งานวิจัยเรื่อง ประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง


ปัญญฎา  ประดิษฐบาทุกา 1 , สธญ  ภู่คง 2

 1 สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

2สถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

 

บทคัดย่อ

         การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและบรรยายประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  ผู้ให้ข้อมูล คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด  จำนวนทั้งสิ้น 4 คน  เป็นนักศึกษาหญิง จำนวน  2 คน  และเป็นนักศึกษาชาย จำนวน 2 คน     (นักศึกษาระดับปริญญาตรี)  เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการตามขั้นตอนของการศึกษาคุณภาพปรากฏการณ์วิทยาเชิงประจักษ์ (Empirical Phenomenology) โดยใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  การสังเกตแบบไม่มี    ส่วนร่วม และการบันทึกเทป ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 ถึงต้นเดือนกันยายน 2551  และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีของจอร์จี่ (Giorgi) ผลการศึกษาพบว่า        

         ความหมายของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา  เป็นสถานการณ์ที่ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่าเกิดความไม่เข้าใจกัน  คิดกันคนละอย่าง หรือทำอะไรไม่ตรงกับความต้องการ              เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการให้ความหมายของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา 

         ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างตนกับคู่รัก  มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง  ได้แก่             การนอกใจ  การดูแลเรื่องเงิน  งานบ้าน  และการใช้เวลาร่วมกัน

         ลักษณะของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่าลักษณะของความขัดแย้งระหว่างตนกับคู่รัก มี 2 ลักษณะ  ได้แก่  ความโกรธ  และการสื่อสารที่       ไม่เหมาะสม

         การจัดการความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา ได้แก่     การหลีกหนี  และการปรับความเข้าใจกันและร่วมมือกัน  ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่าการจัดการความขัดแย้งระหว่างตนกับคู่รัก มี 2 วิธี ได้แก่ การหลีกหนี  และการปรับความเข้าใจกันและร่วมมือกัน 

         จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า ผู้ให้ข้อมูลตระหนักว่าความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา คือ ความไม่เข้าใจกัน หรือความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก  และถ้าพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของนักศึกษาที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง             

 


บทนำ / Introduction

         ปรากฏการณ์การใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน หรือการอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาของชายและหญิงที่ไม่ได้ผ่านพิธีกรรมการแต่งงานในทางกฎหมาย (cohabitation)  นั้น  เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมต่าง ๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน  ซึ่งต่างก็มีรูปแบบของการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานแตกต่างกันไปในแต่ละสังคม (โสพิณ หมูแก้ว.2544:1 อ้างอิงจาก  Secombe. 1992:54 and Berardo.1995)  และแนวโน้มของการอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานกำลังทำให้การแต่งงานลดน้อยลงซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก (A Kwak. 1996:17) 

         ในสังคมอเมริกันการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันระหว่างชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันนี้มี   ความหมายถึง  “การอยู่ร่วมกันก่อนแต่งงาน”  คือ เป็นขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเกี้ยวพาน (courtship)  ก่อนที่จะมีการตัดสินใจแต่งงานกัน  และจากการศึกษาของเดวิด และบาร์บาร่า (David Popenoe and Barbara Dafoe Whitehead.2002:5) กล่าวว่า หลังจาก  5 ปี ถึง 7 ปี ของคู่หญิงชายที่อยู่ด้วยกันก่อนแต่งงาน  จะแยกทางกันถึงร้อยละ 39  แต่งงานกันร้อยละ  40  และร้อยละ 21 ก็ยังคงอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน   และเดวิดกับบาร์บาร่ายังพบว่า การอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานในสังคมอเมริกันนับเป็นวิถีชีวิตของการใช้ชีวิตครอบครัวแบบใหม่ที่กำลังมีความสำคัญสำหรับสังคมอเมริกัน  ซึ่งคำนิยามง่ายของการอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานนั้น  เป็นการแสดงถึงสถานะของคู่ชีวิตที่เป็นพวกรักเพศเดียวกัน หรือรักเพศที่ต่างกันซึ่งอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน  และมีการใช้ชีวิตร่วมกัน  ซึ่งในปีค.ศ.2000  คู่ชีวิตที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานในประเทศอเมริกา มีจำนวนทั้งสิ้น 4,750,000 คู่ ซึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 500,000  คู่จากปีค.ศ.1960  และ 1 ใน 4  ของผู้หญิงที่ใช้ชีวิตคู่โดยไม่ได้แต่งงานในลักษณะนี้มีอายุระหว่าง  25-39  ปี  และยังพบว่าคนหนุ่มสาวระดับอุดมศึกษาเห็นด้วยกับการใช้ชีวิตคู่ในลักษณะนี้        

         สำหรับในสังคมไทยนั้น  การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาของคู่ชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันยังมีการศึกษาอย่างเป็นระบบค่อนข้างน้อยมาก  แต่ก็เป็นลักษณะของการรับรู้จากสื่อต่างๆ เช่น หนังสือพิมพ์  รายการโทรทัศน์ เป็นต้น  ซึ่งลักษณะการรับรู้ดังกล่าวจะเป็นในรูปแบบของ “การอยู่ก่อนแต่ง”  ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมานานแล้วในสังคมไทยและมีแนวโน้ม   การเกิดปรากฏการณ์นี้สูงขึ้นเรื่อยๆ  และจากการศึกษาพบว่า ในจำนวนคู่หญิงชายที่ใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน  เพียงร้อยละ 52 เท่านั้นที่มีการจดทะเบียนสมรส (นภาพร ชโยวรรณ, มาลินี  วงสิทธิ์  และวิภรรณ  ประจวบเหมาะ.2538: บทคัดย่อ)  เหตุผลหนึ่งของการอยู่ร่วมกันแบบนี้เพื่อ “ทดลอง”  ว่าจะไปด้วยกันได้หรือไม่  และหากมีปัญหาก็จะเลิกกันได้ง่าย  การอยู่ร่วมกันแบบนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ชีวิตคู่สิ้นสุดลงได้ง่ายเพราะไม่มีพันธะทางกฎหมายที่จะยึดเหนี่ยวกัน

         ด้วยเหตุที่การศึกษาปรากฏการณ์การใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันฉันท์สามีภรรยาของคู่ชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานในสังคมไทยที่เป็นวิชาการอย่างเป็นระบบยังมีอยู่น้อยและไม่แพร่หลาย  ทำให้ขาดข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงและไม่สามารถยืนยันตามหลักวิชาการได้ว่าการอยู่ร่วมกันของคู่ชายหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานกันนี้ในความเป็นจริงของกลุ่มคนเหล่านี้เป็นอย่างไร  ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีหลายกลุ่ม  แต่ส่วนใหญ่ที่สื่อนำเสนอนั้นมุ่งสนใจไปที่กลุ่มนักศึกษา  โดยมีการนำเสนอว่ามีการอยู่ร่วมกันเป็นคู่สามีภรรยาของนักศึกษาตามหอพัก  แมนชั่น หรือบ้านเช่าต่างๆ เป็นจำนวนมาก  และจากการที่ผู้วิจัยเป็นอาจารย์ผู้สอนทางด้านจิตวิทยาและการแนะแนว  โดยได้ทำการสอนวิชาพฤติกรรมมนุษย์กับการพัฒนาตน  วิชาการพัฒนาตนเพื่อความสุขของชีวิต และวิชาเพศวิถี  ทำให้ได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษา  และจากการเปิดเผยของนักศึกษาพบว่า มีนักศึกษาชายหญิงที่อยู่ด้วยกันเป็นคู่ ๆ  ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ด้วยกันอย่างเป็นครั้งคราว  หรือการอยู่ร่วมกันอย่างถาวร  ซึ่งส่วนใหญ่จะมีปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องของความสัมพันธ์  เช่น  ความขัดแย้ง  แฟนนอกใจ  ฯลฯ  ซึ่งปัญหาต่าง ๆที่เกิดขึ้นกับนักศึกษาเหล่านี้  ทำให้เกิดผลกระทบตามมา คือปัญหาทางด้านการเรียน  และปัญหาอื่น ๆอีกหลายด้าน  สอดคล้องกับงานวิจัยของมาโนช หล่อตระกูล. (2544:37-48)  ที่ศึกษาเรื่อง สภาพปัญหาและ   การปรับตัวในชาย-หญิง ผู้พยายามฆ่าตัวตาย  พบว่าปัญหากดดันที่สำคัญของเพศหญิง คือ  คู่ครองนอกใจ  ถูกทุบตีร่างกาย   คู่ครองไม่ไว้วางใจ และอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน  สอดคล้องกับการศึกษาของเดวิด และบาร์บาร่า (David Popenoe and Barbara Dafoe Whitehead.2002:4)  กล่าวว่า  การอยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงานของคู่ชายหญิง  ซึ่งในระยะยาวจะมีความผูกพันกันต่ำ  อีกทั้งมีแรงจูงใจต่ำใน  การที่พัฒนาเพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้น และขาดทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตคู่  และสอดคล้องกับงานวิจัยของรจนา  กุลรัตน์ (2545:34) ที่ศึกษาเกี่ยวกับการทดลองหาประสิทธิผลของคู่มือเทคนิคการครองคู่ชีวิต  พบว่าในการครองคู่ชีวิต   ร้อยละ 78.3  มีปัญหา  อีกร้อยละ 21.7  ไม่มีปัญหา  ผู้ที่มีปัญหาพบว่า  ส่วนมากร้อยละ 73.3  มีความขัดแย้งไม่เข้าใจกันในเรื่องต่างๆ  รองลงมาร้อยละ 16.7  มีปัญหาการถูกนอกใจอีกร้อยละ 16.7, 11.7, และ 6.7  ซึ่งเป็นปัญหาที่ลดหลั่นกันมาตามลำดับ  ได้แก่  การไม่ได้รับ  การช่วยเหลือการเงิน  ไม่มีความสุขทางเพศ  และถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย  ซึ่งสอดคล้องกับอุมาพร  ตรังคสมบัติ(2545:120)  กล่าวว่า  ปัญหาในชีวิตคู่  ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างคู่ชีวิต  ได้แก่  แก้ไขปัญหาและความขัดแย้งอย่างไม่มีประสิทธิภาพ  อีกทั้งยังกล่าวว่า  ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดทุกรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคู่รัก  คู่สมรส   ยิ่งอยู่ใกล้ชิดกันมากเท่าไหร่  ความขัดแย้งก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น  ถ้าพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของการใช้ชีวิตคู่อย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลาและในทุกเรื่อง 

         จากที่กล่าวมาในข้างต้นยังคงเป็นมุมมองจาก “ผู้ชมทางสังคม”  (social audience)  ซึ่งเป็น “คนนอก”  ที่มีความคิดเห็นต่อพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา  ซึ่งจะมุ่งสนใจในมุมมองที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศ  หรือปัญหาทางเพศสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น  การส่ำส่อนทางเพศ    การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของนักศึกษา  การทำแท้ง  เป็นต้น  ผู้วิจัยจึงมีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาจากมุมมองของ “คนใน”  คือตัวนักศึกษาผู้ที่กำลังใช้ชีวิตคู่อยู่กินฉันท์สามีภรรยา  ถึงปัญหาความขัดแย้งและการปรับตัวของพวกเขาว่าให้คำอธิบายต่อพฤติกรรม หรือสิ่งนี้อย่างไร  การศึกษาครั้งนี้จึงดำเนินการตามระเบียบวิธีการวิจัย            เชิงคุณภาพ (qualitative research)  เนื่องจากเป็นวิธีการวิจัยที่จะเปิดโอกาสให้ผู้วิจัยได้สามารถร่วมรับรู้และเข้าใจโลก   (life-worlds) ของผู้ถูกศึกษาไม่ว่าจะเป็นความคิด  ความรู้สึกและพฤติกรรม  ความหมายของสิ่งต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ชีวิตของผู้ถูกศึกษา  ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้จะทำให้ได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ลึกซึ้ง  และทำความเข้าใจในประเด็นที่ศึกษามากยิ่งขึ้น  รวมทั้งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของเยาวชนไทยต่อไป

 

วัตถุประสงค์การวิจัย

         เพื่อสำรวจและบรรยายประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันระหว่างโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  โดยมีคำถามการวิจัยดังนี้

            คำถามวิจัยหลัก

               นักศึกษามีประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันระหว่างโดยไม่ได้แต่งงานอย่างไร

         คำถามวิจัยรอง

                    1.    นักศึกษาให้ความหมายของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานไว้อย่างไร

               2.    เงื่อนไขอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการให้ความหมายของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา

               3.    นักศึกษารับรู้ลักษณะของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานไว้อย่างไร

               4.    ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษาในแต่ละเรื่องราวมันจบอย่างไร

 

วิธีดำเนินการวิจัย

         1.     อุปกรณ์ในการวิจัย       

                    เนื่องจากผู้วิจัยเป็นอุปกรณ์  หรือเป็นเครื่องมือสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูล  และยังใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งจะต้องเตรียมให้พร้อมที่จะใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ดังต่อไปนี้

                    1)      แนวคำถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล  ซึ่งประกอบด้วย  2  ส่วน  ได้แก่ 

                     ส่วนที่ 1  แนวคำถามเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล  และ

                     ส่วนที่ 2  แนวคำถามเกี่ยวกับการตอบคำถามการวิจัย

               2)   ที่บันทึกเทป  1  เครื่อง (RC Recorder) 

               3)   อุปกรณ์การบันทึกเทป  ได้แก่  แบตแตอรี่ 

               4)   สมุดบันทึกที่สะดวกในการบันทึกและสะดวกในการพกพาเพื่อจดบันทึกภาคสนาม เช่น บันทึกคำพูด  สีหน้า  ท่าทาง พฤติกรรม 

               5)   ผู้ให้ข้อมูล คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจงตามคุณสมบัติที่กำหนด  จำนวนทั้งสิ้น 4 คน  เป็นนักศึกษาหญิง จำนวน  2 คน  และเป็นนักศึกษาชาย จำนวน 2 คน (นักศึกษาระดับปริญญาตรี) ที่กำลังอยู่ร่วมกันเป็นคู่ฉันท์สามีภรรยาตามอพาร์ทเมนต์   

         2.     ระเบียบวิธีวิจัย               

                    การศึกษาครั้งนี้ต้องการเข้าถึงความจริงทางสังคมในโลกเชิงประจักษ์เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษาจากมุมมองหรือประสบการณ์ของนักศึกษาเหล่านั้นเอง    ซึ่งเป็นประสบการณ์ในชีวิตประจำวันของบุคคล  และนักศึกษามีการตีความหมายจากสิ่งที่ประสบอย่างไร  อีกทั้งประสบการณ์ชนิดเดียวกันย่อมมีแก่นแท้ (essence)  ดังนั้นจึงเป็น   การวิจัยเชิงคุณภาพตามแนวปรากฏการณ์วิทยาเชิงประจักษ์  โดยใช้วิธีการของ Giorgi ทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่  1)  นิยามคำถามการวิจัย  2) การดำเนินงานก่อนการศึกษาเบื้องต้น  3) เลือกทฤษฎีที่ใช้ในการอ้างอิง  4)  ศึกษาสิ่งที่สร้างขึ้นในลำดับที่ 1  5) สร้างสิ่งที่สร้างขึ้นในลำดับที่ 2  6)  ตรวจสอบผลที่เกิดขึ้นจากการไม่เจตนา  และ 7)  ความสัมพันธ์ของหลักฐานวรรณกรรมเชิงวิทยาศาสตร์กับการศึกษาภาคสนามเชิงประจักษ์   และวิเคราะห์ข้อมูล  ได้แก่  1) การรวบรวมข้อมูลที่ได้จากการคำพูด  2)  การอ่านข้อมูล  3) หน่วยความหมาย  4) หน่วยการเปลี่ยนรูป  และ 5) โครงสร้างของปรากฏการณ์ ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก  การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการบันทึกเทป ระหว่างปลายเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2551 ถึงต้นเดือนกันยายน 2551  ซึ่งสัมภาษณ์จนกว่าจะได้ข้อมูลไม่เปลี่ยนแปลง                    จึงหยุดสัมภาษณ์  แล้วจึงอาศัยกรอบแนวความคิดการครองชีวิตคู่  ความขัดแย้ง  การจัดการความขัดแย้ง  และทฤษฎีการปฏิสังสรรค์มาวิเคราะห์และบรรยายประสบการณ์ที่ได้จากข้อมูล   และใช้การตรวจสอบความตรง  โดยนำข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์มาถอดเทป  แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปย้อนถามผู้ให้ข้อมูลอีกครั้ง  ทั้งนี้เพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูลว่าเป็นจริงและตรงกับการรับรู้ของผู้ให้ข้อมูลแต่ละราย

                       

ผลการวิจัยและอภิปรายผล

            การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพแนวปรากฏการณ์วิทยาแบบเชิงประจักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและบรรยายประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  โดยจะนำเสนอผลการวิจัยเป็น 2 ส่วนคือ

         ส่วนที่ ข้อมูลส่วนตัว

               คู่ที่ 1   นุ่น  อายุ  22  ปี  แฟนอายุ  22  ปี  เป็นแฟนกันมา 8 ปี  อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน  4  ปี   นุ่นกับแฟนอยู่กันคนละมหาวิทยาลัย

               คู่ที่ 2   ฝน  อายุ 23  ปี  แฟนอายุ  22  ปี  ฝนเป็นเพื่อนกับนุ่น คบกับแฟนมาได้ 4 ปี  อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน 4 ปี  ฝนกับแฟนอยู่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

               คู่ที่ 3เอก  อายุ 24 ปี  แฟนอายุ      22  ปี  เป็นแฟนกัน 2 ปีกว่า อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน  2  ปี

               คู่ที่ 4  ทิ อายุ 26 ปี แฟนอายุ 22 ปี  เป็นแฟนกันมา 4 ปี อยู่ด้วยโดยไม่แต่งงาน   4 ปี

         ส่วนที่ 2 ข้อมูลตอบคำถามการวิจัย

                    การนำเสนอผลการวิจัยในส่วนที่ 2  เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงปรากฏการณ์เกี่ยวกับความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง  พบว่า ปรากฏการณ์ประกอบด้วย 4 หัวข้อ คือ  1) ความหมายของความขัดแย้ง  2) เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง  3) ลักษณะของความขัดแย้ง  และ 4)  การจัดการความขัดแย้ง

 

ตารางที่ แสดงข้อมูลตอบคำถามการวิจัย

ความขัดแย้ง

ความหมาย

เงื่อนไขที่เกี่ยวข้อง

ลักษณะ

การจัดการ

ความไม่เข้าใจกัน หรือ คิดคนละอย่าง หรือ ทำอะไรไม่ตรงตามความต้องการ

1. การนอกใจ

2. การดูแลเรื่องเงิน

3. งานบ้าน

4. การใช้เวลาร่วมกัน

  1. ความโกรธ

2. การสื่อสารที่ไม่เหมาะสม

1. หลีกหนี

2. การปรับความเข้าใจและร่วมมือกัน

 

                    1.     ความหมายของความขัดแย้งจากการศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 4 ราย  รับรู้และให้ความหมายของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา คือ  การไม่เข้าใจกัน  คิดกันคนละอย่าง หรือทำอะไรไม่ตรงกับความต้องการสอดคล้องกับมอริส (Morris. 1990 : 495) ให้ความหมายของความขัดแย้งในชีวิตคู่สมรสว่า คือ ความไม่ลงรอยกัน  หรือความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคู่สมรส          สืบเนื่องมาจากผลของความไม่ลงรอยกันด้านความต้องการ  จุดประสงค์  และความคาดหวังของคู่สมรส   การอยู่ด้วยกันมานานไม่ได้เป็นเครื่องรับรองว่านักศึกษาที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานจะเข้าใจกันเสมอไป  ทั้งนี้เพราะบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  เป็นไปได้ยากที่จะสามารถเดาใจกันถูกต้องเสมอ  อีกทั้งหากพิจารณาจากความแตกต่างของชายและหญิง  จะเห็นได้ว่า เพศหญิงเป็นเพศที่มีความละเอียดอ่อน ช่างจดจำ  ช่างคิด  และใส่ใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ  มีความคาดหวังในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันมากกว่าเพศชาย  ในขณะที่เพศชายไม่ได้มีความละเอียดอ่อนดังเช่นเพศหญิง  และผู้หญิงชอบที่จะพูดคุยมากกว่า เมื่อเทียบกับผู้ชาย  และผู้หญิงยังแสดงออกทางด้านอารมณ์ความรู้สึกมากกว่า  ในขณะที่ผู้ชายไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์มากนัก  การที่ฝ่ายหนึ่งไม่แสดงความรู้สึก หรือบอกความต้องการให้ชัดเจน  ย่อมทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถเข้าใจความคิดของตนได้  ซึ่งก็จะเป็นความขัดแย้งในที่สุด ดังที่นุ่นและเอก กล่าวไว้ 

               “จากที่เคยเจอเหตุการณ์ความขัดแย้งหนูรู้สึกว่าความขัดแย้งมันเป็นความไม่เข้าใจกัน  คือ ไม่เข้าใจกัน”(สัมภาษณ์นุ่นวันที่ 8 ส.ค. 2551)

               “ความไม่เข้าใจกัน คือ คิดกันคนละอย่าง ทำอะไรไม่ถูกใจ ก็หาเรื่องทะเลาะกัน บางครั้งสั่งให้ทำอะไรให้ ไม่ได้ทำให้ก็ทะเลาะกัน เค้าก็ว่าเรา ด่าเรา ส่วนเราก็มีนะอาจารย์ใช้เค้า สั่งเค้าว่าอย่าทำ เค้าก็ทำ ก็ทะเลาะกัน” (สัมภาษณ์เอกวันที่ 19 ส.ค. 2551)

         2.     เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการให้ความหมายของความขัดแย้งจากการศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 4 ราย  รับรู้ว่า เงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา มีอยู่  4 เงื่อนไข  ได้แก่  การนอกใจ  การดูแลเรื่องเงิน  งานบ้าน  และการใช้เวลาร่วมกัน

               1)   การนอกใจ  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน    4 ราย  รับรู้ว่าการนอกใจ เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา สอดคล้องกับโหวตครอบครัวคุยกัน เรื่อง “เงินและการนอกใจ” (http//voto.void7.com)  โดยมีวัตถุประสงค์       เพื่อสำรวจว่าปัญหาใดมีความสำคัญต่อชีวิตคู่มากกว่ากัน ผลการสำรวจพบว่า เรื่องการนอกใจส่งผลให้เกิดปัญหากับครอบครัวมากว่า โดยได้รับการโหวตถึงร้อยละ 62ในขณะที่เรื่องเงิน ได้รับ      การโหวตร้อยละ 38  และสอดคล้องกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ. (http://www.ryt9.com) ที่ได้ดำเนินโครงการสำรวจเรื่อง “ความรัก ความซื่อสัตย์กับพฤติกรรมเชิงชู้สาว และการนอกใจภรรยา” พบว่า กลุ่มตัวอย่างระบุถึงปัญหาที่เกิดจาการมีสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นหลายปัญหา โดยที่ระบุมากที่สุด 2 ปัญหา คือ เงินไม่พอใช้จ่าย และ การทะเลาะ  เบาะแว้งในครอบครัว และร้อยละ 51.2 ระบุว่าหากภรรยารู้จะทำให้มีปากเสียงกัน ขณะที่ร้อยละ 20.0 รับรู้ว่าปัญหาที่จะเกิดอยู่ในระดับที่รุนแรง  โดยร้อยละ 10.9 ระบุว่าถึงขั้น  หย่าร้าง และร้อยละ10.0 ระบุว่าถึงขั้นแยกกันอยู่ การมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นที่ไม่ใช่คู่รักของตน หรือมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่นเกินกว่าเพื่อน หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “การนอกใจ”  นั้นไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่  หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ  ซึ่งการนอกใจนี้นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้รากฐานของชีวิตคู่สั่นคลอน  และเป็นสาเหตุหลักสำคัญที่นำไปสู่ความล่มสลายในชีวิตของคู่สมรส หรือคู่ที่อยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษามากที่สุด ดังที่นุ่นและทิ กล่าวไว้

               “ตอนก่อนมีเรื่องทะเลาะกันก็เพราะว่าเรื่องผู้หญิง อาจารย์ช่วงนั้นแบบบ่อยมาก ก็คือ มีคนนี้มาหนูจับได้ พอคนนี้เลิก ก็มีคนอื่นมาอีก ก็คือมีต่อ ๆ มา เรื่อยเลยอะคะ แล้วก็แบบรู้สึกว่าเลิกกันไปเหอะ หนูไม่ไหวแล้ว”(สัมภาษณ์นุ่นวันที่ 8 ส.ค. 2551)

               “เรื่องผู้หญิง แรงครับ เรื่องนี้แรงสุด เกิดเรื่องมา 4 ครั้ง” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551)     

                    2)   การดูแลเรื่องเงิน     ผู้ให้ข้อมูลจำนวน  4 ราย  รับรู้ว่า การดูแลเรื่องเงิน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใน  การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา สอดคล้องกับโหวตครอบครัวคุยกัน เรื่อง “เงินและการนอกใจ” (http//voto.void7.com)  พบว่า เรื่องเงินเป็นปัญหาของชีวิตคู่ได้รับการโหวตร้อยละ 38และเรื่องการนอกใจได้รับการโหวตร้อยละ62 สอดคล้องกับงามตา วนินทานนท์.(2548 : 33) ทำการวิจัยเรื่องปัจจัยเชิงเหตุสำคัญของความสำเร็จในชีวิตสมรส พบว่า สามีภรรยาที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันน้อย รับรู้ว่าครอบครัวปัจจุบันมีสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ มีเจตคติที่ดีต่อคู่สมรสน้อย และเป็นผู้ที่รับรู้ว่าคู่สมรสของตนมรสภาพเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างจากตนมาก่อนแต่งงาน กลุ่มสามีภรรยาลักษณะดังกล่าวจึงจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับการพัฒนาเป็นลำดับแรก ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันให้มีมากขึ้นและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีต่อกัน  และสอดคล้องกับลูวอิสและสแปนเนียร์ (งามตา วนินทานนท์.2548 : 12 อ้างอิงจาก Lewis and Spanier.1979, 1980) ทำการประมวลผลวิจัยที่เกี่ยวข้องกว่า 300 เรื่อง ได้ข้อเสนอเชิงประจักษ์ จำนวนเกือบ 100 ข้อ แล้วสร้างขึ้นเป็นแนวคิดเชิงทฤษฎีคุณภาพชีวิตสมรสในสายทฤษฎีการแลกเปลี่ยนทางสังคม พบว่า ยิ่งสามีภรรยามีความพึงพอใจในชีวิตสมรสมากเท่าใด ก็มีคุณภาพชีวิตสมรสสูงขึ้นเท่านั้น โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญองค์ประกอบหนึ่งคือ ความพร้อมทางเศรษฐกิจของคู่สมรสบ่อยครั้งที่มนุษย์เราใช้เหตุผลเรื่องเงินมาเป็นเหตุที่ทำให้ตัดสินใจที่จะอยู่ด้วยกัน หรือแต่งงาน  และการจะยอมรับว่าคุณต้องการให้อีกฝ่ายมาดูแลเรื่องเงินทองให้อาจะเป็นเรื่องยากอยู่ซักหน่อยสำหรับคู่ที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน เนื่องจากไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมาย และอยู่กันด้วยความสมัครใจ  แต่ถึงกระนั้นความต้องการให้อีกฝ่ายมาคอยดูแลเรื่องเงินนี้ ก็ยังคงมีอยู่  พวกเขาจึงเฝ้าแต่เก็บความคาดหวัง  ความอยากได้  และความผิดหวังทั้งหลายไว้  ทั้งนี้การที่อีกฝ่ายมาให้ความสนใจดูแลในเรื่องนี้ด้วยกัน ผู้ให้ข้อมูลรับรู้ว่า     มันเป็นการแสดงถึงความรักที่มีต่อกัน ช่วยให้เกิดความมั่นใจเกี่ยวกับความรักที่มีต่อกัน  ดังที่ฝนและนุ่น กล่าวไว้  

                    “ก็รู้สึกไม่ค่อยดี เค้ารักเราจริงหรือเปล่า หรือว่ารักเพราะเงิน  ถ้าเค้ารักเราก็น่าจะช่วยเราบ้าง  อย่างของใช้ในห้องนี้ก็ของหนูหมดเลย  เค้าอยู่กับเราเพราะเงินหรือเปล่า มันเหมือนเค้าเข้ามาอยู่ที่บ้าน จัดสรร มีคนใช้ให้เสร็จ หนูก็ไม่ได้คิดมากหรอกนะคะ แต่ก็อดคิดไม่ได้ เพราะตั้งแต่อยู่ด้วยกันมาหนูต้องเป็นผู้นำ คอยดูแลเรื่องนี้มาตลอด” (สัมภาษณ์ฝน วันที่ 15 ส.ค. 2551)

                    หนูรู้สึกว่าเงินไม่พอใช้  แต่จริง ๆ แล้ว เงินมันก็ไม่พอใช้มาตลอดตั้งแต่ที่อยู่ด้วยกันแล้วหละคะ ก็ทะเลาะกันเพราะเรื่องนี้บ่อยคะ  ยิ่งตอนเค้ามีคนอื่นนะคะ  เค้าไม่เอาเงินมาให้เลยคะ หนูออกคนเดียว หนูก็รู้สึกคะทำไม่เค้า  ไม่ดูแลเรื่องนี้บ้าง” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 20 ส.ค.2551) 

                    3)   งานบ้าน  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน       4 ราย  รับรู้ว่า งานบ้าน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา  สอดคล้องกับ        อุมาพร  ตรังตสมบัติ.(2545 : 188) กล่าวไว้ว่า งานบ้านเป็นสาเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาเกิดปัญหาได้มาก  แม้ว่าในปัจจุบันผู้หญิงและผู้ชายมีอำนาจค่อนข้างเท่าเทียมกัน  และบทบาทผู้หญิงและผู้ชายก็ไม่ตายตัวเหมือนแต่ก่อน อย่างในกรณีของผู้ให้ข้อมูลในงานวิจัยนี้ จะเห็นได้ว่าฝ่ายหญิงมีบทบาทของความเป็นนักศึกษา  เป็นครูฝึกสอน และในขณะเดียวกันก็มีบทบาทคล้ายกับภรรยา  ซึ่งทำให้มีภาระความรับผิดชอบมาก  ทั้งงานนอกบ้านและงานบ้าน  แต่ถึงกระนั้นผู้ชายก็ยังคาดหวังว่าเพศหญิงจะต้องรับผิดชอบงานบ้านทุกอย่าง เนื่องจากเป็นค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคมไทยที่ถูกถ่ายทอดกันมาตั้งแต่สมัยอดีต  ในขณะที่ฝ่ายหญิงมีความคิด และความรู้สึกว่าฝ่ายชายเอาเปรียบ  และถ้าฝ่ายชายได้มีการแบ่งเบาภาระเกี่ยวกับงานบ้านจะเป็นสิ่งดีกับตนเอง ทั้งสุขภาพจิตและสุขภาพกาย  ดังที่นุ่นและทิ กล่าวไว้

               “ส่วนใหญ่หนูทำคะ คือ หนูกวาดห้อง ถูห้อง ซักผ้า ล้างจาน ทิ้งขยะ  ส่วนเค้าทำอย่างเดียวคือเติมน้ำ  แต่เรื่องนี้ก็มีปัญหานะคะ   บางทีเค้ากลับมา  น้ำหมด เค้าก็บ่น ๆ ว่าหนูไม่เติม หาว่าหนูอยู่ห้องยังไง ไม่รู้จักดู ก็มีเถียงกันนิดหน่อย” 

(สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 20 ส.ค.2551)

               “แต่เรื่องล้างจาน ซักเสื้อผ้า ผมขี้เกียจ ผมก็ให้เค้าทำ เค้าก็ไม่พอใจ หน้าบึ้ง ๆ ผมก็รู้แล้ว แต่ก็ไม่สนใจ ก็ให้เค้าทำ เดี๋ยวเค้าซักเสร็จ ไปอ้อนหน่อย เค้าก็หายแล้ว” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551)  

                4)   การใช้เวลาร่วมกัน  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน  4 ราย  รับรู้ว่า การใช้เวลาร่วมกัน เป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใน  การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา

เนื่องจากผู้หญิงต้องการความใกล้ชิดผูกพัน ในขณะที่ผู้ชายต้องการความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการทำกิจกรรมด้วยตนเอง  อีกทั้งผู้ชายยังต้องการเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนมากกว่าผู้หญิง เมื่อมีเวลาว่าง จึงเลือกที่จะไปกับเพื่อนมากกว่าที่จะไปกับคนรัก และถ้าพิจารณาจากวัย ก็พบว่ายังอยู่ในช่วงของวัยรุ่น ซึ่งในวัยนี้เพื่อนจะยังคงมีความสำคัญอยู่ ดังนั้นต่างฝ่ายจึงไม่เข้าใจกัน ไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการของกันและกันได้ จึงเป็นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง ดังที่ฝนและเอก กล่าวไว้

            “เรื่องเวลาว่างอะ  ยังไงอะ คือคล้ายๆ กับเค้าไม่ค่อยมีเวลาว่างให้เราอะคะ ชอบให้หนูอยู่คนเดียวในห้อง  หนูก็ต้องรอเค้ากลับมาแทนที่เราจะได้อยู่ด้วยกัน  หลังจากที่กลับมาจากโรงเรียน  คนเป็นแฟนกันอะนะคะไม่ใช่ปล่อยให้หนูอยู่คนเดียว  นาน ๆ ครั้งไม่เป็นไรหรอกคะ นี่มันเกือบทุกวัน”

(สัมภาษณ์ฝน วันที่ 15 ส.ค.2551)

                “ก็ผมชอบไปกับเพื่อน ไปกับไอ้ตินี่แหละ  เตะบอลบ้าง  เล่นเกม แต่เล่นเกมบ่อย  ก็เค้าไม่ชอบ  ก็ทะเลาะกันเวลาผมไม่ค่อยอยู่ห้อง  เค้าอยากให้ผมอยู่ด้วย ยิ่งตอนกลางคืน 3-4 ทุ่ม ผมจะไปเล่นเกม  ก็เสียงดังใส่ผมนะ” (สัมภาษณ์เอก วันที่ 19 ส.ค.2551)  

            3.     ลักษณะของความขัดแย้ง   จากการศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 4 ราย  รับรู้ว่าลักษณะของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา มีอยู่        2 ลักษณะ  ได้แก่ ความโกรธ  และการสื่อสารที่ไม่เหมาะสม

               1)   ความโกรธ  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน   4 ราย  รับรู้ว่า ความโรธ  เป็นลักษณะของ    ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา  โดยเมื่อเกิดความไม่เข้าใจระหว่างตนกับคนรัก หรือคิดคนละอย่าง  หรือไม่ได้ตามความต้องการ  จะเกิดความโกรธ  ซึ่งความโกรธเป็นสภาวะทางอารมณ์  และเกิดขึ้นมาจากการได้รับข้อมูลที่กระตุ้นความคิดในทางลบ  ซึ่งความโกรธสามารถแสดงออกได้ทั้งพฤติกรรมภายในและภายนอก แต่พฤติกรรมภายนอกจะเห็นได้ชัด  ดังในข้อมูลที่ได้ผู้ให้ข้อมูลงานวิจัยนี้ พบว่า เมื่อคู่รักของตนเผชิญกับสถานการณ์แล้ว จะมีความโกรธเข้ามาเกี่ยวข้อง จะแสดงพฤติกรรมภายใน ได้แก่ ได้แก่ การเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ  และพฤติกรรมภายนอกซึ่งสามารถสังเกตได้ชัดเจน ได้แก่ น้ำเสียงเปลี่ยนไป        การตะโกนเสียงดัง การแสดงความเงียบไม่ตอบรับ ไม่รับฟังในสิ่งที่ฝ่ายตรงข้ามกำลังพยายามสื่อสาร การแสดงท่าทางที่น่ากลัว หน้าบึ้งตึง การพูดจาหยาบคาย  การพูดตำหนิต่อว่า และการใช้กำลังทำร้ายอีกฝ่าย สอดคล้องกับเบอร์นีย์ และ  ครอมเรย์ (Burney & Kromrey.2001 : 446-447) ได้อธิบายทฤษฎีพื้นฐานของการเกิดความโกรธและการแสดงความโกรธ โดยกล่าวไว้ว่า ความโกรธนั้นเกิดขึ้นจากกระบวนการรับรู้ประสบการณ์เฉพาะของบุคคลที่ได้รับการกระตุ้นให้คิดเชิงลบ และความโกรธสามารถแสดงออกได้ทั้งพฤติกรรมภายในและพฤติกรรมภายนอก โดยที่ความก้าวร้าวและความรุนแรงจัดเป็นพฤติกรรมภายนอกของความโกรธที่แสดงออกมา และหากบุคคลเกิดความโกรธจะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น  ดังที่นุ่น  ฝนและทิ  กล่าวไว้   

               “หนูจะคิด ๆ แล้วก็โกรธ  แล้วพอเค้ามาก็จะถามเสียงไม่ดีนะอาจารย์ ออกดุ ๆ”  (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 20 ส.ค.2551)

               “ใจมันงะ มันร้อน ๆ แล้วมันรู้สึกว่า มือมัน   เย็น ๆ เสียใจอะคะ แล้วก็โมโหด้วย ผิดหวัง หนูรู้สึกว่าทำไมต้องทำอย่างนี้ หนูรักเค้ามาก” (สัมภาษณ์ฝนวันที่ 31 ก.ค.2551)

               “วันนั้นหนูก็ตบตีเค้าอีกนะคะ แล้วก็เอา พัดลมฟาดเค้า พัดลมเสียไปตัวหนึ่งคะอาจารย์” (สัมภาษณ์ฝน วันที่ 31 ก.ค.2551)

                    “เค้าก็ไม่พอใจ หน้าบึ้ง ๆ ผมก็รู้แล้ว” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551)

                    2)   การสื่อสารที่ไม่เหมาะสม  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน 4 ราย  รับรู้ว่า การสื่อสารที่ไม่เหมาะสม  เป็นลักษณะของความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา     การสื่อสารเป็นทักษะที่สำคัญของชีวิตคู่  เป็นสิ่งที่ช่วยให้คู่รัก  คู่ที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน และคู่สมรสเกิดความเข้าใจ   ความผูกพันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สามารถช่วยลด และแก้ไขความขัดแย้งระหว่างกันได้  แต่จากการศึกษาพบว่า เมื่อคู่นักศึกษาที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ไม่เข้าใจกันกับมีความโกรธ ก็จะเกิดการสื่อสารที่ไม่ไม่เหมาะสม  ซึ่งก็กลายเป็นปัญหาในการสื่อสาร    ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าที่จริงคู่นักศึกษาที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน ก็รู้ถึงวิธีการสื่อสารที่เหมาะสม แต่อยู่ที่การไม่ยอมสื่อสารอย่างเหมาะสมเมื่อเกิดการไม่เข้าใจกัน  โดยจะมีลักษณะที่พบบ่อยคือ  ต่างฝ่ายจะไม่ยอมรับฟังซึ่งกันและกัน และจะมีการสื่อสารแบบที่ฝ่ายหนึ่งพยายามจะเข้าหาเพื่อหาความจริง บ่น และตำหนิติเตียน ในขณะที่อีกฝ่ายพยายามหลีกเลี่ยง ปกป้องตนเอง ตนเองหรือเงียบ  ปฏิสัมพันธ์ส่วนใหญ่จะเป็นแบบฝ่ายหญิงพยายามเรียกร้องหรือเข้าหา ส่วนฝ่ายชายจะพยายามหลีกเลี่ยงด้วย  การเงียบ ไม่โต้ตอบ  การอยู่เฉย ๆ ไม่พูดด้วย ซึ่งในความจริงการเงียบ หรือความเงียบ ก็สื่อความหมายได้มากพอ ๆ กับคำพูด คู่รักนักศึกษาที่อยู่ด้วยกันโดยไม่แต่งงาน หรือคู่สมรสบางสถานการณ์ของความขัดแย้งจะใช้ความเงียบ เพื่อซ่อนความรู้สึกบางอย่าง ซึ่งจากการศึกษานี้จะพบว่า ฝ่ายจะใช้ความเงียบเมื่อรู้สึกโกรธ เบื่อ รำคาญ  หรือกลัว  และวัฒนธรรมในสังคมไทยที่เน้นให้ผู้ชายมีเหตุผล ซึ่งจะไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึก และความต้องการต่าง ๆ มากเหมือนกับผู้หญิง สอดคล้องกับ ที่กล่าวไว้ว่า จากการวิจัยของ Christensen และ Shenk.(อุมาพร  ตรังคสมบัติ.2545 : 175-176 อ้างอิงจากChristensen &Shenk.1991) พบว่า คู่สมรสที่หย่าร้างมักมีการสื่อสารแบบไม่สร้างสรรค์บ่อยกว่าคู่สมรสที่อยู่ด้วยกัน การสื่อสารที่ไม่สร้างสรรค์ ได้แก่ พูดแบบเยาะเย้ยถากถาง      พูดสวนกลับทำให้อีกฝ่ายหนึ่งถูกโจมจี  แปลความหมายสิ่งที่อีกฝ่ายพูดเชิงลบ  พูดโดยไม่ตอบสนองอีกฝ่ายหนึ่งอย่างเหมาะสม ฯลฯ  ดังที่นุ่น กล่าวไว้

               “ต่างคนต่างไม่ยอม  ไม่ค่อยฟังกันอะอาจารย์  ต่างฝ่ายต่างโทษอีกฝ่ายหนึ่งไงอาจารย์”  (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 29 ก.ค.2551)

               “ทีนี้เค้าเดินหนีไปนั่งที่โต๊ะคอม  หนูก็ตามไปถามอีก เค้าไม่พูด” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 8 ส.ค.2551)

               อีกทั้งยังมีการสื่อสารเชิงลบ ได้แก่ การพูดคำหยาบเพื่อตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ ประชดประชัน สองแง่สองง่าม  มีพูดเชิงบังคับ ดูถูก      ดูหมิ่น โต้เถียงกันต่างฝ่ายต่างพยายามเอาชนะกัน  โยนความผิดใส่กัน หรือการบ่นว่าอีกฝ่ายหนึ่ง หรือคนรัก  ดังที่ฝน  เอกและทิ  กล่าวไว้

               “มึงกลับไปคุยกับกูที่ห้องเดี๋ยวนี้  มึงเคยคิดถึงจิตใจ กูบ้างมั้ย กูเนี่ยไม่ได้เกิดมาจากก้อนดินนะโว้ย  แต่กูเนี่ยเกิดมาจากพ่อจากแม่กู มึงก็มีพ่อมีแม่  กูก็มีพ่อมีแม่ มึงคิดว่ากูเสียใจไม่เป็นหรือไง  พ่อแม่กูยังไม่เคยทำให้กูเจ็บเลย แล้วมึงเป็นใคร” (สัมภาษณ์ฝน วันที่ 31 ก.ค.2551)

                    “เค้าก็ว่าผมว่าไปเล่นเกมนี่แหละ ไม่มีเงินแล้วยังชอบไปเล่นเกมอีก  บางครั้งก็โทษผมว่าเป็นเพราะผมแหละชอบเอาเงินไปเล่นเกม  ผมก็ว่าเค้าว่า ไม่มีเงินก็อยากจะซื้อนู่นซื้อนี้   ก็ด่าว่ากันอาจารย์  เธอใช้มาก  ฉันใช้น้อย ” (สัมภาษณ์เอก วันที่ 19 ส.ค.2551)

                    “ผมไม่อยากพูดอะไร เหมือนเราพูดอะไรไม่ได้ เงียบดีกว่า ไม่ฟัง เดินหนีซะดีกว่า  แล้วเขาก็ไม่ฟังเรา ผมก็ไม่อยากว่าไร ไม่ฟังผมก็เดินหนี” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551) 

         4.  การจัดการความขัดแย้ง  จากการศึกษาผู้ให้ข้อมูลจำนวน 4 ราย  รับรู้ว่า        การจัดการความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา มีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การหลีกหนี  และการปรับความเข้าใจกันและร่วมมือกัน

               1)   การหลีกหนี  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน   4 ราย  รับรู้ว่า การหลีกหนี  เป็นการจัดการ   ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา  เนื่องจากจากการการศึกษา พบว่า เมื่อนักศึกษาที่อยู่ด้วยกันโดยไม่ได้แต่งงาน มีความขัดแย้ง  ฝ่ายหนึ่งจะหลีกเลี่ยง เพื่อไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้ง  โดยจะเดินออกไปจากสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น  หรือจะเงียบเฉย ไม่มีการสื่อสารตอบ หรือเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า “การหลีกเลี่ยง” ในทางจิตวิทยา ทั้งนี้วิธีการนี้จะลดความขัดแย้งได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวจะไม่ส่งผลดี เนื่องจากไม่สามารถจัดความขัดแย้งยังได้อย่างแท้จริง สอดคล้องกับเกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์.(2544 : 81) กล่าวไว้ว่า ในการรับมือกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น วิธีที่คู่สมรสนิยมใช้เพื่อหลีกเลี่ยง       ความขัดแย้ง และเพื่อปกป้องตนเอง เช่น ออกจากบ้านหรือเดินหนีไป  ไม่ต่อปากต่อคำด้วย ลักษณะการจัดการความขัดแย้งดังกล่าว มัก      จบลงด้วบความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน ความเข้าใจและความไว้วางใจจะลดลง  เป็นการจัดการความขัดแย้งที่ไม่สร้างสรรค์  ดังที่นุ่นและทิ  กล่าวไว้

            “ที่สุดพ่อจะเงียบ  บางทีพ่อก็เดินออกจากบ้าน  ดึก ๆ ค่อยกลับ อะไรอย่างนี้อะคะ พ่อเงียบ  แม่ก็เงียบ  แล้วก็ไม่คุยกัน  บางทีพ่อก็ออกไปข้างนอก  แม่ก็ร้องไห้” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 29 ก.ค.2551)  

               “ก็พอหนูตบเค้า  เค้าก็นิ่งเลยอาจารย์  เงียบ  ยิ่งไม่พูดกับหนูเลย  เหมือนโกรธนะอาจารย์  และถ้าหนูเซ้าซี้ต่อ  เค้ากลับเลย  อย่างที่หนูบอกแหละ  แล้วหนูก็โทรไปถามอีก  ทีนี้ปิดเครื่องเลย  ถ้าอย่างเช่นเค้าไม่เดินออก  ไม่เดินหนี  อยู่ในห้องด้วยกันนี่แหละ  แต่เค้าไม่พูดกับหนู  รอจนกว่าหนูอารมณ์เย็นไปเอง” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 8 ส.ค.2551)

               “เงียบดีกว่า ไม่ฟัง เดินหนีซะดีกว่า  แล้วเขาก็ไม่ฟังเรา ผมก็ไม่อยากว่าไร ไม่ฟังผมก็เดินหนี  ออกจาห้องไป  2 คืนทีนี้พอผมกลับมาก็ทะเลาะกันรุนแรง เขาก็เอากรรไกรมากรีดแขน ก็ตอนนั้นทะเลาะกันเรื่องผู้หญิงหละครับ” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551)

               2)   การปรับความเข้าใจและร่วมมือกัน  ผู้ให้ข้อมูลจำนวน  4 ราย  รับรู้ว่าการปรับความเข้าใจและร่วมมือกัน เป็น        การจัดการความขัดแย้งในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่แต่งงานของนักศึกษา  เมื่อเกิด         ความขัดแย้งขึ้น มีหลายเหตุการณ์ที่คู่รักนักศึกษาเลือกวิธีการปรับความเข้าใจและ   การร่วมมือกัน  โดยจะหันหน้าคุยกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อหาข้อยุติ ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้  โดยอาจมีการให้สัญญา  ซึ่งวิธีการนี้จะสามารถทำให้ทั้งคู่สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละฝ่ายอย่างเหมาะสม  มีความเข้าใจกันและกันมากขึ้น และจะมีสัมพันธ์ที่ดีขึ้น  เนื่องจากความขัดแย้งที่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง จะนำมาซึ่งความรัก ความเข้าใจ การให้อภัยและความผูกพันที่ลึกซึ้ง สอดคล้องกับ จัสมิน สุวรรณชีพ.(2544 :105) ทำการวิจัยเรื่อง การศึกษาพฤติกรรมการสื่อสารเพื่อลดความขัดแย้งของคู่สมรส พบว่า พฤติกรรมการสื่อสารที่ช่วยลดความขัดแย้งลงได้ คือ การพูดคุยกันซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงความต้องการของแต่ละฝ่าย ทำให้ปรับความเข้าใจกันได้ โดยฝ่ายสามีส่วนใหญ่ใช้วิธีพูดจากันอย่างมีเหตุผล และไม่ใช้อารมณ์ ในขณะที่ฝ่ายภรรยาส่วนใหญ่บอกว่า ให้รับฟังความคิดเห็นของกันและกันและพูดจากันอย่างเปิดเผย ทั้งนี้คู่สมรสส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า ไม่ควรเงียบ เพราะจะทำให้ความไม่พอใจก่อตัวขึ้น อีกทั้งความขัดแย้งจะสะสมเพิ่มขึ้น จนกระทั่งลุกลามใหญ่โต จากเรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่  ดังที่นุ่น  ฝน  เอกและทิ  กล่าวไว้

               “หนูถามเค้าว่า  แน่ใจนะที่จะกลับมาคบกันอีก  แล้วให้มั่นใจได้แค่ไหนว่าจะไม่ทำแบบนี้อีกอะคะ  ก็คือ จะมั่นใจได้ยังไงว่า คุณจะไม่กลับไปเป็นแบบเดิมอีก  แล้วที่จะคบกับคุณต่อ มันจะเสียเวลามั้ย   ถ้ามันเป็นแบบเดิมอีก  อือ  เค้าบอกว่าเค้าแน่ใจแล้ว  มั่นใจแล้ว (นุ่นทำท่าทางดีใจ  สังเกตได้จากน้ำเสียง  และสีหน้า  ดวงตาเป็นประกายมีความหวัง และมีรอยยิ้ม)  แล้วอาจารย์รู้มัยไม่ทำไมหนูถึงเชื่อเค้า  เค้าไม่เคยสัญญาอะไรเลยนะอาจารย์ ตั้งแต่คบกันมา” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 8 ส.ค.2551)

               “ก็คุยกันดี ๆ คุยกันให้รู้เรื่อง  ไม่ทะเลาะกัน ก็เหมือนปรับความเข้าใจกันอะคะ” (สัมภาษณ์นุ่น วันที่ 20 ส.ค.2551)

               “มากอดหนู เค้าร้องไห้มากนะคะอาจารย์ หนูเห็นแล้ว สงสารนึกถึงวันที่เราดีต่อกันมา  ก็เลยหยุดแล้วคุยกันดี ๆ แล้วมันก็จบคะ” (สัมภาษณ์ฝน วันที่ 31 ก.ค.2551)

               “ก็ส่วนใหญ่ก็ง้อกัน แล้วก็คืนดี  คือ   คุยกันอะ” (สัมภาษณ์เอก วันที่ 19 ส.ค.2551)

                    “ผมก็เลยพูดกับเขาดี ๆ ว่า จะไม่ทำอีก สัญญาว่าจะเลิก มันก็จบ แล้วตั้งแต่นั้นมาผมก็ไม่ได้ทำนะ ทุกวันนี้ก็ไม่มีเรื่องนี้แล้ว” (สัมภาษณ์ทิ วันที่ 3 ก.ย.2551) 

               จากการวิจัยครั้งนี้พบว่า ผู้ให้ข้อมูลตระหนักว่าความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา คือ ความไม่เข้าใจกัน หรือความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก  และถ้าพิจารณาถึงชีวิตประจำวันของนักศึกษาที่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานอย่างละเอียดแล้วจะพบว่าความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง             

 

ข้อเสนอแนะ

            จากการศึกษาประสบการณ์ความขัดแย้งในการใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงานของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผลการศึกษาที่ค้นพบมีข้อเสนอแนะเพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในด้านการปฏิบัติ คือ

         1.   อาจารย์ หรืออาจารย์ที่ปรึกษาอาจารย์แนะแนว  หรือ บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการดูแลนักศึกษา  จะมีความเข้าใจความเป็นบุคคล  และกระบวนการ ของความรู้สึกนึกคิดของนักศึกษาที่ใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันโดยไม่ได้แต่งงาน  เมื่อต้องเผชิญกับความขัดแย้งในชีวิตคู่แบบนี้  และจะสามารถหาทางแก้ไขหรือช่วยเหลือนักศึกษากลุ่มนี้อย่างตรงจุดเพื่อให้บุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าแก่ประเทศชาติต่อไป

            2.   ควรมีการทำการศึกษาในผู้ให้ข้อมูลกลุ่มอื่น เช่น วัยทำงาน

หมายเลขบันทึก: 561206เขียนเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2014 00:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2014 12:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เรียนอาจารย์ ดร.ปัญญา

ขออนุญาติ นำ MV ในบันทึกของอาจารย์ ไปใช้ ในการทำกิจกรรมกับวัยรุ่นน่ะครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้า

ขออภัย ที่เขียนชื่ออาจารย์ ผิด ตกบกพร่อง (ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา)

ยินดีคะท่านวอญ่า-ผู้เฒ่า..และขอบคุณที่สนใจนะคะ

ขอนำไปใช้ประกอบด้วยคน เพราะงานวิจัยนี้ ยังไม่สุดทาง จะนำไปประกอบว่าสุดทางคืออะไร

มนุษย์สุดทาง ก่อสันติธรรมได้ แม้แต่เพียงคนสองคนที่อยู่ร่วมกันคือ การพัฒนาตนเองไปเป็นที่ปรึกษาหารือ ของกันและกัน

เท่านนี้ ชีวิตทั้งคู่ หรือไม่คู่ ก็จะมีแต่สันติ สันติ

เรียนท่านอาจารย์ ดร.ปัญญฎา ประดิษฐบาทุกา

ขออนุญาติใช้ข้อมูลบ้างส่วนในการศึกษางานวิจัยหน่อยนะคะ

ขอบพระคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท