โรคข้อเข่าเสื่อม


สารพันปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม

ข้อเข่าเสื่อมโดยผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์

โรคข้อเข่าเสื่อม นับว่าเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งในผู้สูงอายุทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเวลาเดิน ขาโก่ง การทรงตัวของร่างกายไม่ดี ร่างกายเสียสมดุล มีโอกาสเกิดการหกล้มได้ง่าย มีผลทำให้เกิดกระดูกหักตามมาโดยเฉพาะกระดูกตะโพกหักในผู้สูงอายุ ในคนไทยมีผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมากถึง 6 ล้านคน

 

 

อาการปวดเข่าในโรคข้อเข่าเสื่อมเกิดจากสาเหตุใด?

1. มีการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า ทำให้ข้อเข่ามีอาการบวมตึง เนื่องจากเยื่อบุข้อที่อักเสบมีการสร้างน้ำไขข้อที่ไม่มีคุณภาพออกมาในปริมาณมากจึงทำให้เกิดอาการบวมตึงขึ้นภายในข้อเข่า คล้ายกับลูกโป่งที่ขยายตัวออกทำให้ข้อเข่าตึงมากขึ้นมีอาการปวดบริเวณหลังเข่าเหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด

2. เกิดกระดูกงอกรอบ ๆ บริเวณข้อเข่า อันเนื่องมาจากเกิดความไม่มั่นคงของข้อเข่า ร่างกายตอบสนองด้วยการพยายามสร้างกระดูกรอบ ๆ ข้อเข่าขึ้นมาทดแทน กระดูกที่งอกขึ้นมาใหม่นั้นไปเบียดเนื้อเยื่ออ่อนรอบ ๆ บริเวณข้อเข่ามีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดเข่าเพิ่มมากขึ้นในอิริยาบถที่งอเข่านาน เช่นท่านั่งคุกเข่า นั่งขัดสมาธิ นั่งพับเพียบ เวลาลุกขึ้นยืนจึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดรอบ ๆ บริเวณข้อเข่า

3. มีการฉีกขาดของเส้นเอ็น และหมอนรองกระดูก มีการทำลายกระดูกที่บริเวณกระดูกใต้ต่อผิวข้อ

4. กระดูกบริเวณข้อเข่าทั้ง 2 ด้าน มาเสียดสีกันทำให้มีอาการปวดมากขึ้นในขณะที่ผู้ป่วยนั่งนาน ๆ แล้วจะลุกขึ้นผู้ป่วยจะมีความรู้สึกเหมือนกับต้องพยายามตั้งไข่ก่อนที่จะเดิน ไม่เหมือนกับช่วงที่เป็นหนุ่มสาว อันเนื่องมาจาก โรคข้อเข่าเสื่อมมีการทำลายกระดูกอ่อนผิวข้อ ซึ่งกระดูกอ่อนผิวข้อจะทำหน้าที่ลดแรงกระแทกบริเวณข้อเข่าและทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าเป็นไปอย่างคล่องตัว ดังนั้นเมื่อกระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลายลงจึงทำให้การเคลื่อนไหวของข้อเข่าลำบาก

5. ในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมักจะมีหมอนรองกระดูกสันหลังเสื่อมร่วมอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการปวดเข่าจะทำให้ผู้ป่วยเสียสมดุลในการเดินทำให้เกิดอาการเดินกะเผลกซึ่งจะส่งผลต่อการรับน้ำหนักของกระดูกสันหลัง ทำให้เกิดการอักเสบของกระดูกข้อต่อบริเวณสันหลัง มีผลทำให้ผู้ป่วยอาจจะมีอาการปวดหลังร่วมกับอาการปวดร้าวลงเข่าและน่องร่วมด้วย

6. มีการทำลายกระดูกบริเวณข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น เพิ่มความดันภายในโพรงกระดูกใต้ผิวข้อเข่า มีอาการปวดของกระดูกในตำแหน่งนั้น ๆมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง ควรรับประทานยาลดปวดอะไรบ้าง ยาที่ใช้มีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง? ยาส่วนใหญ่ที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดในโรคข้อเข่าเสื่อมชนิดรับประทานได้แก่ ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยาที่มีประสิทธิภาพดี ผลข้างเคียงน้อย สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ได้ถึง 6 เม็ดต่อวัน

 

 

 

แต่กลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคตับแข็ง และโรคตับอักเสบ ควรระมัดระวังในการใช้ยาในกลุ่มนี้ เพราะอาจจะมีผลทำให้อาการโรคตับที่เป็นอยู่แย่ลงได้ ยาลดการอักเสบ (NSAIDs) ซึ่งเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาอาการปวดให้แก่ผู้ป่วย เป็นกลุ่มยาที่มีประสิทธิภาพในการลดปวดได้ดี ปัญหาส่วนใหญ่ของยาในกลุ่มนี้มักจะมีผลข้างเคียงได้แก่ อาการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร หรืออาจทำให้เกิดอาการเลือดออกภายในระบบทางเดินอาหารได้ ถ้าใช้ในผู้สูงอายุ หรือใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับการใช้ยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด

ข้อห้าม สำหรับการใช้ยาในกลุ่มนี้ได้แก่ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคไต หรือไตวาย และผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจขาดเลือดไปเลี้ยง และกลุ่มผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนที่หลอดเลือดหัวใจ

 

 

การฉีดยาสเตียรอยด์มีประโยชน์และโทษอย่างไรบ้าง?

ในกรณีที่ข้อเข่ามีการอักเสบมาก ร่วมกับตรวจร่างกายแล้วพบว่าข้อเข่าบวม ตึง มีน้ำในข้อเข่าซึ่งเกิดจากการอักเสบของเยื่อบุข้อเข่า สามารถรักษาด้วยการดูดเอาน้ำในข้อเข่าที่มีการอักเสบออกมาได้ เพื่อลดความดันภายในข้อเข่า ร่วมกับการฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบได้โดยตรง จะช่วยลดอาการปวดให้ผู้ป่วยได้อย่างมาก ในมาตรฐานการรักษาทั่วไปแนะนำว่าไม่ควรฉีดยาเข้าข้อเข่ามากกว่า 3-5 ครั้งต่อปี อย่างไรก็ตาม การใช้ยาสเตียรอยด์ฉีดเข้าข้อเข่าได้บ่อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของยาสเตียรอยด์ที่ฉีดเข้าข้อเข่า และความรุนแรงของโรคข้อเข่าอักเสบ ซึ่งถ้าในกรณีที่มีการทำลายของข้อเข่าอย่างมาก ร่วมกับอาการขาโก่งมาก ๆ มักจะแนะนำผู้ป่วยรับการรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม

 

 

การใช้ไม้เท้าในการช่วยเดินมีประโยชน์หรือไม่?

แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อ เข่าเสื่อมใช้ไม้เท้าในการช่วยพยุงตัวในขณะเดิน ให้ถือไม้เท้าด้านตรงข้ามกับข้อเข่าข้างที่ปวด เพราะจะช่วยในการแบ่งรับน้ำหนักของข้อเข่าข้างที่มีการอักเสบ มีอาการปวด เพราะส่วนใหญ่คนทั่วไปจะมีความเข้าใจผิดคิดว่าถ้ามีอาการปวดเข่าข้างไหนก็จะถือไม้เท้าข้างนั้น

ในกรณีที่มีอาการปวดเข่ามาเป็นระยะเวลานาน ขาโก่งมาก ๆ โดยเฉพาะตอนที่เดิน มีผลรบกวนต่อการใช้ชีวิตประจำวันมาก ๆ แนะนำให้ปรึกษากับแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งด้วยเทคโนโลยี และเทคนิคการผ่าตัดในปัจจุบัน ช่วยทำให้ผลลัพธ์ของการผ่าตัดได้ผลดีมาก และผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติ และท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามใจหมาย

 

 

ผศ.นพ.ธนินนิตย์ ลีรพันธ์ ภาควิชาออร์โทปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[email protected]

www.taninnit.com

Facebook: Dr.Keng หมอเก่ง

line ID search : keng340

 

(ขอบคุณ สารพันปัญหาโรคข้อเข่าเสื่อม จากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์)

 

ด้วยความปรารถนาดี กานดา แสนมณี

วันอาทิตย์ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๕๕๗

หมายเลขบันทึก: 561290เขียนเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 19:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

...หากโรงพยาบาลศิริราช ศึกษาวิจัยการใช้ stem cells ในการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมสำเร็จ ก็จะช่วยลดอาการเจ็บปวดจากการผ่าตัดได้มากนะคะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท