วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง "เนรคุณ"


 

วิจารณ์ภาพยนตร์ เรื่อง “เนรคุณ”

 

                                                                 โดย เหมือนขวัญ เรณุมาศ

 

                เนรคุณ คือภาพยนตร์สารคดีชีวิตจริงของหนุ่มชาวลาวชื่อว่า “ทะวีสุก” ภายในหนังเรื่องนี้ จะเน้นการถ่ายทำเพื่อเล่าประวัติศาสตร์จากความทรงจำและจากชีวิตจริงของครอบครัวนายทะวีสุกเป็นส่วนใหญ่

                ส่วนเรื่องย่อๆ ของภาพยนตร์เรื่องเนรคุณก็มีอยู่ว่า ในช่วงที่เกิดสงครามในอินโดจีน  ลาวเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสู้รบเพราะพิษจากอเมริกา  พ่อของทะวีสุก เป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องออกไปช่วยอเมริกาในการทำสงคราม  แต่สงครามในอินโดจีนครั้งนี้ อเมริกากลับเป็นฝ่ายแพ้  เมื่ออเมริกาอ่อนแอและพ่ายแพ้ ประกอบกับการเปลี่ยนอุดมการณ์ทางการเมืองของลาวเอง ฝ่ายที่เคยทำงานให้กับอเมริกาจึงเดือดร้อน โดนจับกุมตัวเสมือนเป็นเชลยสงคราม พวกเขาหลายคนถูกจับตัวไปอยู่ที่ค่ายกักกันสันดานเช่นเดียวกันกับพ่อของทวีสุก และการที่พ่อถูกจับตัวไป เหตุการณ์นี้จึงทำให้ครอบครัวของทะวีสุกต้องแตกแยกและขาดการติดต่อกันมาเป็นเวลานาน ทะวีสุก แม่และน้องคนอื่นๆ จึงต้องพาชะตากรรมของตนเองโยกย้ายไปอาศัยอยู่ในสหรัฐอเมริกา

                 นายทะวีสุก แม่และน้องอาศัยอยู่ในอเมริกามาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี แต่ก็ใช่ว่าชีวิตพวกเขาที่อเมริกาจะราบรื่น แม้ว่าอเมริกาจะเป็นสถานที่ที่มีแต่ความเจริญ แตกต่างจากมาตุภูมิลาวของพวกเขาก็ตาม แต่ความเจริญของอเมริกาก็มีแต่ความซับซ้อนระหว่างความสัมพันธ์ของผู้คนจำนวนมาก ดังที่เห็นว่าในอเมริกาจะมีทั้งชาวลาว เวียดนาม และกัมพูชาอาศัยอยู่จำนวนมาก  ความซับซ้อนปนเปของคนต่างวัฒนธรรมจึงเป็นการง่ายมากที่จะทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างความต่างด้านความคิด วัฒนธรรม และการเป็นอยู่ที่ไม่สามารถเข้ากันได้

 

 

การอาศัยอยู่ในอเมริกาเป็นเวลานานของครอบครัวพลัดถิ่นครอบครัวนี้ ทำให้สมาชิกในครอบครัวบางคนต้องโดนถูกกลืนรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของตัวเองลงไปเรื่อยๆ แม้อย่างทะวีสุกที่รู้ตัวเองว่าดั้งเดิมแล้วตัวเองเป็นคนลาว แต่ก็มีบางอย่างที่จิตใจและการกระทำมันดูย้อนแย้งกัน เช่น การเปลี่ยนมาแต่งกายที่เป็นสากลตามแบบชาวอเมริกา และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างเชี่ยวชาญ รวมถึงความคิดความเชื่อบางอย่างที่เปลี่ยนไป สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากลักษณะสังคมที่เขาอยู่ได้หล่อหลอมให้พวกเขาเป็น

           แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย อยู่ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรม ทะวีสุกและครอบครัวที่ปรับตัวไม่ได้ จึงเกิดความรู้สึกเหมือนกับตัวเองอาศัยอยู่ในสถานะ “ความเป็นอื่น”อยู่ตลอดเวลา ซึ่งความรู้สึกที่ทำให้พวกเขาคิดว่า ตัวเองเป็นคนอื่นสำหรับที่นี่เกิดขึ้นจากการจัดวางตำแหน่งภายในสังคมที่เขาอาศัยอยู่ และจากวัฒนธรรมกระแสหลักภายในสังคมที่แตกต่างจากตัวเขาเอง ปัญหาเหล่านี้ที่เกิดขึ้นกับครอบครัวนายทะวีสุก มันกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาที่อึดอั้นตันใจและสะสมมาเป็นเวลานาน

          ดังนั้นด้วยแรงกดดันต่างๆ ที่เขาได้รับ ทำให้แม้ว่าตัวเขาจะอยู่ในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาก็ตาม แต่ใจของเขาก็ถูกผูกโยงไปอย่างแนบแน่นกับบ้านเกิด กับญาติพี่น้องในบ้านเกิด(ประเทศลาว) ของตัวเอง ความผูกพันดังกล่าวจึงทำหน้าที่กระตุ้นเตือนให้เขาพยายามติดต่อกับพ่อที่อาศัยอยู่ในเมืองไทย รวมทั้งยังติดต่อกับพี่สาวที่ประเทศลาว ฯลฯ นี่เป็นการสะท้อนให้เห็นว่าจิตใต้สำนึกของทวีสุกยังคงรำลึกถึงมาตุภูมิอย่างลึกซึ้งอยู่   การติดต่อไปมาหาสู่ของครอบครัวคนพลัดถิ่นกับญาติมิตรในมาตุภูมิ ในทางทฤษฏีของคนพลัดถิ่นเช่นนี้จะเรียกว่า “Diaspora - internationalization” หรือ “ขบวนการพื้นที่ทางสังคมตัดข้ามพื้นที่ทางสังคมอื่น” เป็นต้น

 

 

 

           อีกหนึ่งกรณีที่สามารถอธิบายในแนวทางดังกล่าวได้  คือเรื่องราวของน้องสาวนายทะวีสุก น้องสาวของเขาก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับคนพลัดถิ่นอื่นๆ ที่ก็ถูกสังคมและวัฒนธรรมแบบตะวันตกเข้าครอบงำ จึงต้องการใช้ชีวิตแบบอิสระ ต้องการคบหาเพื่อนชาย และติดนิสัยชอบเที่ยว โดยไม่ต้องการอยู่บ้านและไม่เชื่อฟังแม่ อาจจะเรียกได้ว่าเกิดความหลงใหลในความเป็นตะวันตกมากกว่าตะวันออกก็ว่าได้  แต่น้องสาวก็ยังไม่ได้ถูกกลืนให้เป็นวัฒนธรรมแบบตะวันตกอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคมตะวันตกเองแล้ว ตัวน้องสาวเองก็ยังมีความขัดแย้งภายในจิตใจ แต่ในท้ายที่สุดแล้ว น้องสาวก็พบว่า สังคมแบบตะวันตกที่ตนอาศัยอยู่นั้นช่างเลวร้าย และอันตราย เนื่องจากตัวเองได้ประสบกับเหตุการณ์การจี้ปล้นมา รวมไปถึงเมื่อหวนคิดถึงอดีตที่โดนประเทศที่ตนอาศัยอยู่เคยทำร้ายด้วยแล้ว จึงเกิดความต้องการหวนรำลึกถึงรากเหง้าของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง   นั่นคือกลับไปหารากเหง้าทางวัฒนธรรมลาวอีกครั้ง ท่ามกลางคลื่นวัฒนธรรมชาวตะวักตก สาระดังกล่าวนี้ในทางวิชาการจะเรียกว่า “Fundamentalism” (ขบวนการตามหารากเหง้าของตัวเอง) นั่นคือ น้องสาวของทะวีสุกสำนึกรู้อยู่ตลอดเวลาว่าความเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นลาวเริ่มเจือจาง และไม่ชัดเจน จึงพยายามที่จะตามหารากเหง้าของตัวเองอีกครั้ง และรักษาวัฒนธรรมตรงนั้นไว้อย่างแนบแน่น  

 

 

                   ประเด็นที่หนึ่ง เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า การเป็นอยู่และการถูกหล่อหลอมจากสังคมกระแสหลักของครอบครัวนายทะวีสุก มันทำให้อัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่พวกเขาดำรงอยู่     เป็นวัฒนธรรมแบบผสม และการที่พวกเขามีวัฒนธรรมแบบผสม ก็เป็นการส่งผลให้ ทัศนคติ คุณค่าและแบบอย่างพฤติกรรมบางอย่างของพวกเขาที่แสดงออกมาจึงมิได้มีลักษณะเป็นแบบวัฒธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง อันเป็นสาเหตุให้เกิดความหลากหลายไม่กลมกลืน ทั้งนี้ทำให้การปรับตัวและการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอดภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสาระสำคัญของวิถีชีวิตของประชากรที่อาศัยอยู่ในฐานะคนพลัดถิ่น

               ประเด็นที่สอง สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ มีชื่อเรียกที่น่าสนใจว่า “เนรคุณ”   คำว่า “เนรคุณ”  หลายๆ คนที่ชมภาพยนตร์เรื่องนี้มาบ้างแล้วอาจจะเชื่อว่า ความเนรคุณ จะเกิดจากจุดเชื่อมโยงระหว่าง การที่พ่อเนรคุณประเทศหรือเปล่า หรือพ่อเนรคุณต่อครอบครัว ซึ่งทั้งสองแง่นี้ก็ถือเป็นฉากประกอบรองที่นักวิจารณ์หนังอีกหลายๆ คนเลือกใช้ แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว คำว่า “เนรคุณ” ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เกิดจากฝ่ายที่มาจากภายนอกมากกว่า กล่าวคือ การเข้ามาควบคุมของอเมริกาในช่วงสงคราม ซึ่งช่วงแรกทหารอเมริกาก็มีการเกณฑ์หรือบังคับผู้ชายลาวทุกคนให้มาช่วยในการทำสงคราม มีการส่งทหารอเมริกาเข้ามาฝึกให้กับทหารลาว โดยอเมริกาได้จับเลือกเฉพาะผู้ชายลาวเท่านั้นให้แยกออกมาต่างหาก ซึ่งเป็นการพรากลูกพรากเมียของเหล่าทหารในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ถึงกระนั้นก็ตามชาวลาวทุกคนก็มีความเชื่อว่า  อเมริกาจะเข้ามาสร้างความมั่งคั่งร่ำรวยให้กับพวกเขา ชาวลาวโดยส่วนใหญ่ก็เลยมีใจฝักใฝ่ช่วยเหลือทางอเมริกา  ดังเช่น พ่อของทะวีสุกที่เข้าร่วมรบกับอ​เมริกาเพื่อต่อสู้กับคอมมิวนิสต์ในลาวและเวียดนาม เพราะเชื่อว่าจะได้รับค่าจ้างจากอเมริกาจำนวนมหาศาลนั่นเอง  แต่ในท้ายที่สุด สงครามครั้งนี้อเมริกาก็พ่ายแพ้  ทหารลาวที่ร่วมรบก็เสียชีวิตจำนวนมาก ถูกจับตัวและถูกต้อนไปสัมมนา หรือ “ค่ายกักกันสันดาน”  มีชีวิตอยู่อย่างเจ็บปวด ต้องระหกระเหินไปนู้นที นี่ที และยังเป็นการทำให้ต้องห่างเหินออกมาจากบ้านเกิดประเทศลาวอีกด้วย ทว่าทางฝ่ายอเมริกาภายหลังที่สงครามสิ้นสุด ก็ปฏิเสธความผิดทั้งหมด ไม่มีการมาใส่ใจดูแล รับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่มีการเข้ามาช่วยฟื้นฟูประเทศลาว และเหล่าทหารลาว  ที่ซึ่งเคยร่วมช่วยเหลืออเมริกาเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้นนี่คือสิ่งหนึ่งที่เป็นความหมายของชื่อเรื่อง “เนรคุณ”  ความเนรคุณที่อเมริกามีต่อชาวลาวนั่นเอง

                พ่อของทะวีสุก เป็นหนึ่งในทหารลาวที่ต้องเจอกับภาวะเหตุการณ์ดังกล่าว ต้องจากมาตุภูมิมาอยู่ที่ไทยเป็นเวลากว่า 13 ปี ต้องแยกทางกันกับลูกเมียที่เหลือ เพราะทางฝ่ายเมียและลูกๆ ก็โดนสถานการณ์บังคับไปอยู่อเมริกาในเวลาต่อมา

                นายทะวีสุก แม่ และน้องๆ ของเขา เดินทางถึงอเมริกาด้วยความไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เลยแม้แต่น้อย ทางฝ่ายอเมริกาบอกว่า เมื่อมาถึงแล้วจะมีสปอนเซอร์มาคอยรับเลี้ยงดู (จากคำบอกเล่าของแม่) แต่เมื่อไปถึง พวกเขาก็รออยู่เป็นเวลานาน ปรากฏว่าไม่มีสปอนเซอร์หน้าไหนเข้ามารับไปเลี้ยงดูอย่างดีอย่างที่ได้เคยโฆษณาไว้ ตรงนี้มันจึงทำให้ จากเดิมที่คนลาวจะเชื่อว่า สหรัฐอเมริกาเป็นดินแดนสวรรค์ที่งดงามน่าอยู่ ก็เปลี่ยนไป ดินแดนอเมริกาที่ว่าทำให้ชาวลาวพลัดถิ่นทั้งหลายที่เดินทางไปถึง กลับคิดว่า ยิ่งกว่าอาศัยอยู่ในนรกเสียอีก บ้านที่อยู่อาศัยที่ฝ่ายอเมริกาจัดเตรียมไว้ให้มีแต่ความน่ากลัว มืดสนิท ไม่มีอาหารดีๆ คอยเลี้ยงดู มีให้แต่ข้าวสารธรรมดาเพียงน้อยนิด และอเมริกาก็จัดที่อยู่อาศัยให้ชาวพลัดถิ่นทั้งหลายอาศัยอยู่ร่วมกัน ใกล้ๆ กันหมด เช่น จะมีทั้งชาวลาว กัมพูชา เวียดนาม ในบริเวณนั้น ความปลอดภัยที่พวกเขาจะได้รับก็ไม่มี มีแต่การฆ่ากัน ทะเลาะเบาะแว้ง และแก๊งอันตภารเต็มไปหมด   สิ่งน่ากลัวทั้งหลายที่เกิดขึ้น สร้างความเจ็บปวดอย่างรุนแรงให้กับครอบครัวทะวีสุก และทำให้พวกเขาคิดอยู่ตลอดเวลาว่า พวกเขาไม่ใช่คนที่นี่ พวกเขาเป็นคนอื่นสำหรับที่นี่ ความผูกพันทางวัฒนธรรมลาวของพวกเขาจึงเริ่มถูกทำให้มีความเด่นชัดขึ้นมาอีกครั้ง  และสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขานี้ก็ย่อมแสดงถึง ความไม่เอาใจใส่ และการขาดความรับผิดชอบของอเมริกา ที่บอกไว้ว่า “ที่นี่ จะมีสปอนเซอร์คอยเลี้ยงดูอย่างดี” นั่นเอง

                และนี่ก็คือ อีกหนึ่งตัวอย่าง ที่เราสามารถเรียกได้ว่า เป็นความ “เนรคุณ” ของอเมริกาที่มีต่อชาวลาวพลัดถิ่น เนื่องจากก่อนหน้านั้นที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว ก็ต้องเจอกับสภาวะสงครามที่เกิดขึ้นตลอดตั้งแต่อเมริกาเข้ามา และเมื่อเลือกที่จะเข้ามาหลบหนีภัยสงครามในดินแดนสวรรค์(อเมริกา) ทุกอย่างกลับตรงกันข้ามหมด เพราะอาศัยอยู่ที่อเมริกาตามความคิดของครอบครัวนายทะวีสุก เหมือนกับการหนีสงครามมาเจอสงครามอีกครั้งหนึ่งก็ว่าได้  ดังนั้นครอบครัวของนายทะวีสุก จึงมีการเป็นอยู่ที่ไม่ราบรื่นนักสำหรับแผ่นดินที่สองที่ได้อาศัยพักพิงอยู่ ไม่เหมือนกับความรู้สึกที่มีต่อแผ่นดินมาตุภูมิซึ่งแม้จะโหดร้าย แต่ก็มีความอุ่นใจมากกว่า  เรื่องราวของครอบครัวพลัดถิ่นชาวลาวที่ถูกนำเสนอผ่านสารคดีนี้เรื่องนี้ ผู้เขียนกล้าเอ่ยได้เลยว่าคุ้มค่ามากจริงๆ กับการได้ความรู้ได้อารมณ์ครบทุกรูปแบบ และได้สัมผัสกับกลิ่นอายความรักชาติ หรือ ชาตินิยมลาวอย่างแท้จริงด้วย ภาพยนตร์เรื่องเนรคุณ เป็นหนึ่งในสารคดีประเภท “national cinema” ซึ่งมีประโยชน์ในการชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการทางด้านการเมือง และสังคมรวมถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของผลจากสงคราม ถึงแม้ว่าความหมายเหล่านี้ไม่ได้แสดงเป็นภาพออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ความหมายเหล่านี้ถูกซ่อนไว้ภายใต้ คำบอกเล่า ภายใต้สิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับครอบครัวนายทะวีสุก

 

                การวิเคราะห์ประเด็นเรื่องเพศสภาพ ภาพยนตร์ในเรื่องนี้กำลังเสนอภาพของสังคมที่เน้นย้ำระบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งจะเห็นได้จากครอบครัวของนายทะวีสุก แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของสังคมจารีตที่ผู้หญิงจะไร้สิทธิไร้เสียง และไร้อำนาจสารคดีเรื่องนี้ก็ยังคงทำหน้าที่ในการถ่ายทอดบทบาทของผู้หญิงในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี สังเกตได้จาก แม่ของทะวีสุก ที่มีหน้าที่เพียงแค่เลี้ยงดูลูกๆ การจะมีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องใดๆ นั้นเป็นหน้าที่ของพ่อ หรือฝ่ายผู้ชายแทบทั้งสิ้น เมื่อพ่อมีสิทธิตัดสินใจแต่เพียงฝ่ายเดียวที่จะเข้าร่วมกับกองทัพทหารอเมริกา แม่ก็ไม่มีสิทธิห้าม หรือร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อพ่อสั่งการให้หลบตัวอยู่แต่ในบ้านเท่านั้น แม่ก็ปฏิบัติตาม  หน้าที่หลักของผู้หญิงอย่างแม่ คือการรับภาระการงานภายในบ้าน และการเลี้ยงดูลูกๆ โดยที่แม่เพียงคนเดียว เลี้ยงดูลูกมากถึง 10 คน นอกจากนั้น หลังจากที่พ่อไปมีครอบครัวใหม่ที่ไทยแล้ว แม่ก็ยังคงต้องใช้ชีวิตโสดอย่างลำพังเพียงผู้เดียว เมื่อลูกๆ โตขึ้นก็ทำตัวห่างเหิน ทะวีสุกลูกชายคนโต ก็เป็นหนึ่งในแป้นพิมพ์เดียวกับพ่อ เมื่อโตขึ้นก็วางอำนาจตนเองเป็นหัวหน้าครอบครัว ควบคุมดูแลน้องๆ ทุกคน และบ่อยครั้งมักทำตัวเป็นใหญ่ อวดดี (จากคำบอกเล่าของแม่) คือ ไม่เชื่อฟังแม่ ไม่สนใจสิ่งที่แม่ตักเตือน  เพราะติดค่านิยมเดิมๆ คือการมีอำนาจอย่างเด็ดขาดเหนือฝ่ายหญิงของผู้ชาย เรื่องราวชีวิตฉากนี้แม้จะเป็นเพียงเบื้องหลังชีวิตเล็กๆ น้อยๆของแม่  แต่ภาพตรงนี้เองก็สะท้อนออกมาให้เราเข้าใจ ถึง ความไม่เท่าเทียมกันของสถานะทางเพศในสังคมลาวยุคจารีต

                จุดเด่นของภาพยนตร์ : อาจจะแหวกแนวตรงที่ไม่ค่อยมีภาพที่ต่อเนื่อง หรือยาวๆ เหมือนสารคดีอื่นๆ   แต่จะเป็นการเล่าเรื่องของคนในครอบครัวทะวีสุกและการแสดงสีหน้าท่าทางของผู้เล่า เช่น ท่าทางของแม่ที่ดูเศร้าหมองตลอด บ่งบอกถึงความทุกข์กาย ทุกข์ใจ  รูปสัญญะ ที่เห็นทะวีสุกชอบสูบบุหรี่ตลอดเวลา บุหรี่เป็นตัวบอกผ่านแทนคำพูดได้ว่า อยู่ในสภาวะที่ตึงเครียด สังคมที่ถูกหล่อหลอม และความต้องการทางใจที่จะปลดปล่อยปัญหา ต้องการที่จะแสวงหาความสุขความอิสระ นอกจากนั้น ความโดดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้อีกอย่าง คือเสียงดนตรีที่ไพเราะกึ่งคำพูดกึ่งบทสวดและกึ่งเสียงเพลง ฟังแล้วได้อารมณ์ความเจ็บปวดและการบรรเทาอาการความเจ็บปวดไปพร้อมๆ กัน ซึ่งตรงนี้นับเนื่องเป็นความน่าสนใจที่สามารถดึงดูดผู้ชมให้คล้อยตามและแปรความหมายผ่านภาพ เป็นสิ่งที่ดูแล้วตื้นตันใจได้ดีเลยเชียว     

 

หมายเลขบันทึก: 556485เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2013 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท