การศึกษาไทย ต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง


การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง

(สู่การศึกษาเพื่อสังคมที่เกื้อกูล พอเพียง ก้าวหน้า และมีสันติสุขอย่างยั่งยืน)

เสนอแนวคิดโดย นายปิยะวุฒิ พรมประดิษฐ

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกเพชร สพป.ศรีสะเกษ เขต ๓

.....................

๑. ทำไมต้องการศึกษาไทยต้องเปลี่ยน?

มูลเหตุที่การศึกษาไทยต้องเปลี่ยน เกิดจากปัญหาใน ๖ ด้าน ดังนี้

๑) ด้านทัศนคติหรือมิติทัศน์ทางการศึกษาของสังคม (ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าน่าจะยังไม่ถูกต้องหรือเหมาะสมนัก)

สังคมไทยถูกปลูกฝังทัศนคติและค่านิยมแบบฝังหัวมาอย่างยาวนานว่า :-

- “การเรียน” หมายถึง การเรียนในระบบ, ต้องเรียนในสถานศึกษา, เรียนจากครู-เรียนจากอาจารย์ โดยมีตำราหรือหนังสือเรียนเป็นเครื่องมือที่สำคัญ (เท่านั้น)

- การเรียน(ในระบบ)เป็นหนทางเดียวที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลได้

- ถ้าไม่ได้เรียนหรือเรียน(ในระบบ)น้อย ก็หมายถึง “ไม่มีการศึกษา” หรือ “การศึกษาต่ำ” แสดงว่าผู้นั้นมีความรู้น้อยหรือไม่มีความรู้ จะถูกดูแคลนจากสังคมและส่งผลต่อความไม่เชื่อมั่นในตนเองของผู้ที่ไม่ได้เรียน

- ถ้าได้เรียนในระบบมาก ก็หมายถึง “มีการศึกษา” หรือ “การศึกษาสูง” ซึ่งเป็นที่นับถือและยอมรับของสังคม ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและอาจเลยเถิดไปถึงความทะนงและหยิ่งผยองของผู้เรียน

- ผู้เรียนที่ทำข้อสอบหรือทำงานตามที่ครูสั่งได้มากกว่า (หรือเป็นที่พอใจของครูคือคนเก่ง ทำได้มากกว่าก็เก่งกว่า ถ้าทำได้น้อยหรือน้อยมากคือ “คนโง่” และ “โง่มาก” (ส่วนความสามารถด้านอื่นๆนอกจากนี้ ไม่มีคุณค่าและความหมายใดๆเลย)

- ฯลฯ

๒) ด้านการเมืองและที่มาของนโยบาย

นโยบายด้านการศึกษาในแต่ละยุคแต่ละช่วง มาจากพรรคหรือนักการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งแบบชั่วครั้งชั่วคราว นโยบายจึงเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามพรรค นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ไม่ได้มาจากนโยบายสาธารณะ หรือเป็นไปตามมติจากการแลกเปลี่ยนทัศนคติขององค์คณะบุคคลผู้มีส่วนได้-ส่วนเสีย ผู้มีองค์ความรู้ ผู้มีประสบการณ์และโลกทัศน์กว้างที่หลากหลาย

๓) ด้านระบบและโครงสร้างการบริหารการศึกษา

ระบบและโครงสร้างการบริหารการศึกษาของไทยในปัจจุบัน เป็นระบบและโครงสร้างแบบหลายชั้นและรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง ซึ่งมีผลให้เกิดคำสั่งอันเกิดจากนโยบาย แนวคิด และความคาดหวังจากหลายระดับส่งเป็นทอดๆมุ่งตรงลงไปที่สถานศึกษา ทำให้เกิดกิจกรรมและภาระการงานที่ซ้ำซ้อน (บางส่วนก็ไม่สอดคล้องต้องกัน) จนกระทบถึงภารกิจหลักในการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษา

๔) ด้านหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน และวัดผลประเมินผล

หลักสูตรการศึกษาของไทยทุกยุคทุกสมัย มีลักษณะเป็นความรู้สำเร็จรูปที่บรรจุไว้ในหนังสือเรียน ครูผู้สอนมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้นั้นสู่ผู้เรียน โดยส่วนใหญ่จำต้องใช้วิธีการสอนแบบอธิบายขยายความเสริมความเข้าใจเพิ่มขึ้น ในส่วนของการวัดผลประเมินผลก็จะมุ่งเน้นไปที่การจดจำความรู้สำเร็จรูปนั้นเป็นสำคัญ ใครจำและจิ้ม(ข้อสอบ)ได้ถูกมากกว่าก็ถือว่าเก่งกว่า ส่วนใครที่จำและจิ้มได้ถูกน้อยก็แสดงว่าอ่อนหรือโง่ (เป็นการวัดและประเมินผลแบบให้ความสำคัญกับค่าตัวเลขที่เรียกกันว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มากกว่าความดีงามและพลังสร้างสรรค์ในตัวผู้เรียน)

๕) ด้านกระบวนการบริหารจัดการระดับสถานศึกษา

จุดปฏิบัติการที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษามากที่สุดก็คือสถานศึกษา แต่ในความเป็นจริงของการศึกษาไทย “สถานศึกษากลับมีความสำคัญและอำนาจในการตัดสินใจหรือจัดการน้อยที่สุด” อำนาจการจัดการ - อำนาจการบริหารเงินงบประมาณ ตลอดถึงปัจจัยอื่นที่มีผลต่อคุณภาพการศึกษาแทบจะทั้งหมด” ตกอยู่กับหน่วยงานที่อยู่เหนือสถานศึกษาขึ้นไปเกือบจะทั้งนั้น สถานศึกษามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายและคำสั่งของหน่วยงานต้นสังกัด (ที่มีอยู่หลายชั้นหลายแผนก) ไม่ว่าจะสอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาหรือชุมชนท้องถิ่นนั้นๆหรือไม่ก็ตาม ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างมากมายมหาศาล ทั้งงบประมาณ บุคลากร วัสดุ และเวลาในการจัดการ

ในขณะที่อำนาจหรือสิทธิในการคัดเลือกผู้บริหาร ครูผู้สอน ตลอดถึงบุคลากรและเจ้าหน้าที่ผู้ร่วมงานในสถานศึกษา กลับมิได้เป็นของผู้มีส่วนได้-เสีย (หมายถึงชุมชนและผู้ปกครองนักเรียน) ใดๆเลยแม้แต่น้อย ซึ่งบางทีไม่รู้หน่วยเหนือส่งใครมาสอน มาบริหาร และทำงานในตำแหน่งต่างๆ ที่ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาโดยตรง (ทั้งๆที่ถูกขับไล่มาจากที่อื่นๆด้วยข้อหาร้ายแรงด้วยซ้ำ)

๖) ด้านทัศนคติของชุมชนต่อความเป็นสถานศึกษา

ค่านิยมหรือทัศนคติของชุมชนที่มีต่อสถานศึกษา ส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของความเป็นหน่วยงานราชการที่มีเงินอุดหนุนแล้วจากงบประมาณแผ่นดิน หาใช่องค์กรของชาวบ้านหรือชุมชนไม่ (ซึ่งต่างจากวัดหรือศาสนสถานอื่นๆโดยสิ้นเชิง) ในขณะที่ครูก็มีเงินเดือนมีค่าตอบแทนจากทางราชการค่อนข้างมากแล้วอีกต่างหาก ดังนั้น ชุมชนหรือชาวบ้านผู้ปกครองนักเรียนจึงไม่ใคร่จะรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของและควรมีส่วนร่วมในการพัฒนา การพัฒนาสถานศึกษาจึงเป็นหน้าที่ของรัฐและคณะครู-ผู้บริหารในโรงเรียนเป็นสำคัญ ยิ่งเข้าสู่ยุคการเมืองที่ชูนโยบายประชานิยมเป็นเครื่องมือเช่นปัจจุบัน ชาวบ้านก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า “โรงเรียนต้องเป็นฝ่ายให้ ชาวบ้านและนักเรียนต้องเป็นฝ่ายรับ” ซึ่งเป็นทัศนคติที่จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งต่อการจัดการศึกษามรอนาคต หากกระบวนการและความสามารถในการสื่อสารของสถานศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่ลึกซึ้งพอ

๒. การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนไปเป็นแบบไหนและอย่างไร?

สรุปความสั้นๆ การศึกษา (โดยเฉพาะในส่วนของระดับพื้นฐาน) ต้องเป็นเรื่องของชุมชน (ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง) กับครูและผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพที่จะต้องจัดการร่วมกัน ซึ่งผู้เรียนต้องไม่ใช่ลูกอีแร้งที่ต้องอ้าปากคอยกินแต่ของตายของเน่า (ความรู้ในตำราที่ครูต้องคอยยัดเยียดให้เท่านั้น) หากแต่ต้องได้รับการสร้างเสริมเติมแต่งด้วยรูปแบบและวิธีการเรียนรู้จะช่วยกลุ่มเกลา-สลักเสลา-สร้างจินตนาการ (แทนการบังคับให้จำ-จิ้มแบบปัจจุบัน) ทั้งนี้เพื่อให้เด็กเกิดคุณสมบัติในการเป็นผู้ที่มี “จิตสำนึกที่ดี ความประพฤติที่ชอบ มีโลกทัศน์หรือมุมความคิดที่กว้างไกล และมีพลังสร้างสรรค์อย่างท่วมท้น” ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าเป็นคุณสมบัติที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่อนาคตที่ดีงามทั้งของตัวผู้เรียนเอง ครอบครัว สังคมชุมชน และประเทศชาติโดยรวมได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน โดยในส่วนของรัฐมีหน้าที่เพียงอุดหนุนเงินงบประมาณที่พอเพียง มีการตรวจสอบคุณภาพผู้เรียนและสถานศึกษาที่หลากรูปแบบอย่างเข้มข้น ในขณะเดียวกันต้องฟังเสียงสะท้อนของผู้มีส่วนได้เสียอย่างใจกว้างและไร้ซึ่งอคติโดยสิ้นเชิง และที่สำคัญต้องกล้าที่จะยอมรับการเปลี่ยนแปลง ทั้งรูปแบบ วิธีการ และโครงสร้างที่ตนเองเคยอยู่เหนือ มีอำนาจในการสั่งการ กำหนดงบประมาณ และตีกรอบอื่นๆทางการศึกษาตามทัศนะหรือมิติทัศน์ (มุมมอง) แบบเดิมๆอีกต่อไป

...............................................

 

หมายเลขบันทึก: 559488เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2014 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 11:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรที่มีส่วนร่วมกับการพัฒนาชีวิตชุมชน ขอบคุณมากๆครับผม

ขอบคุณมากครับท่าน ดร.

ผลผลิตของหลักสูตรในโรงเรียน(ครอบตรัว)ของผม (ที่ผ่านหลักสูตรเพาะถั่วงอกที่มีวิถีชีวิตแบบบ้านๆจนจบ ม.๖) ตอนนี้ กำลังลุ้นแค่การตรวจร่างกายและตรวจสอบประวัติอาชญากรรม(ซึ่งไม่มีอยู่แล้ว) ก็จะได้เป็นบริกรบนเครื่องบินชาย (Steward) ของการบินไทย (เพื่อหาประสบการณ์สัก ๕-๖ ปี) หลังจากนั้นมีแผนจะกลับมาพัฒนาภาษาอังกฤษให้กับเด็กๆที่บ้านเกิดศรีสะเกษครับ

แต่อนาคตจะเป็นยังไง? ยังไม่มีใครตอบได้แน่นอนนัก... แต่ที่แน่ๆ... ผมใช้เขาเป็นแบบอย่างในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆและผู้ปกครองที่โรงเรียนครับ

.

(คนท้ายสุด ในยูนิฟอร์มของพนักงานต้อนรับภาคพื้นดินของสายการบิน Lufthansa ของเยอรมัน ที่สนามบินสุวรรณภูมิครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท