ปฏิรูปเทศ --->>> เป็นมงคลแก่ชีวิต (พุทธศาสนา)


   ผู้เขียนยังคงจำได้เมื่อสมัยเรียนวิชารัฐศาสตร์เบื้องต้น (๒๕๓๕) กับความหมายของ "ประชาธิปไตย" อาจารย์ที่สอนบอกให้ทราบว่า ประชาธิปไตยคือการปกครองประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน สิ่งที่อาจารย์กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ประชาธิปไตยในประเทศไทยนั้นยังไม่เต็มใบ การเรียนในตอนนั้นคือการเรียนแบบ "ฟังมาอย่างไรก็ว่าไปอย่างนั้น" แต่เวลานี้กลับมาพิจารณาว่า ใครบ้างไม่เป็นประชาชน ถ้าผู้คนในประเทศนั้นๆ ถอดเสื้อผ้าเหลือแต่ตัวเปล่า ออกมายืนเรียงแถวบนถนน คำตอบที่ได้รับคือ ไม่มีใครไม่เป็นประชาชน ยกเว้นแต่ว่า ผู้นั้นไม่ใช่คน ตรรกะที่เป็นไปได้คือ คนทั้งหมดในประเทศคือประชาชน นายสวัสดิ์พ่อของผมเป็นคน ดังนั้น นายสวัสดิ์พ่อของผมคือประชาชน จึงเป็นไปได้ที่ใครก็ได้ที่เป็นคนจะปกครองประชาชนและเป็นประชาชนที่ถูกปกครอง

   แต่เมื่อมาเรียนวิชาศาสนาเบื้องต้น-ปรัชญาเบื้องต้น-ศาสนาเปรียบเทียบ เหลาจื่อเห็นว่า การปกครองที่ดีคือการปกครองโดยไม่ปกครอง หรือการปกครองโดยที่ประชาชนไม่รู้สึกว่าถูกปกครอง การปกครองที่ตกต่ำที่สุดคือการที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจในการปกครอง คำว่า เต็มใบของประชาธิปไตยคืออะไร การบอกให้ทราบว่า "น้ำเต็มแก้วแล้ว" จะง่ายกว่า การบอกว่า "ประชาธิปไตยเต็มสมบูรณ์แล้ว" ผู้เขียนไม่คิดว่า การเลือกตั้งคือทั้งหมดของประชาธิปไตย และไม่คิดว่า ประชาธิปไตยคือสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับการปกครอง ปรัชญาของประชาธิปไตย ส่วนหนึ่งมาจาก "ความเท่าเทียมของคน" ในฐานะ "คนของรัฐ" หรือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับรัฐ รัฐคือประชาชนจะต้องบริหารจัดการทรัพยากรที่มีเพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ยกเว้น ความคิดอุดมคติแบบนี้ เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะในความเป็นจริง เราคงไม่อาจให้ฆาตกรมีสิทธิ์เท่ากับผู้ไม่ใช่ฆาตกร และสิทธิ์บางอย่างที่เพศชายไม่อาจทำได้อย่างเพศหญิงคือการลาคลอดบุตร

  พุทธศาสนาค่อนข้างจะเห็นด้วยกับแนวคิดแบบเหลาจื่อ โดยพุทธศาสนาเน้นการปกครองตนเองมากกว่าการที่จะเข้าไปปกครองใคร (ไม่ใช่เยินยอว่าพุทธดี แต่เนื้อหาของพุทธเป็นไปในทำนองดังกล่าวนี้) อันเป็นการให้สิทธิ์ในชีวิตอย่างเต็มที่ ภายในระดับปัจเจก มีความสัมพันธ์กันระหว่างปัจเจกกับพหุชน หากจะมีการปกครองโดยผู้ปกครอง ผู้ปกครองจะต้องเป็นหลักความถูกต้อง (ธรรม) อันเป็นการปกครองในฐานะสนับสนุนการสิ่งดีงาม ระดับพื้นฐานคือ การไม่เบียดตนเองและผู้อื่น โดยที่ผู้มีสถานภาพถูกปกครองจะไม่รู้สึกว่าถูกปกครองอยู่ ลักษณะแบบนี้อยู่ในกรอบของ "ธรรมาธิปไตย"

  ความถูกต้องอาจแยกออกเป็น ๒ หลักการใหญ่ๆคือ (๑) ความถูกต้องโดยสัญญาระหว่างกัน (กฎหมาย-กฎ-กติกา) และ (๒) ความถูกต้องโดยธรรมชาติ ความถูกต้องอย่างแรก ในพุทธศาสนาเรียกว่า "วินัย" ความถูกต้องอย่างหลัง พุทธศาสนาเรียกว่า "ธรรม" และพุทธศาสนาก็เห็นว่า ทั้งสองอย่างเกื้อกูลต่อความเป็นปัจเจกเพื่อพหุชน

  หลายคนไม่ชอบการเมือง และคำว่า "การเมือง" ถูกนำไปใช้ในทางลบ เช่นป่วยการเมือง เป็นต้น ทั้งที่การเมืองคือการทำให้บ้านเมืองดี สงบสุข เพราะหาก "บ้านเมืองน่าอยู่" ประชาชนทุกคนที่เป็นพลเมือง ก็จะมีความสงบสุขไปด้วย

  "บ้านเมืองน่าอยู่" คือ "ปฏิรูปเทศ" อ่านว่า ปะ-ติ-รู-ปะ-เท-สะ คำเต็มในมงคลสูตรคือ "ปฏิรูปเทสวาโส" ต่อด้วย "เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" แปลว่า การอยู่ในประเทศที่เหมาะสม เป็นความเจริญงอกงาม (มงคล) ของชีวิต ตัวอย่างของบ้านเมืองน่าอยู่ เช่น 

  ก. ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ (สมบูรณ์ด้วยปัจจัยสี่)

  ข. มี "ธรรม" เป็นตัวกลางระหว่างพหุชน

  ค. ไม่มีคนพาล (พาล=คนโง่=คนที่เห็นผิดเป็นชอบ เห็นชั่วเป็นดี)

  ง. การเคารพ-ให้เกียรติ คนดี (มีธรรมเช่น พรหมวิหาร, เว้นอคติ เป็นต้น)

  จ. ฯลฯ

  

หมายเลขบันทึก: 560200เขียนเมื่อ 27 มกราคม 2014 07:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท