จริยธรรมในการตีพิมพ์บทความ (Publishing Ethics) : การส่งต้นฉบับซ้อน (Simultaneous Manuscript Submission) และการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน (Duplicate Publication)


การเผยแพร่ผลงานวิชาการในปัจจุบันมีหลากหลายลักษณะ ซึ่งผลงานวิชาการประกอบไปด้วย หนังสือตำรา เอกสารประกอบการสอน งานแปล บทความวิชาการ งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ งานวิจัยที่นำเสนอในการประชุมวิชาการ งานประดิษฐ์หรืองานสร้างสรรค์ วัตถุประสงค์ในการการเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักวิจัยและนักวิชาการมีหลายอย่าง เช่น

1. เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิชาการเป็นลักษณะของงานที่เจ้าของผลงานวิชาการมีการคิด ค้นคว้า ทบทวนวิเคราะห์ สรุป เรียบเรียงและอ้างอิงข้อมูลมาแล้วเป็นอย่างดี จึงมีประโยชน์ต่อวงการวิชาการและมีความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ผู้ที่สนใจต้องการศึกษาค้นคว้าในเรื่องนั้นมีข้อมูลอ้างอิงเพื่อการศึกษาวิจัยให้กว้างและลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยให้นักวิชาการคนอื่นๆไม่ต้องเสียเวลาไปทำงานวิจัยซ้ำกับที่เคยทำมาซึ่งเป็นการสูญเปล่า ซึ่งก็จะช่วยให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการอีกด้วย

2. เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนในหลักสูตร เจ้าของผลงานวิชาการอาจจัดเตรียมงานวิชาการในรูปแบบหนังสือ ตำรา เอกสารประกอบการสอน ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องการรายวิชาหรือหลักสูตรที่ตัวเจ้าของผลงานมีความเชี่ยวชาญหรือรับผิดชอบการสอนในสาชาวิชาที่เกี่ยวข้องอยู่เพื่อใช้ประกอบการสอนให้ผู้เรียนสามารถเข้าในเนื้อหาและนำไปศึกษาทบทวนได้

3. เพื่อการเพิ่มพูนและพัฒนาทักษะของเจ้าของงานวิชาการเอง เนื่องจากในการเผยแพร่งานวิชาการ เจ้าของผู้จัดทำงานที่เผยแพร่จะต้องลงมือคิด เตรียมเนื้อหาและทบทวนองค์ความรู้ด้วยตนเองก่อน ซึ่งจะช่วยให้ได้รู้ข้อมูลที่มีผู้อื่นเขียนไว้มากขึ้น หากผลงานิชาการนั้นเป็นงานวิจัย เจ้าของผลงานต้องสร้างออกแบบการทำวิจัยเช่นการทดลอง หรือการสำรวจด้วยตัวเองและปรึกษากับผู้รู้ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนทักษะและความรู้ในการทำวิจัยไปในตัว เมื่อได้ผลการทดลองหรือการสำรวจมาแล้ว ต้องนำมาสรุปและเรียบเรียงเพื่อเขียนเป็นผลงานวิชาการ ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางด้านการเขียนและภาษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเจ้าของผลงานวิชาการต้องการเผยแพร่ผลงานเป็นภาษาต่างประเทศ ก็จะยิ่งเป็นการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศให้ตัวเองได้ด้วย

4. เพื่อสร้างชื่อเสียงให้แก่เจ้าของผลงาน วิชาการ เพราะการเผยแพร่ผลงานวิชาการย่อมทำให้เจ้าของผลงานเป็นที่รู้จักมากขึ้น

5. เพื่อสร้างรายได้ให้กับเจ้าของผลงานวิชาการ เนื่องจากงานวิชาการหลายรูปแบบที่ได้รับการเผยแพร่ อาจมีค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของผลงานวิชาการด้วย

6. เพื่อความก้าวหน้าทางหน้าที่การงาน หรือใช้ประกอบการขอตำแหน่งทางวิชาการหรือการเลื่อนขั้น เนื่องจากในการทำงานด้านวิชาการ จะต้องมีการเผยแพร่ผลงานตามข้อกำหนดของหน่วยงานเพื่อใช้ในการสร้างความก้าวหน้าของตำแหน่งและอาชีพ เช่น การขอตำแหน่ง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ (ผศ.) รองศาสตราจารย์ (รศ.) และศาสตราจารย์ (ศ.) ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย หรือการเลื่อนวิทยฐานะของครู เป็นต้น นอกจากนี้ในบางมหาวิทยาลัยอาจกำหนดให้อาจารย์ต้องมีงานวิชาการเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขในการจ้างงาน เป็นต้น

7. เพื่อทำตามข้อกำหนดของการเรียน เนื่องจากการเรียนการสอนในหลายหลักสูตร เช่น ระดับปริญญาโทหรือเอก มักจะกำหนดให้ผู้เรียนมีการเผยแพร่ผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของปริญญานิพนธ์ (Thesis) หรือการศึกษาค้นคว้าอิสระ (Independent study)เป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการจบการศึกษา

8. เพื่อสร้างเครือข่ายทางวิชาการ (Academic network) เนื่องจากการเผยแพร่ผลงานวิชาการในรูปแบบต่างๆจะทำให้นักวิชาการคนอื่นๆได้รู้จักนักวิจัยและนักวิชาการที่สนใจในสาขาเดียวกัน และสามารถติดต่อขอข้อมูล แลกเปลี่ยนประสบการณ์ บุคลากร รวมถึงขอความอนุเคราะห์ในการใช้อุปกรณ์และสถานที่ในการค้นคว้าวิจัยได้อีกด้วย

9. เพื่อใช้ในการขอทุนวิจัย (Research grant) การศึกษาวิจัยของนักวิชาการต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย งานวิจัยบางอย่างจำเป็นต้องใช้ทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งนักวิจัยอาจไม่มีทุนมากพอในการทำวิจัย ดังนั้นหากผู้วิจัยมีผลงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่ามีความเชี่ยวชาญและเป็นประโยชน์ ก็ย่อมเป็นปัจจัยที่ดึงดูดแหล่งทุนสนับสนุนงานวิจัยได้ ผลงานวิชาการที่เป็นงานวิจัยและบทความวิชาการ มีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิชาการเป็นอย่างมาก เนื่องจากการเผยงานวิจัยรวมทั้งบทความวิชาการเป็นการแบ่งปันองค์ความรู้ที่รวมเอาสิ่งที่มีการค้นพบมาก่อนและสิ่งที่เพิ่งค้นพบจากการทำวิจัยมานำเสนอให้บุคคลที่สนใจในศาสตร์แขนงนั้นได้ศึกษาหาความรู้เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจและยังสามารถนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการศึกษาจากผลงานวิจัยไปต่อยอดเพื่อศึกษาวิจัยในศาสตร์นั้นให้กว้างไกลและลุ่มลึกได้มากขึ้น อีกทั้งการเผยแพร่งานวิจัยยังช่วยให้นักวิจัยที่ในสาขาเดียวกันหลีกเลี่ยงการทำวิจัยหรือการทดลองที่อาจไปซ้ำกับงานวิจัยที่เคยมีผู้ศึกษาไว้อย่างดีแล้ว ซึ่งก็จะช่วยลดความสูญเสียจากการทำงานวิจัยที่ซ้ำกัน นอกจากนี้การเผยแพร่งานวิจัยและบทความทางวิชาการยังสามารถทำให้เผยแพร่ข้อมูลหรือองค์ความรู้ที่เพิ่งค้นพบใหม่ๆ ได้เร็วกว่ารูปแบบของหนังสือหรือตำรา เนื่องจากการสื่อที่ใช้ในการเผยแพร่งานวิจัยมีจำนวนมากและสามารถทำได้ถี่กว่า

รูปแบบการเผยแพร่งานวิชาการและงานวิจัยที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน ได้แก่

1. วารสารวิชาการ (Academic journal)

2. การประชุมวิชาการ (Proceeding or conference)

ลักษณะของผลงานที่เผยแพร่ในวารสารวิชาการ ได้แก่

1. งานวิจัยต้นฉบับ (Original research article)

2. งานวิจัยฉบับย่อ (Short communication)

3. บทความทบทวนวิชาการ (Review article)

4. บทวิจารณ์หนังสือ (Book review)

5. จดหมายถึงบรรณาธิการ (Letter to editor)

6. การแก้ไขคำผิด (Erratum Correction)

ส่วนลักษณะของผลงานที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการ ได้แก่

1. การนำเสนอด้วยวาจา (Oral presentation)

2. การนำเสนอด้วยโปสเตอร์ (Poster presentation)

3. การรับเชิญเป็นผู้ปาฐกถา บรรยาย หรือร่วมอภิปราย (Invited speaker)

4. การสาธิตในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop demonstration)

5. การแสดงผลงานประดิษฐ์คิดค้นหรืองานสร้างสรรค์ (Invention or creative exhibition)

นอกจากนี้งานวิจัยที่ศึกษามาอาจมีการนำเสนอรูปแบบอื่นๆนอกเหนือจากการเผยแพร่ในวารสารวิชาการและการประชุมวิชาการ เช่น

1. รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ (Full report)

2. รายงานวิจัยฉบับย่อ (Short report)

นักวิชาการและนักวิจัยต่างก็ต้องการให้ผลงานของตนเองได้รับการเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวางตามวัตถุประสงค์ที่ได้กล่าวมาก่อนหน้านี้ ทำให้บางครั้งการเผยแพร่ผลงานวิชาการของนักวิชาการและนักวิจัยอาจเกิดปัญหาทางด้านจริยธรรมในการเผยแพร่ผลงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงาน (Publishing ethics) การเผยแพร่งานวิจัยในลักษณะการตีพิมพ์ผลงานในวารสารวิชาการได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะวารสารวิชาการในปัจจุบันมีจำนวนมากมายมาหลายสาขา ทำให้นักวิชาการและนักวิจัยมีทางเลือกในการส่งบทความและงานวิจัยไปตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่มากขึ้น อีกทั้งในปัจจุบันวารสารวิชาการส่วนใหญ่นำเอาผลงานวิชาการมาเผยแพร่ในรูปแบบวารสารออนไลน์ (Online journal) ก่อนการพิมพ์เป็นรูปเล่ม ซึ่งทำให้การงานวิจัยหรือบทความถูกเผยแพร่ได้อย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากกว่า ลักษณะของวารสารออนไลน์นั้นบุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปสืบค้นออนไลน์ได้โดยไม่เสียเงินค่าสิทธิ์ในการเข้าดู (Free article) โดยเนื้อหาที่วารสารนำมาเผยแพร่ออนไลน์อาจเป็นแค่บทคัดย่อ (Abstract) หรืองานวิจัยฉบับเต็ม (Full text) หรือบางครั้งผู้ที่สนใจอาจจะต้องจ่ายเงิน (Pay per particle) เพื่อขอดูข้อมูลฉบับเต็ม (Subscription)

การที่บทความหรือผลงานวิจัยจะได้รับการตีพิมพ์นั้นในวารสารวิชาการนั้น เจ้าของผลงานจะต้องส่งต้นฉบับ (Original manuscript) ไปยังบรรณาธิการของวารสานนั้นเพื่อพิจารณาก่อน โดยทั่วไปวารสารที่ดีและมีความน่าเชื่อถือจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญในการตรวจประเมินบทความหรือผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์ (Peer review) โดยบรรณาธิการจะส่งงานที่เจ้าของส่งมาตีพิมพ์ไปให้ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานประเภทนั้นเป็นผู้กลั่นกรอง (Referee) เกี่ยวกับความเป็นต้นฉบับ (Originality) เนื้อหา (Context) ความน่าเชื่อถือของระเบียบวิธีวิจัย (Research methodology) ผลการวิจัย (Research result) รูปแบบการนำเสนอผลการวิจัย (Result presentation) เช่น ภาพ ( Image) แผนภูมิ (Graph) เป็นต้น รวมทั้งผู้กลั่นกรองต้องพิจารณาการสรุปผลและวิจารณ์ผลการวิจัยของผู้วิจัย (Conclusion and Discussion) และตรวจความถูกต้องของการอ้างอิง (Citation) ในบทความที่ส่งมาตีพิมพ์อีกด้วย นอกจากนี้ผู้กลั่นกรองบทความยังต้องควรให้คำแนะนำเพิ่มเติมแก่เจ้าของผลงานเพื่อปรับแก้เนื้อหาและข้อมูลบางส่วน (Revise) รวมทั้งทำหน้าที่ในการแนะนำบรรณาธิการว่าจะรับ (Accept) หรือไม่รับ (Reject) ผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ลงในวารสาร

กระบวนการในการพิจารณาผลงานวิจัยหรือบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ในวารสารวิชาการมักใช้เวลาค่อนข้างนานเนื่องจากมีขั้นตอนต่างๆ และการกลั่นกรองโดยผู้เชี่ยวชาญที่ใช้เวลาพอสมควรก่อนการรับผลงานเพื่อตีพิมพ์ ดังนั้นเจ้าของบทความหรืองานวิจัยจึงต้องรอให้ผลการพิจารณาการตอบรับจากวารสารซึ่งอาจใช้เวลานานเกินไปจนอาจทำให้ไม่ทันตามข้อกำหนดบางประการของเจ้าของบทความหรืองานวิจัย เช่น เจ้าของบทความหรืองานวิจัยอาจรอการตอบรับการตีพิมพ์เพื่อให้ทันระยะเวลาที่ต้องเรียนให้จบ หรือทันระยะเวลาในการทำผลงานวิชาการ เป็นต้น ดังนั้นเจ้าของบทความหรือ นอกจากนี้ผลงานที่ส่งมาให้วารสารพิจารณาก่อนนั้นก็ใช่ว่าจะได้รับการคัดเลือกให้เผยแพร่ในวารสารดังกล่าวเสมอไป เพราะบางครั้งผลงานที่ส่งมาให้วารสารพิจารณาอาจถูกปฏิเสธการเผยแพร่ลงในวารสารด้วยเหตุผลต่างๆ ได้ เช่น ระเบียบวิธีวิจัยไม่มีความน่าเชื่อถือ ผลการวิจัยไม่ชัดเจน รวมทั้งการเกิดจากความผิดพลาดหรือความขัดแย้งของผู้กลั่นกรองและบรรณาธิการเอง เป็นต้น

เจ้าของบทความหรืองานวิจัยบางคนจึงอาจตัดสินใจส่งบทความต้นฉบับไปยังวารสารหลายฉบับ กลายเป็นการส่งต้นฉบับซ้อน (Simultaneous manuscript submission) เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร หากมีวารสารใดปฏิเสธก็อาจมีวารสารฉบับอื่นๆรับตีพิมพ์ก็ได้ นอกจากนี้เจ้าของบทความหรืองานวิจัยบางคนยังอาจจะตั้งใจส่งงานต้นฉบับไปยังวารสารหลายฉบับซ้อนกันด้วยเหตุผลอื่นๆ เช่น เพื่อเพิ่มจำนวนผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ เป็นต้น โดยอาจส่งต้นฉบับที่เหมือนกันทั้งหมด หรือมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในต้นฉบับบางส่วน ทั้งนี้อาจเป็นเพราะคาดหวังผลประโยชน์จากการที่มีจำนวนผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก เช่น นำไปใช้ในการการจบการศึกษาตามเงื่อนไข (บางหลักสูตรอาจกำหนดให้ต้องมีการเผยแพร่ผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของปริญญานิพนธ์มากกว่าหนึ่งเรื่อง) หรือเพื่อนำไปขอตำแหน่งทางวิชาการหรือเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น

การส่งต้นฉบับซ้อน (Simultaneous manuscript submission) เป็นสิ่งที่ผิดจริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาลิขสิทธิ์ (Copy right) ตามมาอีกด้วย โดยทั่วไปวารสารทางวิการการต่างๆจะกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับต้นฉบับที่จะส่งมาให้บรรณาธิการพิจารณาไว้ว่า

1. ต้องเป็นบทความที่ไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่โดยวิธีอื่นใดและที่ใดมาก่อน

2. ต้องไม่อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น

โดยเจ้าของผลงานที่กำลังส่งให้บรรณาธิการพิจารณาต้องลงลายมือชื่อในเอกสาร เพื่อแถลงว่าบทความที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณายังไม่เคยตีพิมพ์หรือเผยแพร่โดยวิธีอื่นใดและที่ใดมาก่อน และไม่อยู่ในระหว่างการเสนอเพื่อพิจารณาตีพิมพ์ในวารสารอื่น เมื่อบรรณาธิการได้รับต้นฉบับมาและตรวจสอบเนื้อหาและรูปแบบเบื้องต้นผ่านเรียบร้อยแล้วจึงจะส่งคณะผู้ทรงคุณวุฒิช่วยกันกลั่นกรอง ผลงานที่ผ่านการกลั่นกรอง และประเมินคุณภาพจากกองบรรณาธิการวารสาร และผู้ทรงคุณวุฒิ ตามเงื่อนไขที่กำหนดจึงจะได้รับการยอมรับให้ตีพิมพ์ในวารสาร ดังนั้นหากเจ้าของผลงานจงใจส่งต้นฉบับซ้อนให้วารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ก็ย่อมเป็นการฝ่าฝืนเงื่อนไขในการส่งต้นฉบับให้วารสารพิจารณา การส่งต้นฉบับซ้อนยังทำให้เกิดข้อเสีย คือ

1. ทำให้บรรณาธิการวารสาร (Publishing Editor) ผู้กลั่นกรองต้นฉบับ (Peer reviewer) ที่ไม่ทราบว่าต้นฉบับนั้นเป็นต้นฉบับซ้อน ต้องเสียเวลาในการพิจารณาต้นฉบับโดยไม่จำเป็น

2. อาจทำให้เกิดปัญหาลิขสิทธิ์ของบทความที่ตีพิมพ์ตามมาหากต้นฉบับนั้นได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ

3. หากต้นฉบับนั้นได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์ในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ก็จะทำให้เกิดความสิ้นเปลืองทรัพยากร เพราะแต่ละวารสารจะต้องเสียค่ากระดาษในการตีพิมพ์รวมทั้งการทำเอกสารเผยแพร่ออนไลน์งานที่เป็นต้นฉบับซ้อน

4. กีดกันโอกาสของผลงานอื่นที่ควรได้รับการพิจารณาเพื่อตีพิมพ์ เพราะเสียเวลาการพิจารณากลั่นกรองและเปลืองเนื้อที่ในการตีพิมพ์ต้นฉบับซ้อนแทนที่จะเอาทรัพยากรตรงส่วนนี้ไปให้ผลงานต้นฉบับอื่นๆ

ในวารสารวิชาการ (รวมทั้งวารสารอื่นๆอีกหลายประเภท) มักกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ไว้ด้วยว่า “ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการถือเป็นกรรมสิทธิ์ของวารสารห้ามนำข้อความทั้งหมดหรือบางส่วนไปพิมพ์ซ้ำ เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับอนุญาตจากทางวารสาร” ดังนั้นหากปรากฏว่าต้นฉบับที่ส่งไปยังวารสารหลายฉบับได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์จากวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ ก็ย่อมเกิดปัญหาด้านลิขสิทธิ์ตามมา เพราะไม่รู้ว่าลิขสิทธิ์ควรเป็นของวารสารรายใดกันแน่ ดังนั้นเจ้าของผลงานจึงไม่ควรส่งต้นฉบับซ้อนเป็นอันขาด เมื่อส่งต้นฉบับไปให้วารสารใดวารสารหนึ่งพิจารณาแล้วควรรอผลการพิจารณาจากวารสารเสียก่อน ในระหว่างที่รอผลการพิจารณาก็ไม่ควรควรส่งต้นฉบับนั้นไปให้วารสารอื่นพิจารณาอีก เมื่อผลงานได้รับการตอบรับให้ตีพิมพ์แล้วก็ไม่ควรส่งต้นฉบับนั้นไปให้วารสารอื่นพิจารณาอีกเช่นกัน เมื่อรอจนได้รับคำตอบจากวารสารมาแล้วว่าผลงานไม่ได้รับให้ตีพิมพ์ จึงจะส่งผลงานชิ้นนั้นไปให้วารสารอื่นพิจารณาต่อไปทีละราย

การส่งต้นฉบับซ้อนนับว่าเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณของนักวิจัยและนักวิชาการที่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ผลงานเพราะถือว่าเป็นความไม่ซื่อสัตย์ทางวิชาการ (Academic dishonesty) และเป็นการฝ่าฝืน (Breach) เงื่อนไขของวารสาร ถึงแม้ว่าท้ายที่สุดผลงานที่ส่งไปตีพิมพ์อาจได้รับการตอบรับจากวารสารใดวารสารหนึ่งให้ผลงานได้ตีพิมพ์เพียงแค่หนึ่งราย แม้อาจจะไม่มีความขัดแย้งเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ระหว่างวารสารตามมา แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่สมควรกระทำ หากทางวารสารพบว่าเจ้าของผลงานมีพฤติกรรมดังกล่าว อาจถูกวารสารขึ้นบัญชีดำไม่พิจารณาผลงานใดๆของบุคคลนั้นที่จะส่งมาให้พิจารณาเพื่อตีพิมพ์ในอนาคตและอาจมีการแจ้งให้วารสารรายอื่นให้ทราบอีกด้วย นอกจากนี้หากมีการตรวจพบว่าเจ้าของผลงานมีการส่งต้นฉบับผลงานดังกล่าวไปให้วารสารหลายฉบับพิจารณาพร้อมกัน ทางวารสารมักจะปฏิเสธไม่พิจารณาต้นฉบับ ยกเว้นในบางกรณีที่ทางบรรณาธิการของวารสารแต่ละวารสารได้รับทราบถึงการส่งผลงานต้นฉบับซ้อนและได้ทำการตกลงกันระหว่างบรรณาธิการของวารสารที่เกี่ยวข้องว่าจะร่วมกันตีพิมพ์ผลงานดังกล่าว

ปัญหาด้านในจริยธรรมของการตีพิมพ์บทความวิชาการและงานวิจัยอีกอย่างหนึ่งคือการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน (Duplicate publication or multiple publication or redundant publication) ซึ่งนอกจากจะเป็นการผิดจรรยาบรรณของการตีพิมพ์แล้ว กรณีนี้ยังทำให้เกิดปัญหาด้านความเป็นเข้าของลิขสิทธิ์ของงานที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการตามมา เนื่องจากการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนจะทำให้บทความเดียวกันถูกตีพิมพ์ในวารสารมากกว่าหนึ่งฉบับ การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน แตกต่างจากการส่งต้นฉบับซ้อน ตรงที่แม้ว่าในการส่งต้นฉบับซ้อนนั้น ต้นฉบับจะถูกส่งไปให้วารสารพิจารณาหลายราย แต่อาจมีเพียงวารสารรายเดียวที่ตอบรับให้ตีพิมพ์ แต่การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนเกิดได้จากทั้งกรณีที่เจ้าของผลงานส่งต้นฉบับซ้อน หรือเจ้าของผลงานอาจจงใจเอาผลงานที่ตีพิมพ์แล้วในวารสารหนึ่ง ไปส่งให้วารสารอื่นตีพิมพ์อีกโดยที่มักไม่แจ้งให้ทางวารสารรายใดทราบ นอกจากนี้การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนยังรวมถึงการนำเอาผลงานที่เคยเผยแพร่ไปแล้วในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไปเผยแพร่ซ้ำในรูปแบบเดิมหรือรูปแบบใหม่โดยไม่มีการอ้างอิงผลงานต้นฉบับไว้ เช่น การนำเอาผลงานวิจัยที่นำเสนอด้วยวาจาหรือแบบโปสเตอร์ในการประชุมวิชาการที่มีการพิมพ์ผลงานเข้าร่วมการประชุมเผยแพร่ (Proceeding or conference) มาส่งให้วารสารวิชาการอื่นตีพิมพ์อีก หรือ การนำเอาผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยไปแล้วมาตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษในอีก เป็นต้น การกระทำในลักษณะดังกล่าวนอกจากเป็นการผิดจริยธรรมในการตีพิมพ์แล้วยังถูกมองว่าเป็นการลอกผลงานของตนเอง (Self plagiarism) อีกด้วย

ทั้งการส่งบทความซ้อนและการตีพิมพ์ซ้ำซ้อนต่างก็เป็นการผิดจริยธรรมในการตีพิมพ์ เรียกว่าเป็นการตีพิมพ์ที่แอบแฝง (Covert publication) การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนอาจเป็นการตีพิมพ์บทความที่เหมือนกับต้นฉบับทั้งหมด (Reproduction of previous article) หรืออาจมีเนื้อหาที่ซ้ำกันบางส่วน (Overlapping publication) โดยหากผลงานที่ตีพิมพ์มีเนื้อหาที่ซ้ำกันตั้งแต่ 10 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปจะเข้าข่ายการตีพิมพ์บทความซ้ำได้ (Possible duplicate publication) นอกจากนี้การพิจารณาว่างานวิจัยที่ตีพิมพ์เป็นการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนหรือไม่ โดยอาจดูจากเงื่อนไขดังต่อไปนี้

1. มีสมมติฐานเหมือนกัน (Similar hypothesis)

2. ใช้กลุ่มตัวอย่างเดียวกันและมีขนาดกลุ่มตัวอย่างเท่ากัน (Similar sample size)

3. ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเหมือนกันหรือคล้ายกัน (Identical or almost identical methodology)

4. ได้ผลวิจัยเหมือนกัน (Similar results)

5. มีชื่อผู้แต่งอย่างน้อย 1 คนที่ซ้ำกันกับที่ปรากฏในต้นฉบับที่ตีพิมพ์ (At least 1 author in common in both manuscripts)

6. ไม่มีข้อมูลใหม่หรือมีข้อมูลใหม่เพิ่มเข้ามาเล็กน้อย (No new information or new information of little relevance)

หากพบว่าผลงานตีพิมพ์มากกว่าหนึ่งชิ้นมีลักษณะตามเงื่อนไขทั้ง 6 ข้ออาจถูกตัดสินว่าเป็นการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนยังมีลักษณะแบบอื่นๆได้ เช่น การแบ่งผลการวิจัยบางส่วนที่ศึกษาจากกลุ่มและขนาดตัวอย่างเดียวกันมาตีพิมพ์ (Fragment publication) หรือการตีพิมพ์ผลการวิจัยที่ได้จากการเพิ่มขนาดตัวอย่าง (Larger sample size) หรือลดขนาดตัวอย่างลง (Smaller sample size) ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆเหมือนเดิม เป็นต้น หากมีการตรวจพบว่าบทความที่ส่งมาตีพิมพ์นั้น เคยถูกตีพิมพ์ในวารสารอื่นไปแล้ว บทความดังกล่าวอาจจะถูกถอนออกจากวารสาร (Article retraction) ผู้ที่เป็นเจ้าของผลงานที่ส่งมาตีพิมพ์ซ้ำก็อาจถูกขึ้นบัญชีดำหรือถูกวารสารปฏิเสธที่จะรับพิจารณาบทความที่บุคคลนั้นส่งมาตีพิมพ์ในอนาคตได้รวมถึงอาจจะมีการส่งชื่อเพื่อให้วารสารรายอื่นได้ระมัดระวัง

การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนทำให้เกิดผลเสียดังต่อไปนี้

1. ทำให้มีข้อมูลผลการวิจัยซ้ำไหลเวียนในวารสารอื่นๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดมีข้อมูลอ้างอิงสูง

2. ทำให้วารสารอื่นๆที่ตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนด้วยความไม่รู้ต้องสูญเสียเวลาและทรัพยากรในการพิจารณาบทความและสิ้นเปลืองพื้นที่ในการตีพิมพ์

3. ทำให้ผู้อ่านสับสนและสูญเสียเวลาที่อ่านผลงานวิจัยซ้ำ

4. ทำให้เกิดความผิดพลาดหากมีคนนำข้อมูลไปใช้ในการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis)

5. ทำให้เกิดปัญหาทางลิขสิทธิ์

6. กีดกันโอกาสในการตีพิมพ์ของบทความอื่น

การตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อนอาจสามารถทำได้ด้วยการแจ้งให้วารสารที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้นฉบับที่ตีพิมพ์ไปก่อนหน้านี้ (First copyright publisher) และวารสารที่จะทำการตีพิมพ์ซ้ำให้ทราบ (Second publisher) โดยได้รับความยินยอมจากวารสารที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ให้ตีพิมพ์ซ้ำได้ โดยที่จะต้องใส่รายการอ้างอิงบทความในวารสารต้นฉบับไว้ในบทความที่จะตีพิมพ์ซ้ำด้วย ด้วยนอกจากนี้จะการตีพิมพ์ซ้ำไม่ควรมีการเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้อ่าน อย่างไรก็ตามนักวิชาการและนักวิจัยที่เป็นเจ้าขอมผลงานที่จะตีพิมพ์ควรหลีกเลี่ยงการส่งต้นฉบับซ้อนและการตีพิมพ์บทความซ้ำซ้อน เพื่อซ่ือสัตย์ต่อตัวเอง ผู้อ่านและวารสาร รวมทั้งเพื่อประโยชน์เชิงวิชาการ

 

References

1. นงเยาว์ เปรมกมลเนตร, ธีระศักดิ์ หมากผิน, ปรียานุช รัชตะหิรัญ, วุฒิสิทธิ์ ย่อชัย และณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ. วิกฤตระบบ Peer Review. ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี.

2. สัญญา สุขพณิชนันท์. การตีพิมพ์บทความซ้อนและการส่งต้นฉบับซ้อน. เวชบันทึกศิริราช. มกราคม-เมษายน 2552, ปีที่ 2, ฉบับที่ 1.

3. Simultaneous Submission/Multiple, Duplicate Publication. สืบค้นจาก http://www.ethics.elsevier.com/pdf/ETHICS_SSUB01a.pdf

4. Overlapping Publications. สืบค้นจาก http://www.icmje.org/publishing_4overlap.html

5. Allen Wilcox, Moyses Szklo. On the Failure to Disclose Sibling Manuscripts. Am J Epidemiol 2003;157:281

6. Mary M. Christopher. Duplicate Publication. สืบค้นจาก http://www.veteditors.org/2011%20St%20Louis/IAVE%202011-Christopher.pdf

7. Fernando Alfonso, Javier Bermejo, Javier Segovia. Duplicate or Redundant Publication:Can We Afford It?. Rev Esp Cardiol. 2005;58:601-4.

หมายเลขบันทึก: 558712เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2014 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มกราคม 2014 20:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)


....... ขอบคุณ บันทึกดีดี นี้ค่ะ......



พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท