พุทธปรัชญาการศึกษาในทรรศนะศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี


การศึกษาในทรรศนะศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี

พุทธปรัชญาการศึกษา

ในทรรศนะศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี

ความหมายการศึกษาในทรรศนะศาสตราจารย์  ดร.สาโรช  บัวศรี

      ศาสตราจารย์  ดร.สาโรช  บัวศรี ได้กล่าวถึงความหมายของการศึกษาว่า การศึกษา คือความเจริญงอกงาม โดยเป็นการจัดประสบการณ์ที่เหมาะสมให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนงอกงาม[๑] หรือหมายถึงการศึกษาเพื่อการพัฒนาสิ่งที่เรียกว่า การพัฒนาขันธ์ ๕ ซึ่งมีอกุศลมูลอยู่ จะได้ลดน้อยถอยไป และได้บรรลุถึงชีวิตที่ร่มเย็นตามควรแก่กรณี[๒]

     จากความหมายของการศึกษาดังกล่าวพบว่า คำว่าการศึกษานั้นเป็นการอธิบาย   ในเชิงการมุ่งการพัฒนาผู้เรียนเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีงาม พัฒนาทั้งทางร่างกายที่เป็นรูปธรรม และจิตใจที่เป็นนามธรรม ควบคู่กัน ขณะเดียวกันก็เห็นว่าอกุศลมูลเป็นตัวขัดขวางที่สำคัญ

 

จุดมุ่งหมายการศึกษาในทรรศนะของศาสตราจารย์  ดร.สาโรช  บัวศรี

   ศาสตราจารย์  ดร.สาโรช  บัวศรี กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษา  ตามแนวพุทธปรัชญาว่า  มี  ๔  ประการดังนี้ คือ

๑. ความมุ่งหมายเกี่ยวกับตัวผู้เรียนเนื่องจากผู้เรียนมีร่างกายมีความรู้สึกมีความจำ  มีลักษณะอื่นๆของจิตใจ  และมีความรู้อยู่บ้างแล้ว  แต่ยังมีความโลภ  โกรธ  หลงอยู่  ดังนั้นการศึกษาจะต้องไม่มุ่งพัฒนาโลภ  โกรธ  หลง  ให้ลดลง    

๒. ความมุ่งหมายที่เกี่ยวกับสังคม  สังคมไทยเป็นสังคมที่ผู้คนเคารพนับถือกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  และนิยมการใช้ปัญญาเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ  พุทธปรัชญาได้กล่าวถึงเรื่องเหล่านี้  เราก็จะเข้าใจสังคมได้ดีขึ้นมีความรัก  ความเคารพ    และไม่ตกใจไปกับการเปลี่ยนแปลงในสังคม  แต่สามารถควบคุมดูแลให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นประโยชน์    

๓. ความมุ่งหมายเกี่ยวกับลักษณะของการเรียนรู้ การศึกษาต้องพัฒนาวิธีคิดและการใช้เหตุผลในตัวผู้เรียน  เพื่อให้สามารถนำความรู้ไปแก้ไขปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้อย่างผู้มีปัญญา           

๔. ความมุ่งหมายเกี่ยวกับความร่มเย็นของชีวิตมนุษย์ทั่วๆไป   การศึกษาต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีคุณธรรมและมีศีลธรรม  เพื่อให้เกิดความร่มเย็นแก่ชีวิตในสังคม

 

      จากทรรศนะของดร.สาโรช  บัวศรี  เสนอให้มีการนำพุทธปรัชญามาประยุกต์ใช้   ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา ความมุ่งหมายของการศึกษาจึงควรให้ความสำคัญเกี่ยวกับความมีอิสระครอบคลุมทั้งบุคลากรทางการศึกษาและผู้เรียน   ซึ่งการศึกษานั้นไม่เพียงแต่สิ้นสุดลงเมื่อออกจากห้องเรียนแล้วเท่านั้นแต่การศึกษาของแต่ละคนนั้นจะต้องดำเนินไปตลอดชีวิต[๓]

 

      อย่างไรก็ตามจะพบว่าศาสตราจารย์  ดร.สาโรช  บัวศรี  ได้เน้นถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาเพื่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ ปัญญาและจิตสาธารณะ อย่างมีอิสรเสรีของผู้เรียน พัฒนาผู้เรียนให้มีสติปัญญาดี มีกิเลสน้อยลง  พัฒนาสังคมคือให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข พัฒนาการเรียนรู้คือต้องเป็นการพัฒนาวิธีการคิดให้เป็นการบูรณาการสิ่งที่การศึกษาของสังคม  โดยการนำหลักธรรมทางพุทธปรัชญามาบูรณาการ  เติมเต็มส่วนที่ขาดแก่การศึกษา

 

สถานที่เรียนในทรรศนะศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี  

      ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี   ได้กล่าวถึง การศึกษาที่ต้องพึ่งพาการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือระหว่างผู้เรียนต่อกัน    สถานที่จึงเป็นเพียงการเตรียมประสบการณ์สองอย่าง คือ ตัวเราเอง และสิ่งแวดล้อม[๔] การเรียนรู้ต้องอาศัยทั้งสองอย่างนี้จึงสามารถให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนที่เจอนั้น   มีความแตกต่างกันออกไป การเรียนรู้ที่ผ่านทั้ง สอง อย่างนี้ย่อมช่วยผู้เรียนได้เกิดทักษะความรู้ด้วยตนเอง ท่านแบ่งประสบการณ์ออกเป็น ๓ อย่าง คือ ความรู้ ทัศนะคติ และทักษะ[๕]

      ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี   จึงถือว่าชุมชน หรือสถานที่ทุกแหล่งสามารถเป็นสถานที่เรียนได้ แม้แต่การศึกษาที่ยึดตัวของผู้เรียนหรือการศึกษาจากตัวของผู้เรียนเป็นอยู่ หรือการตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาเฉพาะตัวของผู้เรียนด้วย

 

ผู้สอนในทรรศนะศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี  

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรีได้กล่าวถึงผู้สอนว่า ต้องพยายามสอนให้เกิดการ บูรณาการและเข้าใจถึงสภาพของเด็กเมื่อเข้ามาเรียน[๖]เพราะบางครั้งเด็กที่เข้ามาอาจมีปัญหาจากการโดนรังแกจากเพื่อน หรือความขาดแคลนเรื่องอาหาร เครื่องแต่งตัว เป็นต้นครูต้องเป็นเสมือนที่ปรึกษาในเรื่องต่างๆ ของเด็กและพยายามช่วยเหลือและจัดความช่วยเหลือต่างๆ เหล่านั้น

 

หลักสูตรการศึกษาในทรรศนะศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี  

       ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี ได้กล่าวถึงหลักสูตรการศึกษาว่าต้องมีการนำเอาพุทธปรัชญามาใช้ในการแก้ปัญหา คือเป็นการประยุกต์เข้ากับการศึกษาเพื่อการแก้ปัญหา โดยใช้อริยสัจจ์ ๔ เปรียบเทียบกับการแก้ปัญหา[๗]หรือเป็นการบูรณาการการศึกษาให้เกิดการเชื่อมโยงวิชาการต่างๆ ที่สอนให้มีความสอดคล้องกัน เพื่อให้การเรียนไม่เกิดความซ้ำซ้อนของวิชาการต่างๆ ดังนั้น ดร.สาโรช บัวศรี จึงได้เสนอให้มี การพัฒนาหลักสูตร เพื่อส่งเสริมให้เกิดการบูรณาการ ว่ามี  ๔ วิธี คือ[๘

 

วิธีที่ ๑ พยายามจัดวิชาที่เห็นว่าเกี่ยวข้องกันอย่างชัดเจน  ให้ได้อยู่ในสัปดาห์เดียวกัน  หรือในเดือนเดียวกัน เช่นประวัติศาสตร์กับภูมิศาสตร์ เป็นต้น  

วิธีที่ ๒ ให้รวบรวมวิชาที่ใกล้ชิดกันมากๆ  ให้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน   คือ ให้เป็นวงวิชากว้างๆ เช่น วิชาอ่าน เขียนเรียงความ  ไวยากรณ์โดยให้ชื่อกลุ่มนี้ว่า  ศิลปะทางภาษา เป็นต้น  

วิธีที่ ๓ ควรแบ่งหลักสูตรออกเป็น ๒ ตอนใหญ่ ดังต่อไปนี้ คือ

(๑) วิชาแกนซึ่งมุ่งให้ผู้เรียนได้เกิดสภาพที่เรียกว่า บูรณาการโดยตรง   คือ บังคับทุกคน  คาดคะเนไว้ล่วงหน้าว่า ให้เรียนอะไรบ้าง และ ครูกับนักเรียนพิจารณาร่วมกัน   

(๒) วิชาต่างๆ ซึ่งแยกสอนเป็นวิชาๆ ไปตามเดิมทั้งนี้เพื่อมุ่งให้เกิดความช่ำชองในแต่ละวิชา  เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ    

วิธีที่ ๔. ปรับปรุงข้อที่สามให้ตรงกับความเป็นจริงในชีวิตจริง คือ พยายามแก้ปัญหาของเด็ก ร่วมกัน  โดยถือเอาตัวเด็ก  คือ  ปัญหาของเด็กนั่นเอง เป็นศูนย์กลาง (Child centered) และให้เรียนวิชาต่างๆ ตามปรกติเพื่อสนองความต้องการของตนเองและสังคม

 

       ศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี   ท่านเห็นว่า หลักสูตรการศึกษาที่ดีต้องมีลักษณะบูรณาการวิชาเรียนเข้ากันได้ในแต่ละวัน  คือ วิชาไหนที่เหมือน หรือคล้ายๆ กันก็ควรที่จะเรียนในวันเดียวกัน หรือ รวบเป็นวิชาเดียวกัน ให้เหมาะสมกับผู้เรียนที่เป็นศูนย์กลาง คือ ความเหมาะสมกับวัยและอายุของผู้เรียน หรือความพร้อมของผู้เรียน

 

การเรียนการสอนในทรรศนะศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี ได้มีทรรศนะไว้ว่าการสอนที่ดีควรเป็นการสอนแบบใช้วิธีแก้ปัญหาซึ่งมีอยู่ ๕ ขั้น[๙]  คือ

ขั้นที่ ๑ เป็นการกำหนดปัญหา

ขั้นที่ ๒ การตั้งสมมุติฐาน

ขั้นที่ ๓ การทดลองปฏิบัติ

ขั้นที่ ๔ การวิเคราะห์ผลของการทดลอง

ขั้นที่ ๕ การสรุปผล

 

      ในทรรศนะศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี   วิธีการแบบวิทยาศาสตร์ ทั้ง ๕ ประการนี้จะทำให้การศึกษาเกิดมีสภาวะที่เรียกว่าบูรณาการ   สามารถเกิดผลได้ดีเป็นการเรียนที่สามารถนำเอามาใช้ในชีวิตจริงได้     การเรียนการสอนแบบแก้ปัญหาซึ่งเป็นไปในลักษณะแบบวิทยาศาสตร์ ที่สามารถวัดได้ เห็นได้อย่างชัดเจน มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน และสาโรช  บัวศรี ยังได้นำเอาวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์มาประยุกต์กับอริยสัจจ์ ๔ ร่วมอยู่ด้วย เป็นการวิเคราะห์วิธีการอย่างวิทยาศาสตร์กับอริยสัจจ์ ๔ เพื่อร่วมในการแก้ปัญหาไม่เพียงแต่ขณะปัจจุบันเท่านั้น แต่ต้องมีการแก้ทั้งด้านกายภาพของปัญหา และพฤติกรรมของปัญหาพร้อมกันไปด้วย ซึ่งการเรียนการสอนจะประสบผลไม่เพียงแต่ด้านวิชาการ ที่หมายถึงผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนที่มีต่อการแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่ต้องเป็นไปเพื่อการลดความโลภ ความโกรธความ และความหลง หรืออวิชชาความไม่รู้ของตนไปเรื่อย หรือเป็นไปอย่างครบกระบวนการอย่าง “ปฏิจจสมุปบาท” คือการอิงอาศัยของสิ่งต่างๆ การแก้ปัญหาจึงต้องมีการแก้อย่างสาวเหตุปัจจัย ไม่ด่วนสรุป แต่เป็นการพิจารณาอย่างเข้าใจ รอบคอบอย่างมีโยนิโสมนสิการ

 

การจัดการศึกษาในทรรศนะศาสตราจารย์สาโรช บัวศรี  

ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช  บัวศรี ได้ให้แนวทางการจัดการศึกษา  หรือ วิธีสอนแม่บทสำหรับโรงเรียนว่าต้องใช้วิธีการแห่งปัญญา  คือ สอนตามหลักอริยสัจจ์ ๔  ซึ่งตรงกับวิธีการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์  กล่าวคือ

        ขั้นที่  ๑  การกำหนดปัญหา  ซึ่งตรงกับขั้นทุกข์ในอริยสัจจ์

        ขั้นที่  ๒  การตั้งสมมุติฐาน  ซึ่งตรงกับขั้นสมุทัยในอริยสัจจ์

        ขั้นที่  ๓  การทดลองและเก็บข้อมูล  ซึ่งตรงกับขั้นนิโรธในอริยสัจจ์

        ขั้นที่  ๔  การวิเคราะห์และสรุปผล  ซึ่งตรงกับขั้นมรรคในอริยสัจจ์[๑๐]

 

     ดร.สาโรช  บัวศรี  ต้องการ ให้การจัดการศึกษาเป็นไปในรูปแบบการตั้งโจทย์ ตามหลักอริยสัจจ์ ๔ ซึ่งประยุกต์มาจากวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นการปรับหรือประยุกต์พุทธปรัชญาให้กลมกลืนกับแนวคิดสมัยใหม่  เพื่อเอาไปใช้ในการแก้ไขปัญหา ทั้งต่อการเรียน และการจัดรูปแบบการศึกษา หรืออื่นๆ ได้อีกมาก ซึ่งวิธีการอย่างวิทยาศาสตร์นั้น ไม่ได้ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างที่เข้าใจกันมาก

 

..............................................................................................................................

 

 

[๑] สาโรช บัวศรี, การศึกษาและจริยธรรมศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี, (กรุงเทพมหานคร : คณะกรรมการจัดสร้างอนุสาวรีย์ ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี และงานยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ๒๕๔๙), หน้า ๔.

[๒] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๙.

[๓] สาโรช  บัวศรี, การศึกษาและจริยธรรม  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี, หน้า ๖.

[๔] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๑๙.

[๕] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๑.

[๖] สาโรช บัวศรี,  การศึกษาและจริยธรรม  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี, หน้า  ๒๕.

[๗] สาโรช บัวศรี, ปรัชญาการศึกษาสำหรับประเทศไทย : จุดบรรจบระหว่างพุทธศาสนากับประชาธิปไตย, หน้า ๙๓-๑๐๐.

[๘] สาโรช บัวศรี,  การศึกษาและจริยธรรม  ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี,  หน้า ๒๘-๓๑.

[๙] เรื่องเดียวกัน, หน้า ๓๖.

[๑๐] อ้างใน ศักดา  ปรางค์ประทานพร, ปรัชญาการศึกษาฉบับพื้นฐาน, หน้า  ๑๖๑.

หมายเลขบันทึก: 558430เขียนเมื่อ 7 มกราคม 2014 09:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มกราคม 2014 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

กราบขอบพระคุณที่แบ่งปันครับ

ท่านคือบิดาแห่งพุทธปรัชญาการศึกษาสามารถนำมาใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท