จิตตปัญญาเวชศึกษา 196: หน้าที่พลเมือง (Citizenship)


หน้าที่พลเมือง

ผมคิดว่าในมหาวิทยาลัยต่อไปนี้ ทุกคณะควรจะมีสาระว่าด้วย "หน้าที่พลเมือง (Citizenship)" อยู่ในหลักสูตร

สมัย เด็กๆ เรามีวิชาหน้าที่ศีลธรรม และวิชาหน้าที่พลเมือง เป็นรายวิชาบังคับ ซึ่งยอมรับว่าน่าเบื่อมากสำหรับเด็กๆ จำไม่ได้แล้วว่าเพราะเนื้อหา วิธีสอน วิธีเรียน หรืออะไร แต่ก็พอจะได้รับรู้เรื่องอำนาจอธิปไตย นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ เรื่องที่มาของสามสถาบันคือสภานิติบัญญัติ รัฐบาล และศาล การถ่วงดุลอำนาจ มีศัพท์หรูหราเยอะดี และทำให้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์เข้าใจได้ในระดับหนึ่ง ส่วนศีลธรรมก็มีเรียนพุทธประวัติ (ซึ่งสนุกดี จำได้เกือบหมด ที่จำได้แม่นมากคือคำถามว่า "พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นที่ประเทศไหน" แล้วเราก็ตอบไปว่า "สวนลุมพินี ประเทศไทย" ถึงสามภาคเรียนซ้อนๆ ครูต้องเชิญผู้ปกครองมาพบ บอกให้ช่วยปรับความเข้าใจว่าลุมพินีไม่ได้หมายถึงสวนลุมฯ... เราได้ยินตอนครูบอก ยังยิ้มเยาะๆ เดี๋ยวแม่คงจะสั่งสอนครูให้เข้าใจซะที... ผิดคาด) อาจารย์ที่สอนศีลธรรม แกเป็นเปรียญเก้าประโยค สอนได้สนุกมาก ท่องพุทธภาษิตภาษาบาลีได้หลายสิบบท

แล้วก็หายไป หายไปพักใหญ่ ใหญ่มาก คือพอขึ้นชั้นมัธยม ก็หมดแล้ววิชานี้ ไม่ได้เรียนอีกเลย เข้าใจว่า "เรียนจบ" ไปแล้ว

และอย่างที่เราทราบกัน ประชาธิปไตยเมืองไทยมีการผลัดเปลี่ยนฤดู ใบไม้ร่วง ใบไม้ผลิ กันค่อนข้างบ่อย คนไทยคุ้นเคยกับ ballot box ดี มีศัพท์เท่ห์ๆอย่างพลร่ม ไพ่ไฟ (เวียนเทียนลงคะแนนเสียง) กันมานานแล้ว ที่เกิดขึ้นในสภาเสียบบัตรแทนนั้นเป็น remnant มฤดกตกทอดของไดโนเสาร์เท่านั้น ไม่ใช่นวตกรรมความเลวแต่อย่างใด แต่เลวมาหลาย generations แล้ว

สมัยนั้นนักศึกษาเกือบทุก มหาวิทยาลัยจะมีความตื่นตัวทางการเมืองมาก เพราะการเมืองให้ชุดภาษาที่เท่ห์สุดๆ ฟังดูมีอุดมการณ์ เหมาะกับวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงมาก เราอ่านหนังสือประเภทมาร์กซิส เต๋าเต็กเก็ง โจนาธานลิฟวิงตันนางนวล (แต่บางคนจำผิด ไปอ่านนวลนางแทน.... น่าสงสาร)

กาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป นักศึกษาก็เปลี่ยนไป ความสนอกสนใจก็เปลี่ยนไป การเมืองไม่ใช่หัวข้อที่ cool ในหมู่นักศึกษา ปัญญาชนรุ่นใหม่ อย่างแต่ก่อน กิจกรรมนักศึกษาออกไปทางกิน เที่ยว เทคโนโลยี การไฮปาร์คอันเป็นศิลปการพูดในที่สาธารณะ กลายเป็น the lost art เดี๋ยวนี้ถูกทดแทนด้วย social media ภาษางุงิ คริคริ แทน เป็นการวิวัฒน์ทางปัญญาซึ่งยากสำหรับคนแก่ๆอย่างผมจะเข้าใจ

ผม คิดว่าถ้านำเอาวิชา citizenship กลับเข้ามาในหลักสูตร และในระดับอุดมศึกษา อาจจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะการเรียนในอุดมศึกษานั้น ไม่ได้เรียนเพื่อให้มีอาชีพการงานเท่านั้น แต่เป็นการเรียนเพื่อ "บริการสังคม" เนื่องจากเนื้อที่เรียนมีน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร ดังนั้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องใช้ให้คุ้มค่า และเครื่องมืออันหนึ่งที่น่าสนใจคือ การเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง ในทุกๆสาขาอาชีพ

ผมวาดภาพในจินตนาการไว้ว่า ถ้าหากเราเอานักศึกษาจากทุกๆคณะ มาร่วมกิจกรรมกัน มีกี่คณะ ก็มากันสักคณะละสองคน ทำกลุ่มย่อยกัน ถึงเวลาก็แนะนำตัวว่ามาจากคณะอะไร โตขึ้น หรือจบแล้วอยากจะทำ อยากจะเป็น อยากจะมีอะไร แล้วหลังจากนั้น ก็ลองให้เพื่อนๆจากคณะอื่นๆ สาขาอื่นๆ ลองทำตัวเป็นตัวแทนสังคม ช่วยกันบอกนักศึกษาที่แนะนำตัวเองเสร็จไปว่า "ในมุมมองของเพื่อนๆนั้น เพื่อนๆคาดหวังอะไรเมื่อเค้าศึกษาจบบ้าง"

กิจกรรม นี้จะได้เพิ่มการ set learning objectives ไม่เพียงแค่ "ตัวเองอยากจะเป็น อยากจะทำอะไร" แต่จะได้ทราบด้วยว่า เอ่อ นะ ไอ้ที่ตูอยากจะเป็นวิศวะนั้น ชาวบ้านเค้าอยากจะให้ทำถนนให้ปลอดภัย ออกแบบได้ประหยัดคุ้มราคา ไอ้ที่เราอยากจะเป็นทนาย เป็นอัยการ เป็นศาล ชาวบ้านเค้าอยากจะให้เราเป็นหมอเยียวยาความยุติธรรมในสังคม ไม่ได้เป็นแค่นิติกรรับใช้นักการเมือง ไอ้ที่ตนเองอยากเป็นหมอจะได้มีอาชีพมั่นคง ฐานะดี ประชาชนเค้าอยากจะให้เราเป็นนักฟังความทุกข์ และทำเพื่อประโยชน์ของมนุษย์ ไม่ได้ทำเพื่อร่ำรวย ฯลฯ

ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นแค่ ความรู้สึกของผมเอง ก็คือ เดี๋ยวนี้ "อุดมศึกษา" ไม่ได้เรียนเพื่อส่วนรวมแล้ว แต่เป็นการเรียนเพื่อตนเอง บางที ถ้าเรา "ได้ยินความคาดหวัง" จากคนนอกคณะของเรา มาบอกว่า "ไอ้การที่จะเป็นหมอ เป็นพยาบาล เป็นวิศวะ เป็นนักกฏหมาย ฯลฯ" ที่ประสบความสำเร็จนั้น ชาวบ้านที่ไม่ได้อยู่ในวงการเค้าคาดหวังอะไรจากเราบ้าง?

จิตสำนึกของ "การศึกษาอันอุดมสมบูรณ์" หรืออุดมศึกษา มันถูกกัดกร่อนหายไปเยอะ ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทราบ แต่เราอาจจะต้องมาทบทวนกันว่าเรื่องนี้สำคัญไหม? เร่งด่วนไหม? ทำอย่างไร นักศึกษาจึงจะเชื่อมโยงเรื่องแบบนี้เข้ากับสาระวิชาที่ตนเองศึกษาอยู่ได้ และเข้าไปในระดับจิตสำนึก มิใช่อยู่เพียงแค่เอาไว้ท่องตอนสอบเท่านั้น

สกล สิงหะ

เขียนที่หน่วยชีวันตาภิบาล รพ.สงขลานครินทร์

๑๐ นาฬิกา ๓๘ นาที วันศุกร์ที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๗

แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะเส็ง

หมายเลขบันทึก: 559483เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2014 10:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2014 10:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เข้ามาเรียน วิชาหน้าที่พลเมืองกับอาจารย์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท