จิตตปัญญาเวชศึกษา 197: การเติบโตของจิตวิญญาณจากงานข้างถนน


การเติบโตของจิตวิญญาณจากงานข้างถนน

อาทิตย์ที่แล้วประชาคมสงขลานครินทร์ได้ร่วมกันจัดส่งกลุ่มคณะทำงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมกับภาคประชาชน มาจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม ในบริเวณที่ชุมนุมของมวลมหาประชาชน ตั้งแต่วันที่ ๑๓ จนถึง ๑๖ มกราคม ๑๕๕๗ พอกลับมาแล้ว เราเลยชวนกันมาทำ After Action Review (AAR) กัน นัยว่าเพื่อเป็นโอกาสพัฒนา และคุยกันไปคุยกันมา เห็นว่าเราอาจจะได้อะไรนอกเหนือไปกว่าประเด็นทางวิชาการเรื่องโรงพยาบาลสนาม เราเลยปรับรูปแบบ AAR เป็นการ share เรื่องเล่าแทน อันเป็นที่มาของชื่องานนี้ว่า "บันทึกแห่งความทรงจำผ่านการเล่าเรื่อง : กลิ่นเหงื่อและเสื้อกั๊ก"

เรื่องเล่านั้นมีอำนาจมาก เพราะเป็นเสมือนเราได้ลอง replay ช่วงหนึ่งของชีวิตของเราอีกรอบหนึ่ง แต่รอบนี้ เราสามารถที่จะ "ให้ความหมาย" กับสิ่งที่เราทำ ซึ่ง ณ ขณะนั้นจริงๆ เราอาจจะไม่ได้มีเวลาขบคิดใคร่ครวญอะไร แต่ลึกๆเราจะมีแรงผลักดันที่สั่งสมมาเป็นเวลานาน การเล่าเรื่องราว เป็นโอกาสอันดีที่เราจะผสมผสาน สิ่งที่เราเคยรู้ เคยเชื่อ เคยศรัทธา เข้าไปกับการคิดจริง พูดจริง และกระทำจริง และเมื่อนั้น Head Heart Hand ได้รวมเป็นหนึ่งเดียว เสมือนที่ท่านมหาตมะ คานธี เคยกล่าวไว้ว่า "The True Happiness is when what you think, what you say and what you do are in harmony."

เราจึงได้ยินได้ฟังคำพูดอย่างเช่น

@ "เราเป็นโรงพยาบาลที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ตั้งมาเพื่อดูแลคนใต้ แต่ขณะนี้มีคนใต้เป็นหมื่นๆแสนๆคนไปอยู่ที่กรุงเทพฯ เราจะไม่ไปดูแลคนเหล่านั้นได้อย่างไร?"
@ "ความรู้สึกที่เราออกไปรับคนไข้ หามคนไข้กลับเข้าเต๊นท์ ทุกครั่งคนจะปรบมือให้กำลังใจตลอดเส้นทาง เป็นความรู้สึกที่เหมือนกับว่าเรากำลังทำสิ่งที่ Hero เค้าทำกัน"
@ "ถึงตอนนั้น คนไข้นอนอยู่ข้างหน้า เราไม่มีโต๊ะ ไม่มีเก้าอี้ ไม่มีอะไรทั้งนั้น เราก็เลยตั้งโรงพยาบาลกันบนพื้น ตรวจบนพื้น จ่ายยาบนพื้น จากสต็อกยาที่ตั้งบนพื้น"

คุณหมอสุวัฒน์ ผอ.รพ.เทพา-นาทวี กัลยาณมิตรของ ม.อ. ได้กรุณามาแลกเปลี่ยนด้วย ก็ได้เล่าถึงความเป็นมาของ รพ.ภาคสนาม ตั้งแต่สมัยแรก ที่เป็นการ learning by doing อย่างแท้จริง

อาจารย์ประเสริฐ วศืนานุกร ได้มาเป็นเกียรติแก่พวกเราในงานนี้ด้วย อาจารย์เป็นขวัญกำลังใจสำหรับพวกเรา เพียงแค่ท่านได้เล่าเรื่องราวที่ท่านต้องเผชิญแต่ด้วยความกล้าหาญและชัดเจนในสิ่งที่ทำ พวกเราก็ได้เรียนรู้มากมายจากท่านแล้ว

เรามีพยาบาลเดินเท้า (เธอสะกิดบอกว่าให้เรียก "พยาบาลสนาม" เพราะกว่า) ที่ออกไปหาคนไข้ถึงในม็อบ แจกยา แจกของที่จำเป็น ไปหมดทุกที่แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น หน้า สตช. แต่พอถามจะมีใครไปไหม มือก็ยกพรึบขึ้นมาทันที เธอเล่าว่าในกลุ่มคนนั้นก็มีหลายคนที่ไม่สบาย ต้องการยาดม ต้องการความช่วยเหลือเล็กๆน้อยๆเสมอ ออกไปกี่ครั้งๆยาที่เตรียมไปก็หมด

ปัญญาเฉพาะหน้าจากน้องเภสัชที่ ไปเตรียมยา เธอสามารถ organize ยาที่ขนมาทั้งหมด เป็นหมวดหมู่แบบใช้ได้ เช่น ยาทางเดินอาหาร (GI) ยาปฏิชีวนะ (antibiotics) ยาแก้ไข้ลดปวด ฯลฯ ในเวลาเพียงไม่ถึงชั่วโมง รพ.สนามก็พร้อมที่จะให้บริการ (และมีคนมาขอรับบริการแทบจะในทันที) น้องเภสัชเล่าว่า "หนูก็ยังเด็ก ไม่รู้จักใคร เห็นใครเดินอยู่แถวนั้น หนูก็ขอให้มาช่วยหมด มารู้ทีหลังว่าพี่ๆเป็นระดับ head ward ผู้ตรวจการ ฯลฯ แต่ตอนนั้น ทุกๆคนคือ "คนมาทำงานเพื่อประชาชน"

อาจารย์จากคณะวิทยาการจัดการ (วจก) พานักศึกษาไป ๕ คน ผ่านมาหลายระลอกเหมือนกัน ก็เล่าให้ฟังว่านักศึกษาบอกว่าเป็นประสบการณ์ที่ประทับใจมาก ไปเวที คปท. ไปที่ครัว เห็นเขากำลังปั้นแป้ง ทอดโรตีแบบของอินเดียให้คนในม็อบรับประทาน อร่อยดี พวกอาจารย์เลยไปบอกเขาว่าเดี๋ยวจะขอมาช่วยทำได้ไหม เค้าก็บอกว่าก็มาสิ พออาจารย์กลับไปช่วยทีหลัง จึงค่อยทราบว่า ตอนเราเค้าคิดว่าเราจะไม่กลับไปจริงๆ คงจะเป็นพูดเล่นๆ ก็ดีใจที่เรากลับไป แต่ที่ประหลาดใจครั้งที่สองก็คือ เค้าจะต้องนวดแป้งเลี้ยงคนถึง ๔๐ กิโล ซึ่งเยอะมาก พวกน้องๆนักศึกษาก็เลยไปช่วยเค้านวดแป้ง ตั้งแต่กลางวันยันสองทุ่ม ปรากฏว่าวันนั้นนวดแป้งได้ทั้งหมด ๑๐๐ กิโล!!

เรายังมีพันธมิตรเป็นเครือข่ายศูนย์นักวิทยุสมัครเล่นไปด้วย ปรากฏว่าเป็นประโยชน์มหาศาล เพราะว่าเราสามารถ link เข้ากับศูนย์อื่นๆผ่านคลื่นวิทยุได้อีกหลายศูนย์ ทำให้เราได้รับ update สถานการณ์จริงๆตลอดเวลา

ทุกๆคนที่ไป อยากจะไปอีก ทั้งๆที่งานหนัก เหน็ดเหนื่อย แต่ทุกคนมีเรื่องเล่าที่ยืนยัน กับชีวิตตนเองว่า "ได้ทำอะไร เพื่อใคร เพราะอะไร" เกิดความชัดเจนของชีวิต องค์กรที่อยู่มาได้ "ให้" อะไรบางอย่างที่สำคัญมาก คือ "ความสามารถที่จะให้" จากความรู้ความสามารถที่ร่ำเรียนมา

Values เหล่านี้ไม่สามารถจะสอนใน classroom ได้ เราไม่สามารถจะท่อง "ประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์เพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง" ถ้าเราไม่ได้แปลประโยคเหล่านี้เป็นรูปธรรม เป็นเชิงปฏิบัติได้

และสิ่งเหล่านี้เมื่อเราใคร่ครวญ ตริตรองดู ผู้ที่เป็น unsung hero อีกเป็นจำนวนมากก็คือ ผู้ที่ได้เสียสละเฝ้าฐานที่ตั้งของเรา คือที่ รพ.สงขลานครินทร์ ที่โรงพยาบาลของเรายังคงปฏิบัติงานได้ ๑๐๐% ตามปกติ เพราะการบริหารจัดการ และความเอื้อเฟื้อของเพื่อนร่วมงานของเราทุกคน เราจึงจากมาด้วยความมั่นใจ ในคนที่เราฝากฝังนั้นได้ ๑๐๐ %

ถึง ณ จุดนี้ คำกล่าวของท่านพุทธทาสที่ว่"การทำงานคือการปฏิบัติธรรม" นั้นเป็นเช่นไร พวกเราก็ได้เรียนรู้แล้ว

สกล สิงหะ
เขียนที่บ้านพักแพทย์ รพ.สงขลานครินทร์
๒ นาฬิกา ๑ นาที แรม ๖ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง

หมายเลขบันทึก: 559720เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 08:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มกราคม 2014 08:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท