ชีวิตที่พอเพียง : ๒๐๕๔. ตามเสด็จเชียงราย ๔. เยี่ยมชมโรงเรียน


 

          คณะตามเสด็จฯ ไปเยี่ยมชมโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา  และโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี ในวันสุดท้าย คือเช้าวันที่ ๒๘ ต.ค. ๕๖   ซึ่งเป็นเช้าที่ชุ่มฉ่ำด้วยฝนที่ตกเรื่อยมาตั้งแต่เมื่อคืน

          จุดเด่นของโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา คือการสอนแบบ มอนเตสซอรี่   ซึ่งเป็นการศึกษาเด็กเล็กระบบ child centered   เป็นการปูพื้นฐานด้านสมาธิ ความมีวินัย และพัฒนาการทักษะการใช้มือ การคิด รู้จักตัวเอง    สำหรับเด็กอนุบาล ๑ - ๓    เมื่อขึ้น ป. ๑ ก็เสริมด้วยวิชา ๘ หน่วยสาระ   พอขึ้น ป. ๔ - ๖ ก็ใช้ constructionism    เราไปเห็นเด็ก ป.๕ รวมกลุ่มกันทำโครงงาน เรื่องการเลี้ยงกบ    ไปเห็นเด็กใช้ Notebook แบบของ Prof. Negroponte ค้น อินเทอร์เน็ต หาข้อมูลเรื่องการเลี้ยงกบ   นักเรียนแต่ละคนมี Notebook ใช้คนละเครื่อง

          ครูโทนี่ แฮริ่ง จากแคว้น เวลส์ มาดำเนินการ เป็นเวลา ๑๐ ปีแล้ว    คุณอมรรัตน์ ผู้ดูแลรถคันที่ผมนั่งเล่าว่า ในช่วงเริ่มต้น    ปัญหาในการดำเนินการคือครู และผู้บริหารในระบบของกระทรวงศึกษาธิการ   รวมทั้งพ่อแม่ผละผู้ปกครองเด็ก  ที่เน้นการประเมินแตกต่างจากอุดมการของ มอนเตสซอรี่    คือไปหลงเน้นที่อ่านออกเขียนได้    แต่เวลานี้เข้าใจกันแล้วว่า การเรียนรู้แบบมอนเตสซอรี่ คือการเรียนรู้ที่แท้จริง    เวลานี้ มรภ. เชียงรายส่ง นศ. ครุศาสตร์มาฝึกสอนในโรงเรียนในเครือข่ายทั้ง ๘ โรงเรียน    เพื่อฝึกทำหน้าที่ครูแบบ facilitator    และกระทรวงศึกษาธิการก็มีนโยบายกระจายวิธีการเรียนรู้แบบนี้ออกไปทั่วประเทศ    โดยที่ความเสี่ยงต่อความล้มเหลวคือครู    หากไม่ฝึกครูให้เข้าใจหลักการและวิธีการ มอนเตสซอรี่ ที่แท้จริง    ก็อาจจัดการเรียนแบบมอนเตสซอรี่แต่ชื่อ    แบบเดียวกับ  ควายเซ็นเตอร์

ครูที่เป็นกำลังสำคัญคือครูเยาวนุช สุนทรสุข ช่วยให้การสอนแบบ มอนเตสซอรี่ ประสบความสำเร็จ และกระจายไปยัง ๘ โรงเรียนในเครือข่าย   และมีเค้าว่าน่าจะเป็นพลังสู่การกระจายไปทั่วประเทศ    ผมนึกในใจว่า ที่ประสบความสำเร็จได้ บารมีของโครงการพัฒนาดอยตุง และสมเด็จพระเทพรัตน์ น่าจะมีส่วนอยู่มาก   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการคุ้มครองไม่ให้ความชั่วร้าย คอรัปชั่นในระบบการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการคืบคลานเข้ามาได้    ทำให้ผู้อำนวยการมีโอกาสอยู่กับที่ ไม่ถูกย้ายไปที่อื่น    จึงมีโอกาสทำงานยากให้ประสบความสำเร็จ

ผมคิดอย่างนี้อาจผิดก็ได้    สถานที่ตั้งของโรงเรียนบ้านขาแหย่งพัฒนา อยู่ห่างไกลและกันดารมาก    รถต้องแล่นขึ้นเขาสูงชันและหักศอก    อาจไม่มีผู้บริหารโรงเรียนอยากมาอยู่    คุณอมรรัตน์บอกว่า ตามปกติจะมีถนนเส้นหนึ่งเป็นทางเข้า    อีกเส้นหนึ่งเป็นทางออก เพราะถนนแคบและสูงชัน รถสวนกันไม่ได้    แต่เส้นทางที่เราไปนี้ ขบวนรถแล่นออกที่ถนนทางเข้า เพราะตำรวจมาปิดถนน อำนวยความสะดวกต่อขบวนเสด็จ      

เราสังเกตเห็นชัดเจนว่า เด็กนักเรียนเหล่านี้มีสมาธิอยู่กับตัวเอง    มีความมั่นใจตนเอง   และมีวินัยในตนเอง    คือมี EF นั่นเอง    ในบันทึกที่ผม ลิ้งค์ให้นี้ ระบุชัดเจนว่าวิธีจัดการเรียนแบบ มอนเตสซอรี่ ทำให้เด็กพัฒนา EF

รร. ทักษิณสยาม จากสตูล มาดูงานและเอาไปทำ    เป็นโรงเรียนเอกชน  

ผมมีโอกาสคุยกับผู้อำนวยการเขตพื้นที่ประถมศึกษาเขต ๓ เชียงราย    ท่านบอกว่า โรงเรียนแบบนี้ในกรุงเทพผู้ปกครองต้องจ่ายค่าเรียนเทอมละเป็นแสน   ซึ่งเป็นความจริง

นี่คือของจริง ของการเรียนแบบปลูกปัญญาปฏิบัติ    งอกงาม EF    ผมโชคดีจริงๆ ที่ได้มาเห็นการเรียนแบบงอกงาม EF ในโรงเรียนรัฐบาล    ที่ผมเคยไปเห็นมาแล้วเป็นโรงเรียนเอกชนทั้งสิ้น ได้แก่ โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา  เพลินพัฒนา  รุ่งอรุณ

ผมอยากเรียนรู้วิธีพัฒนา EF ในเด็กวัยรุ่น   ว่าวิธีที่เหมาะสมต่อวัยรุ่นเป็นอย่างไร    ผมเดาว่า น่าจะเน้นวิธี activity-based แบบสนุกเร้าใจ และทำร่วมกันเป็นกลุ่ม เป็นกิจกรรมกลุ่ม   ไม่ใช่ meditation-based  ไม่ใช่กิจกรรมเดี่ยว    คิดอย่างนี้ถูกหรือผิดก็ไม่ทราบ

 

ผมเคยไปเยี่ยมโรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี เมื่อวันที่ ๑๑ ก.พ. ๕๓ กับคณะ สคส. ตามบันทึกนี้    ดูโทรทัศน์ครูเรื่องโรงเรียนนี้ ที่นี่    จุดเด่นคือการจัดหลักสูตรแบบเน้นอาชีพ เพื่อประโยชน์ของนักเรียน ที่เป็นเด็กชนเผ่าในพื้นที่สูง    ที่เป้าหมายไม่ใช่เรียนเพื่อเข้ามหาวิทยาลัย   โรงเรียนนี้ถือเป็นโรงเรียนตัวอย่างของการศึกษาพื้นฐานเพื่อการประกอบอาชีพ    ที่ทำมา ๑๐ ปี และเห็นผลดีชัดเจน   ตรงกับ career academy ในสหรัฐอเมริกา และเป็นแนวทางของโรงเรียนไทยจำนวนเกือบ ๕๐ โรงเรียน ที่เรียกว่าโรงเรียนสายสามัญคู่อาชีวศึกษา ดังข่าวนี้  

เราได้ชมกิจกรรมด้านการฝึกศิลปะ และการอาชีพ ของนักเรียน    ทำให้ผมได้เข้าใจวิธีการจัดการเรียนรู้ในทางปฏิบัติ    ผมสังเกตว่า เด็กในโรงเรียนน่าจะมีความแตกต่างกันมาก    ความท้าทายของครูและโรงเรียนน่าจะได้แก่การส่งเสริมนักเรียนให้ได้เรียนรู้ตามศักยภาพของตน    โดยครูเอาใจใส่เด็กทุกคนเป็นรายคน   ไม่ใช่เอาใจใส่แต่เด็กเก่ง ทอดทิ้งเด็กหัวช้า

การจัดรูปแบบการเรียนรู้แบบสายสามัญเพื่อการประกอบอาชีพ    สำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล และเด็กฐานะไม่ดี หรือสมองไม่ดีนัก   เป็นเรื่องที่ท้าทายวงการศึกษาไทยมาก    โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคีน่าจะเป็นที่ทำวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

 

ผมเกิดความคิดว่า    น่าจะมีการรวบรวมข้อมูลและเรื่องราวการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ของทั้ง ๒ โรงเรียน    ทำเป็นงานวิจัยเชิงระบบ เชิงการพัฒนาระบบการศึกษา    เพื่อบอกแก่วงการศึกษาไทย (และวงการศึกษาโลก) ว่า ควรปรับกระบวนทัศน์ด้านการเรียนรู้/การศึกษา    และปรับวิธีการบริหารการศึกษา   อย่างไรบ้าง

 

สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗  เสนอข่าวเรื่องสมเด็จพระเทพรัตน์ฯ เสด็จโรงเรียนทั้งสอง ที่นี่

วิจารณ์ พานิช

๒๙ ต.ค. ๕๖

 

 

โรงเรียนบ้านขาแหย่ง สภาพห้องเรียนชั้นอนุบาล ๑

 

เรียนโดยลงมือทำ ต่อเลโก้

 

ผมสร้างบ้านครับ

 

 กลุ่มทำโครงงานเลี้ยงกบ ชั้น ป. ๕ 

 

 Learning Outcome ที่มุ่งหวัง  โรงเรียนแบบนี้ในกรุงเทพค่าเทอมเป็นแสน

 

 โรงเรียนบ้านห้วยไร่สามัคคี อาคารสถานที่ทันสมัยยิ่งกว่าโรงเรียนในเมือง

 

 ของว่างจัดบริการโดยนักเรียนแผนกโรงแรม  ผลิตโดยนักเรียนแผนกคหกรรม  

นักเรียนคนนี้มีเป้าหมายชีวิตทำงานในโรงแรม  ของว่างอร่อยจนสาวน้อยปักหลักอยู่ตรงนี้ ไม่ไปไหน

 

 ฝีมือจัดสวนในถาด

 

 นักถ่ายรูปกับนักเรียนแผนกถ่ายภาพมือรางวัล

 

 แผนกภาพพิมพ์

 

 งานประกอบเครื่องบูชา มีหน่วยงานสั่งทำ

 

 ผลงาน  ใบไม้ที่ให้สีแดงคือลิ้นกระบือ

 

 งานปั้น

 

พับผ้าเช็ดปากเป็นรูปต่างๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 556291เขียนเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 15:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ตุลาคม 2018 08:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท