สารพิษในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อมนุษย์


สารพิษในสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อมนุษย์

 

          ในปัจจุบันกิจกรรมของมนุษย์ก่อให้เกิดมลภาวะและสารพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะการปนเปื้อนในอากาศเสีย การปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำหรือทะเล การลักลอบทิ้งขยะและของเสียอันตราย เป็นต้น สารพิษเหล่านี้มีโอกาสย้อนกลับเข้าสู่ร่างกายของสิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์ได้ใน 3 ช่องทางหลัก ประกอบด้วย (1) ทางจมูก ผ่านการหายใจ เช่น ตำรวจจราจรได้รับสารพิษจากการสูดดมไอเสียจากรถยนต์  การทำงานกับสารเคมีนอกตู้ดูดควันทำให้ผู้ปฏิบัติงานบริเวณนั้นสูดดมไอระเหย (2) ทางผิวหนัง ผ่านการสัมผัส เช่น การใช้มือเปล่ากวนผสมยาฆ่าแมลง  สารเคมีกระเด็นโดนผิวหนังขณะทำการทดลอง และ (3) ทางปาก ผ่านการกิน เช่น การล้างมือไม่สะอาดหลังจากใช้ยาฆ่าแมลงแล้วมาหยิบอาหารกิน การดื่มน้ำหรือกินอาหารในห้องปฏิบัติการ เป็นต้น  ทั้งนี้ เมื่อสิ่งมีชีวิตได้รับสารพิษแล้วจะมีการสะสมอยู่ภายในร่างกาย (Bioaccumulation) ยังอวัยวะเป้าหมาย ซึ่งจะมีอาการแสดงถึงความเป็นพิษหรือเจ็บป่วยแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น ชนิดและความเข้มข้น ระยะเวลาที่ได้รับสารพิษ เป็นต้น


          ในประเด็นของการได้รับสารพิษผ่านทางปากในกระบวนการกินอาหาร พบว่าในธรรมชาติกระบวนการกินอาหารของสิ่งมีชีวิตเป็นกระบวนการพื้นฐานสำคัญที่ทำให้สิ่งมีชีวิตได้รับพลังงานและสารอาหาร ผ่านกระบวนการกินกันเป็นทอดๆตามลำดับขั้นการกิน หรือที่เรียกว่า ห่วงโซ่อาหาร (Food Chains) ตัวอย่างเช่น แพลงก์ตอนถูกปลาเล็กกินเป็นอาหาร ปลาเล็กจะได้รับพลังงานและสารอาหารจากแพลงก์ตอน เมื่อปลาเล็กถูกปลาใหญ่กิน ปลาใหญ่ก็จะได้รับพลังงานและสารอาหารจากการกินปลาเล็ก และเมื่อปลาใหญ่ถูกมนษย์กินอีกครั้ง พลังงานและสารอาหารก็จะถูกส่งต่อเช่นนี้ไปเรื่อยๆตามลำดับขั้นของการกิน  แต่สิ่งที่ส่งต่อไปตามห่วงโซ่อาหารนั้น มิได้มีเพียงพลังงานและสารอาหารเท่านั้น แต่จะมีสารอื่นปะปนมาด้วย  เช่น  ดีดีที  ปรอท  แคดเมียม ฯลฯ  สารเหล่านี้เป็นสารพิษที่ไม่ได้ถูกนำไปใช้ในการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์  จึงสะสมอยู่ภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเพิ่มความเข้มข้นเรื่อยๆ แล้วถ่ายทอดต่อไปตามลำดับขั้นการกิน (Biomagnification) โดยจะมีความเข้มข้นของสารพิษสูงที่สุดในร่างกายของผู้บริโภคลำดับสุดท้ายดังภาพ

          ภาพตัวอย่างแสดงปริมาณสารพิษ DDT ที่เจือจางมากในน้ำ แต่มีการสะสมในตัวสิ่งมีชีวิตและเพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับขั้นของการกินในห่วงโซ่อาหาร


          กรณีตัวอย่างของการถ่ายทอดสารพิษที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมสะสมเข้าสู่สิ่งมีชีวิตแล้วถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารแล้วส่งผลต่อมนุษย์ เช่น การเกิดโรคมินามาตะ (Minamata Disease) ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมทะเลในเมืองมินามาตะ โรงงานแห่งนี้ปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทในรูปเมธิลเมอร์คิวรี่ (Methyl Mercury) ลงสู่ทะเลโดยตรง ทำให้มีสารปรอทปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลและตะกอนดินจำนวนมาก เกิดการสะสมสารปรอทในตัวสัตว์ทะเลสูงถึง 20-40 ppm (ค่ามาตรฐานของสารปรอทที่กฎหมายญี่ปุ่นยอมให้มีในสิ่งแวดล้อมคือ ไม่เกิน 1 ppm) และส่งผ่านตามห่วงโซ่อาหาร  ชาวบ้านในแถบนี้กินปลา หอย และสัตว์ทะเลเป็นอาหารหลักจึงได้รับสารปรอทสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปประมาณช่วงกลางปี พ.ศ. 2499  ชาวบ้านเริ่มป่วยด้วยอาการแปลกๆ เช่น มีอาการคล้ายวิกลจริตอย่างอ่อนๆ กรีดร้อง นัยน์ตาดำขยายกว้าง  แขนขาเคลื่อนไหวลำบาก มีการกระตุกตัวแข็ง แขนขาบิดงออย่างรุนแรง  ซึ่งเป็นผลจากสารที่ปรอทสะสมจำนวนมากทำให้ระบบประสาทส่วนกลางผิดปกติ โดยผลการตรวจพบปรอทในเส้นผมของผู้ป่วยสูงสุดถึง 705 ppm  เทียบกับคนที่อาศัยในพื้นที่อื่นพบเฉลี่ย 4.42 ppm  นอกจากนี้ ในแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ สารปรอทจะแทรกซึมไปตามสายรกและทำอันตรายกับทารกในครรภ์ เมื่อคลอดออกมาจะพิการแต่กำเนิดและเกิดความบกพร่องทางจิตหรือมีภาวะปัญญาอ่อน

ภาพแสดงกระบวนการผลิตของโรงงานที่มีการปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนสารปรอทลงทะเลและการสะสมในห่วงโซ่อาหารเข้าสู่ร่างกายมนุษย์


          จะเห็นว่าปัญหาการปนเปื้อนของสารพิษต่างๆในสิ่งแวดล้อมที่เราอาจมองข้ามไปคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เมื่อมีการสะสมสารพิษในสิ่งมีชีวิตและส่งต่อในห่วงโซ่อาหารเรื่อยๆ ผู้บริโภคลำดับสุดท้ายที่ได้รับผลกระทบและเก็บสะสมสารพิษในร่างกายสูงที่สุดก็คือมนุษย์นั่นเอง

 

 

Down Load เอกสาร : Biomagnification.pdf

 

Reference :

  (1) เพ็ญโฉม ตั้ง , โลกสีเขียว : เปิดบันทึก 50 ปี “มินามาตะ”,ปีที่ 15  ฉบับที่ 6  มกราคม - กุมภาพันธ์ 2550
  (2) John S. Gray, Biomagnification in marine systems: the perspective of an ecologist, Marine Pollution Bulletin 45, 2002
  (3) Minamata Disease Municipal Museum, Minamata Disease - Its History and Lessons, Minamata City Planning Division, 2007
  (4) U.S. Environmental Protection Agency, Mercury Bioaccumulation Tag, http://www.epa.gov/mercury

หมายเลขบันทึก: 559728เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 10:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2014 10:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท