แนวทางการเขียนรายงานการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพของนักสังคมสงเคราะห์


วันนนี้ขออนุญาตนำบทความของท่าน รศ.อภิญญา เวชยชัย มาเผยแพร่ที่นี่นะคะด้วยเวปไวด์ของ กสค. หาข้อมูลยากและอยู่ระหว่างการจัดทำใหม่ หลายท่านประสงค์จะนำเอกสารนี้ไปใช้ในช่วงนี้ 

แนวทางการเขียนรายงานการปฏิบัติงาน เพื่อพัฒนามาตรฐานคุณภาพของนักสังคมสงเคราะห์

รศ.อภิญญา เวชยชัย

สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย

หลักการและเหตุผล

          การปฏิบัติงานในการให้บริการสังคมของนักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ เป็นประเด็นที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่เรียกร้องของสังคมมากขึ้น ควบคู่ไปกับสถานการณ์สังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และก่อผลกระทบรวดเร็ว รุนแรงต่อประชาชนกลุ่มต่าง ๆ    การพัฒนามาตรฐานคุณภาพของนักสังคมสงเคราะห์เป็นประเด็นที่มีการเรียกร้องจากหลายฝ่าย มาเป็นเวลานาน ทั้งในส่วนของหน่วยงานที่ใช้บัณฑิตทางสังคมสงเคราะห์หรือต้องทำงานโดยใช้ความรู้ ทักษะ และการปฏิบัติงานทางสังคมสงเคราะห์กับประชาชนผู้ใช้บริการ หน่วยงานเหล่านี้ทั้งภาครัฐบาล เอกชน ต่างเห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพวิชาชีพให้สามารถตอบสนองและรับมือกับความซับซ้อนของปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ ขณะเดียวกันสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาคมวิชาชีพ และสถาบันการศึกษาที่เป็นฝ่ายผลิตนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้รับข้อเสนอให้มีการติดตาม เพิ่มพูนความรู้ในการปฏิบัติงานให้มีความชำนาญและมีทักษะที่ลึกซึ้งมากขึ้นทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันดีว่าปัญหาสังคมที่นักสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ นั้นมีหลายมิติ และมีการเปลี่ยนแปลงสู่พัฒนาการที่สลับซับซ้อนมากขึ้น ทั้งสาเหตุที่มาจากส่วนบุคคล ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาความไม่เท่าเทียมเชิงโครงสร้างอำนาจ การจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรม รวมไปถึงการรับผลกระทบด้านวัฒนธรรมโลกาภิวัตน์ ที่ส่งผลถึงพฤติกรรมปัญหาหลากหลายประการของประชาชนในประเทศและต่างชาติที่เข้ามาทำงาน หรือหลบหนีเข้ามา อย่างผิดกฎหมายในประเทศไทย และปัญหาผลกระทบจากภัยพิบัติรูปแบบต่าง ๆ ที่ขยายแผ่กว้างออกไปทั่วทั้งโลกฯลฯ สถานการณ์ปัญหาเหล่านี้ยิ่งต้องการบุคลากรที่ให้บริการอย่างมีคุณภาพ มีกระบวนการดำเนินงานที่มีความเป็นวิชาชีพ สามารถทำงานกับปัญหาในระดับลึก ซึ่งต้องเริ่มต้นจากระบบคิด การประเมินสภาวะปัญหา การวางแผนวินิจฉัยและการดำเนินงานอย่างมีความเป็นมืออาชีพ รวมทั้งการกำกับติดตามงานอย่างใกล้ชิด

            การผลักดันให้เกิดการพัฒนามาตรฐานคุณภาพวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบมากขึ้น โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการพัฒนามาตรฐานคุณภาพขององค์การสวัสดิการสังคมและสาธารณประโยชน์ นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพและอาสาสมัคร ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน โดยมีนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เป็นประธาน ร่วมกับสถาบันการศึกษาผู้ผลิต ได้แก่ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และผู้แทนจากกระทรวง หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้านการสังคมสงเคราะห์ และสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ร่วมกันจัดทำมาตรฐานการประเมินคุณภาพองค์การ นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัคร รวมทั้งการจัดทำตัวชี้วัดในการกำหนดทิศทางการทำงานของทุกส่วนให้มีมาตรฐานในระดับสากล        ทั้งนี้ในส่วนมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาหลักเกณฑ์และตัวชี้วัดอย่างมีส่วนร่วมหลายครั้ง หลายขั้นตอน จากนักวิชาการ นักวิชาชีพในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและองค์การพัฒนาเอกชนและหน่วยงาน ISO อย่างหลากหลาย และได้ผ่านกระบวนการเผยแพร่และสื่อสารให้แก่นักสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศไปเรียบร้อยแล้ว ผ่านการประชุมวิชาการสัญจร 5 ภูมิภาค มีนักสังคมสงเคราะห์ผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 600 คน

หลักเกณฑ์สำคัญในการประเมินมาตรฐานการปฏิบัติงานนักสังคมสงเคราะห์

            การกำหนดหลักเกณฑ์สำคัญในการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ คือ

1)การประเมินจากคุณสมบัติ   นักสังคมสงเคราะห์ที่ยื่นคำขอให้มีการรับรองมาตรฐาน ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

            1.1) ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษา ไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ทางสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ภายใต้การนิเทศงานของหัวหน้าหน่วยงานหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

            1.2) ต้องเป็นผู้ที่สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี และมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒ ปี ภายใต้การนิเทศงานของหัวหน้าหน่วยงานหรือนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน และผ่านการฝึกอบรมด้านสังคมสงเคราะห์ตามมาตรฐานที่คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกำหนด

            1.3) ต้องเป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคม ที่มีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการกำหนดตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ภายใต้การนิเทศงานของนักสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับรองมาตรฐาน

ทั้งนี้ นักสังคมสงเคราะห์ผู้ขอรับรองมาตรฐาน ต้องส่งเอกสารแสดงถึงคุณสมบัติพื้นฐานที่ได้รับการพิจารณา ได้แก่ คุณวุฒิการศึกษา  ประวัติ/ประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้อง  ประวัติการฝึกอบรม หนังสือรับรองการปฏิบัติงานจากหน่วยงาน

2) การประเมินจากการปฏิบัติงานในภาพรวม (Performance Evaluation)ผ่านการประเมินและการพิจารณาในภาพรวมของบุคคลแวดล้อม ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตนเองในการปฏิบัติงาน การประเมินขั้นตอนนี้เพื่อสะท้อนถึงคุณสมบัติในการทำงานผ่านมุมมองผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งคณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรและมาตรฐาน ในคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ ได้กำหนดขอบเขตการประเมิน ใน 2 กลุ่มสาระ ได้แก่

2.1)ด้านจรรยาบรรณและค่านิยมทางวิชาชีพตัวชี้วัดในการประเมินมาตรฐาน พิจารณาจากหลักจริยธรรมทางวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ ตามที่สมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (สนนท.) กำหนด อันมีพื้นฐานมาจากสมาคมนักสังคมสงเคราะห์นานาชาติ (National Association of Social Workers-NASW)

2.2)การปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ ซึ่งประกอบด้วย (1)ด้านความรู้ ทักษะ ทัศนคติ (2)ด้านการปฏิบัติงานต่อผู้ใช้บริการ (3)ด้านการปฏิบัติงานต่อนายจ้างและองค์กรที่สังกัด (4)ด้านการปฏิบัติต่อวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ (5)ด้านการปฏิบัติต่อสังคม

วิธีการประเมินจากการปฏิบัติงานภาพรวม (Performance Evaluation) เป็นการประเมินจากตนเอง และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ รวม 3 ระดับ ได้แก่ การประเมินตนเอง(self evaluation) การประเมินโดยเพื่อนร่วมงาน(peer evaluation) และการประเมินโดยผู้บังคับบัญชา(supervisor evaluation)

3) การประเมินจากผลการปฏิบัติงานเฉพาะบุคคล ผู้ขอรับรองมาตรฐานต้องเสนอรายงานผลการปฏิบัติงานของตนเอง ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น

3.1)การทำงานสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย เสนอในรูปแบบของรายงานผลการปฏิบัติงาน (Case Review)

3.2)งานสังคมสงเคราะห์กลุ่ม เสนอในรูปแบบของรายงานผลการปฏิบัติงาน(Group Work Review)

3.3)การทำงานกับชุมชน  (Working with Community)เสนอบทเรียนหรือประสบการณ์ทำงานกับชุมชน

            ทั้งนี้กรรมการผู้ประเมินอาจเสนอขอสัมภาษณ์ หรือสังเกตการณ์การให้บริการของนักสังคมสงเคราะห์ประกอบได้ หากจำเป็น

คำชี้แจง การเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์

            1.เอกสารนี้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ ซึ่งผู้ขอรับรองมาตรฐานจะต้องส่งรายงานการปฏิบัติงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ส่งให้สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ พร้อมเอกสารประกอบอื่น ๆ ตามที่ระบุไว้ในคู่มือการรับรองมาตรฐาน การปฏิบัติงานด้านการจัดสวัสดิการสังคมของนักสังคมสงเคราะห์ ปี พ.ศ.2551สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติ

            2.รายงานผลการปฏิบัติงาน จะสามารถจัดทำหรือเรียบเรียงจากบันทึกการปฏิบัติงาน ที่ได้จากการทำงานกับผู้ใช้บริการในปัจจุบันหรือในอดีตได้ โดยกรณีการทำงานกับผู้ใช้บริการดังกล่าวสามารถสะท้อนแนวทาง กระบวนการหรือบทเรียนที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อการทำงานของวิชาชีพ

            3.เป้าหมายในการประเมินรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ จะให้ความสำคัญที่การใช้ความรู้ กระบวนการทำงาน วิธีการปฏิบัติงานต่อผู้ใช้บริการ รวมถึงแนวทางการทำงานเป็นทีม หรือการทำงานสหวิชาชีพ และการสรุปวิเคราะห์บทเรียนที่ได้จากการปฏิบัติงาน เป็นต้น

            4.เอกสารรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ คณะกรรมการผู้ประเมินฯจะให้ความสำคัญในฐานะข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่แสดงถึงฐานความรู้ ความเข้าใจในการทำงาน กระบวนการ วิธีการทำงานที่สะท้อนความเป็นนักวิชาชีพ การวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหา และการให้บริการที่สอดคล้องเหมาะสมกับบริบทผู้ใช้บริการ

            คณะกรรมการผู้ประเมินจะพิจารณารายงานฯฉบับนี้ร่วมกับการประเมินจากคุณสมบัติ และการประเมินจากการปฏิบัติงานในภาพรวม (Performance Evaluation) อันจะนำไปสู่การประเมินที่รอบด้าน เป็นธรรม ทั้งนี้คณะกรรมการฯสามารถจะขอสัมภาษณ์เพิ่มเติม หรือขอร่วมสังเกตการณ์การปฏิบัติงานได้ ตามขั้นตอนการขอรับรองมาตรฐานตามที่กำหนดไว้แล้ว

            5.รายงานผลการปฏิบัติงานนี้ ต้องได้รับการรับรองจากหัวหน้าหน่วยในองค์การ/หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำส่งเข้าสู่ระบบประเมิน เพื่อให้ผู้ขอรับรองมาตรฐานได้ผ่านการตรวจสอบจากระบบภายในหน่วยงานของท่านตามมาตรฐานเบื้องต้น

การเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ (Case Review)

          Case Review  หมายถึง

  1. การทบทวน สังเคราะห์ข้อเท็จจริง ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของผู้ใช้บริการทุกด้าน พร้อมหลักฐานพยานรองรับเพื่อเป็นข้อมูลเชิงประจักษ์ในการดำเนินการขั้นตอนต่อไป(เช่น การประเมินสภาวะร่วมกับทีม สหวิชาชีพ การนำข้อมูลหลักฐานสู่การพิจารณาคดีตามกฎหมาย การวิเคราะห์วินิจฉัย การกำหนดแผนดำเนินการ เป็นต้น)
  2. การสรุปบทเรียน ถอดบทเรียน งานศึกษาวิจัยที่นำบทเรียนนั้นไปใช้ในการป้องกัน การเฝ้าระวัง การเสนอนโยบาย หรือการกำหนดมาตรการเพื่อการคุ้มครองสวัสดิภาพและความมั่นคงปลอดภัยของเด็กในระยะยาว

การเขียน Case Review ต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับ (Evidence-Based) และมีการจัดระบบข้อมูลในการนำเสนออย่างเป็นระบบเพื่อสรุปรายละเอียดของแนวคิด กระบวนการ วิธีการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ พร้อมการประเมินวิเคราะห์ให้เห็นจุดแข็ง จุดอ่อนในการทำงาน และการจัดการปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนความสามารถและศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์

สาระสำคัญในการเขียน Case Review

  1. การรับแจ้งเบื้องต้น/ขั้นตอนแรกรับ การเก็บรายละเอียดในขั้นตอนแรกรับ (Intake Process) เพื่อพิจารณาถึงการให้ความสำคัญกับการบันทึกรายละเอียดเบื้องต้น ตั้งแต่ผู้แจ้ง รายละเอียดการแจ้ง วันเวลาที่รับ สภาพของผู้ใช้บริการในขั้นตอนแรกรับ สภาพครอบครัวหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ของผู้แจ้งกับผู้ใช้บริการ การตัดสินใจรับเข้าสู่ระบบบริการขององค์กร ฯลฯ
  2. การแสวงหาข้อเท็จจริง/การสืบค้นข้อเท็จจริง (Fact Finding)เพื่อพิจารณาถึงหลักการทำงานและวิธีการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น การแสวงหาข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญของปัญหา รายละเอียดของปัญหาในเชิงกายภาพ จิตใจ อารมณ์ ความสัมพันธ์ในครอบครัว ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของปัญหาทั้งภายในและภายนอก การใช้ทักษะต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการเข้าถึงข้อเท็จจริง เช่น การเยี่ยมบ้าน การสังเกต การพูดคุยกับกลุ่มสังคมที่เกี่ยวข้อง การเข้าถึงข้อเท็จจริงอย่างครอบคลุมรอบด้าน ผ่านผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงสำหรับการวิเคราะห์วินิจฉัยปัญหา

การสืบค้นข้อเท็จจริงควรเป็นข้อเท็จจริงจากหลายแหล่ง ทั้งจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง พยานเอกสาร พยานวัตถุ(บาดแผล น้ำคัดหลั่ง ร่องรอยในที่เกิดเหตุ ฯลฯ) พยานที่บันทึกโดยบุคคล เช่น การถ่ายภาพ วิดีโอ และพยานนิติวิทยาศาสตร์ จากผู้ประกอบวิชาชีพ เช่น นิติแพทย์

กระบวนการกลั่นกรองข้อเท็จจริง ได้จากวิธีการใด เช่น จากการซักถาม สังเกต สัมภาษณ์ เรื่องเล่า หรือมีการใช้เครื่องมือตรวจประเมินข้อเท็จจริงผ่านสหวิชาชีพอื่น ๆที่นำมาประกอบ

  1. การประเมินสภาวะของผู้ใช้บริการ (Assessment) ในที่นี้พิจารณาจากความครอบคลุมในการนำข้อเท็จจริงที่ได้มาประเมิน วิเคราะห์วินิจฉัย เพื่อค้นหาปัญหาและความต้องการที่เร่งด่วน และหลากหลายของผู้ใช้บริการ

การประเมินสภาวะของผู้ใช้บริการ (Assessment)ที่จะช่วยให้ได้ข้อเท็จจริงที่กระจ่าง ควรมีการประเมินในสาระสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

–                  การประเมินสภาวะกายจิตสังคม(Bio Psycho Social Assessment) ได้แก่การวิเคราะห์วินิจฉัยสภาพที่เป็นจริงทางร่างกาย จิตใจอารมณ์และความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้ใช้บริการกับครอบครัว เครือญาติ กลุ่มสังคมรอบตัวเพื่อพิจารณาถึงปัญหา ความทุกข์ ความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ หรือลักษณะพิเศษของผู้ใช้บริการ เป็นการประเมินผู้ใช้บริการในภาวะองค์รวมคือมองเห็นทั้งกาย จิต สังคมทั้งระบบอย่างเชื่อมโยงกัน นำไปสู่การพิจารณาสาเหตุของปัญหา ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหา กรณีการทำร้ายทารุณกรรมเด็ก ควรประเมินจากประจักษ์พยานที่ได้จากข้อเท็จจริง ว่าเกิดจากเจตนาจงใจ หรือ อุบัติเหตุ เหตุใดจึงตัดสินใจประเมินเช่นนั้น รวมทั้งประเมินจากระยะเวลาและความถี่ของการเกิดเหตุการณ์

–                 การประเมินสภาวะครอบครัว(Family Assessment)ได้แก่การประเมินบทบาทความสัมพันธ์ ความผูกพันระหว่างผู้ใช้บริการ เครือญาติ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ของครอบครัว และเป็นการประเมินฐานทรัพยากรที่จะเป็นตัวช่วยของผู้ใช้บริการ หรือผู้บั่นทอนพัฒนาการ พลังของผู้ใช้บริการ รวมถึงสถานการณ์ปัญหาระหว่างสมาชิกในครอบครัว ว่ามีความขัดแย้งรุนแรงหรือไม่ เพียงใด ความขัดแย้งนั้นก่อผลกระทบอย่างไรกับผู้ใช้บริการ

–                 การประเมินความเสี่ยง(Risk Assessment) ได้แก่การประเมินปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้ว หรืออาจจะเกิดขึ้นซ้ำอีกในครอบครัว หรือในพฤติกรรมบุคคลของผู้ใช้บริการ ความเสี่ยงดังกล่าวมีผลอย่างไรต่อผู้ใช้บริการ แนวทางในการป้องกันความเสี่ยงซ้ำ และความเสี่ยงใหม่ เพื่อนำไปสู่การวางแผนป้องกัน การเฝ้าระวังไม่ให้เกิดผลทำร้ายผู้ใช้บริการซ้ำ ทั้งนี้อาจพิจารณาถึงสาระสำคัญในพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการใช้ป้องกันปัญหาได้ เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550, เป็นต้น

–                 การประเมินความต้องการ(Needs Assessment)ได้แก่การประเมินทางออกที่เป็นความต้องการจำเป็นของผู้ใช้บริการ โดยยึดเอาผลประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้บริการเป็นศูนย์กลาง ในกรณีที่ผู้ใช้บริการยังเป็นเด็กเล็ก และความต้องการของครอบครัวไม่อยู่ในสถานะที่คำนึงถึงความปลอดภัยมั่นคงในชีวิตเด็ก นักสังคมสงเคราะห์จะต้องแสดงจุดยืนในการปกป้องคุ้มครองเด็ก และประเมินความต้องการแท้จริงที่เหมาะสมกับสวัสดิภาพ ความมั่นคงของเด็กเป็นตัวตั้ง

ตัวอย่างประเด็นสำคัญที่นำไปสู่การประเมิน วิเคราะห์วินิจฉัย ได้แก่

  • ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นจุดเปลี่ยนพฤติกรรม (turning point) การใช้ชีวิตแบบปกติประจำวันเป็นอย่างไร ความผิดปกติเริ่มเมื่อไหร่ อะไรคือปัจจัยที่นำสู่การเปลี่ยนแปลง รายละเอียดของเหตุการณ์ที่ได้จากบุคคลที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย
  • ผลจากเหตุการณ์หรือปัจจัยที่กระทำ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงชีวิต พัฒนาการ  พฤติกรรม อุปนิสัย อย่างไร เพียงไร
  • ผลที่เกิดขึ้นต่อเด็ก ก่อผลกระทบสู่บุคคลอื่น ๆ ในครอบครัวหรือไม่ อย่างไร

 

  1. การกำหนดเป้าหมายและแผนบริการ(Care Plan/Planning)ได้แก่การนำผลการประเมินสภาวะมาวิเคราะห์วินิจฉัย เพื่อกำหนดเป้าหมายที่เป็นลำดับความสำคัญของการจัดบริการ และวางแผนบริการเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา การบำบัดฟื้นฟู การคุ้มครอง หรือการป้องกันตามสถานการณ์ที่เหมาะสม แผนบริการอาจเสนอเป็นแผนเฉพาะหน้า หรือแผนระยะสั้น แผนระยะยาว ให้สอดคล้องกับการดำเนินการที่เป็นจริง แผนบริการนั้นหากนักสังคมสงเคราะห์ได้จากการประชุมทีมสหวิชาชีพ จะยิ่งสร้างความมั่นใจเพราะจะช่วยให้แผนบริการมีความสอดคล้องเหมาะสม กับข้อเท็จจริงและสถานการณ์ของปัญหามากขึ้น และนำไปสู่การการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานมากขึ้น
  2. การดำเนินงาน (Implementation) ได้แก่การเลือกใช้วิธีการที่เหมาะสมในการดำเนินงาน รวมถึงการเสนอบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการบริหารจัดการตามแผนที่กำหนดไว้ เพื่อเสนอหลักประกันในการจัดบริการอย่างเหมาะสม ถูกต้อง หากในกระบวนการดำเนินงานพบปัญหา อุปสรรคใด ให้เสนอถึงแนวทางในการจัดการปัญหาดังกล่าวด้วย เพื่อสะท้อนศักยภาพของนักสังคมสงเคราะห์ในการทำหน้าที่เป็นผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) และทักษะทางวิชาชีพต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการเผชิญหน้ากับปัญหาระหว่างดำเนินการ รวมถึงเทคนิคในการคลี่คลายปัญหาอย่างเหมาะสม
  3. การติดตาม ผลการดำเนินงาน ผลที่เกิดขึ้น ผลกระทบ(Output/Outcome/Impact) ได้แก่การสรุปผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน ว่าได้ก่อให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงต่อผู้ใช้บริการและ/หรือครอบครัวอย่างไร เพียงไร หรือก่อให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบตามมาแบบใด ซึ่งจะนำไปสู่การประเมินสภาวะและสถานการณ์ใหม่ การวางแผนและการดำเนินงานใหม่อีก การติดตามผลที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้นักสังคมสงเคราะห์ต้องปรับตัวอย่างไร ได้เห็นการแก้ปัญหาในกระบวนการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้เห็นการใช้ความรู้ ทักษะและศักยภาพในการติดตามและประเมินผลงานในขณะเดียวกัน
  4. การส่งต่อ(Referral System) คือการเสนอเหตุผล ข้อเท็จจริงให้เห็นถึงความสำคัญจำเป็นในการส่งต่อผู้ใช้บริการไปยังหน่วยงานอื่น และสะท้อนถึงการดำเนินงานในการส่งต่อว่ามีระบบประสานงานโดยทางใดบ้าง เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ใช้บริการเข้าถึงบริการในหน่วยงานอื่นโดยได้รับการดูแลและคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างระบบส่งต่ออย่างไร ที่จะทำให้หน่วยงานต่อไปได้ข้อเท็จจริงและประวัติที่ชัดเจน หากเป็นกรณีการละเมิดทางเพศ มีการดำเนินการส่งต่อเพื่อป้องกันความละเอียดอ่อนในการถูกละเมิดซ้ำอย่างไร
  5. การทำงานสหวิชาชีพ (Multidisciplinary Team-MDT)ได้แก่การให้รายละเอียดเกี่ยวกับการประสานทีมสหวิชาชีพ การดำเนินการประชุมทีม เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากผู้ประกอบวิชาชีพสาขาต่าง ๆ หากมีการประชุมทีมสหวิชาชีพตั้งแต่ขั้นตอนของการประเมินสภาวะ นักสังคมสงเคราะห์ต้องเสนอข้อสรุปร่วมกันของทีมสหวิชาชีพ ที่ถือเป็นมติร่วมที่เป็นทิศทางของการปฏิบัติงานให้ทราบ อันจะสอดคล้องกับการกำหนดเป้าหมายและการวางแผนบริการ
  6. การวิเคราะห์กระบวนการทำงานในที่นี้หมายถึงการที่นักสังคมสงเคราะห์สามารถสรุปบทเรียนที่เกิดขึ้นในกระบวนการทำงานของตน ทั้งในด้านจุดแข็ง จุดอ่อนทักษะสำคัญที่เป็นประโยชน์จากการทำงาน เพื่อนำไปสู่การให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่องานในอนาคต เป็นการสะท้อนความคิดของตนในรูปแบบการสรุปบทเรียนพอสังเขป ในการบอกเล่าถึงปัจจัยที่มาของความสำเร็จ หรือความล้มเหลวที่ตนได้เผชิญมา

 

การเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ (Group Work Review)

          GroupWork Review หมายถึงการสรุป ทบทวนแนวคิด กระบวนการ วิธีการทำงานสังคมสงเคราะห์กลุ่ม เพื่อให้เห็นรายละเอียดของการปฏิบัติงาน พร้อมการวิเคราะห์ถึงความถูกต้องเหมาะสมของแนวทางการดำเนินงาน เป็นการสื่อสารเชิงสรุป เพื่อเป็นความรู้ในการปฏิบัติงานและส่งต่อความรู้นั้นต่อไปยังผู้ปฏิบัติงานรุ่นถัด ๆ ไป

สาระสำคัญในการเขียน GroupWork Review

1.ปัญหาและความจำเป็นของการใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่ม

            ความเป็นจริง การเลือกใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่ม ไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีที่นักสังคมสงเคราะห์พบผู้ใช้บริการ แต่เกิดจากการที่นักสังคมสงเคราะห์รับผู้ใช้บริการเข้าสู่ระบบบริการของตนแล้ว ผ่านการสืบค้นข้อเท็จจริง การประเมินสภาวะจนสามารถเข้าใจธรรมชาติ สภาวะกายจิตสังคม ของผู้ใช้บริการแล้ว การตัดสินใจเลือกใช้วิธีการ GroupWork กับผู้ใช้บริการ จึงเกิดขึ้นภายหลังจากผ่านการทำงานในลักษณะรายบุคคลมาแล้ว และเห็นประโยชน์ในการเลือกใช้วิธีการกลุ่ม เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนในการฟื้นฟูสภาวะ หรือเสริมความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ปัญหาของผู้ใช้บริการผ่านกลุ่มปัญหาที่มีลักษณะใกล้เคียงกัน

            การเขียนรายละเอียดในขั้นตอนนี้ คือ การที่นักสังคมสงเคราะห์ให้ข้อเท็จจริงถึงสถานการณ์ปัญหาตั้งแต่กระบวนการแรกรับ และความจำเป็นในการตัดสินใจใช้วิธีการสังคมสงเคราะห์กลุ่มในการทำงาน

2.การจัดตั้งกลุ่ม        

            ขั้นตอนในการจัดตั้งกลุ่ม ที่เริ่มจากการค้นหาและเชิญชวนสมาชิกเข้าร่วมกลุ่ม ในขั้นตอนนี้ ผู้ประสานกลุ่มหรือนักสังคมสงเคราะห์ จะเริ่มสร้างสัมพันธภาพกับผู้ใช้บริการอย่างไร การสร้างความรู้สึกให้ผู้ใช้บริการมีส่วนร่วมในกลุ่ม มีกระบวนการอย่างไร

            กระบวนการคัดเลือกสมาชิกกลุ่ม เป็นกระบวนการที่มีความจำเป็นในการจัดตั้งกลุ่ม ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์ควรเสนอกระบวนการคัดเลือกว่าเกิดจากวิธีการใด เช่น อาจมีการคัดเลือกอย่างเป็นทางการหรือไม่เป็นทางการก็ได้ ในกรณีที่เป็นกลุ่มทางการนักสังคมสงเคราะห์จะเป็นผู้เริ่มกำหนดการประชุมระหว่างผู้ใช้บริการรายอื่น ๆ ซึ่งถือเสมือนเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มร่วมกัน และเริ่มต้นจากการให้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ กิจกรรมกลุ่ม เพื่อสร้างความเข้าใจต่อเป้าหมาย ทิศทาง กระบวนการ และสร้างความรู้สึกให้สมาชิกกลุ่มเกิดการเตรียมพร้อม ปกติแล้วนักสังคมสงเคราะห์จะเปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มเป็นผู้กำหนดข้อตกลงเรื่องการรับสมาชิกใหม่ หรือการกำหนดคุณสมบัติของสมาชิกกลุ่มที่จะเข้าร่วม แต่ในกรณีที่เป็นกลุ่มไม่เป็นทางการ การกำหนดเป้าหมาย ประเด็นหรือกิจกรรมในการจัดตั้งกลุ่มจะมีความยืดหยุ่นมากกว่า และนักสังคมสงเคราะห์จะเปิดโอกาสให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำกลุ่มสนทนา หรือสลับผลัดเปลี่ยนกันไป เพื่อให้ทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของกลุ่มมากขึ้น ขณะที่นักสังคมสงเคราะห์กำหนดบทบาทตนเองเป็นผู้สังเกตการณ์หรือเป็นผู้สนับสนุนให้กลุ่มเคลื่อนตัวอย่างเหมาะสม

3. การสร้างสัมพันธภาพให้เกิดระบบสนับสนุนและเข้าถึงปัญหาของสมาชิกกลุ่ม

          การส่งเสริมให้กลุ่มมีปัจจัยที่เข้มแข็งในระยะแรก คือ การสร้างสัมพันธภาพในระหว่างกลุ่มให้เกิดการยอมรับและเข้าใจสถานการณ์ปัญหาของกันและกัน วัตถุประสงค์สำคัญคือ การกระตุ้นให้สมาชิกทุ่มเทความสนใจไปสู่เป้าหมายร่วมกัน โดยการจัดการเสวนาให้เป้าหมายมีความเป็นรูปธรรม ชัดเจน เช่น การกำหนดให้กลุ่มผู้หญิงมีการระบายความทุกข์ในเรื่องการถูกใช้ความรุนแรงจากผู้ชาย บทบาทในการส่งเสริมให้สมาชิกได้เรียนรู้ประสบการณ์ และเข้าใจถึงความอ่อนไหวและความเจ็บปวดในกลุ่มสมาชิก เพื่อเกิดความรู้สึกร่วมว่าปัญหาของตนไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่ต้องเก็บไว้โดยลำพัง แต่เป็นปัญหาส่วนรวมที่ต้องร่วมมือร่วมใจกันเรียนรู้และหาทางแก้ไขด้วยกัน เป็นต้น

4. การกำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับหลักการของกลุ่ม

            ได้แก่ การสื่อสารของนักสังคมสงเคราะห์ที่มีความสำคัญในการทำให้เป้าหมายของการเสริมสร้างพลังกลุ่มมีความชัดเจน โดยเป็นผู้อธิบายถึงความสำคัญของการสร้างเสริมพลังกลุ่ม ว่าจะก่อให้เกิดผลดีและทำให้สมาชิกกลุ่มเกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิดและพฤติกรรมของตนได้อย่างไร เช่น การกำหนดข้อตกลงให้ผู้ใช้สารเสพติด กำหนดวินัยของกลุ่มร่วมกัน ขณะเดียวกันนักสังคมสงเคราะห์และสมาชิกกลุ่มจะร่วมกันกำหนดขั้นตอน หลักการและกระบวนการสำคัญให้สมาชิกได้รับรู้ร่วมกัน เพื่อให้ง่ายต่อการที่สมาชิกที่มีภาวะผู้นำคนอื่นจะสามารถนำกลุ่มด้วยตนเองต่อไป ขั้นตอนนี้จะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์ได้สรุป ทบทวนวินัย หลักเกณฑ์การสร้างความเป็นเอกภาพของกลุ่ม และการกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มเกิดการเรียนรู้ ยอมรับในกฎเกณฑ์ของส่วนรวมร่วมกัน

  1. การเตรียมการประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและกำหนดประเด็นในกลุ่ม

            การประเมินสถานการณ์และการวิเคราะห์ปัญหาของสมาชิกกลุ่มเป็นขั้นตอนสำคัญที่นักสังคมสงเคราะห์จะเข้าใจประสบการณ์ความร้ายแรงหรือความอับอาย ความเจ็บปวดที่สมาชิกแต่ละคนจะรู้สึกไม่เหมือนกัน และการตั้งกลุ่มในประเด็นปัญหาที่มีความคล้ายคลึงกัน ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกทุกคนจะรองรับต่อสถานการณ์ทั้งหลายได้เหมือนหรือเท่ากัน นักสังคมสงเคราะห์จึงควรทำงานกับสมาชิกรายบุคคล เพื่อประเมินสภาวะด้านกายจิตสังคม ความรุนแรง ความเจ็บปวดที่แต่ละคนรู้สึกก่อน ทั้งนี้เพื่อจะได้เข้าใจสภาพปัญหาโดยรวมของกลุ่ม และเห็นประเด็นสำคัญที่ต้องนำเข้าสู่การหารือในกลุ่มตั้งแต่ตอนแรก การประเมินสถานการณ์ปัญหาด้วยความละเอียดอ่อนนอกจากจะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์เข้าถึงความเป็นจริงของสมาชิกกลุ่มแต่ละคนแล้ว ยังจะช่วยให้สมาชิกกลุ่มเข้าใจระดับของอารมณ์ความรู้สึกแต่ละคนที่แตกต่างกัน ขณะเดียวกันได้เห็นประโยชน์จากกระบวนการกลุ่มและเห็นพัฒนาการของสมาชิกที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นพลวัตด้วย

การที่นักสังคมสงเคราะห์เข้าใจสถานการณ์ของสมาชิกแต่ละคน จะช่วยให้นำประเด็นหรือเชื่อมโยงสถานการณ์ในกลุ่มให้เกิดการเรียนรู้ประโยชน์จากกันและกันมากที่สุด และทำให้สมาชิกได้เกิดการสะท้อนความคิด ความตระหนักต่อปัญหาจากภายในตนเอง การได้เห็นทั้งความเข้มแข็ง ความอ่อนแอที่ตนได้เห็นจากเพื่อนร่วมกลุ่ม จะเกิดการนำไปคิดเพื่อการเปลี่ยนแปลงภายในตนเองในที่สุด

  1. การวางแผนดำเนินการเพื่อร่วมแก้ปัญหาในกลุ่ม

            การทำความเข้าใจศักยภาพรายบุคคลของสมาชิกกลุ่ม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแผนดำเนินการหรือการพัฒนาระบบความช่วยเหลือที่กลุ่มควรกำหนดร่วมกัน เช่น การกำหนดเป้าหมายที่กลุ่มจะวางแผนร่วมกัน  เพื่อสร้างพลังและความมั่นใจให้แก่กัน      การวางแผนดำเนินการอาจเริ่มต้นจากหลายประเด็น ทั้งนี้เพราะสมาชิกแต่ละคนอาจมีเป้าหมายเฉพาะของแต่ละคนแตกต่างกัน ผู้ประสานกลุ่มหรือผู้นำกลุ่มจึงต้องเสนอให้สมาชิกช่วยกันคิดและตั้งเป้าหมายร่วมของกลุ่มร่วมกัน จากนั้นอาจจะให้สมาชิกแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายร่วมกันโดยพิจารณาจากเป้าหมายร่วมที่เป็นลำดับความสำคัญที่สุด และกำหนดแผนงานตามเป้าหมายระยะสั้น หรือระยะยาว ตามที่สมาชิกกลุ่มเห็นพ้องร่วมกัน

  1. การจัดการสนทนาเพื่อเกิดการตั้งคำถาม การทบทวนตนเอง

            การจัดการสนทนาเป็นกระบวนการสร้างการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระยะแรกของการจัดตั้งกลุ่ม ระยะประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหา จนถึงระยะการวางแผนกำหนดกิจกรรม การสนทนาเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดเวลาตั้งแต่การเริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการกลุ่ม เพราะการสนทนาคือการเปิดพื้นที่ให้สมาชิกกลุ่มเปิดเผยความคิด ทัศนะของตนเอง เน้นการแลกเปลี่ยนความเห็นกันตลอดการดำเนินกลุ่ม ประเด็นการจัดการสนทนา มีตั้งแต่การร่วมกำหนดเป้าหมายของกลุ่ม จนถึงการกำหนดแผนดำเนินการ แต่เป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งของการสนทนา คือ การให้ความสำคัญกับการตั้งคำถามเพื่อทบทวนปัญหา สาเหตุ ความรุนแรงที่สมาชิกแต่ละคนได้เผชิญ เพื่อให้สมาชิกได้สื่อสารความรู้สึกและวิเคราะห์ปัญหาและผลกระทบทั้งที่มีต่อรายบุคคล ครอบครัว การงานและระบบสิ่งแวดล้อมรอบตัว การจัดการสนทนาลักษณะนี้เป็นกระบวนการรับฟัง สร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมในการเผชิญปัญหาหรือความรุนแรงที่คล้ายกัน ช่วยกันวิเคราะห์ถึงความเชื่อมโยงของปัญหาจากระดับโครงสร้าง ระบบหรือวัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรม มากระทำต่อบุคคล สร้างทัศนะให้สมาชิกเชื่อมโยง “ปัญหารายบุคคล” ไปสู่ “ปัญหาของทั้งสังคม” อย่างชัดเจน

8. การดำเนินการตามข้อตกลง

            เมื่อสมาชิกกลุ่มได้มีการกำหนดเป้าหมายและแผนการที่ชัดเจนร่วมกัน ผู้นำกลุ่มหรือนักสังคมสงเคราะห์จะร่วมกันใช้หลักการบริหารจัดการแบ่งงาน มอบหมายงาน ให้สมาชิกกลุ่มมีการดำเนินงานตามความสามารถ หรือตามความถนัดของตนเอง เช่น การมอบหมายให้สมาชิกกลุ่มส่วนหนึ่งเป็นฝ่ายติดต่อประสานงานกับหน่วยงานเพื่อให้เกิดระบบช่วยเหลือที่มีคุณภาพ หรือแบ่งงานให้สมาชิกบางส่วนช่วยเหลือเพื่อนสมาชิกบางรายที่ยังไม่พร้อมให้ดำเนินการบรรลุตามเป้าหมายของกลุ่มร่วมกัน เป็นต้น

  1. การทบทวนผลการดำเนินงานร่วมกัน

            กระบวนการทบทวนผลการดำเนินงานจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้มีโอกาสติดตามผลงานตามเป้าหมายและร่วมกันแก้ไขปัญหาอุปสรรค หรือทบทวนบทเรียนทั้งด้านที่เป็นความสำเร็จหรือความอ่อนแอที่เกิดขึ้น การทบทวนผลการดำเนินงานจะเป็นการใช้หลักการบริหารจัดการมาแก้ไขปัญหาทั้งของรายบุคคล และปัญหาของกลุ่ม การดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ระดับ สมาชิกกลุ่มอาจมีการกำหนดผู้ประสานกลุ่ม เพื่อรับผิดชอบบทบาทผู้จัดการรายกรณี (Case Manager) ทำหน้าที่แก้ปัญหาและให้ความช่วยเหลือสมาชิกให้มีสภาวะสมดุลและเข้าถึงบริการที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตปัจจุบัน

  1. การค้นหาและประเมินสถานการณ์ใหม่

            การทำงานเพื่อเสริมพลังอำนาจของกลุ่มในรูปแบบต่าง ๆ มีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะพลวัตของสังคมและบริบทแวดล้อม ลักษณะของการดำเนินกลุ่มจะไม่อยู่ในสภาวะนิ่งและสมดุล เพราะจะเกิดความเปลี่ยนแปลงเป็นระยะทั้งระดับรายบุคคล และในระดับกลุ่ม นักสังคมสงเคราะห์และผู้ประสานกลุ่มจึงต้องรวมพลังกลุ่มให้เกิดการค้นหาและประเมินสถานการณ์ใหม่เป็นระยะ การที่ผู้นำค้นหาปัญหาใหม่ ๆ และป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ จะทำให้กลุ่มมีพลังอำนาจเข้มแข็งขึ้น และมีความยั่งยืนในระยะยาวมากขึ้นในอนาคต

  1. การเชื่อมโยงและวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ร่วมกัน

          เป็นขั้นตอนที่ต่อเนื่องจากการค้นหาและประเมินสถานการณ์ใหม่ เนื่องจากนักสังคมสงเคราะห์และผู้นำกลุ่มจะต้องช่วยให้สมาชิกสามารถเชื่อมโยงและวิเคราะห์สถานการณ์ใหม่ เพื่อสร้างให้สมาชิกมีความรู้ ความเข้าใจในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ และเข้าใจปัจจัยแวดล้อมที่เข้ามามีอิทธิพลกระทบต่อสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา การวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่นนี้จะช่วยกระตุ้นให้สมาชิกกลุ่มเกิดการพัฒนาเป้าหมายและการวางแผนของกลุ่มไปตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น

  1. การตัดสินใจวางแผนและดำเนินการต่อ

            เป็นขั้นตอนที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นพลวัตของกลุ่ม ที่ผู้นำกลุ่มและสมาชิกกลุ่มต้องตัดสินใจวางแผนใหม่ ตามสภาพแวดล้อมและปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไป การดำเนินการเพื่อสร้างพลังอำนาจของกลุ่มนั้น เน้นการทำงานเพื่อเปลี่ยนแปลงความคิด จิตสำนึก เพื่อสร้างพลังอำนาจภายในของสมาชิกกลุ่ม ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดในระดับบุคคล ระดับโครงสร้างอำนาจและวัฒนธรรม จนถึงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากสมาชิกกลุ่ม ผ่านการตั้งคำถาม การร่วมถกเถียงสนทนา และผ่านการนำทางความคิดของนักสังคมสงเคราะห์ และ/หรือผู้นำกลุ่มที่เป็นผู้มีประสบการณ์ร่วมและเผชิญปัญหาต่าง ๆ มาก่อน ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยการบริหารจัดการมาวางแผน กิจกรรม มอบหมายและแบ่งงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กลุ่มร่วมกันกำหนดไว้ในที่สุด

            อย่างไรก็ตามแม้นักสังคมสงเคราะห์จะได้รับการยอมรับในบทบาทผู้กระตุ้น สนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กลุ่มเกิดการขับเคลื่อนอย่างเหมาะสม แต่นักสังคมสงเคราะห์จะต้องจำกัดบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่ม และถอยตนเองออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ ผู้เชื่อมโยงทรัพยากร หรือเป็นที่ปรึกษาในระยะต่อมา ภายหลังจากที่กลุ่มดำเนินการไปได้ระยะหนึ่ง เพื่อที่จะเปิดบทบาทใหม่ให้แก่สมาชิกกลุ่มที่มีวุฒิภาวะ และมีลักษณะผู้นำ ดำเนินการนำพากลุ่มต่อไป ทั้งนี้หากได้บุคคลที่เป็นผู้นำกลุ่ม ซึ่งเคยเป็นเจ้าของปัญหาหรือมีประสบการณ์ร่วมในปัญหานั้นมาก่อน ผู้นำลักษณะดังกล่าวจะสามารถนำกลุ่มได้อย่างเข้าใจความลึกซึ้งและความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ และจะสามารถสร้างเสริมพลังอำนาจให้แก่กลุ่มอย่างแท้จริงในระยะยาว (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน อภิญญา เวชยชัย,การเสริมพลังอำนาจในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์,อัดสำเนา,2554)

 

การทำงานกับชุมชน  (Working with Community)

          ได้แก่การเขียนสรุป ทบทวนการศึกษา การทำงาน ขั้นตอนการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ในการทำงานชุมชน ซึ่งเน้นสาระสำคัญในประเด็นต่าง ๆ เช่น

            1.เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจทำงานกับชุมชนเป้าหมาย การพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกชุมชนดังกล่าว มีเหตุผล เป้าหมายหรือวัตถุประสงค์สำคัญในเรื่องใด

2.การสำรวจสภาพชุมชน คือการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ฐานทรัพยากร ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามากระทบชุมชน และส่งผลให้ชุมชนมีวิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิม

3.ผู้นำและบทบาทผู้นำในชุมชน เพื่อศึกษาถึงฐานอำนาจในหมู่บ้าน ความสัมพันธ์ระหว่างหมู่บ้านกับชุมชนภายนอก ความสัมพันธ์ของคนในชุมชนกับผู้นำ การได้มาซึ่งผู้นำ ภาวะการนำและการมีส่วนร่วมของชุมชน

4.ลักษณะโครงสร้าง วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ชาติพันธุ์ ศาสนาฯลฯ อันเป็นองค์ประกอบหรือกลไก ในการรวมกลุ่มและเครือข่ายความสัมพันธ์ในชุมชน ทั้งนี้อาจพิจารณาประเด็นความขัดแย้งในชุมชน ระหว่างชุมชน ระบบอุปถัมภ์ และกลุ่มผลประโยชน์ในและนอกชุมชน

5.เทคนิคการศึกษาชุมชน ใช้เทคนิคใดในการทำงาน มีการใช้เครื่องมือใดประกอบหรือไม่ เช่น การทำแผนที่เดินดิน การทำสาแหรกครอบครัว หรือปฏิทินแรงงาน การถ่ายภาพเพื่อบันทึกข้อเท็จจริงในชุมชนประกอบ

6.การศึกษาชุมชนผ่านความรู้ที่หลากหลายแบบสหวิทยาการ โดยทีมงานที่ทำงานหรือเกี่ยวข้องในชุมชน และผู้นำชุมชน ทั้งผู้นำธรรมชาติ หรือผู้นำท้องถิ่น และผู้แทนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มอาชีพ กลุ่มเยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ กลุ่มตัวแทนชาติพันธุ์ต่าง ๆ เป็นต้น ในที่นี้อาจมีกระบวนการทบทวนและสอบทานความรู้ในชุมชนด้วยแนวคิดหลายมิติ (Triangulation) เพื่อศึกษาความถูกต้อง เป็นจริงของข้อมูลที่ได้

7.การวางแผนการทำงานกับชุมชน ผ่านการมีส่วนร่วมกับผู้คนในชุมชนในทุกกระบวนการ มีการร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาความต้องการ การกำหนดเป้าหมาย กิจกรรม เพื่อการแก้ปัญหา พัฒนา หรือการเฝ้าระวังในชุมชน ที่สะท้อนถึงพลังและศักยภาพในชุมชน

8.การทำงานกับชุมชน และการติดตาม ประเมินผล การดำเนินงานว่ามีปัญหา อุปสรรคใดหรือไม่เพียงไร และหากพบปัญหาได้แก้ปัญหานั้นๆ ด้วยวิธีการใด ๆ ผลการดำเนินงานมีประโยชน์ต่อชุมชนหรือไม่ เพียงไร

9.การปรับปรุงแผนการทำงานกับชุมชน และการดำเนินการตามทิศทางที่ผ่านการแก้ไขแล้ว

10.การสรุปบทเรียนที่ได้จากการทำงานกับชุมชน เพื่อสะท้อนถึงจุดแข็ง จุดอ่อน และการรักษาคุณค่าของพลังในชุมชนไว้อย่างยั่งยืน

           

           

           

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           

           

           

 

คำสำคัญ (Tags): #case review#มาตรฐาน มสค.
หมายเลขบันทึก: 557927เขียนเมื่อ 1 มกราคม 2014 15:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มกราคม 2014 15:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท