คิดเรื่องงาน (78) : รับมือได้ (อีกครั้งกับกระบวนการเรียนรู้แบบจริงจัง จริงใจ)


แทนที่จะสิ้นเปลืองจ้างร้านรวงต่างๆ ให้จัดการให้ แต่กลับนำชิ้นงานมาแบกหามนั่งหลังขดหลังแข็งทำกันอย่างระห่ำ เพียงเพราะรู้สึกพอใจและมีความสุข (Self effiency) กับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในทำนองนี้ร่วมกันระหว่าง “บุคลากรกับบุคลากร” และระหว่าง “บุคลากรกับนิสิต” หรือแม้แต่ “นิสิตกับนิสิต”

เรื่องหลายๆ เรื่องถูกชี้วัดกันในสถานการณ์เสมอ  สถานการณ์จะพิสูจน์เองว่าแท้ที่จริงแล้ว แต่ละคนรักและจริงใจกันแค่ไหน รักและผูกพันกันเท่าไหร่ หรือมีความเป็นทีมกันกี่มากน้อย...

ด้วยความเชื่อเช่นนี้ ผมจึงมักพูดเสมอว่า “วิกฤตจะกระชับมั่นให้เราใกล้ชิดกัน-วิกฤตจะพิสูจน์ว่าเรารักกันแค่ไหน”

วิถีคิดหรือวิถีความเชื่อเช่นนี้ผมนำมาผูกโยงกับการทำงานร่วมกับนิสิตและบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ ระหว่างนิสิตและบุคลากรมักได้ทำงานร่วมกันอยู่บ่อยๆ  การทำงานที่ว่านั้นไม่ใช่บุคลากรชี้นิ้วสั่งนิสิต หากแต่หมายถึงการร่วมคิดร่วมทำกับนิสิต อันเป็นที่มาของวาทกรรมสอนงานสร้างทีมว่า “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน” นั่นเอง





ล่าสุดเมื่อวานนี้เอง (๒๐ มกราคม ๒๕๕๗) บุคลากรกองกิจการนิสิต ขนวัสดุอุปกรณ์การเตรียมงานศิลปวัฒนธรรมอุดมศึกษา ครั้งที่ ๑๔ ขึ้นมาทำที่สำนักงาน  ในระยะแรกมีคนมาช่วยงานไม่กี่คน แต่พอเริ่มมีการสื่อสารไปยัง “นิสิต” ผ่านระบบมือถือ อินเทอร์เน็ต ไม่นานนักนิสิตก็ไหลหลากมาช่วยงานคนละไม้คนละมืออย่างน่าชื่นใจ

ครับเรื่องบางเรื่อง  ไม่มีความจำเป็นต้องจ้างงาน เรื่องบางเรื่อง ไม่จำเป็นต้องมีเงื่อนไขของการช่วยงาน ทุกอย่างจะถูกขับออกมาจากข้างในตัวตนของแต่ละกัน เสมือนว่า “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ...






ย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน- เราเป็นเจ้าภาพการจัดงานสำคัญๆ ๒ งาน เช่น เทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ ๑๕ และสานสัมพันธ์มิตรภาพไทย-ลาว ครั้งที่ ๑๐   ซึ่งครั้งนั้นผมให้ผู้รับผิดชอบเปิดรับสมัครนิสิตเข้ามาช่วยงาน-เป็นการช่วยงานแบบไม่จ่ายค่าตอบแทน เป็นการช่วยงานแบบ “ใจนำพา ศรัทธานำทาง” ...

พอเปิดรับสมัครได้แล้ว ผมก็มีกระบวนการปลุกเร้าหลอมรวมนิสิตแต่ละคนแต่ละฝ่ายเข้าด้วยกัน นิสิตแต่ละฝ่ายจะเข้าสู่กระบวนการปฐมนิเทศร่วมกัน คนทุกคนจะรู้เรื่องราวของการงานที่จะมีขึ้นในภาพรวมและภาพย่อยร่วมกัน (รู้ตัวตนโครงการ) พอเสร็จกระบวนการเหล่านี้ก็ส่งมอบนิสิตไปทำงานร่วมกับอาจารย์ หรือบุคลากรในสังกัดฝ่ายนั้นๆ

กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้คนทำงานไม่ได้ถูกจำกัดการรับรู้เฉพาะด้านที่ตนเองรับผิดชอบ(ไม่แยกส่วน) หากแต่ทำให้คนทุกคนรู้ภาพรวมของงานทั้งหมด หรือยึดโยงให้เห็นโครงสร้างทั้งหมดว่าเป็นอย่างไรและเกี่ยวโยงกันอย่างไร 

และนอกจากนี้ กระบวนการดังกล่าวยังได้สร้างความฮึกเหิมให้กับคนทำงานได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ที่แน่นหนักระหว่างคนทำงานด้วยกัน ช่วยปลุกเร้าให้เข้าใจถึงภารกิจความเป็น “เจ้าภาพ” และ “แขกบ้านแขกเมือง” ที่ยิ่งใหญ่   ซึ่งพอการงานเดินทางมาถึง ผมและทีมงานถึงขั้นได้รับการสอบถามจากเครือข่ายสถาบันต่างๆ โดยเฉพาะว่าที่เจ้าภาพครั้งต่อไปมักถามเราเสมอว่า “ทำอย่างไรถึงมีนิสิตมาช่วยงานมากมายขนาดนี้ และทำอย่างไรนิสิตถึงมุ่งมั่น ตื่นตัว หรือรู้งาน-ทำงานได้อย่างน่าประทับใจ”  (เพราะในบางสถาบันถึงขั้นต้องจ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนนิสิต)

ครับ,ผมไม่ได้ตอบอะไรมาก ตอบสั้นๆ แต่เพียงว่า “รับสมัคร ชักชวน สร้างแรงจูงใจ -ไม่จ่ายค่าตอบแทน” 


 


กรณีเหล่านี้ ผมไม่ได้ทำงานแต่เฉพาะระหว่างบุคลากรต้นสงกัดกับนิสิตเท่านั้น  หากแต่ยกวาระการงานขึ้นสู่ระดับมหาวิทยาลัยอันหมายถึง “ฝ่ายพัฒนานิสิตคณะ” แต่ไม่ถึงกับยกระดับการทำงานเป็นทีมใหญ่ในภาพรวมของมหาวิทยาลัย  เพราะต้องการพิสูจน์ให้รู้ว่าบุคลากรและนิสิตในสายธารการพัฒนานิสิตมีพลังเหลือล้นในการที่จะรังสรรค์งานเหล่านี้ได้ ซึ่งพิสูจน์ได้อย่างกังขาว่า “ทำได้ดี และทำได้จริงๆ”

ครับ,สาบานว่าไม่ได้ยะโสโอหังอะไร หากแต่รู้ดีว่า “รับมือกันได้”  เป็นการรู้ตัวเอง อันหมายถึงรู้ศักยภาพของความเป็นทีมบุคลากรและรู้ศักยภาพจิตอาสา หรือแม้แต่พลังความคิดสร้างสรรค์ของนิสิตว่า “รับมือและสร้างสรรค์ได้”  การรับรู้และตัดสินใจเช่นนี้ (Self determination) เกิดจากการทบทวนตัวเอง ทบทวนกระบวนการทำงานที่ผ่านมา ทบทวนและประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของทีมว่าเป็นอย่างไร พร้อมแค่ไหน – ทำอะไรได้แค่ไหน ...

 



เช่นเดียวกับการงานล่าสุดนี้  แทนที่จะสิ้นเปลืองจ้างร้านรวงต่างๆ ให้จัดการให้ แต่กลับนำชิ้นงานมาแบกหามนั่งหลังขดหลังแข็งทำกันอย่างระห่ำ เพียงเพราะรู้สึกพอใจและมีความสุข (Self effiency) กับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในทำนองนี้ร่วมกันระหว่าง “บุคลากรกับบุคลากร” และระหว่าง “บุคลากรกับนิสิต” หรือแม้แต่ “นิสิตกับนิสิต”  ซึ่งการลงแรงกับการงานเช่นนี้  ย่อมบ่มเพาะความเป็นทีมและสะท้อนถึงความงดงามทางใจของแต่ละคน (Moral  Beauty) เพราะถ้าไม่รักกันจริง คงไม่แห่แหนมาช่วยงาน และถ้าไม่รักสถาบันจริง ก็คงไม่เคลื่อนคนมาช่วยกัน กระมัง 

แน่นอนครับ สิ่งเหล่านี้ไม่อาจสร้างได้ในชั่วข้ามคืน  หากแต่ถูกบ่มเพาะมาเป็นระยะๆ ผ่านกระบวนการ หรือสถานการณ์ (เวที) ต่างๆ ที่ก่อเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าพลังของนิสิตก็ถูกกระตุ้นจากการเป็น “แบบอย่าง” ของ “บุคลากร” นั่นแหละ  เพราะหากไม่รักไม่ผูกพัน ไม่รักไม่ศรัทธา ไหนเลยนิสิตจะนำพาตัวเองมาช่วยงานให้เหนื่อยและเสียเวลาไปเปล่าๆ...

ในมุมกลับกัน พอถึงงานของนิสิต หากบุคลากรไม่ไป “ดูแล” และไม่ไปหนุนเสริมการ “พัฒนา” ในแบบเคียงบ่าเคียงไหล่ หรือในแบบ “พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน” ใยเล่านิสิตจะหวนกลับมาช่วยงานบุคลากร






ครับ, ไม่มีอะไรสร้างได้ในชั่วข้ามคืน ไม่มีอะไรที่ได้มาโดยไม่ได้ลงทุน ไม่มีใครหยัดยืนอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว เราล้วนยังต้องอยู่ด้วยกัน รักกัน-ช่วยกันตามบริบทและสถานการณ์นั้นๆ บนฐานคิดของการ “จริงจัง จริงใจ”  เพราะถ้า “ไม่จริงจัง ไม่จริงใจ” รับรองได้เลยว่าถึงคราวตัวเอง ย่อมไม่มีใครโผล่หน้ามาช่วยงานตัวเองอย่างแน่นอน (โลกเงียบเหงา เพราะไม่มีใครให้เราได้คิดถึง) ....





ครับ, ขอบคุณน้องๆ นิสิตที่มาร่วมด้วยช่วยกัน
ครับ, ขอบคุณพี่ๆ บุคลากรที่ยังเป็นแบบอย่าง-ต้นแบบที่ดีสำหรับน้องๆ

หมายเหตุ : ภาพโดยพนัส ปรีวาสนา,จันเพ็ญ ศรีดาว

หมายเลขบันทึก: 559717เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2014 07:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กุมภาพันธ์ 2014 02:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พลังแห่งความรักความศรัทธาและจิตอาสา...ที่หลั่งไหลมาเหมือนสายน้ำ....เห็นแล้วอิ่มอกอิ่มใจค่ะ...

ขอบคุณ และให้กำลังใจคนทำงานจ้ะ

ขอบคุณครับ นุ้ยcsmsu

จิตอาสา ไม่ได้สร้างได้ในชั่วพริบตา หากแต่การสร้างผ่านต้นแบบอย่างตัวเราเอง อันหมายถึง พูดให้ฟัง ทำให้ดู อยู่เป็นเพื่อน ก็ช่วยได้เยอะเลยทีเดียวครับ เพราะเมื่อเราให้เด็ก - เด็กก็ให้คืนกลับมา ครับ

ขอบคุณครับ คุณมะเดื่อ

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจผ่านblog เช่นกันครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท