"ความสุข.. อยู่ที่นี่"


                                      

                                                                                

                                                ภาพจาก http://ffaii.wordpress.com                            

                                            "Happiness or Peacfulness"

                จากที่ได้เข้ามาเขียนเป็นอนุทินและได้อ่านเรื่องราวจากสมาชิก G2K ที่โพสต์ประเด็นต่างๆมากมาย ยอมรับว่า ได้มุมมองและความคิดใหม่ๆมาก ในบรรดาเรื่องที่สมาชิกโพสต์นั้น ผู้เขียนพบเรื่อง "ความสุข" มากพอสมควร ซึ่งสะท้อนผู้คนว่า ต้องการความสุขหรือใจโหยหาความสุขหรือไม่ก็มีภาวะหรือสภาพแวดล้อมตอนหนึ่งบีบคั้นมา แล้วคำตอบหรือความคิดก็มีมุมมองต่างกันไป ตามประสบการณ์

                จึงอยากเสนอหรือแสดงความเห็นเรื่องนี้เป็นบทเสริม เพื่อให้เกิดมุมมองที่แตกต่างจากสมาชิกหรืออาจเป็นคำตอบของบางคนก็ได้นะครับ

๑) ความสุข คืออะไร?

                คำตอบนี้ โดยทั่วไปเราจะพบได้จาก ๑) ตัวเอง ๒) ใจ ๓) ทำอะไรที่เราชอบ ๔) ไม่ทำให้ใครเดือดดร้อน ๕) เสียสละ ซึ่งมี ๕ เรื่องนี่คือ คำตอบจากผู้คนทั้งหลาย ทั้งหมดนี้ยังมีความตื้นลึก วิธีการ และคำนิยามต่างกันออกไปอีก ดังนั้น เราคงหาข้อสรุปให้เป็นมาตรฐานสากลไม่ได้ เนื่องจากว่า ความสุข เป็นภาวะนามธรรมที่เกิดขึ้นจากแต่ละคน (ปัจเจกบุคคล) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่า มันน่าจะมีหลักในการแสวงหาหรืออยู่ในสภาวะสากลร่วมกันซักแห่ง เพื่อให้แต่ละคนรับรู้ถึงความสุขร่วมกันได้อย่างเป็นภราดรภาพ

                ในทางศาสนามีศูนย์กลางของอุดมคติร่วมกันในเป้าหมายของชีวิต ศาสนิกชนของศาสนานั้น ก็พยายามที่จะเข้าถึงจุดหมายตามอุดมคติของศาสนาสอนไว้ เช่น ศาสนาประเภทเทวนิยมเน้นการเข้าถึง "เทวาณาจักร" (อยู่กับพระเจ้า) ส่วนศาสนาอเทวนิยมเน้นที่การหลุดพ้นคือ "โมกษาณาจักรหรือนิพพาณาจักร" เป็นแดนสงบสุขหรือแดนสุขาวิมาน ส่วนวิธีการเข้าถึงจุดเหล่านี้ ก็อยู่ที่หลักจริยศาสตร์ของแต่ละศาสนานั่นแหละ

                ในทางโลกวิสัย มีอุดมคติที่ความสมบูรณ์ การมีทรัพย์ร่ำรวย ความสำเร็จ ฯ ซึ่งแตกต่างกันไปตามสังคม วัฒนธรรม ค่านิยมสังคมนั้น เป็นพื้นฐานในการกำหนดเอาความสุข เมื่อถามไปอีกคนรวย คนที่สำเร็จ คนที่คิดว่าตนเองสมบูรณ์แบบ มีความต้องการอื่นๆ อีกไหมนอกจากความสุข คำตอบคือ มี เนื่องจากว่า ความสุขที่เขามีมันไม่มั่นคงหรือเป็นอมตะ หรือเป็นแก่นสารของชีวิตได้เลย นอกจากเสพสุข หมกหมัก ปักจมอยู่ในความสุขที่ทุกข์แฝงอยู่ นั่นจะเรียกว่า ความสุขหรือไม่

                 ดังนั้น จึงยากที่จะนิยามหรือจำกัดหาความสุขให้เป็นมาตรฐานสากลได้ เพราะโลกมีมาตรฐานสากลไม่เท่ากัน ทางศาสนาก็ว่าอีก อย่าง ทางโลกีย์ก็ว่าอีกมุม อะไรคือ ความสุข??

๒) ความสุข อยู่ที่ไหน? 

                จุดนี้ก็ยากที่บอกได้ว่า อยู่ไหน แต่ถ้าถามกันแบบไล่เลียงไปเรื่อยๆ มันจะไปจบที่จิตของแต่ละคนหรือพูดอีกมุมคือ อยู่ในตัวเรานั่นเอง ซึ่งถ้าพูดเช่นนี้ ก็คงเป็นการพูดที่รู้ๆกันอยู่แล้ว คงไม่มีอะไรใหม่เป็นแน่ คำว่า "ความสุข" เป็นคำพูด เป็นภาษาหนึ่งที่ใช้บอกสภาวะหรือความเป็นอยู่ในที่ใด ที่หนึ่ง เพื่อสื่อความรู้สึกเช่นนั้นออกมา หรือบอกให้รู้ว่า สภาวะเช่นนี้เป็นแบบนี้ แบบนั้น เพื่อโน้มน้าวให้ผู้อ่าน ผู้ดู ได้สัมผัส ได้ลิ้มรสกับภาวะนั้น เช่น สวรรค์อยู่ที่นั่น มีแบบนั้น นิพพานเป็นลักษณะเช่นนี้ เช่นนั้น การแต่งงานแล้วมีความสุข อย่างนี้ อย่างนั้น การมีเงิน มีทองแล้วเป็นสุขสบาย เช่นนี้ เช่นนั้น ซึ่งล้วนเป็นภาษาเรียกแบบสมัยนิยมว่า "วาทกรรม" นำพา เพราะเราถูกภาษาพาให้คิด ให้เชื่อไปซะทุกอย่าง ซึ่งนั่นแน่นอนว่า ย่อมมีมายาคติหรือสิ่งแอบแฝงซ่อนเร้นเอาไว้ก็ได้

                เมื่อเราจับเอาจิตเป็นเรือนของความสุขแล้วจิตอยู่ที่ไหน เราต้องมาคิดหาเส้นสายปลายทางว่า จิตอยู่ไหน คำตอบคือ กาย กายอยู่ไหน กายคือ ตัวแทนในนามภาวะของชีวิต ชีวิตประกอบด้วย "กายและจิต" ถามให้ปวดหัวต่อไปว่า กายคือ อะไร? กายคือ ส่วนสสารต่างๆของโลก เป็นองค์ประกอบที่นำมาสร้างร่างกาย สสารหรือธาตุนี้ เป็นวัตถุ ไร้วิญญาณ เมื่อกายอาศัยสายพันธุ์ผ่านเบ้าหลอมคือ "พ่อแม่" จึงเป็นรูปทรง เป็นร่างมนุษย์แล้วอาศัยวิญญาณมาจับจองสิงสอดเข้าเป็นร่างกายที่มีวิญญาณ จนพัฒนาไปสู่การเรียกว่า "จิต" 

               เมื่อกายสัมผัสรับรสอะไร "จิต" ย่อมกระทบไปด้วย ในขณะเดียวกัน เมื่อจิตรับรู้ ร้สึกอะไร "กาย" ก็มีปฏิกิริยาด้วยเช่นกัน ทั้งสองเมื่อได้รับรสที่ถูกใจ ถูกกาย พอใจ พอกายเมื่อใด ทั้งสองก็จะกลมเกลียวไปด้วยกันเรียกว่า "สุข" ซึ่งเดสการ์ตก็มองเช่นนี้เช่นกัน กระนั้น ก็ใช่ว่า มันจะสอดคล้องกันไปทุกกรณี ยามใดกายเจ็บป่วย ใจอาจแย้งตนเองว่า ไม่ป่วย หรือจิตหวั่นไหว แต่กายทำนิ่ง ก็มี ในกรณีเช่นนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า ความสุขมาแทรกกายหรือใจ แล้วกายสุขหรือใจสุขกันแน่ เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวอีกเช่นกัน เนื่องจากว่า ความสุข เป็นสิ่งนามธรรม ที่อาศัยมนุษย์เกิด สัตว์เกิดได้ไหม ได้ แต่เราต้องศึกษาภาษา ท่าทางของมัน

               ดังนั้น คำตอบที่จะบอกว่า ความสุขอยู่ที่ไหน คงพอประมวลได้ดังนี้ ๑) อยู่ที่ชีวิตแต่ละคน เช่น กายใจ ๒) อยู่ที่วัฒนธรรม ค่านิยม เป็นเกณฑ์ ๓) อยู่ที่ภาษา ท่าทางบอก ๔) อยู่ที่ปัจจัยประกอบเช่น สิ่งแวดล้อม ทรัพย์สิน ความสำเร็จ ความสมบูรณ์ฯ ๕) หลักอุดมคติ เช่น จากศาสนา สังคมฯ               

๓) "หลักจริยศาสตร์" แห่งความสุข

               ในเรื่องของหลักการสร้างความสุขนี้ สังคมยอมรับในด้านศาสนา ปรัชญา และจิตวิทยา ซึ่งเป็นแนวคิดกว้างๆหรือเป็นหลักเกณฑ์ในการสร้างความสุขในชีวิต อันที่จริง เราไม่จำเป็นต้องอิงหลักการเหล่านี้ก็ได้ แต่มันมีแนวโน้มที่จะลื่นไหลไปในลักษณะถือตัวตนเป็นใหญ่หรืออหังการหรือเชื่อมั่นตัวเองเกินไป อาจกลายเป็นเป็นคนแข็งกร้าวหรือกระด้างต่อกฏหมาย ศีลธรรม ค่านิยมที่ดีงามในสังคมได้ ด้วยเหตุนี้ จึงขอยกเอาหลักการของบรรพบุรุษชน คนรุ่นก่อนมาเป็นบรรทัดฐานไว้ก่อน จากนั้น แล้วค่อยดัดแปลงให้แตกต่างออกไป

               ในหลักจริยศาสตร์ด้านปรัชญา ในสมัยกรีก กลุ่มโซฟิสต์เน้นเรื่อง ตนเองเป็นหลัก เหมือนคำที่เราได้ยินเสมอว่า "ดีชั่ว อยู่ที่ตัวทำ สูงต่ำ อยู่ที่ทำตัว" ส่วนโสเครตีสมองว่า ความสุขมาจากความรู้ ปัญญา ผู้รู้ดี ย่อมเจริญ เพราะรู้จักหาทางแสวงหาความสุขใส่ตัว ความรู้ที่ว่านี้คือ "คุณธรรม" ปัญหาของเขาคือ ความรู้ เป็นคุณธรรมได้อย่างไร เพลโตได้ขยายคำว่า คุณธรรมของอาจารย์ตน (โสเครตีส) ออกเป็น ๔ อย่างคือ ความฉลาด ความเที่ยงธรรม ความกล้าหาญ ความรู้จักพอ ซึ่งจะเป็นหลักการในการสร้างความสุข เพลโตมีอุดมคติว่า ชีวิตมีวิญญาณสิงอยู่ข้างในที่มาพัวพันกับโลก จึงทำให้วิญญาณนี้มืดบอดหรือสกปรกไปด้วย ชีวิตจึงต้องอยู่ในความทุกข์อยู่เสมอ เขาจึงเสนอว่า ให้ปลดเปลื้องความทุกข์ออกจากวิญญาณ เพื่อเข้าถึงจิตเดิม เรียกว่า "จิตแห่งแบบหรือจิตมโนทัศน์" จึงจะมีความสุขในชีวิต

               ส่วนในศาสนาของตะวันออก เช่น พุทธศาสนา เน้นที่การกระทำ ๓ ทางคือ กายกรรม หมายถึง การแสดงออกทางกาย เช่น มือ เท้า ตัว ในทางที่ดี เหมาะสม มีประโยชน์ต่อคนเองและคนอื่น วจีกรรม หมายถึง การแสดงออกทางภาษา เช่น การพูด การทำสัญญะ การทำท่าทาง ในทางที่ดี สร้างสรรค์ ที่มีคุณ มีค่าต่อตนและคนอื่น และมโนกรรม หมายถึง การแสดงความคิด ทัศนคติ เจตคติ ที่ดีต่อคนอื่น สิ่งอื่น เรียกว่า "กุศลกรรม" (Good action) แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า "กรรมเหล่านี้" ดีและจะทำให้มีความสุข ก็ลองเปรียบเทียบกรรมนี้ที่ตรงกันข้ามกัน ก็จะทราบผลของมันว่า เราจะสุขหรือจะเดือดร้อน เรียกกรรมนี้ว่า "อกุศลกรรม" (Bad action)

               ส่วนในแง่จิตวิทยา ที่เน้นเรื่องพฤติกรรมของจิตโดยเฉพาะ โดยศึกษาคุณลักษณะของจิตว่า มีลักษณะอย่างไร มีคุณภาพอย่างไร กลุ่มจิตวิทยาเช่น กลุ่มศึกษาโครงสร้างจิต (วุนต์, ทิตเชเนอร์) ศึกษาด้านระบบโครงสร้างจิตว่ามี ๓ อย่างคือ กระทบ รับรู้ และรู้สึกได้ เพื่อให้เห็นอารมณ์ ความรู้สึกตนเอง เกิดขึ้นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปวิเคราะห์คุณภาพจิต กลุ่มจิตวิเคราะห์ (ฟรอยด์) กล่าวถึงจิตว่า จิตมีความบกพร่องหรือมีแรงขับเคลื่อนจากอะไร เขาชี้ว่า จิตมีสัญชาตญาณเป็นแรงขับ ๓ เรื่องคือ อิด (id) คือ สัญชาตเดิมของเรา กิน นอน เสพ กลัว ฯ อีโก (ego)คือผู้ประสาน ประนีประนอมระหว่างสัญชาตญาณดิบกับความรู้สึกดี-ชั่ว นั่นคือ ซุปเปอร์อีโก (superego)  กลุ่มพฤติกรรม (เจ วัตสัน) ที่ศึกษาด้านพฤติกรรมของจิต ที่มีลักษณะถูกแรงกระตุ้นภายนอก แล้วจิตแสดงตอบสนอง จึงเกิดผลพฤติกรรมแบบซ้ำๆ หรือบ่อยๆ ในชีวิตของเรา ดั่งที่เขาใช้อาหารล่อสุนัขทดสอบทุกวัน จนเห็นพฤติกรรมได้

๔) "แก่นสารของความสุข" คือ อะไร

               คำว่า "ความสุข" อาจต้องนิยามให้เข้าใจก่อนว่า คืออะไร  คำว่า "สุข" (คำนาม) หมายถึง ความสบาย ความสำราญ ความปราศจากโรค เช่น สุขกาย คือ ไม่มีโรคภัย หรือความสนุกสนุกเพลิดเพลินทางกายภาพ สุขใจ คือ ความอิ่มใจ พอใจ สบายใจ (พจนานุกรม ปี ๒๕๓๐ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ) คำกริยาวิเศาณ์ คือ สะดวก เจริญ ดี ย่ายินดี พระพรหมคุณาภรณ์กล่าวไว้ว้า "ความสบายหรือความสำราญ เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา และพากันแสวงหาตามแต่สติและปัญญา ด้วยวิธีการต่างๆ แยกออกได้เป็นสองฝ่าย คือ ความสุขทางกาย กับความสุขทางใจ"  

               อันที่จริง คำนี้เราใช้อยู่ประจำวันอยู่แล้ว แต่ไม่รู้ว่าใช้อยู่ ในตอนเช้าห้องน้ำนั่นไง ห้องน้ำเรียกว่า "ห้องสุขา" แปลว่า ห้องแห่งความสุข หมายถึง ห้องที่เราสามารถปลดความทุกข์ทางกายออกไป ชำระความทุกข์ประจำสังขาร ร่างกาย จากนั้น เราก็รู้สึกว่า "สบายกาย" เพราะนี่คือ ความทุกข์ที่จรไปมาอยู่ตลอดจนสิ้นกาย แต่ความสุขแบบนี้ก็ธรรมดาไป เราไม่รู้สึกสุขจริงๆ เพียงแค่บำบัดกายเท่านั้น มองในแง่มุมกลับ ความสุขจะเกิดได้ก็เพราะมีความทุกข์ถ่วงน้ำหนักไว้ เมื่อทุกข์เกิด สุขนั้นถ่วงไว้ เมื่อสุขมี เพราะทุกข์ลดลง ซึ่งจริงๆ ทั้งสองมีคู่กันเสมอ มิได้อยู่ห่างกันเลย

               ความสุขที่เกิดจากทางกายอีกหลายๆทาง ที่เราเสพสุข ติดอยู่คือ มีทรัพย์สิน เงินทอง มีบ้านหลังใหญ่ มีข้าวของมากมาย มีอาหาร อากาศ มีบริวาร มีคู่สามี ภรรยา ลูก ฯ นี่ก็เอื้อให้เราเสวยสุขได้ เป็นความสุขที่อิงอามิสนั่นเอง ซึ่งก็ไม่มั่นคงเสถียรอีก เพราะสุขนี้ยังมีสิ่งเสียดแทงอยู่มากมาย เรียกว่า "สุขแบบโลกียสุข" แล้วยังต้องการอะไรอยู่อีกหรือไม่ แน่นอนชีวิตเสมือนแอ่งที่พร่องน้ำอยู่เสมอ ย่อมต้องการสุขที่ยิ่งขึ้นไปอีก หากเราไม่รู้จักคำว่า "พอ" ความสุขก็ไม่สิ้นสุดในทางโลกนี้ คำถามคือ เราจะเอาความสุขไปทำอะไร มันทำประโยชน์อะไรได้บ้าง

               "ความสุข" ที่เรายังเข้าไม่ถึงกันมากนัก คือ ความสุขที่อิงความอิสระ ไร้แรงเสียดทานใจ นั่นคือ "สุขใจในปัญญา" หมายถึง การเสพสุขด้วยการเข้าถึงจิตตนอย่างลุ่มลึก ที่อิงทางศาสนา (พุทธ) สุขที่ใจมีคุณภาพด้วย ปัญญา ปิติ สันติ สงบ อิสระ สันโดษ สติ ปล่อยวาง เมตตา เสียสละ ช่วยเหลือสัตว์โลก ฯ เหล่านี้คือ กิริยา อาการ คุณสมบัติ คุณภาพของจิตที่จะก่อให้เกิดปีติขึ้นในใจตน ยิ่งกว่านั้น ความสุขที่อยู่เหนือสุข (อิสระ) จากความสุข และสิ่งทั้งปวง  คือ แก่นสารของความสุขที่แท้จริง แต่ชีวิตสามัญชนคนบนโลก ได้เกาะกุม รุมเร้า เฝ้ากอด ยึดไว้ ซึ่งความต้องการ สิ่งทั้งหลาย โดยไม่มีอุบายแก้อยากหรือบำบัดตนเป็น ก็เป็นทุกข์ร่ำไป ทั้งเช้า สาย บ่าย ค่ำ ยามดึก จนเวียนวนในวงจรชีวิตแต่ละวันเช่นนี้ จนกว่าจะรู้จักปล่อยวาง หรือสิ้นใจ

               จากมุมมองนี้ อาจเป็นหลักการมากไป ที่จะทำตามได้ ความฝันของแต่ละคน แต่ละกลุ่มในโลก สังคม ชุมชน ฯ ซึ่งอาจดูห่างไกลความสุขทางใจมาก แม้จะอยู่ในโลกความเป็นจริงของชีวิตแบบธรรมดาสามัญชนก็ตาม กระนั้น เราก็มองเห็นโครงสร้างแนวคิด ความเชื่อ ทั้งสามกรอบแล้ว อยู่ที่เราว่า จะนำมาหรือคิดเป็นฐานใหม่ เพื่อรับรองในการดำรงชีวิตได้อย่างไร ให้เหมาะสมกับยุคของตน โดยไม่ทิ้งหลักการเหล่านั้น และไม่ยึดมั่นตนเองจนเกินไป

๕) "อุดมคติของเป้าหมายชีวิต" คือ อะไร

               "ความสุข" (Happiness) เป็นภาษาที่สื่อถึงภาวะความสุข ความสบายทางกาย ทางใจ เช่น ในโลกคนที่มีทรัพย์สินเงินทอง มักถูกมองว่า มีความสุข ความสบาย สวรรค์ วิมาน มักจะมองว่า เป็นแดนงดงาม เป็นที่สบาย เสพสุข หรือสูงไปกว่านั้นคือ อาณาจักรพระเจ้าหรือพระนิพพาน คือ แดนสุขาวดีเหนือสวรรค์ทั้งปวง

               ผู้เขียนมองว่า ทั้งหมดดังกล่าว เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่มิให้เราหลงทาง และให้เราอยู่ในกรอบของสังคมโลกได้ เพราะอย่างไรเสีย เราไม่มีทางหนีโลกได้ หนีวงจรชีวิตที่ซ้ำซากนี้ไม่ได้ และเราอาจเจอวิธีแบบใหม่ๆ สุดท้ายก็ต้องยึดฐาน ๓ ฐานนี้ไว้ในที่สุด คือ

              ๑) ฐานของตัวเอง ที่ประกอบด้วย กาย และจิต รวมเรียกว่า "ชีวิต" ทีนี้ชีวิตนี้ มันมีเส้นทางของมัน แม้เราจะปฏิเสธไป หรือไม่รู้ก็ตาม ทุกคนจะต้องดำเนินไป เส้นทางนี้คือ เกิด เติบโต แก่ชรา เจ็บป่วย และเสียชีวิต เมื่อเห็นทางเช่นนี้แล้ว ก็มาตั้งเป้าหมายในการดำรงชีวิต รักษากาย ใจ ให้เกิดคุณภาพต่อตนเองอย่างไร เป็นทางเลือกเสรีของแต่ละตน

              ๒) ฐานภายนอก  เช่น โลก สังคม สิ่งแวดล้อม กฎหมาย ทรัพย์สิน สิ่งต่างๆ ฯ ซึ่งเรามีชีวิตอยู่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้เอื้อให้ทั้งสิ้น เราจะมีชีวิตเพื่อสิ่งเหล่านี้ หรือจะประนีประนอมกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร

             ๓) ฐานอุดมคติ เป็นฐานที่ไร้ตัวตน ที่ใครไม่มีทางรู้ เป็นวิถีทางแห่งปัจเจกบุคคลที่ต้องการหลักการ เป้าหมาย ปักธงอุดมคติเอาไว้ อยากทำอะไร ก็ลงมือทำ แสดงออกไปอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะไปสอดคล้องกับฐานตนเอง แต่ต่างกันที่ฐานนี้ เน้นความสุขแบบมองข้ามช็อตจากโลกไปสู่ภพหรือชาติอนาคตต่อไป หรือหากไม่เชื่อแบบนั้น ก็ควรมองในปริมณฑลโลกว่า ชีวิตอนาคต ต้องวางหลักอุดมคติ ไปแบบใด จวบจนสิ้นชีพ เพื่อให้ตนเองวางใจ สบายใจ มีสันติ จะได้นอนหลับตาอย่างถาวรเมื่อคราสิ้นบุญ

              นอกจากนี้ ยังมีข้อคิด ประสบการณ์ที่ถ่ายทอดลง G2K ของแต่ละท่านที่ผู้เขียนอ้างมาเป็นคติหรือมุมมองสะท้อนเรื่องความสุขที่แต่ละคนประสพพบเจอในแต่ละวันแล้วแบ่งปันที่นี่

               ๑) คุณ Noktalay อ้างจากท่าน ดาไล ลามะ ว่า "จิตสงบ ไม่ใช่จิตที่ไม่รู้สึกรู้สาอะไร หรือภาวะจิตใจที่เฉยชา การมีจิตสงบ หมายถึง สภาวะจิตที่มีรากฐานมาจากความรักและความกรุณา  ซึ่งเปี่ยมด้วยความรู้สึกที่ไวมาก จิตที่สงบจึงไม่ใช่เพียงแค่การอยู่เนิ่งเฉยเท่านั้น  แต่หมายถึงการมีปัญญารู้เท่าทันสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง จึงควรทำให้จิตละหรือสงบจากการยึดมั่นถือมั่นในสรรพสิ่งใด"

                ๒) คุณ Kanyarat กล่าวถึงหลัก ๓ ข้อที่จะสร้างความสุขคือ "1) Self-determination :การตั้งเป้าหมาย และ ทำมันให้สำเร็จด้วยตัวของเรา    2)Self-value  : การรู้จักคุณค่าในตนเอง อาจจะมีหลายสถานการณ์ที่ทำให้เรามองคุณค่าของตนเองลดลงไป บีเชื่อว่าทุกสถานการณ์ไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่มันเกิดขึ้น แต่มันเกิดขึ้นเพราะให้เราเรียนรู้ที่จะเห็นคุณค่าของตนเองมากกว่าการลดคุณ ค่าของตนเองลงนะคะ ลองเรียนรู้ข้อคิดที่ได้จากเหตุการณ์ต่างๆ แล้วสิ่งนั้นจะทำให้คุณเข้มแข็งในการก้าวเดินต่อไปค่ะ   3) Self-efficiency : การอยู่อย่าง ''พอดี พอเพียง'' บีว่าสิ่งนี้จะทำให้เราเรียนรู้จักความว่า '' ความสุข '' ได้มากยิ่งขึ้นนะคะ"

                   ๓) คุณบุษยมาส แสงเงิน กล่าวไว้สั้นๆว่า "ความสุข ต้องเริ่มที่ตัวเราเอง ก่อนเสมอไม่ใช่รอ "การเสนอ" จาก "คนอื่น" "

                   ๔) คุณสมศรี นวรัต (หมอเปิ้ล) กล่าวว่า "จริงๆ แล้วผู้เขียนคิดว่า ทุกๆๆ วันเป็นวันดี นะคะ เพราะถ้าทำความดี ชีวิตเราก็จะพบแต่สิ่งดีดี นะคะ ผู้เขียนขอแค่การปฏิบัติศีล 5 ข้อ ซึ่งศีล 5 ข้อ เป็นจริยธรรมพื้นฐานสำหรับการเป็นมนุษย์ ศีล 5 เป็น ธรรมที่ทำให้คนให้เป็นมนุษย์ เพราะผู้ปฏิบัติตามศีล 5 ข้อได้ดีย่อมเป็นคนคุณภาพและสามารถยกคุณภาพชีวิตของตนให้พัฒนาขึ้นนะคะ"

                  ๕) คุณสิทธิศักดิ์ ดอกหอม กล่าวว่า "ความสุขถ้าเราแบ่งปันก็จะทวีคูณเพิ่มเป็น สองเท่า แต่ความทุกข์ ถ้าแบ่งปันกัน มันจะลดลงครึ่งนึงเสมอ"

                    ๖) คุณอทิตยา ใจหล่อ กล่าวว่า "เพราะได้อ่านหนังสือ "ความสุขโดยสังเกต"  "...ก็เพราะเราเป็นเรา คนทุกคนมีความเป็นตัวเอง ดังนั้นดิฉันจึงเลิกตั้งคำถาม เลิกสงสัย ถ้าพูดในภาษาดิฉันจะบอกว่า “ตามทาง”

                     ๗) คุณพิกุล พุทธมาตย์ กล่าวว่า "ความสุขของคนเรานั้นบาง ครั้งก็แค่ง่ายๆ ใกล้ตัวจนเราลืมนึกว่าไป เราเองก็ทำได้การได้ไปเห็นธรรมชาติ อยู่กับธรรมชาติ ก็ทำให้เรายิ้มได้ และรอยยิ้มเหล่านั้นก็ถูกบันทึกทั้งในความจำของ Memory Card ของกล้อง แม้แต่ในสมองของเราก็เก็บไว้เช่นกันความทรงจำในสถานที่ต่างๆ การไปแต่ละครั้งก็ให้ความรู้สึกไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง แม้จะไปในสถานที่เดียวกัน เวลาคงเดิม แต่ความรู้สึกและความทรงจำของเราเก็บเข้ามาใหม่ได้เสมอรอยยิ้มทุกรอย ยิ้มที่เกิดขึ้นในขณะถ่ายภาพก็เป็นความสุขอีกรูปแบบหนึ่ง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่เชื่อเถอะว่า ความสุขนั้นเป็นสิ่งที่ดีต่อพวกเราเสมอเก็บภาพมาฝากแล้วกันค่ะ"

                  ๘) คุณมาลัยพร จันทคาตร ก็เจอหนังสือดีสร้างสุข กล่าวว่า "ช่วงเวลาแห่งความสุขใดที่เราไม่ควรพลาด คือเวลาของครอบครัว ...เวลาแห่งความสุข คือของขวัญที่ดีที่สุดในครอบครัว    ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่สำหรับฉันแล้วเลือกที่จะใช้เวลาวันหยุดนี้ให้เป็นวันของครอบครัวที่แท้จริง และถ้าจะให้สุขมากกว่านี้ ก็ลองหาหนังสือธรรมะดีๆ มาอ่านกันนะคะ "ภูมิใจเสนอเลยกับ “ผ่านทุกข์ ก็เจอสุข” เล่มนี้"

                  ๙) คุณเกศินี จุฑาวิจิตร ได้แรงใจจากการอ่านหนังสือ "อมยิ้ม อิ่มสุข" ว่า  "อมยิ้ม อิ่มสุข เป็นหนังสือของ “ธรรมะอารมณ์ดี” เครือข่ายพระวิทยากรที่เดินสายเผยแผ่ธรรมะไปทั่วประเทศด้วยสโลแกน “สนุก สุข ซึ้ง กินใจ...ความสุขแท้” เป็นเรื่องดีๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรา   แต่เรามักมองข้ามสุขแท้ ออกไปดิ้นรนไขว่คว้าหา “ความสุขเทียม” ที่อยู่ห่างไกล"

                 ๑๐) คุณรังสรร มูลน้อย กล่าวว่า "ความสุขที่สุดของผม คือการได้อยู่ที่บ้านเกิด บ้านที่พร้อมหน้าพร้อมตา มีพ่อ แม่ น้องชาย และเพื่อนบ้านในชุมชน  ความสุขบางทีไม่ต้องร่ำรวย ไม่ต้องมีพร้อม ไม่ต้องมีครบทุกสิ่งอย่าง แต่การที่เราได้อยู่กับสิ่งที่เราผูกพัน สิ่งที่เป็นวิถีชีวิต สิ่งที่เราโตมากับมัน มันคือสุขที่สุดในชีวิตของผมแล้วครับ"

            ผู้เขียนขออนุญาตนำข้อคิดของท่านมาลง เพื่อย้ำให้เห็นว่า ความสุข มีต่างแขนงกัน แล้วแต่เราจะหาเจอหรือพินิจกับมันอย่างอิ่มเอม ผู้เขียนย้อนกลับไปค้นหาคำเหล่านี้ ๒๑ วัน ขอบคุณสำหรับคำดีๆ ที่บันทึกให้ทุกคนได้ซาบซึ้งกับคำว่า "ความสุข" ครับ

                                                         ---------------------<>----------------------    

หมายเลขบันทึก: 556909เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 14:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ธันวาคม 2013 19:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

ความสุข อยู่ที่ในใจเราเอง นี่แหล่ะค่ะ กำหนดสุข ก็ได้สุข กำหนดทุกข์ก็ได้ทุกข์...ขอบคุณค่ะ :):)

-สวัสดีครับยาย..

-ขอบคุณความสุขที่ได้รับจากที่แห่งนี้ครับ...

-ขอบคุณครับ


อ่านบันทึกนี้ก็มีความสุขในปัจจุบันขณะ...ความสุขของผมคือทุกวินาทีนี้ได้ช่วยเหลือผู้อื่นและตระหนักตื่นรู้ในความสุขใจของตนเอง ขอบคุณมากครับผม

ใช่...เลย สุขปัจจุบันขณะ..นั่นคือ สุขแห่งสติ ครับอาจารย์ Pop และที่สุขต่อมาได้จากคนอื่น ที่เราให้กำลังกาย แต่ได้กำลังใจ นี่คือ สุขนอก สุขในจริงๆครับ

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ทุกท่านนะครับ..จะได้มีกำลังใจเขียนต่อไปครับ

เป็นบันทึก ที่เขียนจากการสืบค้นทั้งสารสนเทศจากภายนอก และนำความเห็นของกัลยาณมิตร GotoKnow มาอ้างอิง แสดงถึงความวิริยะอุตสาหะ ชื่นชมค่ะ และขอขอบคุณสำหรับเรื่องที่น่าเรียนรู้นี้

"พลังจิต" ตามแนวคิดของ "ฟรอยด์ (Freud) ที่ไอดินฯ อธิบายกับนักศึกษาแบบให้ใกล้ตัวเขา เพื่อเร้าความสนใจ และทำให้พวกเขาเข้าใจได้ง่าย ก็คือ ได้ยกเรื่องความสัมพันธ์กับเพศตรงกันข้าม ค่ะ ว่า นักศึกษาที่ "Id" มีพลังอำนาจเหนือ "Ego และ Superego" จะแสดงพฤติกรรมตามความพอใจของตน (Law of Pleasure) คือ มีความสัมพันธ์แบบขาดการควบคุม พอใจที่จะทำอะไรก็ทำโดยไม่มีขอบเขต ไม่คิดว่าทำแล้วจะเกิดผลเสียต่อตน และครอบครัวอย่างไร คนที่ "Superego" มีพลังอำนาจเหนือ "Id และ Ego" จะแสดงพฤติกรรมตรงกันข้ามกับ "พวก Id" คือ ทำตามหลักศีลธรรมคำสอน (Law of Morality) เก็บกดความต้องการของตน และไม่ยอมคบหากับเพศตรงกันข้ามเลย พวกที่นักจิตวิทยาถือว่ามีบุคลิกภาพเหมาะสมที่สุด คือ พวกที่ "Ego" มีพลังอำนาจเหนืออีกสองอย่าง ซึ่งจะแสดงออกตามหลักความเป็นจริง (Law of Reality) คือ ยอมคบกับเพื่อนต่างเพศตามความเป็นจริงของวัยที่เป็นวัยสนใจเพศตรงกันข้าม แต่อยู่ในขอบเขตที่เหมาะสม คือ มีความสัมพันธ์ที่เหมาะกับคนที่ยังอยู่ในวัยเรียน คอยเป็นกำลังใจให้กันและกัน วางเป้าหมายด้านการเรียนร่วมกัน ช่วยเหลือกันด้านการเรียนและด้านต่างๆ เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายประสบความสำเร็จ

สำหรับความสุขของไอดินฯ ในช่วงนี้ คือ สุขจากความซาบซึ้งใจที่ลูกพาแม่เที่ยว ทำให้ได้อยู่ใกล้ชิดลูก ได้เห็นลูกทำในสิ่งดีๆ และมีความสุขที่ตนเองก็ได้แสดงน้ำใจต่อครอบครัวชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้พบกันที่กระบี่เมื่อ วันที่ 18-19 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะลงในบันทึกต่อไป ค่ะ

"ความสุข" ที่เรายังเข้าไม่ถึงกันมากนัก คือ ความสุขที่อิงความอิสระ ไร้แรงเสียดทานใจ นั่นคือ "สุขใจในปัญญา" หมายถึง การเสพสุขด้วยการเข้าถึงจิตตนอย่างลุ่มลึก

ต้องเพียรฝึกตนจนกว่าจะพบความสุขแบบนี้นะคะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณอ. ไอดิน กลิ่นไม้ ที่อ่านนะครับ เป็นเรื่องที่ผมเองก็เรียนมาจากสมาชิกที่นี่ เพราะในตำราไม่มีเรียน ในห้องเรียนไม่มี เมื่อรู้เค้ามูล เค้าโครง ก็มองเห็นประเด็นต่างๆ มากมาย..จะค่อยๆ ทยอยเขียนนะครับ

ขอบคุณอ.ภูสุภาด้วยที่อ่านและนำมาอ้างนั้น ซึ่ง อ. ก็ตาคมและเก็บตกได้แก่นสารดีที่เป็นประโยชน์แก่คนอื่นได้ ผมก็จะเขียนประเด็นต่างๆนำเสนอต่อไป

ขอบคุณครับ

สุขหลายหลากมากมี ในบรรดา นักบันทึกแห่งโกทูโนว์ สืบค้นมาบอกเล่ากล่าวอ้าง

ขอบคุณที่แบ่งปัน

ความสุข คือ การค้นพบตัวเอง...

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท