นวัตกรรมอุดมศึกษารับใช้สังคม


 

          สถาบันอาศรมศิลป์ รับใช้สังคมโดยการตั้งบริษัท ในลักษณะ “ธุรกิจเพื่อสังคม”  (social enterprise)   ชื่อ บริษัทร่วมทุนรักษ์ดีจำกัด  เพื่อการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและสิ่งแวดล้อม    โดยผู้เข้าร่วมทุน ร่วมด้วยอุดมการณ์ เพื่อบ้านเมือง ไม่หวังผลกำไร    การเข้าร่วมทำให้มีความเป็นเจ้าของกิจกรรมเพื่อสังคมนี้

          บริษัทร่วมทุนรักษ์ดี ได้ร่วมกับชาวจันทบุรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชาวชุมชนริมน้ำจันทบูร ตั้งบริษัท จันทบูรรักษ์ดี   เพื่อดำเนินการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านประวัติศาสตร์ชุมชนริมน้ำจันทบูร    โดยหัวเรี่ยวหัวแรงคือ อ. ธิป ศรีสกุลไชยรักษ์    ท่านที่สนใจร่วมลงหุ้น ติดต่อได้ที่นี่    ผมได้แจ้งความจำนงจองหุ้นไว้แล้ว ๒๐ หุ้น หุ้นละ ๑,๐๐๐ บาท    ทางบริษัทเขาให้โอกาสคนจันทบูรได้เป็นเจ้าของหุ้นก่อน    หากเหลือจึงจะมาถึงคนนอกอย่างผม    โดยตอนนี้มีคนจันทบูรซื้อหุ้มแล้ว ๑.๖ ล้านบาท    ทุนที่ต้องการคือ ๘.๘ ล้านบาท

          ผมประทับใจวิธีทำงานรับใช้สังคมแบบบูรณาการของสถาบันอาศรมศิลป์อย่างยิ่ง    โดยขอตีความเป็นข้อๆ ดังนี้ 

 

๑. โดยให้ นศ. ปริญญาโท ทำโจทย์วิจัยเพื่อวิทยานิพนธ์ปริญญาโท ที่เป็นโจทย์จริงในสังคม    ดังกรณีของชุมชนริมน้ำจันทบุรี มี นศ. ป. โท ๒ คนทำวิทยานิพนธ์ ต่อเนื่องกัน เป็นเวลา ๕ ปี ตามข่าวนี้     ในกระบวนการวิจัย มีการทำกระบวนการชุมชน ทำให้เกิดความตื่นตัวของชุมชน อย่างน่าชื่นชมมาก    ที่จริงมี นศ. คนที่ ๓ จะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง community tourism แต่ลาออกไปเสียก่อน 

 

๒. การทำงาน ทำอย่างต่อเนื่อง มีท่าทีทำงานระยะยาว     ไม่ใช่ทำจบโครงการก็เลิก    ดังกรณีชุมชนริมน้ำจันทบูรนี้ ทำมากว่า ๕ ปีแล้ว    และการตั้งบริษัทจันทบูรรักษ์ดี จะยิ่งเป็นกลไกของความสัมพันธ์ระยะยาว

 

๓. ใช้วิธีตั้งบริษัท ทำธุรกิจเพื่อสังคม    ประยุกต์วิชาการเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม    ผมคิดว่า นี่คือตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัยที่เรามักมองข้ามไป     วิธีตั้งบริษัทตามแนวนี้ เท่ากับใช้บริษัทเป็นตัวเชื่อมระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสังคม    เป็นวิธีทำงานรับใช้สังคม ที่แยบยลมาก 

 

          กลับมาที่ธุรกิจของบริษัทจันทบูรรักษ์ดี รายละเอียดของ business model อยู่ที่นี่นะครับ    หลักๆ คือ จะทำ

 

o   บ้านพักพิพิธภัณฑ์ (Museum Inn)

o   แหล่งเรียนรู้ชุมชน

o   อื่นๆ ที่เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปะ การท่องเที่ยว การเรียนรู้ เป็นเครือข่ายในภาคตะวันออก

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๑ ม.ค. ๕๗

 

หมายเลขบันทึก: 560835เขียนเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2014 11:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท