้อยก็บอกผู้ป่วยว่า เกิดอะไรขึ้น ฉันช่วยเธอไม่ได้เพราะอะไร จะส่งไปหาใคร ที่ไหน และจะได้รับบริการเมื่อใด ระหว่างนี้ควรทำตัวอย่างไรบ้าง

 

ผมอยากให้ศิษย์ของผมเข้าใจเบื้องต้นว่า คนไข้ที่มาพบเรานั้น ส่วนมากมิได้มาช้อปปิ้ง มิได้มาเพื่อ “เลือกซื้อ” บริการที่ดีที่สุด และถูกที่สุด แต่เขามาหาคนที่สามารถเป็นที่พึ่ง คนที่สามารถไว้ใจว่าจะแก้ปัญหาความทุกข์ให้เขาได้

 

เราไม่ใช่ผู้ขายบริการสุขภาพช่องปาก แต่เราเป็นคนที่มีความสามารถจัดการกับความทุกข์อันเนื่องจากโรคในช่องปากได้

 

การจัดการนั้น แน่นอนว่า หลายเรื่องอยู่ในขอบเขตความสามารถของเรา และหลายเรื่องที่เราไม่สามารถทำเองได้ แต่สิ่งที่เราทำได้แน่ๆ คือการส่งต่อที่เป็นระบบ มีมารยาท และมีการติดตาม

 

ในฐานะ GP ผมมีความสุขที่จะได้รักษา ส่งต่อ ติดตาม คนที่ผมเป็น “เจ้าของไข้” (เป็นคำที่ผมไม่ชอบเอาเสียเลย ผมอยากใช้คำว่า “ผู้ดูแลสุขภาพช่องปาก” มากกว่า) จนกระทั่งเขาปราศจากความเจ็บปวด เคี้ยว พูด กลืน เข้าสังคม และสามารถป้องกันโรคด้วยตนเองได้

 

สำหรับผม มารยาทในการส่งต่อเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งมารยาทต่อหมอผู้รับต่อ และมารยาทต่อคนไข้ ผมคิดว่า การบอกคนไข้แค่ว่า ที่นี่ทำไม่ได้แล้ว ให้ไปหาหมอที่อื่นแทนนั้น ไม่เพียงพอ ผมคิดว่าในฐานะเจ้าของไข้ เราควรจะทราบว่า คนไข้ควรไปรักษากับใคร ที่ไหน เป็นไปได้ควรจะนัดให้เสียด้วยซ้ำ 

 

เรื่องที่รันทดมากคือการที่ปล่อยให้คนไข้ไปช้อปปิ้งตามสถานบริการต่างๆ ด้วยตัวเองสุ่มเข้าไปตามที่ต่างๆ เพื่อที่จะพบว่า ที่นี่รักษาคุณไม่ได้ รักษาลูกคุณไม่ได้ ผมเรียกสถานการณ์แบบนี้ว่า มรสุมของการโบ้ย บางครั้งคนไข้ต้องไป ช้อปปิ้งตามสถานบริการต่างๆ ถึงสามสี่ที่ กว่าจะพบเฉพาะทางที่มีคิวว่างรักษา

 

ผมตั้งใจว่าผมจะไม่เป็นหมอขี้โบ้ย คนไข้ที่ผมเป็นเจ้าของไข้ ต้องได้รับการแก้ปัญหาเบื้องต้นอย่างสุดความสามารถเสียก่อน หากเกินกำลัง เขาจะต้องทราบว่าจะได้ไปรักษากับใคร ที่ไหน และเมื่อใด 

 

ชั่วชีวิตของทันตแพทย์ GP คนหนึ่ง หากเขาได้เป็นเจ้าของไข้สัก ห้าพันราย สามารถ “ดูแล” กล่าวคือทั้งทำเองและส่งต่อ ให้คนเหล่านี้ปราศจากความทุกข์อันมีสาเหตุจากโรคในช่องปาก สำหรับผมนั้นเห็นว่านี่เป็นสัมมาชีพ ที่มีคุณค่าและมีความหมายอย่างยิ่งแล้ว

 

 

หมายเลขบันทึก: 561294เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 20:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2014 12:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้าใจผิดคิดว่า โบ้ยการเลือกตั้งว่าไม่ต้องมีเสียงฝ่ายค้านก็ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท