สิทธิในการลาหยุดของข้าราชการภายใต้อำนาจดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา


                                                                                                                                               

         ปัจจุบันระเบียบที่กำหนดสิทธิในการลาหยุดของข้าราชการ คือ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕ อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยกำหนดการลาไว้ ๑๑ ประเภท ซึ่งปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่กำหนดการลาไว้ ๙ ประเภท เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติราชการในสังคมปัจจุบัน โดยที่ยังคงมีความมุ่งหมายในการวางหลักเกณฑ์ วิธีการว่าด้วยเรื่องของสิทธิและสวัสดิการของข้าราชการ กล่าวคือ เป็นการกำหนดเรื่องสิทธิของข้าราชการให้สามารถเสนอขออนุญาตต่อผู้บังคับบัญชาในการลาหยุดราชการเพื่อไปปฏิบัติกิจธุระส่วนตัวประเภทต่าง ๆ ตามความจำเป็นของการดำรงชีวิต โดยที่ในระหว่างลาหยุดไปนั้นยังคงมีสิทธิได้รับเงินเดือนหรือสวัสดิการอื่นตามปกติ เว้นแต่มีเหตุพิเศษจำเป็นต้องลาหยุดเป็นเวลานานเกินกว่าจำนวนเวลาที่ระเบียบกำหนดไว้ ดังนี้สิทธิในการรับเงินเดือนจะถูกระงับไป ดังนั้นการปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการลาดังกล่าวนี้จึงต้องปฏิบัติควบคู่กับระเบียบว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ ซึ่งปัจจุบัน คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ. 2535

          อย่างไรก็ตามแม้ว่าโดยระเบียบดังกล่าวได้วางหลักการเรื่องสิทธิของข้าราชการไว้เพื่อเป็นสวัสดิการหรือมีความมุ่งหมายช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่การดำรงชีวิตของข้าราชการตามสมควรไว้  แต่การขออนุญาตลาตามสิทธิที่รับรองไว้ยังต้องถูกควบคุมให้อยู่ในขอบเขตโดยอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการใช้ดุลยพินิจพิจารณาว่าการลาของข้าราชการจะไม่กระทบต่อหน้าที่งานราชการให้เสียหาย ซึ่งการกำหนดให้อำนาจผู้บังคับบัญชาใช้ดุลยพินิจพิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อทางราชการก่อนในลำดับแรก เห็นได้จากข้อความในบททั่วไปข้อ ๘ วรรคสุดท้ายที่กำหนดว่า “การลาของข้าราชการในช่วงก่อนและหลังวันหยุดราชการประจำสัปดาห์หรือวันหยุดราชการประจำปีเพื่อให้มีวันหยุดต่อเนื่องกัน ให้ผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตใช้ดุลยพินิจตามความเหมาะสมและจำเป็นที่จะอนุญาตให้ลาได้ โดยมิให้เสียหายแก่การปฏิบัติราชการ” ข้อ ๑๐ วรรคสี่ “ข้าราชการที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตร ลากิจส่วนตัวที่มิใช่ลากิจส่วนตัวเพื่อเลี้ยงดูบุตรตามข้อ ๒๒ หรือลาพักผ่อน ซึ่งได้หยุดราชการไปยังไม่ครบกำหนด ถ้ามีราชการจำเป็นเกิดขึ้น ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจอนุญาตจะเรียกตัวมาปฏิบัติราชการระหว่างลาก็ได้” และเห็นได้จากข้อความในแต่ละข้อกำหนดการลาแต่ละประเภทว่า “ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะหยุดราชการได้”

         แต่ทั้งนี้ยังคงมีสิทธิการลาบางประเภทที่ระเบียบได้วางหลักเรื่องสิทธิเด็ดขาดของข้าราชการผู้ใช้สิทธิลา ที่ผู้บังคับบัญชาจะต้องผูกพันตามระเบียบที่กำหนดให้อนุญาต หากมีเหตุผลการลาเพียงพอตามที่ระเบียบกำหนดไว้ คือ การลาป่วย การลาคลอดบุตร การลาไปช่วยเหลือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายที่คลอดบุตร การลาติดตามคู่สมรสที่ไปปฏิบัติราชการในต่างประเทศ ดังเห็นได้จากข้อความที่กำหนดไว้ในเรื่องการลาป่วยว่า “ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่กรณีจำเป็น จะเสนอหรือจัดส่งใบลาในวันแรกที่มาปฏิบัติราชการก็ได้” เรื่องการลาคลอดมีข้อความกำหนดว่า “ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามลำดับจนถึงผู้มีอำนาจอนุญาตก่อนหรือในวันที่ลา เว้นแต่ไม่สามารถจะลงชื่อในใบลาได้ จะให้ผู้อื่นลาแทนก็ได้ แต่เมื่อสามารถลงชื่อได้แล้ว ให้เสนอหรือจัดส่งใบลาโดยเร็ว โดยไม่ต้องมีใบรับรองของแพทย์...”   ส่วนการใช้สิทธิลาเพื่อไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่ทางราชการกำหนดกรณีเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลนั้น เป็นทั้งกรณีที่ผู้บังคับบัญชาต้องผูกพันตามกฎหมายในการอนุญาต และถือเป็นหน้าที่ของข้าราชการผู้ใช้สิทธิลาประเภทนี้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการทหารด้วย ดังเห็นได้จากข้อความที่กำหนดว่า “ให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชา...และให้ไปเข้ารับการตรวจเลือกหรือเข้ารับการเตรียมพลตามตามวันเวลาในหมายเรียกนั้นโดยไม่ต้องรอรับคำสั่งอนุญาต..”

          การใช้สิทธิของบุคคลโดยทั่วไปนั้นย่อมต้องมีข้อกำหนดขอบเขตแห่งการใช้และข้อจำกัดยกเว้นบางประการเพื่อป้องกันผลกระทบแห่งการใช้สิทธิไม่ให้เสียหายต่อบุคคลอื่นหรือประโยชน์ของสาธารณะ ข้อกำหนดขอบเขตหรือข้อจำกัดยกเว้นต่าง ๆ นั้น จึงถือเป็นหน้าที่ของผู้ใช้สิทธิจะต้องปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเรียบร้อยตอบแทนต่อการใช้สิทธิของตนนั้นด้วย ในเรื่องการใช้สิทธิการลาของข้าราชการก็มีลักษณะดังกล่าวเช่นเดียวกัน คือข้าราชการผู้ใช้สิทธิลาทุกประเภทนั้นจะต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอน เงื่อนไขและข้อจำกัด ที่ระเบียบกำหนดไว้ อีกทั้งต้องมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ใช้อำนาจดุลยพินิจพิจารณาตามเหตุผลสมควรโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยคำนึงถึงประโยชน์ทางราชการเป็นสำคัญ โอกาสต่อไปกลุ่มงานนิติการจะเสนอรายละเอียดของการปฏิบัติเกี่ยวกับการลาประเภทที่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานสาธารณสุขเกี่ยวข้องใช้สิทธิอยู่เป็นประจำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการปฏิบัติหน้าที่ราชการและการใช้สิทธิการลาให้ถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบกำหนด

 

เอกสารอ้างอิง

1. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๓๕

2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. ๒๕๕๕

3. พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือนเงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน

   พ.ศ. 2535

 

หมายเลขบันทึก: 559731เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2014 11:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท