หมอเจ๊ คนสวย แซ่เฮ
พ.ญ. ศิริรัตน์ เอกศิลป์ สุวันทโรจน์

ร่วมเรียนรู้ป่า (๑๓)


งงลดลงพอให้ปะติดปะต่อว่าเส้นทางที่พี่บู๊ดนำมาสัมผัสสัมพันธ์กันอย่างไร ฟังอ.ศศินต่อก็ได้ยินชื่อ "ลานนกยูง" "ห้วยเรวา" และได้ยินคำว่าป่าเสื่อมโทรม ไอ้เจ้าคำหลังนี้แหละที่ทำให้อยากรู้ความหมายจนไปค้นมาบันทึกไว้ในบันทึกที่แล้ว 

คำนี้เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เป็นครั้งแรก ป่าไหนที่ทั้งพื้นที่หรือบางส่วนเป็นป่าร้าง ทุ่งหญ้า หรือไม่มีไม้มีค่าขึ้นอยู่เลย หรือมีไม้มีค่าที่มีลักษณะสมบูรณ์เหลืออยู่เป็นส่วนน้อย ยากจะกลับฟื้นคืนดีได้ตามธรรมชาติถือเป็นป่าเสื่อมโทรมหมด ต่อมาอีก ๒ ปี (พ.ศ.๒๕๓๒) จึงมีการเพิ่มเติมเรื่องขนาดลำต้นและความสูงของต้นไม้ อายุต้นไม้ การกระจายของต้นไม้ต่อไร่ และข้อยกเว้นเรื่องป่าต้นน้ำเข้าไป

ในยุคที่คุณสืบยังมีชีวิต ป่าเสื่อมโทรมน่าจะมีหลายแห่ง แต่ป่าที่ได้มาเห็นกับตาไม่น่าใช้คำว่าเสื่อมโทรมได้อีกแล้ว นับเป็นความสำเร็จของการอนุรักษ์ป่าและการฟื้นฟูสภาพป่าที่สมควรยินดีกับผู้ร่วมฟื้นฟู

คนส่วนใหญ่เมื่อได้เฝ้าดูแลและซ่อมสร้างสิ่งที่เสื่อมไปแล้วให้กลับคืนมาได้ย่อมภูมิใจและยังคงอยากดูแลให้สิ่งนั้นดำรงอยู่ยั่งยืนนาน เมื่อได้ยินคำบอกกล่าวว่าวันนี้ผู้มีอำนาจคิดจะปลดสภาพป่าอนุรักษ์แห่งนี้ออกจากการเป็นพื้นที่อุทยานก็เกิดความงง แต่เดิมเห็นดีด้วยกับการสงวนไว้ จนทำให้ป่าให้ประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนได้แล้วตามเจตนาของการตั้งเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ แล้วไหงวันนี้ไม่สงวนแล้วเล่า ฟังเรื่องบอกเล่าต่อๆมาก็ยังงงอยู่ดีเมื่อมีเรื่องน้ำๆเข้ามาเกี่ยวทั้งน้ำท่วม น้ำใช้สำหรับการทำเกษตร

    แค่ริมๆก็เป็นป่าแบบนี้แล้ว ลึกเข้าไปจะเป็นป่าเสื่อมโทรมได้ไง

วันนี้ป่าแถบนี้มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่า ๑๒๐ ชนิด นก ๔๐๑ ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน ๙๐ ชนิด สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ๔๑ ชนิด ปลา ๑๐๗ ชนิด สัตว์หลายประเภทหายาก เช่น ควายป่า เสือโคร่ง เสือดำ เสือลายเมฆ วัวแดง กระทิง สมเสร็จ เลียงผา หมาใน ชะนีมือขาว ลิงอ้ายเงี้ยะ นกยูงไทย นกเงือกคอแดง ที่ไหนในโลกไม่มีให้ดู วันนี้ชวนกันมาดูได้ที่นี่แหละ  เป็นแหล่งศึกษาเรื่องสัตว์ป่าที่คนรุ่นหลังอีกไม่รู้กี่รุ่นมาหาโจทย์เรียนได้ทุกเมื่อ

สภาพสัตว์ป่าก็เป็นธรรมชาติ อยู่ได้แพร่พันธุ์ได้ ถึงแม้ที่เห็นจะคล้ายสวนสัตว์เปิดก็เหอะ สวนสัตว์แบบนี้สร้างด้วยมือคนไม่สามารถก่อให้เกิดบรรยากาศเสมือนได้เลย ยิ่งเป็นสภาพของสัตว์ป่าที่อยู่ด้วยตัวเองในป่าได้ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะสามารถสร้างได้  มองมุมไหนก็ไม่เห็นเหตุผลที่สมควรเห็นด้วยกับการยกเลิกเขตอุทยานแห่งชาติแห่งนี้นะเออ

ประเด็นของน้ำเกี่ยวกับพื้นที่แม่วงก์ทำไมกลายเป็นเรื่องใหญ่ ก็ได้คำตอบจากภาพเสือที่อ.ศศินนำมาให้เห็นนี่แหละ

พื้นที่แม่วงก์เป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก ผืนป่าตะวันตกเป็นเขตคุ้มครองสัตว์ป่า มีพื้นที่เป็นอุทยานแห่งชาติ ๑๒ แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ๗ แห่ง อุทยานแห่งชาติแม่วงศ์เป็นส่วนหนึ่งใน ๑๒ แห่ง ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นส่วนหนึ่งใน ๗ แห่งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเป็นส่วนที่มีชื่อขึ้นทะเบียนมรดกโลก 

ป่าตะวันตก

ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์มีภูเขาสูงคดเคี้ยวที่เป็นแหล่งกำเนิดของแม่น้ำหลายสายรวมถึงแม่น้ำแม่วงก์ที่เป็นแม่น้ำสำคัญของการเกษตรกรรมในจังหวัดกำแพงเพชรและนครสวรรค์  มีน้ำตก ๔ จุด

แม่วงศ์ 

ขอบเขตของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแห่งนี้เกิดขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๑๐๔ ตอนที่ ๑๘๓ ลงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๓๐ ประกอบด้วยพื้นที่ดินป่าคลองขลุงและป่าคลองแม่วงก์ในอ.ปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร ป่าแม่วงก์-แม่เปิน ในต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ และ ต.แม่เปิน กิ่งอ.แม่เปิน จ.นครสวรรค์ 

ผู้ดำริให้พิจารณาป่าแม่วงก์เป็นอุทยานแห่งชาติ คือ นายสวัสดิ์ คำประกอบ ผู้รับลูกทำให้เป็นอุทยานแห่งชาติ คือ ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์  ดำรินี้เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ขณะคุณสวัสดิ์เป็นรมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ดร.เถลิง เป็นปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และการเป็นอุทยานแห่งชาติสำเร็จเกิดจากผลงานสำรวจป่าที่เกิดตามหลังดำริดังกล่าว

วันที่มีการแจ้งดำริเป็นทางการ ๒ สิงหาคม ๒๕๒๖ วันที่รายงานผลสำรวจเป็นทางการ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๖ ผู้สำรวจน่าจะเป็นคนมีฝีมือฉกาจที่ทำให้ผลสำรวจออกมาได้รวดเร็วปานนี้ (ใช้เวลา ๔ เดือน)  อยากจะเดาว่าผลสำรวจที่เร็วปานนี้เป็นฝีมือคุณสืบ ด้วยในปีที่มีการสำรวจป่าแม่วงก์ คุณสืบทำงานเป็นนักวิชาการประจำกองอนุรักษ์สัตว์ป่าและทำหน้าที่วิจัยสัตว์ป่าเพียงอย่างเดียวอยู่แล้ว จะใช่อย่างที่เดาหรือไม่อยู่ที่ผู้รู้มาช่วยเฉลย

ดูภาพแม่เสือกำลังดูแลลูกใน VTR ที่นำมาเปิดก็เกิดคำถาม เปิดป่าไม่ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่่อคนเมืองมาเที่ยวป่า จะอยู่ร่วมกันอย่างไรจึงปลอดภัยทั้ง ๒ ฝ่าย จะทำอย่างไรต่อไปสัตว์ที่มีค่าอย่างนี้จึงไม่สูญพันธุ์ด้วยฝีมือคนโลภ เ็ห็นกับตาว่าคงสภาพอุทยานแห่งชาติมิใช่ได้แต่เสือแต่ได้สัตว์ป่าอื่นๆด้วย จะให้แน่ใจว่าสัตว์เหล่านี้จะคงอยู่คู่ป่าบ้านเราแม้ว่าวันนี้จะได้ชื่อว่ามีเป็นจำนวนมาก ดีใจที่แพร่พันธุ์ตามธรรมชาติได้เองแล้ว ก็ยังจำต้องคำนึงถึงปริมาณที่มั่นคงด้วยเพื่อให้มั่นใจกับความยั่งยืนของชนิดพันธุ์อย่างแท้จริง

เรื่องน้ำที่ได้ยินก่อนไปเยือนสถานที่นี้เป็นประมาณนี้ น้ำจากแม่วงก์ในช่วงหน้าฝนจะไหลผ่านลงมาทำให้เกิดน้ำท่วมในช่วงเดือนกย.-ตค.เป็นประจำเพราะมีฝนรายปีเฉลี่ยมาก และช่วงหน้าแล้งไหลน้อยมากจนทำให้พื้นที่เกษตรกรรมขาดแคลนน้ำเป็นระยะเวลายาวนาน ผู้ทำอาชีพการเกษตรกรรมได้รับผลกระทบ เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในหน้าแล้งและลดปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน ลดปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ทำให้เกิดความเสียหายมาแล้วหลายครั้ง กรมชลประทานจึงมีดำริว่า หากมีอ่างเก็บน้ำเพิ่มอีกสักจุดในพื้นที่ลุ่มน้ำสะแกกรังไว้ช่วยชะลอน้ำที่ล้นจากฝายซึ่งมีตลอดระยะทางของลำน้ำ จะช่วยให้การจัดการกับปัญหาทุกเรื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น จึงเสนอโครงการเขื่อนแม่วงศ์ขึ้นมาจนกลายเป็นนิยายเรื่องยาวของกรมชลฯเอง

ตอนไปเยี่ยมบ้านคุณสืบได้ยินเรื่องการช่วยเหลือสัตว์ป่าเพื่อพาหนีตายจากน้ำท่วมป่าตอนที่มีการสร้างเขื่อนเชี่ยวหลานก็ขนลุกแล้วกับชะตากรรมของสัตว์ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ สัตว์ป่าที่เคยมีมากในป่าแถบนั้นได้หดหายมาจนบัดนี้ เคยไปเห็นน้ำที่ขังในอ่างเก็บน้ำมาแล้วในเขื่อนที่ว่า ซากไม้ที่จมน้ำยังมีให้เห็นอยู่เลย ผืนแผ่นดินหายไปยังไงก็เห็นอยู่  มาได้ยินเรื่องสัตว์ป่าหายากที่นี่กับเรื่องที่มีผู้ดำริจะสร้างเขื่อนให้เกิดน้ำท่วมป่าอีกก็รู้สึกพิกลกับนิยายเรื่องนี้

 

หมายเหตุ

- ป่าที่อยู่ในพื้นที่ต้นน้ำลำธารชั้นที่ ๑A ชั้นที่ ๑B และชั้นที่ ๒ จะมีต้นไม้น้อยเพียงใดก็ตาม ไม่ถือว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม

- อุทยานแห่งชาติตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ หมายถึง “ที่ดินซึ่งรวมทั้งพื้นที่ดินทั่วไป ภูเขา ห้วย หนอง คลอง บึง บาง ลำน้ำ ทะเลสาบ เกาะ และชายฝั่งที่ได้รับการกำหนดให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ลักษณะที่ดินดังกล่าวเป็นที่ที่มีสภาพธรรมชาติที่น่าสนใจ และมิได้อยู่ในกรรมสิทธิ์หรือครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายของบุคคลใดซึ่งมิใช่ทบวงการเมือง ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าวก็เพื่อให้คงอยู่ในสภาพเดิม เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป"

- พื้นที่ ๑ ตารางกิโลเมตร = ๖๒๕ ไร่ พื้นที่ ๑ ไร่ = ๑,๖๐๐ ตารางเมตร พื้นที่ ๑๑,๐๐๐ ไร่ = ๑๗.๖ ตารางกิโลเมตร

 

คำสำคัญ (Tags): #ป่า
หมายเลขบันทึก: 557359เขียนเมื่อ 25 ธันวาคม 2013 20:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2013 23:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

I read "...เพื่อสงวนไว้ให้เป็นประโยชน์แก่การศึกษาและความรื่นรมย์ของประชาชนสืบไป..." and wondered where animals, plants,... biodiversity and protection of ecology fit in. The act has 'learning' and "leisure" of "people" in its sight but nothing for wildlife.

I think it's time we rethink the role of ecology (area and everything in that area) protection and re-define roles of people accrodingly. We can do this at school!

สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณหมอ

ขอให้ท่านและครอบครัวมีสุขภาพที่แข็งแรง มีความสุขมากๆ กับปีใหม่ที่กำลังมาเยือนนะคะ

เป็นเฮฮาศาสตร์ทริปที่สุดยอดนะคะ บันทึกนี้ได้จากการรู้และเห็นจริง น่าสนใจจริงๆ ค่ะ

คุณ sr ค่ะ กฎหมายไทยเขียนไว้ค่ะ ไม่เข้าใจเช่นกันว่าทำไมเขียนไว้แค่นี้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท