"ภูมิคุ้มครอง พร่องไปไหม"


 

                                                     

                                                          ภาพจาก www.kontroldc.com

                                                           “ภูมิรู้ ขั้นปฐมบท”

 

๑) ปฐมกาลแห่งวิวัฒนาของการเอาตัวรอด

              การกำเนิดโลกในช่วงแรก เกิดจากกลุ่มแก๊ส ฝุ่น หมอก รังสี ธาตุเหล็ก นิเกิล และอื่นๆ ซึ่งมีกระบวนการ ๓ อย่างคือ ๑) การหมุนและเคลื่อนที่ไป อย่างไร้จุดหมาย ๒) เกิดการปะทะกัน ดึงดูดกัน หลอมเข้าด้วยกัน ๓) มีความร้อนที่เผามวลสารโลกให้ร้อนระอุ เป็นลาวา ดังที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันคือ ในแกนโลก กระบวนการเช่นนี้เกิดมาเมื่อ ๔,๖๐๐ ล้านปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม มวลสารโลกในเบื้องต้นนี้ ไม่เอื้อให้สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นได้ เนื่องจากว่า มวลสารเหล่านี้ เต็มไปด้วยสารพิษ และยังคงร้อนอยู่ ในขณะเดียวกัน โลกก็ไม่ได้หยุดนิ่ง ยังคงถูกเทหวัตถุ อุกกาบาต มวลสารต่างๆ อนุภาคต่างๆ ตกปะทะอยู่เรื่อยๆ

              ต่อมาเมื่อโลกหมุนไปตามแรงเหวี่ยงของกาแล็กซี่และตามระบบสุริยะ โลกก็เริ่มที่จะหาที่พึ่งได้นั่นคือ “ดาวไฟ” (ดวงอาทิตย์) เป็นพี่ใหญ่ใจดี เพราะมีมวลสารและแรงดึงดูดที่แรงกว่า ทำให้เทววัตถุและดาวที่กำลังก่อตัวขึ้นเริ่มหมุนโคจรมาอาศัยพี่ใหญ่กันมากขึ้น จึงเกาะกลุ่มรวมกัน แล้วทำสัตยาบรรณร่วมกันแล้วก็สาบานว่า จะเป็นพี่น้องกันจนกว่าอายุไขเราจะหาไม่ ในช่วงที่เข้ามาพึ่งพาปารมีพี่ใหญ่ โลกและดวงดาวอื่นๆ ก็มิได้สงบเย็นลง เนื่องจากว่า ยังมีสะเก็ดหรืออุกกาบาตจากห้วงอวกาศมาขออาศัยอยู่เรื่อยๆ

              หลังจากโลกสงบเย็นลง พื้นผิวของโลกก็ค่อยๆแข็งตัวขึ้น ทำให้กลายเป็นแผ่นดิน ในขณะเดียวกันนี้ โลกก็ยังคงหมุนรอบตัวเองและโคจรรอบพี่ใหญ่อยู่ เพราะพี่ใหญ่สั่งไว้ มิให้หนีไปไหน ด้วยเหตุนี้ ทำให้ดาวบริวารของพี่ใหญ่ทั้งหลายกลายเป็นสัณฐานกลมกลึง เพราะต้องถูกเหวี่ยงด้วยแรงหมุน จนทำให้ดูเหมือนเป็นลูกบอล การหมุนหรือการโคจรรอบดวงอาทิตย์นี่เอง ก่อให้เกิดฤดูการเปลี่ยนแปลงไปตามตำแหน่งโลกและดวงอาทิตย์ ตำแหน่งใดใกล้พี่ใหญ่ โลกก็จะร้อนกลายเป็นฤดูร้อน ตำแหน่งใดไกลออกไปก็จะกลายเป็นฤดูหนาว กอปรโลกหมุนรอบตัวเองด้วย จึงทำให้มวลสารของโลกได้รับการอบรม บ่มเพาะให้เหมาะต่อสิ่งมีชีวิต

              โลกเมื่อเย็นลง (ผิวนอก) พื้นผิวก็กลายเป็นที่กักเก็บสารโมเลกุลต่างๆ ตามมา เช่น น้ำ กรด หมอก สารเคมี ฝุ่น ก๊าซ ก็ทำปฏิกิริยากัน จนนำไปสู่การแปลงมวลสาร เพื่อความอยู่รอดหรือเกิดการผ่าเหล่าของสาร จนนำไปสู่การกลายสารไปสู่องค์ประกอบของสิ่งมีชีวิตนั่นคือ สารโปรตีน กรดอะมิโน เอ็นไซม์ จนมวลสารกลายเป็นกรดอินทรีย์ขึ้นมา อันเป็นสารสำคัญในการกำเนิดโมเลกุลของสิ่งมีชีวิตในที่สุด

               อย่างไรก็ตาม ชีวิตในระยะเบื้องต้น มิได้อุบัติมาด้วยความง่ายดายเลย ล้วนต้องต่อสู้ต่ออุปสรรคมากมาย ต้องเรียนรู้ เรียนผิด เรียนถูก ใช้เวลาหล่อหลอมตัวเอง จนสามารถแข็งแกร่ง มีภูมิคุ้มครองตนเองดีแล้ว จึงขยายสายพันธุ์ออกไป จนท้าทายบรรยากาศโลกได้ ต่อสู้กับพิษภัยต่างๆ ของโลก แต่กระบวนเช่นนี้ ก็ยังคงเป็นไปอย่างเฉื่อยช้าเป็นล้านๆๆปี ซึ่งเริ่มรากฐานจากทะเลก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ พัฒนาตัวเองขึ้นบก ซึ่งมีพิษภัยร้ายกว่าในน้ำซะอีก ก็ต้องปรับตัวเองอีกหลายล้านๆๆปี

               จากชีวิตที่ซับซ้อนก็เริ่มก็กลายเป็นทางที่พอมองเห็นความอยู่รอดของสิ่งมีชีวิต บรรยากาศและบนพื้นผิวโลกในระยะแรกไม่ได้ราบเรียบ ร่มรื่น น่าชื่นใจ เหมือนปัจจุบันนี้ แต่เต็มไปด้วยพิษภัย สารเคมี รังสี กรดพิษต่างๆมากมายมีอยู่ทุกๆ ที่ พิษมีอยู่ทุกอณูไม่ว่าจากเบื้องบน เช่น รังสีUV ฝนกรด ฝุ่นพิษ สารกำมะถัน สารปรอท สารหนู แคดเมี่ยม กัมมันตภาพรังสี ฯ ข้างล่าง เช่น ลาวา กรดพิษ ฯ จากอากาศ เช่น ฝนกรด รังสี ฯ ด้วยเหตุนี้ สิ่งมีชีวิตจึงต้องการปรับตัว หลอมตัวเพื่อให้เข้ากับโลกให้ได้ ถ้าต้องการอยากอยู่รอด จึงเป็นเหตุให้สิ่งมีชีวิตต้องวิวัฒนาตัวเองไปตามบรรยากาศโลกแต่ละที่ด้วย

              วิธีที่สิ่งมีชีวิตปรับตัวเอง มีหลายทางแล้วแต่การอยู่อาศัยที่ใด ในน้ำ บนบก ในอากาศ ในถ้ำ ใต้ดิน ฯ สิ่งมีชีวิตที่ปรากฏอยู่ปัจจุบันนี้ จัดเป็นกลุ่มใหญ่ ๓ กลุ่มคือ ๑) กลุ่มที่อยู่รอดมาจากบรรพกาลที่อยู่บนโลกมาหลายล้านปี แต่แปลงร่างหรือกลายเป็นพันธุ์ให้เล็กลง เพื่อความอยู่รอดเช่น เต่า จระเข้ หนู นก แมงสาบ ฯ ๒) กลุ่มที่เกิดใหม่ทั้งหมดไม่ได้สืบสายมาจากบรรพบุรุษ แต่อาศัยวิวัฒนาการเองในแต่ละถิ่น เช่น พืช สัตว์สายพันธุ์ที่พบใหม่ ๓) กลุ่มที่อาศัยสัตว์อื่นอยู่ เพื่อความอยู่รอดของตน เช่น พยาธิ ปรสิต ที่เกาะตามสัตว์ทั้งหลาย ถ้าผู้อาศัยหมดตนเองก็พลอยตายไปด้วย

               การเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตมีกลไกในตัวเองในการปรับตัวและสร้างกลยุทธ์ในการต่อสู้กับศัตรูและสภาพแวดล้อม ด้วยประสบการณ์ของสิ่งมีชีวิต พวกมันจึงสามารถหาทางเอาตัวรอดตามเงื่อนไขของโลกได้ จนพวกเขารู้จักสร้างสารพิษในตัวเองได้ สร้างกำลังวิเศษ สร้างอาวุธในตัวเอง สร้างมายาหลอกล่อ สร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง สร้างอวัยวะแปลกปลอมหรืองอกใหม่ได้ สร้างสมองให้เอาตัวรอดได้ สร้างเกราะป้องกันตัวเอง ฯ กลไก กลยุทธ์เหล่านี้ มิได้เกิดมาเพราะอยากเล่นแค่สนุกสนานเท่านั้น แต่เกิดมาด้วยประสบการณ์จากความเป็น ความตายทีเดียว หลักฐานเหล่านี้ มีอยู่ในป่าลึก ในน้ำ ในทะเล ในถ้ำ ในอากาศ ในตัวของสิ่งมีชีวิตทุกชนิด

                เป็นความฉลาดที่แลกมาด้วยกาลเวลาและด้วยชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่สืบทอดกันมายาวนานบนโลก จุดหมายแบบสากลคือ “ความอยู่รอด” (Survival) น่าทึ่งและน่าเคารพวิธีการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ บนโลกนี้ ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ยืนต้นได้แล้วต้องยืนหยัดอยู่ด้วยตัวเอง เพราะเคลื่อนที่ หนีศัตรู หนีภยันตรายไม่ได้ วิธีเดียวที่ทำได้คือ เข้าโรงเรียน มหาวิทยาลัยในตัวเองนั่นคือ ปรับตัว สร้างภูมิคุ้มกันตนเอง เช่น สร้างยาง สร้างขน หนาม พิษ รสชาติ ใบ ดอก น้ำหวาน ผล เมล็ด ราก เปลือก แก่น ฯ เพื่อให้ต่อต้านแรงเสียดทานของโลกและสัตว์ที่มารุกรานตนเอง ในขณะสัตว์ก็สร้างภูมิคุ้มครองป้องกันตนเองเช่นกัน เช่น มีพิษในตัว มีเขี้ยว มีงา มีเขา มีสารกลิ่น มีหนาม มีหน่อ มีพละกำลัง มีปีก มีเสียงขู่ มีกรงเล็บเป็นอาวุธ มีความสามารถในตนเองอย่างใดอย่างหนึ่ง ฯ

               ทั้งหมดนี้คือ อาวุธที่มีไว้ต่อกรกับศัตรูภายนอก และต่อสู้กับกลไกของโลกภายใน แต่สิ่งที่เรามองไม่เห็นที่สัตว์และพืชมีคือ ความสามารถในการปรับตัว การถ่ายทอดวิชาวุธเหล่านี้ ให้แก่ลูกหลายมาถึงปัจจุบัน พวกมันก็ยังคงมีเยื่อใยต่อสายพันธุ์แบบครั้งบรรพกาลไม่ผิดเพี้ยนเลย น่าเคารพ น่าอัศจรรย์! สมควรที่เราต้องเรียนรู้พฤติกรรมของสัตว์และพืช เพื่อมวลประโยชน์แก่มนุษยชาติในอนาคตแล้วกระมัง

               นี่เป็นเพราะเราขาดสัญชาตญาณในการเรียนรู้ต่อธรรมชาติแวดล้อมน้อยไป หรือเรากำลังขาดภูมิคุ้มกันตัวเองหรือไม่ เราจึงมาประสบกับภัยต่างๆ อย่างอ่อนแอและเปราะบาง เช่น ไม่รู้กลไกธรรมชาติรอบตัว เกิดโรคต่างๆ ง่ายมากขึ้น สุขภาพแย่ลง สังคมวุ่นวาย ผู้คนเอาตัวไม่รอด ไม่ปลอดภัย เรื่องธรรมดาพื้นๆ เช่น การอยู่ การกิน การเดิน การนอน การนั่ง การทำงาน การเรียนรู้ การพูด การมีคู่ ฯ เราต้องถูกสอนหรือต้องได้รับการอบรมบ่มลักษณะนิสัยกันใหม่หมด เพื่อให้ถูกหลักวิธีหรือถูกหลักธรรมชาติ “ความรู้ชุดพื้นฐานนี้” ชาวไทยเพิ่งได้รับการถูกสอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ มาตั้งแต่ยุค ร. ๔-๕ นี่เอง เพราะฝรั่งแท้ๆ

               จนมาถึงวันนี้ เรารู้จักการเข้าโรงเรียน เข้ามหาวิทยาลัย แต่อนิจจา “สหวิทยา” โหตุ! ของเรากลับค่อยๆ เข้าตำราเหมือนเดิม ทำให้เราขาดทักษะในการเอาตัวรอดในด้านปัจเจกบุคคล ซึ่งนี่คือ “เป้าหมายของรัฐ” ที่ต้องการให้ประชาราษฎร์เอาตัวรอดด้วยการมีความรู้ชุดพื้นฐานนี้ แต่รัฐกลับไปใช้เหยื่อล่อ ให้ชาวประชาติดเหยื่อ จนหากินไม่เป็น เหมือนนกถูกเลี้ยงดูมานาน ในที่สุดก็ขาดภูมิคุ้มกันตนเอง ทิ้งสัญชาตญาณเก่า จนขาดแรงขับในการเอาตัวรอด (น่าคิด น่าเขียนจังในประเด็นนี้ครับ)

๒) ความสำคัญของภูมิคุ้มครอง

               ความสำคัญและเหตุผลที่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมา ผู้เขียนมองว่า สังคมไทย ที่มีรากเหง้า เผ่าพันธุ์ของตนเองมายาวนานเป็นพันปี ซึ่งย่อมได้รับการหล่อหลอมมาจากวิชาความรู้ชุดเดิม เมื่อครั้งอยู่ในป่า ในเขา ในถ้ำ ในทุ่งน่า ป่าสวน ฯ ย่อมมองเห็นวิถีธรรมชาติ มองเห็นเส้นทางฤดูกาล การเห็นปรากฏการณ์ต่างๆ ของธรรมชาติออก และปรับตัวเองให้กลมกลืนกับวิถีทางเช่นนี้ได้อย่างไม่ขัดแย้ง แต่เนื่องจากว่า เราอยู่ในยุคแห่งสงครามบ้านเมืองมาตลอดตั้งแต่สมัยสุโขทัย จนถึงยุคตอนต้นแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้เรา เสียเวลาไปกับการกอบกู้ สู้เพื่อที่อยู่ของตนเรื่อยมา

                ความรู้ชุดดังกล่าวข้างบน ก็เลยไม่เข้มข้นพอ ที่จะแก้ปัญหาขั้นเบสิกได้ ประกอบกับเรากำลังถูกรุกรานจากอาณานิยมของต่างชาติ หลังสมัย ร. ๕ ผ่านมาประเทศไทย (ส่วนกลาง) ก็เริ่มเข้าสู่โลกกว้างขึ้น ทำให้วิถีชีวิตแบบเดิมค่อยๆ ถูกกลืนจากต่างชาติ ระเบียบวิถีแบบเดิมก็ถูกยกเลิก เหมือนกำลังพาตนเข้าสู่จักรวาลใหม่ ทำให้ตื่นเต้น ตื่นตากับฝรั่ง ที่เข้ามาบริหารประเทศ ระบบการเรียนรู้ วิถีชีวิต มีแนวโน้มเอียงไปแบบสากลของฝรั่ง จนทำให้เราเสียดุลหรือจุดยืนตนเองในที่สุด

                เมื่อระบบแบบฝรั่งเข้ามามีบทบาทต่อกระบวนการคิด ความเชื่อ ระบบการปกครองก็ถูกล้มล้าง ระบบกษัตริย์ก็ถูกถอดอำนาจลง สิ่งที่เข้ามาแทนที่คือ “ระบบเศรษฐกิจหรือระบบการค้า การขาย” ทำให้ประเทศมีรายได้ พัฒนาประเทศด้านต่างๆ ให้เจริญทัดเทียมกับต่างชาติได้ ทำให้ประเทศไทยเจริญด้านสาธารณูปโภคอย่างรวดเร็ว ในขณะเดียวกันคุณภาพดูเหมือนจะดีขึ้น อำนาจผลประโยชน์มากขึ้น จึงเป็นที่เย้ายวนใจต่อผู้มีอำนาจ ที่อยากจะเป็นผู้นำพาประเทศ นัยว่า เพื่อพัฒนาประเทศประชาชนให้ “อยู่ดี กินดี” (Well being) จึงเกิดการรัฐประหารกันเรื่อยมา และยื้อแย่ง ชิงกันเป็นผู้นำประเทศอยู่ไม่จบสิ้น จนถึงปัจจุบัน (เข้าการเมืองจนได้)

                ช่วงที่เราเข้าสู่โลกสากล (เสรี) เราก็พัฒนาด้านวัตถุต่างๆ มากมาย จนทำให้บ้านเมืองเจริญ (วัตถุ) ไปอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ส่งที่บ่งชี้คือ รายได้ต่อคนต่อหัวมากขึ้น รายได้มวลรวมของประเทศ (GDP) มากขึ้น ทำให้เรากลายเป็นประเทศที่พัฒนาไปได้อย่างต่อเนื่องสิ่งที่เห็นได้คือ มีรถราวิ่งบนถนนมากมาย มีถนนที่สร้างมาเพื่อตอบสนองผู้คน มีบ้านใหญ่มีตึก มีคอนโด ฯ มากมาย มีสถาบันการศึกษา ฯ สิ่งเหล่านี้ บอกอะไรแต่เพียงภายนอกเท่านั้น แต่สิ่งที่อยู่ใต้พรมสังคมเราคือ ปัญหาของคุณภาพประชาชนของประเทศเกิดปัญหามากมาย เช่น เกิดช่องว่างคนจน คนรวย ความยุติธรรมจากรัฐ ความไม่เสมอภาค เรื่องศีลธรรม คุณธรรมในสังคมพร่องไป การศึกษาอ่อนลง สิ่งแวดล้อม ป่าไม้ ธรรมชาติถูกทำลาย มลภาวะ เศรษฐกิจตกต่ำ ค่าครองชีพ ปัญหาอาชญากรรม ความแตกแยกในสังคม ฯ ที่น่าห่วงยิ่งคือ ผู้คนขาดภูมิคุ้มกันในตัวเอง

                 เหตุผลหลักในการเขียนเรื่องนี้คือ “ภูมิคุ้มครอง” ซึ่งเป็นเหมือนสัญชาตญาณของพืชและสัตว์ที่ดำรงอยู่ในโลกได้อย่างกล้าหาญ ก็เพราะมีหลักการหรือมีภูมิคุ้มครองในตัวเองนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตาม ภูมิเหล่านี้ จำเป็นต้องได้รับการรื้อฟื้น หรือสอนต่อมนุษย์อย่างเข้มข้น มิฉะนั้น มนุษย์ก็จะทำหายไปหรือสูญหายไป อย่างไม่รู้คุณค่าของเกราะป้องกันภัย ซึ่งพอจะประมวลความสำคัญดังนี้

                ๑) เพื่อรื้อฟื้นความรู้เรื่อง ภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เช่น ของโลก ของสัตว์ ของพืช

                ๒) เพื่อให้รู้ว่าจุดอ่อนของมนุษย์ว่า หากขาดสิ่งนี้ สังคม ตนเอง จะเป็นอย่างไร

                ๓) เพื่อให้ตัวเองรู้จักการปรับตัว ให้ทันต่ออุบัติภัย ภยันตรายรอบด้านใน โลก สังคม ชุมชน

                ๔) เพื่อสร้างภูมิคุ้มครอง ตนเองด้วยตัวเอง โดยไม่หวังพึ่งรัฐ สังคม และคนอื่นมากไป

                อันที่จริง ทุกคนมีสัญชาตญาณ ของตนเองอยู่ทุกคน เพียงแต่ว่า ไม่ได้ฝึกให้เข้มข้น เท่านั้น เมื่อคราประจญภัย คราวิกฤติจึงหาทางแก้ไข ซึ่งก็ขาดทักษะในการเอาตัวรอด หากเทียบกับสัตว์เราก็อยู่ห่างไกลพวกมันหลายเท่าในหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้ฉลาดและเข้าใจ มองโลกรอบตัวออก แต่กลับจนด้วยสมอง ทำไมเราจึงเรียนรู้และศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากว่า โลกมีพลวัตรต่อเราเสมอ สังคมครอบงำเราให้เป็นไปตามนั้น และธรรมชาติบังคับให้เราเป็นไปเช่นทางของมัน ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ ฉะนั้น เราจึงไม่พ้นอันตรายหรืออุปสรรคในแต่ละวัน ซึ่งนั่นคือ ครูผู้สอนเราให้รู้หาทางแก้ไข จนเมื่อเราแก้ปัญหาชีวิตได้ ทักษะการเอาตัวรอดจึงจะเกิดขึ้น แต่เด็กสังคมยุคใหม่ขาดสิ่งนี้ไป จึงตกเป็นเหยื่อได้ง่าย เพราะอ่อนแอนั่นเอง

๓) พฤติกรรมมนุษย์ยุคใหม่

               ปัจจุบันสถานการณ์โลกมีความผันผวนไปต่างจากอดีตมาก ไม่ว่า ด้านสังคม เศรษฐกิจ การปกครอง การสื่อสาร การเดินทาง ศาสนาวัฒนธรรม ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม มลภาวะ โรคภัยไข้เจ็บ ความคิด ความเชื่อ เทคโนโลยี ฯ ล้วนมีพลวัตรต่อโลกทั้งสิ้น แน่นอน ผลกระทบย่อมเลี่ยงไม่ได้ต่อมวลมนุษย์ในโลก สิ่งที่เรารับรู้อยู่ทั่วกันคือ การปกครอง เศรษฐกิจ ธรรมชาติ การสื่อสาร อาหาร โรคภัย ฯ ผู้ที่ที่ได้รับผลเหล่านี้โดยตรงคือ “ร่างกาย” และ “จิตใจ” ตามมา

                ร่างกาย คือ สมบัติของโลก เพราะเกิดมาจากโลก เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงหรือประสบภัย โลกและเราก็ได้รับไปด้วย แต่โชคดีที่โลกมีเกราะป้องกันตนเองในชั้นบรรยากาศก่อนจะกระทบเรา ร่างกายก็เช่นกัน อะไรเกิดขึ้นรอบตัวร่างกาย มักจะได้รับผลก่อน เช่น อุบัติเหตุ สารพิษ เป็นต้น ความอ่อนแอของร่างกายมีจุดอ่อนคือ แพ้สารพิษ สารเคมี โรคภัย ฯ ซึ่งจิตใจไม่ได้แพ้ตาม แต่จะเกิดกระบวนการสร้างความคิด หาทางป้องกันตนเองจากสารพิษเหล่านั้น ที่จริงแล้ว น่าอัศจรรย์มากที่ตัวเรามีระบบป้องกันตัวเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว เช่น อาการจาม การไอ คัน ปวดศีรษะ เสียวฟัน หาว น้ำลายไหล น้ำตาไหล ฯ

               คล้ายกับสัตว์และพืชที่แสดงบทบาทเช่นนี้เหมือนกัน เนื่องจากว่า ระบบนี้ได้พัฒนามาตั้งแต่ต้นแล้ว การที่เรามีระบบนี้ มิใช่เราสร้างเอง แต่เนื่องจากว่า บรรพบุรุษของเราได้ต่อสู้มาหลายล้านปี ตั้งแต่เผ่าพันธุ์ของตระกูลไพรเมต จนถึงโฮโมซาเปี่ยน โฮโม อีเรคตัส และยุคโครมายอง เส้นทางนี้ใช้เวลาล้านๆปี จนเกิดการสร้างผลที่ตกผลึกในด้านการป้องกันในรูปแบบ “ภูมิคุ้มกัน” (Immunity) ขึ้นมานั่นเอง

               มนุษย์ยุคใหม่ที่ถือเวลามาแค่ ๕๐๐ กว่าปี เทียบไม่ได้กับยุคก่อนๆ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาใหม่สำหรับยุคนี้คือ พัฒนาการด้านปัญญา ความสามารถในด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี เครื่องมือต่างๆ ที่เราใช้กันอยู่ ระบบที่เราคุ้นเคยอยู่ ก็เนื่องมาจากยุคนี้เอง มันทำให้มนุษย์ตื่นเต้นกับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ และลุ่มหลงวัตถุเหล่านี้ ยิ่งมันมีประโยชน์ในด้านการอำนวยให้การดำรงชีวิตสะดวก รวดเร็ว มันกลับเป็นกับดักมนุษย์ไปพร้อมกันด้วย

                ทำให้เกิดกระแสบริโภคนิยม กระแสเศรษฐกิจ เพื่อการค้า การขายวัตถุต่างๆ เหล่านี้ เพื่อสนองมนุษย์อย่างเมามัน ซึ่งผู้เขียนมองเห็น ๓ อย่างคือ ๑) ตอบสนองความต้องการแบบวิถีชีวิตแบบใหม่ คือ ไม่อยากอยู่แบบในป่า ในเขา ในถ้ำอีกต่อไป จึงหาวัตถุเหล่านี้มาสนองตน ๒) ตอบสนองในรูปแบบเห่อหอบ คือ อยากมีชีวิตที่หรูหรา เป็นชีวิตแบบใหม่จริงๆ ทันสมัย ทันโลก ตามแฟชั่น ฯ เสียเงินเท่าไหร่ก็ยอม ๓) ตอบสนองแบบสะสม คือ หาทรัพย์ไว้มาก เพื่อให้ชีวิตมีความมั่นคง มีความสุข มีความสะดวก สบาย และเพื่ออนาคตของตระกูลและลูกหลานต่อไป

               เมื่อพฤติกรรมของกระแสทั่วโลกเป็นเช่นนี้แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นคำตอบคือ ลูกหลานได้รับมรดกความคิดเช่นนี้สืบมา ทำให้ลูกหลาน คนยุคใหม่จะเกิดการบริโภคแบบฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักทรัพย์สินที่แท้จริง ไม่รู้คุณค่าแท้ คุณค่าเทียมในการดำรงชีวิต ขาดความอดทนในการแสวงหาทรัพย์ ขาดวิสัยทัศน์ในการมองชีวิต กลายเป็นคนอ่อนแอ ขาดภูมิคุ้มครอง ไม่กล้าสู้ชีวิต ชอบทำตัวแบบลอยฟ้า (นางฟ้า อยากสวย อยากหล่อ) ทำให้พวกเขาอ่อนแอที่จะเผชิญกับปัญหาชีวิต ปัญหานิดๆ หน่อยๆ ก็ทนได้ยาก (ทุกข์ยาก สุขง่าย) ยิ่งไปกว่านั้น คือ ไม่รู้จักคำว่า “ตัวเอง” ที่มีภูมิหลังหลายล้านปี

               สิ่งที่พวกเขาแสดงออกจะเป็นไปตามกระแสโลก เห่อหา บ้าคลั่งสิ่งที่เป็นสากลสไตล์ ที่ถูกขับโดยพลังเสรีภาพด้านปัจเจกบุคคล ขาดระเบียบ ขาดวินัย ไม่เคารพในตัวเอง และผู้ใหญ่ ผลคือ สังคมจมไปด้วยเสรีภาพเกินไป ขาดการเคารพกฎหมาย ศีลธรรม เมื่อเขาเจอวิกฤตในชีวิตก็คิดแต่จะฆ่าตัวตายหรือทำร้ายกัน ด้วยการแสดงออกเยี่ยงสัตว์ป่า ฆ่ากันง่ายขึ้น ปัญหาอาชญากรรม โจร ผู้ร้าย ฯ เพราะฐานจิตใจและปัญญาไม่แน่นหนัก ไม่มั่นคงพอ จนนำไปสู่การกินเที่ยว เสพสุข ติดยา บ้าเกม บ้าวัตถุสิ่งของ จนต้องขายตัวเอง(ใส่อารมณ์มากไปนี่)

               ดังนั้น จึงสิ้นสุดภูมิคุ้มกันตัวเองแล้ว สิ่งที่พอมองเห็นปัญหาดังนี้คือ ๑) เอาตัวเองไม่รอด ๒) แก้ปัญหาถาวรไม่ได้ ๓) มีเสรีภาพเกินไป แต่ขาดความรับผิดชอบ ๔) เสวยสุขจากบุญเก่าของพ่อแม่ ๕) มนุษย์มีสิ่งเจริญ แต่พัฒนาความเจริญด้านภูมิคุ้มกันตนเอง สังคม ประเทศชาติน้อยไป ทำไมจึงต้องยกเอาเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็น คำตอบ อยู่ในข้อต่อไป

๔) บรมครู ผู้รู้โลกดี

               มุมมองที่กล่าวนี้ เป็นมุมมองที่ไม่ได้ว่าใคร มองตามสถานการณ์สังคมที่เป็นไป โดยอาศัยพื้นฐานประวัติศาสตร์ สังคม ความจริงที่มีอยู่ในทุกคน อยู่ที่ว่า เราจะมองเห็นหรือไม่ แล้วนำมาเสนอทางออกอย่างไร ให้สังคมตระหนักรู้มากขึ้น มิฉะนั้น เราก็อาจจมในกองขยะในสังคมร่วมกัน ผู้เขียนมองว่า เราควรหามุมมองที่แตกต่างเหมือนอย่าง ผอ.ชยันต์ เพชรศรีจันทร์บ้าง เพื่อจะได้บอกว่า ทางไหนควรไป ไม่ควรไป เพื่อสร้างวัฒนธรรมชีวิตยุคใหม่ให้เข้าใจรากเหง้า เค้ามูลของตนมาจากไหน อะไรคือ เป้าหมายในโลกนี้ และโลกต่อไป เพราะผู้เขียนเชื่อว่า นี่คือ “การพัฒนา (คน) ที่ยั่งยืน”

               อนึ่ง นี่คือการสร้างนวัตกรรมด้านปัญญาที่ลุ่มลึก ที่จะช่วยให้มองเห็นโลกทัศน์ ชีวิทัศน์ จิตทัศน์ ได้ และแน่นอนว่า นี่คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกหลานเราด้วย เพราะโลกยุคใหม่เต็มไปด้วยกลลวง มายาคติมาก หากไม่มีการสอนวิชารู้เท่าทันวิชาพ่อค้าหน้าเลือด เราและลูกหลานก็อาจถูกหลอกถาวรได้ อย่างไรก็ตาม เรามีตัวอย่างมากมายที่นิเทศต่อสายตาเราอยู่ทุกวันนั่นคือ

               ๑) โลก (Earth) คือ ที่อยู่ของมวลสารมากมาย และเป็นแหล่งกำเนิดสิ่งมีชีวิตมากมายมหาศาล อย่างที่กล่าวแล้วว่า โลกก็มีการปกป้องตัวเองอยู่ในตัว เช่น โอโซน อากาศ ที่ป้องกันภยันตรายจากฟากฟ้ามาชนโลก เทหวัตถุจากอวกาศจะถูกบรรยากาศเผาไหม้ก่อนตกลงผิวโลก ในชั้นบรรยากาศนี่เองคือ ตัวบล็อกแสงรังสี แสงยูวี จากดวงอาทิตย์ มิให้โลกร้อนเกินไป และที่สำคัญคือ บรรยากาศนี้เองสร้างสิ่งมีชีวิตให้มีสติปัญญาขึ้นมาได้ นั่นหมายความว่า โลก คือ ตัวเรา ตัวเรา คือ โลก หากโลกถูกทำลาย หมายความว่า เราก็ถูกทำลายไปด้วย เช่น เราทำลายป่าไม้ สร้างมลภาวะ ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย เราก็จะถูกทำลายไปด้วยเช่นกัน

               ๒) พืช (Plant) คือ สิ่งชีวิตทั้งที่เป็นจุลินทรีย์และมหินทรีย์ ที่อาศัยโลกอยู่และเกื้อกูลกัน จนเกิดเป็นระบบโครงสร้างแบบมหาภาคขึ้นมา พืชคือ บรรพบุรุษของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ ถือว่า เป็นปฐมชีพที่สร้างอาณาจักรชีวิตครอบครองโลกไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ พืชจึงเข้าใจและรู้วิธีการป้องกันตัวเองจากอันตรายในโลกได้ และพืชก็ตอบสนองโลกด้วยการสร้างบรรยากาศ เพื่อปกป้องโลกด้วย ทำให้สิ่งมีชีวิตอื่นเกิดขึ้นตามมา ต้องขอบคุณพืชจริงๆ เราอาจจะมองเห็นพืชแค่คุ้นตา แต่เราอาจไม่ลึกซึ้ง หรือไม่ได้มองพวกมันอย่างพินิจ เหมือนนักพฤกษาศาสตร์ จึงไม่เข้าใจมันได้ ที่มันแสดงออกให้เห็นทุกวันๆ เช่น ออกดอก ออกผล ใบเหี่ยว ใบแห้ง ใบเหลือ ใบเล็ก ใบใหญ่ ใบมีหนาม มียาง ฯ นี่คือ การบอกเราว่า "ฉันกำลังปรับความสมดุลตัวเองนะจ๊ะ"

                ๓) สัตว์ (Creature) คือ สิ่งมีชีวิตส่วนมากที่อาศัยโลกและพืช จนสามารถดำรงชีสิตอยู่บนโลกได้ยาวนาน สัตว์นี้คือ กลุ่มทุติยภูมิ ที่แสดงบทบาทต่อวัฏจักรของระบบนิเวศน์ของโลก ด้วยการมีชีวิตอยู่บนโลกมายาวนาน ทำให้รู้จักถ่ายทอดยีน และสายพันธุ์ที่เหมือนบรรพบุรุษของตนได้ และในขณะเดียวกัน ก็ได้เรียนรู้ในการหาทางป้องกันตนเองไปด้วย เช่น หนอนมีพิษ มีขน งูพิษ เพราะต้องการป้องกันตนเอง สัตว์มีเขี้ยวก็เพื่อกัดกินสัตว์อื่น ป้องกันศัตรู สัตว์มีเขา มีกรงเล็บ มีสีสัน มีกลิ่น มีลวดลาย มีหนวด มีไฟฟ้า มีกำลังมหาศาล ฯ ล้วนแต่เพื่อป้องกันต้นและล่าเหยื่อ แสดงให้เห็นว่า การอยู่บนโลกนั้น จะต้องมีดี มีอาวุธป้องกันตนได้

                ๔) มนุษย์ (Human being) คือ สัตว์ที่ถือว่าฉลาดกว่าบรรดาสัตว์ทั้งปวง ที่สามารถสร้างกิจกรรม สร้างเครื่องมือ เรียนรู้ การแสดงออกฯ ที่แตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ด้วยระยะการอยู่บนโลกที่ยาวนาน มนุษย์จึงมีระบบภูมิคุ้มกันตนเองในระบบร่างกาย เช่น การกำเนิดในทองแม่ ๙ เดือนนั่น เป็นวิธีการป้องกันอันตรายให้ลูก เพื่อให้ร่างกายปรับตัวต่อระบบกลไกของโลกก่อน ทั้งหมดของชีวิตมนุษย์ ถูกสร้างด้วยระบบการเตือนภัยมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สมองคือ หน่วยสสารที่มีไว้เก็บข้อมูล เอกสารอันมหาศาล เพื่อรับใช้หรือการตอบสนองของร่างกายนั่นเอง ยิ่งมีอายุมาก สมองยิ่งมีข้อมูลของโลกมาก เพื่อสร้างการเอาตัวรอด

               ๕) เชื้อโรค รา เห็ด ไวรัส คือ สัตว์ชนิดหนึ่งที่อาศัยโลก อาศัยสัตว์อื่นอาศัยอยู่เป็นเรือน สัตว์ชนิดนี้มีจำนวนมหาศาล และมีขนาดเล็ก จนมองไม่เห็น กระนั้น พวกมันก็มีความสำคัญต่อโลก ต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ แม้มันจะเป็นสัตว์ตัวน้อย แต่คุณสมบัติและสัญชาตญาณก็มีเหมือนกันกับสัตว์ใหญ่ มีระบบภูมิคุ้มกันด้วย โรค คือ ผลจากที่พวกมันรุกรานเรา เราจึงต้องกินยารักษา ยานี้เองคือ ตัวทำลายมัน แต่มันก็มีวิธีป้องกันตัวด้วย หากยานั้นไม่มีประสิทธิภาพพอ ซึ่งโรคเองก็รู้จักพัฒนาตัวเอง เพื่อความอยู่รอดเช่นกัน เชื้อรา ไวรัส ฯ ก็เช่นกัน

               ฉะนั้น สัตว์และพืชที่อยู่บนโลกนี้ ล้วนมีระบบการป้องกันตัวเองทั้งสิ้น เรามีเม็ดเลือดขาว ก็เพื่อป้องกันอันตรายหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าสู่ร่างกาย เราเอนไซม์ในปาก ก็เพื่อป้องกันเชื้อโรคชนิดอ่อนได้ก่อนจะลงสู่ลำคอ ในลำไส้เราก็มีเชื้อจุลินทรีย์จำนวนมาก เพื่อป้องกันเรา สัตว์ก็จะมีระบบเหมือนกับมนุษย์ แต่ต่างกันในแง่ระบบโครงสร้างกายภาพเท่านั้น ส่วนพืชนั้น มีระบบป้องกันตัวทั้งมีสารพิษ และการสื่อสารไปยังพืชที่อยู่ใกล้ด้วย เป็นเรื่องมหัศจรรย์หากเรารู้ระบบกลไกของพืชและสัตว์ได้ เราจะรู้สึกทึ่งและน่าเคารพพวกมันด้วยจิตวิญญาณอย่างแท้จริง แต่เราละเป็นมนุษย์รู้อะไรมากพอหรือยังกับตัวเองและสิ่งรอบข้าง

๕) การสร้างภูมิคุ้มกัน

                 ทั้งหมดที่กล่าวมานั้น ล้วนมีเป้าหมายเพื่อสื่อให้รู้ว่า "ภูมิคุ้มกัน" คือ สิ่งที่เราต้องช่วยเหลือร่างกายอีกชั้นหนึ่งสำหรับมนุษย์ ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปมาก ทำให้ระบบต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตปรับตัวไปด้วย มนุษย์ผู้อยู่บนโลก ย่อมกระทบไปด้วย นั่นคือ ความบกพร่องด้านกายภาพอ่อนแอลง เกิดโรคง่าย เพราะสาเหตุของบรรยากาศโลกถูกทำลายร่างกายก็ถูกทำลายไปด้วย การอยู่ การกิน การดำรงชีวิต ก็สุ่มเสี่ยงไปด้วย มนุษย์ต้องตื่นตัวในการหาทางป้องกันตนเองให้แยบยล นั่นคือ สร้างภูมิคุ้มครองให้กับตน เช่น กินอาหารที่มีประโยชน์ตามที่ร่างกายต้องการ (มิใช่ตามปาก ตามอยากกิน) ฉีดวัคซีนป้องกันโรค ออกกำลังกาย มองโลกในแง่ดี สร้างภาวะอารมณ์ให้สอดคล้องกับความจริง เล่นมายานิดหน่อย เพื่อบำบัดตัวเอง เหมือนสัตว์ที่แสดงพฤติกรรมอำพรางตา เพื่อความอยู่รอด เมื่อกล่าวโดยสรุปขอประมวลไว้ดังนี้

              ๑) เรียนรู้ประวัติศาสตร์โลก หมายถึง ในฐานะบ้านเรือนของตนให้รู้รั้วรอบขอบรัศมีว่า กินพื้นที่และมีผลต่อการดำรงชีวิตของเราได้อย่างไร

              ๒) เรียนรู้ระบบกลไกของร่างกายตน หมายถึง การเรียนรู้ให้เห็นระบบโครงสร้างเอาไว้บ้าง เพื่อว่ายามเราผิดปกติหรือร่างกายเปลี่ยนแปลง บกพร่องจะได้รู้หลักการสากลของมันว่า กระดูกรยางค์ กระดูกแกน ระบบประสาท ระบบการย่อย ระบบการสืบพันธุ์ ฯ เป็นอย่างไร จะได้หาสมมติฐานของร่างกายได้ เพื่อช่วยหมอ พยาบาลในการบอกอาการหรือรักษาด้วยตัวเอง

              ๓) ช่วยเหลือกายตนให้พ้นภัย หมายถึง การเอื้ออำนวยหรือช่วยให้มันสร้างระบบคุ้มภัยให้ถาวรเช่น กินอาหารที่ดี ออกกำลังกาย ฉีดยาป้องกันโรค รักษาโรค ระมัดระวังอุบัติภัยต่างๆ หลีกเลี่ยงแหล่งสารเคมี ยาเสพติด สุรา บุหรี่ ฯ อันจะส่งผลให้เสียสุขภาพอนามัย ซึ่งจะทำให้ร่างกายอ่อนแอลง

              ๔) สร้างภูมิคุ้มกันด้านสติ ปัญญา หมายถึง การสร้างอารมณ์ให้มั่นคง เรียกว่า ใจมั่นคง เพราะมีรากฐานทุน ที่อาศัยธรรม หรือหลักอะไรก็ได้ เพื่อให้ใจมีหลักยึดเอาไว้ มิให้เสียศูนย์ ซึ่งจุดนี้ ค่อนข้างลื่นไหลง่ายสำหรับเด็ก เยาวชน ที่พึ่งพาเครื่องมือสื่อสารใหม่ๆ ที่หมกหมัก รักรัด มัดใจในกรอบแคบๆ ซึ่งจะทำให้เป็นคนอ่อนแอหรือเสียอิสรภาพในตนได้ ซึ่งต่างจากผู้ใหญ่ที่รู้วิธีการจัดการสิ่งเหล่านี้ดี (หรือๆไม่แน่ใจเหมือนกันในยุคใหม่นี้) นี่คือ ฐานของภูมิคุ้มกันทางปัญญาและจิตใจ

               ๕) การสมาคมกับผู้อื่น หมายถึง การพุดคุย การสื่อสารกับมนุษย์ด้วย การพูดคุยกัน การรู้จักสร้างปฏิสัมพันธ์กันในเชิงสร้างสรรค์ จะเป็นเกราะป้องกันตัวเอง และสังคมไปด้วย อันนี้ก็ลื่นไหลได้ง่ายที่จะนำไปสู่ความขัดแย้งกัน แต่ให้ยึดถือวิธีการสร้างมิตรภาพหรือกัลยามิตรต่อกัน เพื่อมิให้เราอยู่ในโลกแคบหรือกลายเป็นคนซึมเศร้าไป อันจะนำไปสู่การทำร้ายตัวเองได้ ระบบเดิมในสังคมไทยสมัยก่อน ที่อยู่ร่วมกันนั้น (ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อ แม่ ลูก หลาน) มีผลต่อพัฒนาการด้านอารมณ์และการปรับตัว มิให้เป็นคนเอาแต่ใจได้ดีมาก นั่นคือ การสร้างภูมิคุ้มกันด้านวัฒนธรรมเช่นกัน

               ๖) การอบรมบ่มนิสัย หมายถึง การเลี้ยงดู ในครอบครัว โรงเรียน ญาติพี่น้องคือ ฐานในการปกป้องลูกหลานด้วยเช่นกัน เพราะครอบครัวคือ ต้นกำเนิดของสังคม หากครอบล่มสลาย สังคมก็จะกลายเป็นเวทีที่เด็ก เยาวชนได้แสดงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ออกมา ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมาได้เช่น เด็กเวร เอ๊ย เด็กแว้นทั้งหลาย

                ดังนั้น ความรู้ชุดพื้นฐานเช่นนี้ มนุษย์ขาดหายไปหรือไม่ จนอาจจะบกพร่องในด้านภูมิคุ้มกันได้ เมื่อแต่ละคนขาดชุดภูมิรู้พื้นฐานนี้แล้ว การแสดงออก การดำรงชีวิต ทักษะการใช้ชีวิต การอยู่ในสังคมและในธรรมชาติ ย่อมบกพร่องไปแน่นอน ผู้ที่จะตามแก้ปัญหาคือ รัฐบาล ผู้นำ แต่นั่นคือ ภาระที่ยิ่งใหญ่เมื่อมีคนจำนวนมาก ทางที่ดีคือ รับผิดชอบตัวเอง ด้วยการเรียนรู้ดังที่กล่าวมานี้ ไม่ต้องง้อรัฐให้ความรู้ ไม่ต้องง้อครูให้วิชา เพราะโซเชี่ยวมิเดียสมัยนี้ เต็มไปด้วยข้อมูลมหาศาล แต่เด็ก เยาวชนจะใช้เป็นวิธีป้องกันตน หรือจะใช้ให้ภัยเข้าหาตนกันแน่

---------------<>----------------

หมายเลขบันทึก: 557005เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2013 16:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2013 22:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ง่วงมากแล้วจะกลับมาอ่านใหม่ค่ะ

อยากอ่านมากค่ะ แต่อ่านไม่ไหวนะตอนนี้ค่ะ

ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับ ได้เรียนรู้และดูแลสุขภาพได้มากขึ้นครับผม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท