ภาษาไทย สำคัญกับเด็กไทยมากที่สุด


เป็นคนเรียนสายวิทยาศาสตร์ที่รักภาษาไทยมากมาตั้งแต่เด็กๆ อ่านหนังสือภาษาไทยทุกอย่างที่เห็นมาแต่เล็กแต่น้อย อ่านทุกรูปแบบตั้งแต่ถุงกล้วยแขก ไปจนถึงอิเหนาเล่มหนาๆ นิยายสารพัดนักเขียนที่มีในห้องสมุดประชาชนก็อ่านจนหมดห้องสมุด นึกไม่ออกเหมือนกันนะคะว่า ทำไมถึงชอบอ่านนักหนา และน่าจะเป็นคนอ่านหนังสือได้ค่อนข้างเร็ว ต้องขอบคุณคุณพ่อคุณแม่ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เป็นหนังสือให้เรา หนังสือภาษาอังกฤษก็เปิดอ่านตั้งแต่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแต่ละคำแปลว่าอะไร ดูรูปแล้วอยากรู้เรื่องก็ลุยๆอ่านเอา เปิด dictionary ที่มีหาคำที่อยากรู้ ทุกอย่างเป็นไปตามธรรมชาติ ตามอารมณ์อยากรู้ของตัวเองทั้งสิ้น รักภาษา และคิดว่าภาษาที่รักที่สุดคือภาษาไทยของเรานี่เอง ภาษาอีกภาษาที่เรียนเพราะชอบคือ ภาษาญี่ปุ่น ส่วนภาษาอังกฤษก็เหมือนเพื่อนสนิท ไม่ถึงกับรักแต่ก็รู้สึกว่าคุ้นเคยที่จะอ่านมากกว่าภาษาไทยที่ไม่สวย

มาถึงรุ่นลูก ก็สนับสนุนให้ลูกอ่านทุกอย่างที่อยากอ่าน ไม่เคยเคี่ยวเข็ญให้ลูกอ่านหนังสือเรียน ลูกอยากอ่านอะไรตอนไหนก็ให้เขาเลือกกันเอง แต่ด้วยความที่เราสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ รับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองต้องทำมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ทำให้เราพ่อแม่ไม่เคยต้องเฝ้าลูกทำการบ้าน อ่านหนังสือเรียน เขาจัดการด้วยตัวเองตลอดมาตั้งแต่เริ่มเรียน เรามีหน้าที่เซ็นสมุดตามที่คุณครูให้มาเท่านั้นเอง 

เมื่อต้องไปเรียนเมืองนอกเมืองนา ก็พาลูกๆไปด้วยเพราะตั้งใจไว้แล้วว่าจะเลี้ยงลูกด้วยตัวเองและจะอยู่กับลูกในช่วงต้นของชีวิตลูกตลอดเวลาไม่ให้พวกเขาห่างตัวเราไปไหนเด็ดขาด ไม่ได้คิดว่าจะให้ลูกได้ภาษาอะไร ตั้งใจด้วยซ้ำว่าต้องสอนให้ลูกไม่ลืมภาษาไทย รักภาษาไทยให้มากที่สุด ซึ่งก็ได้ดังใจ แม้แต่น้องฟุงซึ่งไปพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแรกก็ยังรักที่จะพูดไทย และเป็นคนตั้งกฎให้พี่วั้นพี่เหน่นด้วยซ้ำว่าให้พูดไทยในบ้าน

และเมื่อกลับมาเมืองไทย ก็ตั้งใจเลยว่าให้ลูกเรียนโรงเรียนภาษาไทย ไม่เรียนอินเตอร์อย่างที่หลายๆคนแนะนำว่าลูกจะได้ไม่ลืมภาษาอังกฤษ สำหรับตัวเองไม่เคยคิดว่าการเรียนภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสำคัญ เพราะรู้จากตัวเองว่าเราเรียนรู้ได้ดีด้วยตัวเราเองไม่ใช่การเรียนเพิ่มเติมพิเศษใดๆ ยังคงคิดว่าภาษาไทยสำคัญที่สุด ถ้าใช้ภาษาไทยได้ดีแล้วภาษาอื่นๆก็จะตามมาเองถ้าสนใจ ดังนั้นลูกทั้งสามคนจึงได้เรียนโรงเรียนที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก น้องฟุงก็ต้องมาเริ่มเรียนป.หนึ่งใหม่แทนที่จะเป็นป.สี่ แต่ภายในเวลาไม่กี่ปี น้องฟุงก็เก่งภาษาไทยขนาดที่คุณครูเลือกให้เป็นตัวแทนโรงเรียนไปแข่งเพชรยอดมงกุฎภาษาไทยให้คุณพ่อคุณแม่เป็นงงกันไปเลย แล้วปีต่อๆมาก็กลายเป็นตัวแทนไปแข่งภาษาอังกฤษแทน ส่วนพี่วั้นพี่เหน่นก็ยังคงมีภาษาอังกฤษติดตัวไม่หายไปไหน อ่าน pocket book นิยายฝรั่งกันเป็นชุดๆอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยที่ทั้งหลายทั้งปวงนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่างเราไม่ต้องไปยุ่งอะไรเลย ยกเว้นจ่ายตังค์ค่าหนังสือเมื่อลูกร้องขอเท่านั้นเอง ไม่เคยต้องเสียเงินค่าเรียนพิเศษใดให้ลูกทั้งสามคนมาตลอดเวลาเจ็ดแปดปีที่กลับมาเมืองไทย 

ในวันนี้ที่ทำให้ได้มาเขียนบันทึกนี้ เพราะได้มีโอกาสเห็นพี่วั้น พี่เหน่นแปลภาษาอังกฤษให้เป็นภาษาไทย และในทางกลับกันด้วยให้กับคนอื่น มีทั้งแบบเป็นงานเป็นการ แบบช่วยๆกัน แต่เห็นได้ว่าลูกทำงานได้ดี เป็นที่พอใจของเจ้าของงาน แสดงว่าเขาสามารถใช้ได้ทั้งสองภาษาได้เป็นอย่างดี ทำให้ยืนยันได้เลยค่ะว่า เราต้องสนับสนุนให้ลูก ให้เด็กๆของเราเก่งภาษาไทยเอาไว้ก่อน ภาษาอังกฤษนั้นหากสนใจ รักที่จะเรียนรู้เราสามารถหาเพิ่มเติมได้แน่นอน ในทางกลับกัน ถ้าเราไปสนับสนุนให้เรียนภาษาอังกฤษโดยไม่สนใจภาษาไทย จะทำให้สิ่งที่เป็นพื้นฐานของเราเองไม่แน่นหนา จะทำอะไรต่อไปก็ยากที่จะมั่นคง จึงขอยืนยันค่ะว่า จากตัวอย่างที่เล่ามา ทั้งจากตัวเอง และสามหนุ่มน้อย บอกได้เลยว่าภาษาไทยของเรานี่แหละสำคัญที่สุด แล้วความเก่งอื่นๆจะตามมาเองค่ะ ไม่ต้องกลัวเลย

หมายเลขบันทึก: 558407เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2014 22:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 23:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เมื่อเราหลงภาษาอื่น ภาษาตนกลับเพี้ยน เด็กพูดไม่ชัด จะโทษใคร ถ้าไม่ใช่ผู้ใหญ่คลั่งไคล้ต่างแดน เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นจะบอกเขาอย่างไรว่า ภาษาไทยคือ อะไร...ด้วยเหตุนี้ เด็ก ดารา พิธีกร นักการเมือง ฯ พูดภาษาไทยไม่แข็งแรง.. ใช้ภาษาไม่ตรงกิริยา ท่าที และฟุ่มเฟือยมาก จนเสียเวลา..สังเกตดาราให้สัมภาษณ์จะรู้เอง

- พี่โอ๋เป็นคนแปลกดีนะครับ...ใครๆเขาอยากให้ลูกเรียนอินเตอร์กันทั้งนั้น แต่พี่กลับสวนทาง

- ผมอ่านบันทึกนี้อย่างลืมตัวเลย (ฮา) เพื่อหาว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กเป็นอย่างนั้น อย่างหนึ่งคือสิ่งแวดล้อม อย่างที่สองการสนับสนุน อย่างที่สามน่าจะคือ พันธุกรรมแม่-พ่อแน่ๆเลย

- ผมกำลังสังเกตสังคมไทยว่า ต่อไปภาษาไทยก็น่าจะอยู่ในพิพิธภัณฑ์ แต่ถ้ามีแม่แบบที่โอ๋เยอะๆ ภาษาไทยน่าจะยังอยู่ได้นะครับ

- บันทึกนี้ทำให้รู้ว่า การศึกษาไม่จำเป็นต้องอยู่ในชั้นเรียนเสมอไป

- พี่เก่งทางศิลป์ภาษาแต่เดินทางสายวิทย์ ทำให้คิดว่า ถ้าพี่เขียนงานทางวิทยาศาสตร์ด้วยศิลป์ภาษาจะทำให้คนที่ไม่ใส่ใจวิทยาศาสตร์ได้เข้าใจและรักวิทยาศาสตร์มากขึ้นนะครับ และทำให้วิทยาศาสตร์กลายเป็นวิทยาศาสตร์มีชีวิตได้ด้วย (สสารนิยม+จิตนิยม=ชีวิต)

ก็บอกครูบอกลูกและเพื่อนๆ อย่าดูถูก อย่าทำเป็นเล่น กับการใช้ภาษาไทย..เป็นพื้นฐานชีวิต ที่สำคัญ จะรุ่งโรจน์หรือตกต่ำ ก็ที่การใช้ภาษาของตน เป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ต้องรักษาและใช้ให้ถูกต้อง จะเป็นมงคลแก่ตัว...สำเนียงส่อภาษา..กิริยาส่อสกุล...

พูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาไทย (หนึ่งในภาษาที่ยากมากของโลก) ของเราได้ดีแล้ว ภาษาอื่นๆ ใช้เวลาฝึกฝนก็จะไม่ยากหรอกค่ะ

It may look 'funny' coming from me (in Emglish) -- I agree with you: Thai for Thais. (And for a little lift -- Royal Institute Thai dictionary for all Thais --).

I learn other languages because languages are a way to communicate, to understand, and to analyse what in other people's mind. Thai language is highly context-sensitive (the meaning of a phrase or word depend very much on the contect in which it is used); and Thai language is almost grammar-free (very few formal 'structures' are applied) in comparison to Pali or English where words are 'dressed up' for the context (number, sex, past/present, ...) by strict grammar rules.

My favourite is ไปไหนมา -- a simple greeting in Thai but so difficult to put in English (properly). In full grammar dress, ไปไหนมา = "'Where have you gone before you came here?' but ไปไหนมา is a simple greeting like "what's up?" or a simple question like "what are you doing here?" or accusingly "where have you been?". The example shows how we look into other people's mind in different languages ;-)

Perhaps, the more impartant about languages is the ability to 'construct' image/understanding of what expressed/communicated -- using a language best fit the audience ;-)

(ผมควรเขียนเป็นภาษาไทย นะ ;-)

จำได้ว่าพี่โอ๋เคยสอนภาษาไทยให้ผมด้วย ขอส่งความสุขมากมายให้พี่โอ๋ พี่เล็ก และสามหนุ่มนะครับผม ขอบคุณมากครับ

มายกมือเห็นด้วย สนับสนุนร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะคุณโอ๋

ส่วนตัว รักภาษาไทยมากที่สุดแม้ว่าชอบหลาย ๆ ภาษาแต่ภาษาไทยเป็นภาษาแม่ รู้ได้โดยสัญชาติญาณ อ่านที่ไหนก็ได้ แถมเรื่องเจ้าบทเจ้ากลอนนี่ มาในสายเลือดนะคะ

ลูกชายรักการเรียนภาษาเหมือนกันเปี๊ยบ อาจเพราะพันธุกรรมหรือเพราะเห็น

ตอนลูกยังเป็นเด็กเล็ก แม่เล่านิทานให้เขาฟังไม่มากนัก แต่ลูกเล่้าให้แม่ฟังน่ะมากโข เป็นคู่แม่ลูกที่ตลกดี

ลูกเล่าตั้งแต่ยังเป็นเด็กก่อนเรียนอนุบาล ไม่รู้เหมือนกันว่า อ่านและสะกดเองได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ที่แน่ ๆ ตอนนั้นยังเขียนหนังสือไม่ได้ อ่านได้ก่อน..เขาเล่าเรื่องจันทโครพ โดยอ่านออกเสียงเป็น (จัน-ทะ-โครบ) ผอบ(อ่านว่า ผอบ ไม่ได้อ่านเป็น ผะ-อบ) จึงรู้ว่าเขาอ่านออกเอง

แม่ตอนเด็กๆ พี่ชายคนโต ๆ เล่าว่าอ่านเรื่อง "แก้วสารพัดนึก" นิยายในฟ้าเมืองไทยได้ก่อนเข้าเรียนเช่นกัน และอ่านชื่อนางเอกที่ชื่อ แก้ว เสมาทอง อ่านว่า แก้ว สะเหมาทอง อ่าน"ไกด์บางกอก" เป็น กะได๊บางกอก...

ตอนนี้สองคนแม่ลูกชอบเล่นคำกัน แม่เช่น.. "คิดถึงความคิดถึง"
ลูกบอกว่า แม่ ๆ ๆ ๆ เค้าเรียกว่า เป็นการใช้ litteration

ลูกเล่นกับภาษาอังกฤษใน poem ที่เขียนเอง(ไว้นำมาให้อ่านเล่นค่ะ)

เม้นท์ยาวเหยียดเ้พราะดีใจ รักภาษาไทยที่สุดในโลกค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท