We are all victims of our own fear


"The only thing necessary for the triumph of evil is for good men to do nothing." Edmund Burke

We are all victims of our own fear

 

"พวกเราทุกคนอาจจะเคยนั่ง หรือกำลังนั่งอยู่ในรถประจำทางหมายเลข ๔๔ นี้อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เพียงแต่เราไม่ได้ลงที่เดียวกันกับรถคันนี้เท่านั้น คำถามที่น่าสนใจก็คือ "เวลานั้นจะมาถึงเมื่อไหร่?" มิใช่ "จะมาถึงหรือไม่?"

มีภาพยนต์สั้นได้รางวัลเรื่องหนึ่งชื่อ Bus ๔๔ ความยาว ๑๑ นาที

Synopsis:

บนถนนชนบทสายหนึ่ง รถเมล์สาย ๔๔ มีผู้โดยสารเกือบเต็มคันนั่งมา พนักงานขับรถเป็นผู้หญิงหน้าตาดี ขับมาได้สักระยะหนึ่งก็เจอชายหนุ่มคนหนึ่งโบกรถขึ้นกลางทาง ต่อมาอีกไม่นานก็มีคนโบกรถอีกสองคน ปรากฏว่าเป็นโจรมาปล้น มีอาวุธเป็นมีดหนึ่งเล่ม โจรทั้งสองได้ปล้นรถทั้งคัน เรื่องราวที่เกิดขึ้นกับผู้โดยสาร ชายหนุ่ม พนักงานขับรถสาว และโจรทั้งสอง ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ morality ของปัจเจกบุคคล แต่สะท้อนสภาพในสังคมปัจจุบันได้อย่างน่าคิด และน่าสะเทือนใจ

เหตุการณ์ในรถประจำทางสายนี้ เป็นแบบจำลองสภาพในสังคมยุคปัจจุบันในหลายๆที่ หลายๆแห่ง โจรสองคนนี้เป็นผลผลิตในสังคมแบบที่ว่านี้ด้วย การหาเงินแบบไร้คุณธรรมนั้นอาจจะมาจากความจำเป็นส่วนตัว หรือเพราะเหตุผลอะไรก็ตาม แต่อาชญากรรมเกิดขึ้นนั้นจะต้องมีปัจจัยอีกเรื่องหนึ่งคือ "การไม่มีผลกระทบจากการกระทำผิดย้อนกลับมาหาตัว"

เหตุการณ์แบบนี้อาศัย "ความกลัว" เป็นตัวกำกับทั้งเหตุ และผล คนบางคนจะทำอะไรนั้นจะต้องมีแรงผลักที่มากกว่าแรงต้าน แรงต้านของสังคมคือกฏเกณฑ์ ประเพณี ขนบธรรมเนียมวัฒนธรรม และตัวบทกฏหมาย เป็นที่น่าสนใจว่าแรงต้านเหล่านี้ต้องการ "แรงผลัก" มากสักเพียงใดคนถึงจะก้าวทะลุแรงต้านนี้ไปได้ ถ้าหากต้นทุนของสังคมที่เป็นแรงต้านมีอยู่มาก การเกิดอาชญากรรมก็จะถูกขวางกั้นไว้ได้ระดับหนึ่ง แต่ถ้าต้นทุนสังคมนั้นๆ ถูกกัดกร่อนไปเป็นเวลายาวนาน แรงผลักดันที่จะทำให้คนทำอะไรตามอำเภอใจก็จะไม่ต้องสูงมากก็เพียงพอที่จะไม่สนใจต่อกฏสังคมไปได้แล้ว

คลิปภาพยนต์สั้นชุดนี้ สะท้อนเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในสังคม

ประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๕๔ มีข่าวสะเทือนใจจากประเทศจีน ณ​ เมืองโผซาน มณฑลกวางตุ้ง ที่มีเด็กอายุประมาณ ๒ ขวบ เดินอยู่ในตลาด มีรถบรรทุกคันหนึ่งขับมาช้าๆแล้วอยู่ดีๆก็เร่งความเร็วพุ่งเช้าชนเด็กล้มลง รถบรรทุกจอดอยู่แป๊บนึงขับทับซ้ำอีกครั้งก่อนจะหลบหนีไป ท่ามกลางคนเดินไปมามากมาย ไม่มีใครสนใจจะมาดูแลหรือช่วยเหลือเลย ผ่านไปครึ่งชั่วโมงหลังจากที่มีคนเดินผ่านไปมาเป็นสิบๆคนถึงมีคนเก็บขยะมาพยุงเด็กซึ่งไม่ขยับแล้ว ออกมาจากถนนและร้องเรียกคนช่วย แม่เด็กถึงได้ออกมา เด็กต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลอยู่ในห้อง ICU เพราะบาดเจ็บสาหัส ไม่ทราบชะตากรรมว่าจะรอดหรือไม่

สภาพแวดล้อมบางอย่างในสังคม ทำให้คนสนใจแต่ "ตนเอง" ทุกๆคนมีเหตุมีผลที่จะอยู่เพียงพอให้ตนเองมีความสุข คนใกล้ชิดรอบๆข้างมีความสุข แต่การที่มีความสนใจในตัวเองสูงมากนั้น เราอาจจะกำลังสูญเสียความรู้สึกรับผิดชอบส่วนรวมไปได้หรือไม่?

เมื่อเราเห็นโจรกำลังปฏิบัติการ เราจะทำอะไร อาจจะง่ายขึ้นถ้าเราต้องทำเพียงโทรศัพท์ไปหาตำรวจก็พอ แต่จะเริ่มยากขึ้นทันทีถ้าเรามีความเสี่ยงเกิดขึ้น ความเสี่ยงตรงนี้จะวัดที่ "ต้นทุน"​ ของแต่ละคน อย่างในภาพยนต์เรื่องแรกนั้น คนส่วนใหญ่คิดว่าการเสียเงินไปเพียงเล็กน้อยนั้น คุ้มกว่าการที่จะเสี่ยงต้องไปต่อสู้กับโจร ความกลัวนั้นมากจนกระทั่งข้ามความจริงที่ว่าอาวุธของโจรมีเพียงมีดเล็กๆหนึ่งเล่ม และโจรก็มีเพียงแค่สองคน หากคนทั้งรถจะขัดขืน ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่โจรจะเอาชนะได้ ผู้โดยสารบางคนเพื่อเอาชนะปมเหตุผลนี้ ก็สามารถจินตนาการต่อไปอีกว่า โจรคงจะไม่มีแต่มีด แต่อาจจะพกปืนผาหน้าไม้อะไรมาด้วย เพื่อเพิ่มน้ำหนักความเสี่ยง และทำให้การตัดสินใจอยู่เฉยๆไม่ทำอะไรนั้นสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น และอาศัยอยู่ใน comfort zone ของตนเองต่อไป

เหตุผลที่ว่านี้เกิดขึ้นในจินตนาการของแต่ละคนเท่านั้น ไม่ได้เป็น facts ที่ทุกคนเห็นเหมือนกัน

ในสังคมจริง จึงยากที่จะดึงคนที่มี "ต้นทุนสูง" หรือ "คนที่มีความเสี่ยงจะสูญเสียเยอะ" ลงมากระทำอะไรที่แลกกับสิ่งที่เขาคิดว่าไม่น่าจะคุ้มกัน คนที่มีอะไรจะสูญเสียน้อยกว่า หรือคนที่ "รู้สึกว่าจะสูญเสียเยอะมากหากไม่กระทำอะไร" เท่านั้นที่จะก้าวออกมา

 

 

หมายเลขบันทึก: 558362เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2014 11:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มกราคม 2014 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท