๑๗๒. จักรวาล ขุนเขา ธรรมชาติสรรพสิ่งและนิเวศวิทยาป่าไพรบนเรียวไผ่


                                       

 

Subject / Title : ป่าทั้งป่าบนไผ่และใบไผ่     
Dimension :  ๔๕x๖๕ เซ็นติเมตร
Technique : วาดเส้นดินสอบนกระดาษ ถ่ายทอดบรรยากาศจากสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมจริง 
                 (Environmental Landscape Drawing)
Artist :        วิรัตน์ คำศรีจันทร์
Location :    อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน
Date :         ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖
Related Situation and Contextuality :

ผมไปเป็นหัวหน้าทีมถอดบทเรียนให้กับกระบวนการสร้างเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ถิ่นเกิด รักการศึกษาเรียนรู้ รักศิลปะ และมีสุนทรียปัญญา ในโครงการรักป่าต้นน้ำ ของเครือข่ายโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์และคนเมืองน่าน ประสานงานโดยบางกอกฟอรั่ม Thaicivicnet องค์กรสนับสนุนหลักโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) สนับสนุนแหล่งวิทยาการและถ่ายทอดบทเรียนเพื่อสร้างกลุ่มเยาวชนต้นกล้าศิลปะโดยโรงเรียนธรรมชาติ บ้านริมน้ำของเป้ สีน้ำ สนับสนุนแหล่งการเรียนรู้โดยอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน สนับสนุนแหล่งประชุมและบริหารจัดการทีมทำงานโดยบ้านภู่กันศิลป์ ทีมถอดบทเรียนจะคอยทำหน้าที่สนับสนุนการสร้างความรู้ขึ้นจากกระบวนการ เพื่อทำให้การทำงานในระยะต่างๆ สามารถยกระดับการดำเนินการไปด้วยกันให้ครอบคลุมได้ทุกมิติ นับตั้งแต่การสร้างเป้าหมายที่ต้องปรับเข้าหากันและทำให้จุดหมายต่างๆมีความเชื่อมโยงกันได้อย่างเหมาะสม หากมีอุปสรรคปัญหาก็สามารถร่วมกันเรียนรู้และร่วมกันแก้ปัญหาได้โดยวิถีแห่งการใช้ปัญญาร่วมกัน

ต้องคอยติดตามวิเคราะห์ ถอดบทเรียน พัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ การสร้างปฏิสัมพันธ์เพื่อการทำงานร่วมกันของคนหมู่มากแต่มีความแตกต่างหลากหลายกันหลายมิติ ให้ข้อชี้แนะเพื่อมีแนวคิดและสร้างการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆของกลุ่มคนทำงานซึ่งมีความแตกต่างกันหลายระดับ ช่วยแก้ปัญหาและปกป้องสถานการณ์มิให้กระทบและทำให้กลุ่มผู้เกี่ยวข้องทำงานด้วยกันดังที่ต้องการไม่ได้ รวมทั้งจัดกระบวนการพูดคุย วิเคราะห์สร้างความแยบคายลึกซึ้งของงานความคิดภายใต้กิจกรรมการทำงาน เสริมการอธิบายเชิงทฤษฎีและทำให้เกิดข้อมูลที่จำเป็นไปบนบริบทการทำงาน รวมทั้งทำหน้าที่สังเกตการณ์ บันทึก สำรวจความจำเป็นในการสร้างความรู้และให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และสังเคราะห์องค์ความรู้ ทั้งเพื่อใช้สนับสนุนการทำงานและเผยแพร่แก่สังคมทั่วไป

กระบวนการ'สร้างต้นกล้าศิลปะ' เป็นการจัดกระบวนการค่ายการเรียนรู้ในอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน โดยมีเป้ สีน้ำและคณะ ซึ่งเป็นศิลปินเพลง กวี และจิตรกร เป็นทีมวิทยากร เพื่อสร้างทักษะพื้นฐานให้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชนจำนวน ๘๐ คนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายและผ่านการเลือกสรรมาแล้วอย่างเป็นระบบเป็นเวลา ๓ วัน ๒ คืน ให้เด็กเข้าถึงการเขียนรูปได้ ร้องเพลงเป็น และรักสิ่งแวดล้อม หลังจากจากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะและจัดกระบวนการต่างๆเพื่อส่งเสริมการสร้างผลงานของเด็ก แล้วนำไปแสดงผลงานทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นเมืองน่าน

ในกระบวนการดังกล่าว ตัวอย่างบทเพลง งานศิลปะ บทกวี นิทาน ตลอดจนแนวการสื่อ อธิบาย พัฒนาระบบวิธีคิดอย่างเชื่อมโยงของเป้ สีน้ำ และคณะ เพื่อให้ประสบการณ์แก่เด็กด้วยวิธีการทางศิลปะ พร้อมกับทำให้เด็กสามารถเกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างเชื่อมโยง สามารถเห็นและสัมผัสสิ่งแแวดล้อม สังเกตและเรียนรู้ให้ได้อารมณ์ ความรู้สึก และมิติจิตใจที่ละเอียดอ่อนลึกซึ้ง จนสามารถสื่อสะท้อนและถ่ายทอดลงสู่ผลงานศิลปะต่างๆได้ ทั้งการร้องเพลง วาดรูป  

ตัวอย่างต่างๆทำให้สามารถเห็นการทำงานความคิดและการสร้างแรงบันดาลใจ ที่คิดอย่างรอบด้าน ลึงซึ้ง กว้างขวาง แต่บันทึกและสื่อสะท้อนลงบนผลงานศิลปะที่ลงตัวและกระทัดรัดที่สุด เช่น บทเพลงที่สั้นกระชับแต่ถ่ายทอดความเป็นจริงให้มนุษย์รู้สึกต่อความเป็นจริงของทั้งโลกและจักรวาล น้ำค้างหยดเดียว ใบไม้ใบเดียว แต่บอกเล่าป่าทั้งป่า หิ่งห้อยตัวเดียว แต่เล่าเรื่องของสังคมมนุษย์และพลังสร้างสรรค์การอยู่ร่วมกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษย์ เหล่านี้เป็นต้น ทำให้การทำงานศิลปะมีความเชื่อมโยงกัน ของการพัฒนาความเป็นมนุษย์ สังคมมนุษย์ กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Insigth, Inspiration and Methodological Design :

การใช้แนวเข้าสู่การสังเกต วิเคราะห์ ถ่ายทอดสื่อสารและเขียนความรู้ โดยใช้เพียงกรอบทางทฤษฎีเพื่อการถอดบทเรียนเพื่อบันทึก ถ่ายทอด สร้างองค์ความรู้และถ่ายทอดประสบการณ์สุนทรียะปัญญาของสังคมในลักษณะดังกล่าวจากกรณีศึกษานี้ จะไม่เพียงพอและไม่สามารถแสดงให้ประจักษ์ได้เพียงการอธิบายและพรรณาความ การพัฒนาตนเองและการพัฒนาทีมวิจัยถอดบทเรียน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปสัมผัสมิติของตัวปัญญาด้านในที่มีความเป็นชีวิตอยู่ในกระบวนการสร้างงานศิลปะ ด้วยการทดลองเขียนภาพที่ต้องใช้แนวทางในการทำงานแบบเดียวกันกับที่ศิลปินให้แนวการเรียนรู้แก่กลุ่มเด็กและเยาวชน ผมจึงไปนั่งอยู่ในป่าแหล่งเดียวกับที่กลุ่มเด็กและเยาวชนเขียนรูป เดินคิดใคร่ครวญ ทบทวนความรอบด้าน ไปหยุดอยู่ที่ป่าไผ่หนาแน่น แล้วนั่งพิจารณาลงไปที่กอไผ่กอหนึ่ง

ไผ่แบบนี้จะมีอยู่ในป่าหนาแน่น สามารถบอกเล่าความร่มรื่น ระดับความอุดมสมบูรณ์ ระบบนิเวศ ภาพความเป็นแหล่งต้นน้ำ แสงพระอาทิตย์ สายลม และสิ่งรอบข้าง แต่จะต้องเขียนให้น้อยที่สุด เหมือนเลือกหยิบใบไม้เพียงใบเดียว หิ่งห้อยเพียงตัวเดียว น้ำค้างเพียงหยดเดียว เพื่อสื่อแสดงและนำผู้คนให้สามารถเข้าไปสู่ประสบการณ์ทางสุนทรียปัญญา ให้ได้รสทางปัญญาที่ลึกซึ้ง แยบคาย กว้างใหญ่ และเชื่อมโยงกับธรรมชาติของสรรพสิ่ง ทำให้ได้แนวทางวิเคราะห์ ถ่ายทอด และสร้างความรู้ ให้เหมาะสมมากขึ้นกับแนวการทำงานของศิลปินและกระบวนการสร้างต้นกล้าศิลปะดังที่ต้องการ..

หมายเลขบันทึก: 556890เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2013 09:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

Thank you.

I'm reminded of some 'Chinese' (a few brush strokes) paintings. How they capture the essence of the subject (should I say --object-- ;-) with minimal fuss is a lesson in "parsimony" (in simple words "cut the craps and get to the point").

...อ่านธรรมชาติออก...เข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งนะคะอาจารย์

สวัสดีครับคุณ sr ครับ
ขอบพระคุณครับที่นำเอาแก่นธรรมมาฝากอีก ผมได้ทึ่งกับการแลกเปลี่ยนแบ่งปันทรรศนะและวิธีเกิดหัวข้อการสนทนาของคุณ sr เสมอ

สวัสดีครับ ดร.พจนาครับ
ขอบพระคุณครับ ชอบตรงที่อาจารย์ใช้คำว่า 'อ่านธรรมชาติ' นี่แหละครับ มันมีภาวะอย่างที่ว่านี้จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท