ผลงานเชิงประจักษ์..ถ้าไม่รักจะทำไม่ได้


ภาพกิจกรรมเชิงประจักษ์ ทำให้มองเห็นว่า โรงเรียนจะต้องก้าวไกลแน่นอน และผอ.สามารถทำผลงาน(ซี ๙) เชิงประจักษ์ได้แน่" ครับ ผมคิดว่าผมทำด้วยใจรัก ผมรักในหลวง รักในงานต่างๆของโรงเรียน..จึงทำอะไรได้มากมายเช่นนี้ เพื่อให้เป็นสื่อและเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน....

คณะกรรมการมูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลาเพื่อการศึกษา มาเยี่ยมเยือนโรงเรียนบ้านหนองผือ นิเทศติดตามงานโครงการที่มูลนิธิได้สนับสนุนเงินทุนการศึกษาพัฒนางาน/กิจกรรม ที่สามารถบูรณาการได้สอดคล้องกับการเรียนการสอนในสาระวิชาต่างๆ บังเกิดผลผลิต ที่เกิดจากการทำงานแบบมีส่วนร่วมระหว่างครูกับนักเรียน โรงเรียนกับชุมชน นักเรียนได้เรียนรู้คู่การปฏิบัติและสามารถต่อยอดไปสู่ความยั่งยืนในปีต่อไป

 

โรงเรียนนำเสนอโครงการ"เรียนรู้สร้างสรรค์ ในบ้านพอเพียง"ให้มูลนิธิตาเฮอร์สยามวาลาพิจารณา และได้รับการอนุมัติโครงการเมื่อต้นปี ๒๕๕๖ พร้อมเงินทุนสนับสนุน ๑๕,๐๐๐ บาท แม้ว่าจะเป็นจำนวนเงินไม่มาก แต่ผมก็ภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจจากมูลนิธิ อย่างน้อย หลักการเหตุผลและวัตถุประสงค์ที่เราเสนอไปและจะทำกันจริงๆนั้น เข้าตากรรมการเป็นเบื้องต้นแล้ว

 

จริงๆก็ไม่ใช่โครงการแรก..ที่เสนอภาคเอกชนแล้วได้รับการช่วยเหลือเป็นทุนสนับสนุนแบบนี้ แต่ผมก็ยังรู้สึกตื่นเต้น และมีความรู้สึกที่ดีกับมูลนิธินี้ ที่เขาช่วยเหลือการศึกษาของชาติในทุกภูมิภาคอย่างจริงจัง ไม่มีการเมืองแอบแฝงและ"ไม่เรื่องมาก" ที่จะขอดูหลักฐานเอกสารและรายงานผลอะไรมากมาย..การมาวันนี้..แค่มาเยี่ยมมาเยือนกันเท่านั้น

 

หลังจากพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลพื้นฐานกันแล้ว กรรมการได้ซักถามผลการทำงานที่เกิดจากเงินทุนสนับสนุนว่าทางเราภูมิใจอะไรบ้าง...ผมก็บอกไปว่า..ทำหลายอย่าง ส่งผลดีทุกอย่าง ทั้งในด้านการเรียนการสอน แหล่งเรียนรู้และสิ่งแวดล้อม....

 

แต่ที่ดูเป็นรูปธรรมมากที่สุด คือ สวนสมุนไพร โรงเห็ดนางฟ้าและระบบท่อส่งน้ำของโรงเรียนที่ติดตั้งบริเวณแปลงผัก เพื่อให้คณะกรรมการได้มองเห็นภาพการบริหารจัดการโครงการตลอดแนวและโมเดลการพัฒนากิจกรรมทั้งระบบ จึงให้ครูจิรวดี นำเสนอขั้นตอนกระบวนการเป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว และปิดท้ายด้วยผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและรางวัลที่ต้นสังกัดมอบให้

 

กรรมการทั้งสามท่าน..นั่งชมไปตั้งแต่ต้นจนจบ อย่างตั้งอกตั้งใจ และเมื่อจบการนำเสนอ กรรมการก็นิ่งอึ้งไปพักใหญ่..ผมก็เดาไม่ถูกว่าเขาคิดอะไร..หรือกรรมการไม่เชื่อสายตา โรงเรียนเล็กๆจะทำได้หรือ และ/ หรือว่าผลผลิตที่ได้ไม่ตรงประเด็นที่เขาต้องการ อย่ากระนั้นเลย เชิญชวนคณะกรรมการเดินเที่ยวชมโดยรอบโรงเรียนจะดีกว่า

 

เกือบหนึ่งชั่วโมง..ก็เดินได้ครบจบสิ้นสมบูรณ์ ตั้งแต่ปุ๋ยหมักชีวภาพ สมุนไพร เล้าไก่ ป้ายนิเทศจัดการความรู้ สวนสุขภาพ โรงเห็ด บ่อปลา แปลงผัก แก๊สชีวภาพ แปลงนา และจบลงที่ ห้องพอเพียง ที่รวบรวมพระบรมราโชวาท หลักการของปรัชญา ผลผลิตของงานโครงการที่โรงเรียนดำเนินการและเพลงมาร์ชประจำโรงเรียน ที่นักเรียนร้องและแสดงกายบริหารได้ด้วย

 

ก่อนจากลา..คณะกรรมการลงบันทึกในสมุดเยี่ยมและแสดงความคิดเห็น-สรุปสิ่งที่ได้พบเห็น ที่แสดงออกถึงความรักความจริงใจ เป็นขวัญกำลังใจแก่คณะครู

"มูลนิธิฯให้เพียงหมื่นห้า..แต่ครูทำต่อเนื่องกันมาเป็นมูลค่ากว่าห้าหมื่นแล้วนะ" จริงครับ..การศึกษาคือ การลงทุน ขาดทุน คือ กำไร.......

 

"หายากนะ..ที่ผู้บริหารจะลงมาเล่นเอง เหนื่อยแย่เลย" ครับ เป็นหน้าที่โดยตรง และเป็นบทบาทที่ต้องรับผิดชอบอยู่แล้ว เป็นเรื่องปกติของโรงเรียนขนาดเล็ก ที่จะต้องเห็นภาพเช่นนี้ ถ้าไม่มีภาพนี้ให้เห็น ก็แสดงว่าผู้บริหารไม่ได้เรื่อง เอาเปรียบราชการและไม่เป็นผู้นำทางวิชาการ...

 

"มูลนิธิฯกำลังเปลี่ยนนโยบายในการให้การสนับสนุนโรงเรียนต่างๆ โดยมองที่ต้นแบบและอยากให้เป็นศูนย์การเรียนรู้..."  ครับ..ผมคิดว่าแต่ละโรงเรียนทำตามบริบทของตนเองให้ดูดีมีคุณค่าและยั่งยืนจะดีกว่า อย่างของผมเองไม่ประสงค์จะเป็นต้นแบบให้ใคร..เพราะมาดูกันแล้ว ก็กลับไปทำไม่ได้ เพราะผู้บริหารและครูที่มาดูไม่เห็นความสำคัญและไม่ทำจริง และการเป็นต้นแบบ ทำให้ผมเสียความเป็นส่วนตัว ผมกับครูแทนที่จะได้สอนหนังสือ ก็ต้องไปทำอะไรไม่รู้ ที่มันจะไม่ใช่การเรียนการสอน....

 

"ภาพกิจกรรมเชิงประจักษ์ ทำให้มองเห็นว่า โรงเรียนจะต้องก้าวไกลแน่นอน และผอ.สามารถทำผลงาน(ซี ๙) เชิงประจักษ์ได้แน่"  ครับ ผมคิดว่าผมทำด้วยใจรัก ผมรักในหลวง รักในงานต่างๆของโรงเรียน..จึงทำอะไรได้มากมายเช่นนี้ เพื่อให้เป็นสื่อและเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน....

 

สำหรับผลงานผู้บริหารเชี่ยวชาญ ยังไม่เคยคิด คิดแต่ว่า ทำอย่างไร ผม จะอยู่ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข สนุกกับงาน โดยไม่จำเป็นต้องได้รางวัลหรือเด่นดังอะไรก็ได้ แต่ได้...ใจครูกับนักเรียน..คิดแค่นี้แหละครับ

                   

                                                               ชยันต์ เพชรศรีจันทร์

                                                                 ๘ มกราคม ๒๕๕๗

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 558585เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2014 20:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มกราคม 2014 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นการเรียนการสอนที่ไม่ได้สอนให้เด็กตกปลา....แต่...สอนให้รู้จักสร้างเครื่อง

มือตกปลา สอนให้รู้จักการเลือกแหล่งตกปลา สอนให้รู้วิธีตกปลา ....สอนให้

รู้วิธีการทำอาหารจากปลาที่ตกได้...นี่แหละคือการสอนทักษะชีวิต ...ที่ สอนให้

เด็กอยู่รอดได้ในสังคม


..ดีใจด้วยค่ะ ..... เด็กมีคุณภาพ ... เพราะ...คุณครูและผู้บริหาร "มีคุณภาพ" นะคะ



..ก็ขอแค่ได้...ใจครูกับนักเรียน..คิดแค่นี้แหละครับ....เป็นคำตอบ ...สุดดดด ....ท้าย...ครับผม..



ชื่นชม ประทับใจเช่นเคยค่ะ "ท่านผู้บริหารในอุดมคติ"

ยังมีแรงบันดาลใจมากมาย..ที่จะทำงานต่อไปอย่างมีความสุข ด้วยความมุ่งมั่นอดทน โดยไม่มุ่งหวังจะเป็นตัวอย่างให้ใคร แต่อยากเห็นโรงเรียนก้าวไกล แบบยั่งยืน และครูมีความพร้อมที่จะก้าวเดินไปกับเราอย่างมีคุณค่า และนักเรียนมีคุณภาพอย่างแท้จริง นี่คือ..เป้าหมายหลัก ที่ทำยาก แต่ต้องทำได้ ขอบคุณทุกกำลังใจ ครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท