คณะเกษตรฯ มข.ดูงานคณะแพทย์ มข.ต้นแบบลดใช้ไฟฟ้า ตอบโจทย์ได้ยั่งยืน


สิ่งที่จะตอบโจทย์โครงการอนุรักษ์พลังงานให้มีความยั่งยืนได้ตลอดไปก็คือ จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ให้มีหน่วยงานอื่นนอกคณะมาขอดูงาน เพราะเมื่อมีคนมาขอดูงาน ก็จะทำให้ต้องเตรียมกิจกรรมให้พร้อมอยู่เสมอ

          รองศาสตราจารย์ ประภัสสร เตชะประเสริฐวิทยา รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุพิน ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา และนายสงัด ปัญญาพฤกษ์ เลขานุการคณะ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำบุคลากรที่ปฏิบัติงานการอนุรักษ์พลังงาน ตามแผนการจัดการความรู้ ของคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 25 คน เข้าศึกษาดูงานและแลกเปลี่ยนความรู้ การอนุรักษ์พลังงานของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ วโรภาสตระกูล ประธานคณะกรรมการอนุรักษ์พลังงาน พร้อมทั้งคณะอนุกรรมการฝ่ายต่างๆ ให้การต้อนรับ ณ ห้องประชุมกวี ทังสุบุตร ชั้น 5 คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อวันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556 ระหว่างเวลา 10.00-12.30 น.
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ วโรภาสตระกูล ได้บรรยายโดยสรุปว่า ได้เริ่มโครงการอนุรักษ์พลังงานคณะแพทยศาสตร์ ในปีพ.ศ.2555 แล้วเร่งเครื่องทำอย่างจริงจังจนได้ผลสำเร็จและได้รับรางวัลต่างๆทั้งจากภายในประเทศและต่างประเทศ โดยก่อนหน้านั้นก็มีเพียงการรณรงค์ตามนโยบายประหยัดพลังงานแล้วหยุด วนเวียนกันไปนับ 10 ปี ต่อมาได้มีโครงการพาทีมงานไปศึกษาดูงานที่กรุงเทพฯ ไปดูโรงพยาบาลเอกชน ที่ได้รับความสำเร็จในการอนุรักษ์พลังงาน ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ไปดูโรงพยาบาลภาครัฐที่ได้รับความสำเร็จในการอนุรักษ์พลังงาน ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อผู้ดูงานกลับมาแล้วมีความต้องการที่ทำโครงการอนุรักษ์พลังงานที่ไม่ใช่แต่เพียงการรณรงค์ แต่ต้องเน้นไปที่ความยั่งยืนในระยาว จึงได้เชิญบริษัทเอกชนที่มีความสำเร็จในการอนุรักษ์พลังงานมาให้คำแนะนำและเป็นที่ปรึกษาแก่ทีมงานที่จะดำเนินโครงการ โดยที่ปรึกษาได้แนะนำองค์ความรู้ต่างๆอย่างต่อเนื่อง และคณะฯยังได้ส่งทีมงานไปดูงานการประหยัดพลังงานของหน่วยงานต่างๆอีกหลายครั้ง แล้วในปี 2554 ได้ทำนโยบายการประหยัดพลังงานควบคู่ไปกับของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่กำหนดให้ลดได้ร้อยละยี่สิบภายในสองปี จึงเสนอให้คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ลงนามทำเป็นประกาศออกมา
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ บรรยายต่อว่า เมื่อมีโครงการอนุรักษ์พลังงานคณะแพทยศาสตร์ออกมา เสมือนเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบ ทำให้กลุ่มย่อยภายในหน่วยงานต่างๆได้ตั้งกิจกรรมขึ้นมา และได้ออกมาตรการการประหยัดไฟฟ้าภายในหน่วยงานกันเอง ซึ่งส่วนกลางจะไม่ออกมาตการบังคับลงไป หน่วยงานและสำนักงานต่างๆมีการจัดตั้งกลุ่มทำงานเป็น สส.พลังงานเพื่อคิดกิจกรรมที่จะทำออกมา ว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการลดการใช้พลังงานลงได้ ซึ่งแต่ละหน่วยงานอาจเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันก็ได้ เป็นการคิดเอง ทำเอง ส่วนกลางมีหน้าที่สนับสนุน ส่งเสริม จัดเวทีให้ลง ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่ส่วนกลางได้ทำ เมื่อครบปีก็จัดให้มีการประกวด แข่งขัน ให้รางวัลกันบ้าง ส่งไปศึกษาดูงานบ้าง ซึ่งคล้ายกับกิจกรรม 5 ส.ที่ใช้ระบบเดียวกัน ทำให้เกิดความสนุก มีการคัดเลือกผลงานที่โดดเด่นออกไปประกวดกับภายนอกคณะหรือระดับประเทศบ้าง ซึ่งกิจกรรมในปีแรกนั้น เป็นในการเตรียมความพร้อม อาทิ การอบรม การให้ความรู้ เป็นต้น ปีต่อมาก็เริ่มทำกิจกรรมลดการใช้พลังงานพร้อมๆกันทุกหน่วยงาน จะเห็นได้ว่ามันลดลงอย่างชัดเจน ก็เนื่องมาจากการใส่กิจกรรมหลายๆอย่างเข้าไปพร้อมๆกัน ในช่วงเวลาที่ใกล้ๆกัน ทำให้คนที่ร่วมทำกิจกรรมเกิดความภาคภูมิใจ ซึ่งในหน่วยงานเล็กๆอาจเห็นเพียงนิดเดียว แต่เมื่อเหมารวมกับทุกหน่วยงานโดยทุกคนมีส่วนร่วมเป็นภาพใหญ่ออกมาแล้วเห็นได้ชัดว่ามันลดลงได้มาก ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์ ที่ทำให้ทุกคนเกิดความภาคภูมิใจในกิจกรรมที่ได้ร่วมกันทำขึ้นมา โดยต้องมีการเตรียมความพร้อมต่างๆตามที่กล่าวมานั้นนับเป็นปี ก็จะสามารถทำให้มีผลงานเกิดขึ้นได้แต่มันยังไม่มีความยั่งยืน
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ ได้กล่าวถึงสิ่งที่จะตอบโจทย์โครงการอนุรักษ์พลังงานให้มีความยั่งยืนได้ตลอดไปก็คือ จะต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ให้มีหน่วยงานอื่นนอกคณะมาขอดูงาน เพราะเมื่อมีคนมาขอดูงาน ก็จะทำให้ต้องเตรียมกิจกรรมให้พร้อมอยู่เสมอ อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องทำต่อเนื่องไปตลอด ต้องมีแผนงานอื่นเพื่อการประหยัดพลังงานในอนาคตด้วย โดยไปช่วยหน่วยงานอื่นหรือองค์กรอื่นนอกคณะบ้าง ซึ่งเป้าหมายจริงๆได้มองไปยังบุคคลอื่นนอกองค์กร อาทิ คนไข้ ญาติคนไข้ ที่เข้ามาใช้บริการของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ โดยทำให้บุคลากรของเรามีเอกลักษณ์ที่เป็นต้นแบบและมีกระบวนการวิธีคิดในการอนุรักษ์พลังงาน แล้วถูกถ่ายทอดไปยังผู้ที่เข้ามารับบริการกับเรา ให้เขาได้รับข้อมูลในการอนุรักษ์พลังงานกลับไปด้วย รวมทั้งนักศึกษาที่มาเรียนอยู่กับเราก็ต้องได้รับการปลูกฝังให้มีจิตสำนึกในการประหยัดพลังงานไปพร้อมกันด้วย และเมื่อพวกเขาสำเร็จการศึกษาออกไปทำงานก็จะช่วยประเทศชาติได้อีกมาก ซึ่งเป้าหมายใหญ่ที่แท้จริงก็คือประเทศชาตินั่นเอง
          “เคล็ดลับที่สำคัญอีกอย่างที่ทำให้เป็นต้นแบบการเรียนรู้ได้ก็คือ ต้องมีทีมงานที่เข้มแข็ง มีคีย์แมนที่สำคัญ มีทีมงานซ่อมบำรุงเป็นหัวใจ มีทีมหัวหน้างานส่วนต่างๆช่วยปลูกจิตสำนึกของบุคลากร ช่วยทำกลุ่มกิจกรรมภายในหน่วยงานให้เกิดขึ้น และทำกิจกรรมต่างๆให้ถูกถ่ายทอดไปยังที่บ้านของบุคลากรด้วย จึงจะช่วยตอบโจทย์ของความยั่งยืนได้ หากคณะเกษตรศาสตร์จะดำเนินโครงการอนุรักษ์พลังงาน สามารถทำได้ โดยขอฝากในเรื่องคน เน้นเรื่องคน ที่ต้องมีการปลูกจิตสำนึกโดยใช้กระบวนการต่างๆ ซึ่งต้องมีการพัฒนาอยู่เสมอ” ผู้ช่วยศาสตราจารย์นเรศ วโรภาสตระกูล กล่าวฝากไว้ในท้ายที่สุด

          กิตติศักดิ์ สิงหา วิเคราะห์ สังเคราะห์และเผยแพร่

หมายเลขบันทึก: 558561เขียนเมื่อ 8 มกราคม 2014 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มกราคม 2014 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท