กรณีศึกษาโรงพยาบาลอุ้มผาง : ภารกิจทางมนุษยธรรมขององค์กรภาครัฐ


อำเภออุ้มผาง เป็นหนึ่งในเก้าอำเภอของจังหวัดตาก มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ ๒,๗๐๓,๓๑๒.๕ ไร่ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง มีป่าไม้หนาแน่น เป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่กลอง มีแนวเทือกเขาถนนธงชัย กั้นเขตแดนระหว่างประเทศไทยกับสหภาพพม่า โดยอำเภออุ้มผางแนวพรมแดนยาวประมาณ ๑๘๐ กิโลเมตร

การเดินทางจากอำเภอแม่สอด โดยรถยนต์ผ่านทางหลวงหมายเลข ๑๐๙๐ ตัดยาวคดโค้งขึ้นสู่เทือกเขาถนนธงชัยเป็นระยะทาง ๑๖๔ กิโลเมตร ผ่าน ๑,๒๑๙ โค้งใช้เวลาเดินทาง ๓-๔ ชั่วโมง อันเป็นที่มาของคำว่า “แผ่นดินดอยลอยฟ้า”

ในพื้นที่อันห่างไกลเสมือนบททดสอบด่านแรกเพื่อคัดเลือกคนจากภายนอกที่จะเข้ามาอาศัย ลงหลักปักฐานหรือทำงานเพียงชั่วคราว บุคลากรส่วนใหญ่ของโรงพยาบาลอุ้มผางก็ถูกความกันดารคัดเลือกมาแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายแพทย์วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งเริ่มงานจากแพทย์ประจำงานเวชปฏิบัติทั่วไป โรงพยาบาลอุ้มผางเมื่อ ๑ เมษายน ๒๕๓๔ จนดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง เมื่อ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๑ จนถึงปัจจุบัน

          ด้วยภารกิจทางมนุษยธรรม การดำเนินกิจการของโรงพยาบาลอุ้มผาง ภายใต้การบริหารงานของนายแพทย์วรวิทย์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่นานร่วม ๒๐ ปี จนทราบถึงข้อจำกัดในเรื่องความห่างไกลกันดารและความยากลำบากของพี่น้องที่อาศัยอยู่ในอำเภออุ้มผาง นโยบายที่ชัดเจนของโรงพยาบาล คือ การพึ่งพาตนเองให้มากที่สุด

การบริหารจัดการภายในองค์กร

          แม้จะเป็นโรงพยาบาลขนาด ๖๐ เตียง แต่ในหอผู้ป่วยในมีความสามารถรองรับผู้ป่วยได้ เกิน ๑๐๐ เตียงต่อวัน เนื่องจากที่ตั้งของโรงพยาบาลมีความห่างไกลและยากลำบากในการส่งต่อผู้ป่วย โรงพยาบาลจึงมีความพร้อมที่จะให้บริการทุติยภูมิระดับสูงด้วย เช่น ได้แบ่งออกเป็นผู้ป่วยหนักที่จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจจำนวน ๔ เตียง ผู้ป่วยโรคติดต่อเชื้อรุนแรงที่ต้องใช้ห้องแยกได้ ๒ ห้องซึ่งแต่ละห้องสามารถรองรับผู้ป่วยได้มากกว่าหนึ่งราย ผู้ป่วยที่มีความต้องการเข้าห้องแยกพิเศษอีก ๑ ห้องใหญ่ (๒เตียงเดี่ยว) และผู้ป่วยทั่วไปรับจำนวนไม่จำกัด

ฝ่ายเภสัชกรรมสามารถผลิตยาน้ำเองช่วยลดต้นทุนไปปีละ ๕ แสนบาท ยกเว้นยาที่คำนวณค่าใช้จ่ายแล้ว ใช้วิธีซื้อถูกกว่า และมีโครงการรณรงค์ให้ผู้ป่วย โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หอบหืด นำยาเดิมที่แพทย์สั่งกลับมาที่โรงพยาบาลทุกครั้งที่มีการนัดหมาย เพื่อลดการจ่ายยามากเกินไปเพราะยาที่ผู้ป่วยได้รับคราวก่อนแต่ยังใช้ไม่หมด ซึ่งหากเก็บไว้นานจะหมดอายุการใช้งานกลายเป็นยาขยะ

โรงครัวของโรงพยาบาลสะอาดสะอ้าน โดยทุกคนจะได้รับอาหารจานเดียว โดยมีให้เลือก ๒ อย่าง ก่อนกินต้องเรียงเก้าอี้ รินน้ำใส่แก้ว ล้างมือ เช็ดมือ กินเสร็จก็ต้อง “กินเอง ล้างเอง” ตามนโยบายที่ผู้อำนวยการได้วางกติกาไว้ เพื่อสอนวินัยให้เจ้าหน้าที่ทุกคนเท่าเทียมกัน รับผิดชอบตัวเอง และแบ่งเบาภาระหน้าที่แม่ครัว ซึ่งทำหน้าที่ทำอาหารให้กินไปแล้ว

ส่วนการบริการอาหารผู้ป่วยในของโรงพยาบาลนั้น เดิมที แม่ครัวจะตักอาหารจำนวนมากแจกจ่ายให้กับผู้ป่วยและญาติที่มาเฝ้าไข้เพียงครั้งเดียว ทำให้มีปริมาณอาหารเหลือทิ้งเป็นมากมาย จึงมีการปรับวิธีให้แม่ครัวรับผิดชอบมากขึ้นด้วยการตักอาหารในปริมาณพอเหมาะ หากรอบแรกผู้ป่วยหรือญาติกินไม่อิ่ม สามารถมารับอาหารเพิ่มได้ ช่วยลดเศษอาหารเหลือทิ้งลงคิดเป็นเงินราว ๕,๐๐๐ บาทต่อเดือน

ขยะเปียกจากเศษอาหารที่ยังเหลือทิ้ง จะถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการผลิตไบโอแก๊ส เพื่อใช้ในการปรุงอาหารสำหรับโรงครัว และใช้อบเสื้อผ้าผู้ป่วย ผ้าปูเตียงและผ้าอื่น ๆ สำหรับโรงซักฟอก

นโยบายการงดใช้ถุงพลาสติกในโรงครัว โดยให้บุคลากรที่ประสงค์จะรับอาหารไปทานข้างนอก นำภาชนะของตนเองมีใส่แทนการใช้ถุงพลาสติก ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลไปได้ ปีละ ๑,๖๔๖ บาท

ในส่วนของการทำความสะอาดภายในโรงพยาบาล จะไม่มีการจ้างบริษัททำความสะอาด แต่ใช้พนักงานที่มีอยู่ของโรงพยาบาลแบ่งกันรับดูแลผิดชอบในแต่ละส่วน เป็นการลดค่าใช้จ่ายอีกทั้งทำให้บุคลากรตระหนักถึงการรักษาความสะอาดของพื้นที่ มีการเปลี่ยนรองเท้าเมื่อขึ้นตึก เพื่อไม่ทำให้สกปรก และจะได้ไม่ต้องทำความสะอาด เปลืองแรงงาน และไม่สร้างภาระให้กับพนักงานมากขึ้น

          ฝ่ายยานพาหนะ ของโรงพยาบาลอุ้มผาง แตกต่างจากงานยานพาหนะตั้งแต่ส่วนของโรงจอดรถที่ไม่เหมือนกับโรงจอดรถของโรงพยาบาลทั่วไป

          สภาพรถทั้งเก่าและใหม่ที่จอดเรียงราย ทุกคันล้วนแต่มีพนักงานขับรถของโรงพยาบาลอุ้มผางดูแลรับผิดชอบ นอกเหนือจากบำรุงดูแลตามปกติ เช่น เติมลมยาง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง เป่ากรอง ฯลฯ รถบางคันยังจอดซ่อม ปะ ผุ พ่นสี โดยไม่ต้องพึ่งพาอู่ซ่อมรถภายนอกซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง

 

ก้าวพ้นมิติสาธารณสุข

โครงการไบโอดีเซล ตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำเพื่อหยุดมะเร็งร้าย

          การคำนึงถึงพลังงานทางเลือกเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่โรงพยาบาลอุ้มผางใช้เพื่อการพึ่งพาตนเอง จึงเกิดโครงการไบโอดีเซล ตัดวงจรน้ำมันทอดซ้ำเพื่อหยุดมะเร็งร้ายขึ้นในพื้นที่ชายขอบประเทศ

          โรงพยาบาลอุ้มผางมีภาระค่าใช้จ่ายน้ำมันดีเซลปีงบประมาณ ๒๕๕๕ เป็นจำนวนเงิน  ๒,๒๒๒,๙๕๑.๐๕ บาท  โดยใช้น้ำมันดีเซลในการเติม รถพยาบาล รถกระบะ เครื่องปั่นไฟเพื่อออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ เผาขยะ เผาศพ ตลอดจนเติมรถอีต๊อก เพื่อส่งต่อผู้ป่วยระหว่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานบริการสาธารณสุขชุมชน สุขศาลาพระราชทาน และสุขศาลาหมู่บ้านในพื้นที่ทุรกันดาร  ให้กับโรงพยาบาลอุ้มผาง ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ  จึงจำเป็นต้องหาพลังงานอื่นมาทดแทนเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาล

          ประกอบกับในฐานะของความเป็นสถานบริการด้านสาธารณสุข มีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภค พลังงานทดแทนที่โรงพยาบาลอุ้มผางเลือกใช้ คือ การผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว เพื่อเพื่อป้องกันโรคมะเร็ง ที่เกิดจากอาหารที่มาจากน้ำมันพืชและสัตว์ทอดซ้ำหลายครั้ง เป็นการลดค่าใช้จ่ายทุกๆด้าน ในการรักษาพยาบาลจากโรคมะเร็ง เพื่อกำจัดมลพิษที่เกิดจากน้ำมันพืชใช้แล้ว  ที่ทิ้งตามท่อระบายน้ำ รวมถึงการตัดวงจรน้ำมันที่นำกลับมาใช้ใหม่ตามท้องตลาด และ เป็นต้นแบบโรงพยาบาลพลังงานสะอาด

คลินิกกฎหมายอุ้มผางเพื่อสิทธิมนุษยชน

          นอกเหนือจากการเป็นหน่วยงานสาธารณสุขที่คอยตั้งรับรอผู้ป่วยเดินทางเข้ามารักษา การขยายเนื้องานในมิติเชิงสังคม และเป็นงานเชิงรุกที่โรงพยาบาลอุ้มผางตระหนักว่าเป็นส่วนสำคัญในการเข้าถึงหลักประกันสุขภาพของประชาชนไร้สัญชาติในพื้นที่ชายแดนอีกประการหนึ่งคือ การมีสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง อันจะนำไปสู่สิทธิรักษาพยาบาลในฐานะประชาชนของรัฐชาติ

          การทำงานด้านสถานะบุคคลจำต้องใช้ความรู้ความชำนาญเฉพาะของบุคลากรที่มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเฉพาะ และอาศัยการทำความเข้าใจกับบุคลากรของโรงพยาบาลเพื่อสามารถช่วยสืบค้นและส่งคนไข้ที่ยังมีปัญหาสถานะมารับการเยียวยาแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง หน่วยงานคลินิกกฎหมายจึงเกิดขึ้นในโรงพยาบาลอุ้มผาง

 

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา

ให้ความช่วยเหลือรายบุคคลดังนี้

-บุคคลที่มีข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทย แต่ถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าว (๓ ราย)

-กลุ่มบุคคลที่ประสบปัญหาในการใช้สิทธิที่จะมีส่วนร่วมทางการเมือง (๑ ราย)

-กรณีปัญหาที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาเสร็จแล้ว (๖ ราย)

 

อุปสรรคและปัญหาของการทำงานด้านสถานะและสิทธิของบุคคล

ปัญหาที่เกิดจากเจ้าของปัญหาสิทธินั้น

เกิดจากบิดามารดาหรือผู้มีส่วนได้เสียไม่ได้ดำเนินการแจ้งการเกิดให้แก่บุตรของตนเองเนื่องจากความไม่รู้กฎหมายหรือไม่เห็นความสำคัญของการแจ้งเกิด

ปัญหาของคนที่ทำงานด้านสถานะและสิทธิ(ตัวองค์กร)

ปัญหาด้านงบประมาณที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงานจำนวนคนทำงานและความต่อเนื่องในการทำงาน ความไม่เชี่ยวชาญในการทำงานของอาสาสมัครนักกฎหมาย

 

องค์กรภาคี

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส)

มหาวิทยาลัยนเรศวร

โรงเรียนอุ้มผางวิทยาคม

 

แผนงานอนาคต

มุ่งพัฒนาสิทธิของบุคคลชายขอบเพื่อให้เข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของ บุคคลชายขอบซึ่งทางคลินิกกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชนอุ้มผางมิได้มองเห็นแค่เพียงจุดเกาะเกี่ยวด้านสาธารณะสุขแต่เพียงอย่างเดียวแต่มองเห็นถึงปัญหาในด้านการศึกษาการเดินทางการทำงาน   และสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆที่บุคคลเหล่านั้นพึงจะได้ตามสถานะของเค้ารวมถึงของครอบครัวบุคคลชายขอบด้วยจึงทำให้แผนในการดำเนินการในการพัฒนาสิทธิของบุคคลชายขอบต้องแก้ไขด้วย “กฎหมาย”

 --------------------------------------

โดย นางจันทราภา นนทวาสี จินดาทอง บันทึกภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนชายแดนไทย-พม่า คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2556 เมื่อ 7 มกราคม 2557

หมายเลขบันทึก: 558431เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มกราคม 2014 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท