CE18: คุณเปลี่ยน septum บ่อยแค่ไหน ?


     นี่เป็นเรื่องที่ผมได้ยินมาว่า มีคนแนะนำให้เปลี่ยน septum ที่ใช้ในเครื่อง sequencer บ่อยๆ เพื่อป้องกันการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่าง  และก็มีบางห้องปฏิบัติการที่เปลี่ยน septum กัน plate ต่อ plate หรือบางที่เปลี่ยน septum กัน อาทิตย์ละครั้ง  เล่นเอาผมงงเลยครับ นี่เขาต้องเปลี่ยนกันบ่อยขนาดนั้นเลยเหรอ  ไม่ว่าจะใช้ข้ออ้างเรื่องการควบคุมคุณภาพ หรือจะใช้ข้ออ้างอะไร ผมก็ว่าฟังไม่ขึ้นครับ  ทีนี้ เราลองมาทำความรู้จักกับ เจ้า septum ที่ใช้ในเครื่องตรวจวิเคราะห์สารพันธุกรรมอัตโนมัติ หรือเจ้า sequencer กันสักหน่อยนะครับ

     1. เจ้า septum หรือจะเรียกว่า septa มันคืออะไร

     เจ้า septum หรือ จะเรียกว่า septa มันคือแผ่นยาง ที่ใช้ปิด tray หรือ ใช้ปิด plate เพราะฉะนั้น มันก็เลยมีหน้าตา 2 แบบครับ อย่างแรกคือ reservior septum คือแผ่นยางที่ใช้ปิด reservior tray เจ้านี่มีหน้าตาอย่างภาพข้างล่างนี้ครับ  เราใช้เจ้า reservior septum ในการปิด tray ที่ใส่น้ำกลั่น หรือใส่ 1x buffer ในเครื่อง sequencer ครับ

 

          อย่างที่สอง คือ plate septum ก็คือ แผ่นยางที่ใช้ปิด plate  หรือปิดตัวอย่างตรวจ แล้วเอาไปใส่ในเครื่องตรวจวิเคราะห์ครับ เจ้านี่ก็จะมีหน้าตาอย่างภาพข้างล่างนี้ครับ

     2. แล้วเจ้า septum นี่เอาไว้ทำอะไร

     หน้าที่ของเจ้า septum ไม่ว่าจะเป็น reservior septum หรือ plate septum มันมีหน้าที่ ป้องกันไม่ให้สารที่อยู่ภายใน ระเหย ออกมาครับ อย่างเช่น ป้องกันไม่ให้น้ำกลั่น หรือ 1x buffer ระเหย  หรือป้องกันไม่ให้ตัวอย่างตรวจที่อยู่ใน plate ระเหยออกไปจนแห้งครับ

     บางคนบอกว่า เจ้า septum นี้ มีหน้าที่หลักในการป้องกันการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่าง  ซึ่งในความคิดส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่าเหตุผลนี้จะเป็นเหตุผลหลัก เพราะการที่ probe จุ่มผ่าน septum ลงมาดูดตัวอย่างตรวจที่อยู่ใน plate แม้ว่าเจ้า septum นี้จะเป็นตัวรูดไม่ให้ตัวอย่างตรวจติด probe ออกไป ซึ่งเป็นการลด contamination ระหว่างตัวอย่างตรวจได้  แต่ว่าไปแล้วปัญหาจากเรื่องตัวอย่างตรวจติด probe ออกไป น่าจะเป็นปัญหาที่น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจาก ตัวอย่างตรวจอยู่ใน sample well ที่มีขนาดแคบๆ ดังนั้นแรงตึงผิวของ hidi formamide หรือ น้ำกลั่นที่อยู่ใน well ก็ไม่สามารถทำให้ตัวอย่างตรวจเหล่านี้ติด probe ออกไปเป็นหยดได้เลย  แล้วถึงแม้จะติด probe ออกไปได้ โดยระบบของเครื่อง sequencer มันก็จะจุ่ม probe นี้ลงใน น้ำกลั่นใน tray ก่อนที่จะไปทำ electrophoresis อยู่แล้ว ซึ่งก็เป็นการป้องกันการปนเปื้อนของตัวอย่างตรวจที่ติดไปกับ probe ได้ดีกว่าที่จะใช้ septum ป้องกันการปนเปื้อน  เพราะฉะนั้น การที่บอกว่า septum ใช้ป้องกันการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่างตรวจ เราจึงควรต้องเปลี่ยน septum บ่อยๆ จึงไม่มีเหตุผลที่น่าเชื่อถือครับ

     3. แล้วต้องเปลี่ยน septum บ่อยแค่ไหน

     ถ้าจะให้ผมตอบปัญหานี้ ชัดเจนลงไปว่าควรเปลี่ยนบ่อยแค่ไหน ผมคงตอบระยะเวลาชัดเจนไม่ได้ แต่เอาเป็นว่า ไม่ว่าจะเป็น reservior septum หรือ plate septum ที่ใช้อยู่ปัจจุบันในเครื่อง 3130 ของผมนี้ ผมใช้มาแล้ว 3 ปี โดยไม่ได้เปลี่ยนเลย ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรครับ และไม่เคยเกิดปัญหาการปนเปื้อนระหว่างตัวอย่างตรวจเกิดขึ้นเลยสักครั้งเดียว  ในหลักการแล้ว ถ้าจะเปลี่ยน ก็คงต้องดูจาก ยาง ครับ ซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในการผลิต septum ว่า ถ้ายางมันตาย หรือความยึดหยุ่นลดลง ก็น่าจะเป็นเวลาที่จะพิจารณาเปลี่ยน septum ได้แล้ว  แต่ถ้ายางยังคงใช้งานได้ดี ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน septum ครับ

     4. ถ้าไม่เปลี่ยน septum แล้วต้องบำรุงรักษา septum อย่างไร

     ทั่วไปแล้ว ไม่ว่า reservior septum หรือ plate septum ผมจะทำความสะอาด โดยการจุ่มแช่ในน้ำกลั่นครับ ประมาณสัก 1 ชั่วโมง เสร็จแล้ว ก็เอามาตั้งไว้ในห้องให้แห้ง ไม่ต้องเป่าพัดลม วางไว้บนกระดาษทิชชู่เฉยๆ พอแห้งแล้วก็เอากลับไปใส่ในเครื่องเหมือนเดิม  ส่วนความถี่ของการทำความสะอาด septum ก็ประมาณ 1-2 เดือน ต่อครั้งครับ

     5. เวลาใช้งาน ให้ระวังอย่าให้หยดน้ำ buffer เชื่อมกันระหว่างหลุม เพราะจะทำให้เครื่องเสีย

     นี่ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผมได้ยินมา ทำให้หลายคนต้องระวัง เวลาที่ใส่ buffer tray ที่ปิด reservior septum เข้าไปในเครื่อง ก็ต้องคอยถือ ไม่ให้มันกระฉอก หรือสั่นมาก จนหลายคนต้องเดินตัวแข็ง ระวังไม่ให้ buffer ใน tray กระเด็นขึ้นไปติด septum ซึ่งจริงๆแล้ว ไม่ต้องเดินตัวแข็งถึงขนาดนั้นก็ได้ เพราะถึงแม้ว่าจะมี buffer ขึ้นไปติดบน septum แล้วเชื่อมระหว่าง well ก็ไม่มีผลทำให้เครื่องมีปัญหาใดๆทั้งสิ้น ไม่มีผลต่อการวิเคราะห์ใดๆทั้งสิ้น แล้วก็ไม่ต้องไปสนใจปัญหานี้ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตอนที่ run electrophoresis จะเห็นว่า probe มันจะจุ่มลงมาอยู่ใน buffer tray เดียวกัน ซึ่ง buffer จะเป็นตัวเชื่อมให้กระแสไฟฟ้าส่งถึง probe ทุกอันเหมือนกันหมด ดังนั้น ถ้าจะมี buffer บางหยด ไปติดอยู่บน septum แล้วเชื่อมบาง probe ถึงกัน ก็ไม่ก็ให้เกิดปัญหาใดๆ ทั้งสิ้นครับ

     6. เวลาจับ septum ต้องใส่ถุงมือ หรือไม่

     ตรงนี้ขึ้นกับนโยบายของแต่ละห้องปฏิบัติการครับ ว่าจะเข้มงวดขนาดไหน  ในความเห็นส่วนตัวแล้ว ผมไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องจำเป็นครับ ที่นี่ ผมไม่ได้บังคับว่าเวลาจับ septum ต้องสวมถุงมือทุกครั้ง เพราะหลายๆครั้ง ผมก็จับ septum ด้วยมือเปล่า ขึ้นกับว่า ตอนที่จะจับ septum นั้น สวมถุงมืออยู่หรือเปล่า ถ้าตอนนั้นไม่ได้สวมถุงมือ ผมก็จับ septum ด้วยมือเปล่าได้เลย  พฤติกรรมการจับ septum ด้วยมือเปล่าโดยไม่สวมถุงมือ ก็ไม่ได้มีปัญหาการปนเปื้อนใดๆทั้งสิ้น ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่ใช้เครื่องนี้ครับ

    บันทึกนี้ ผมเขึยนขึ้น เพื่อทำความเข้าใจครับ ว่า septum ไม่ต้องเปลี่ยนกันบ่อย ไม่งั้นเสียดายตังค์แย่เลยครับ หรือถ้ายังมีห้องแล็บไหน ยังจะใช้แล้วทิ้ง หรือเปลี่ยนบ่อยๆ ก็บอกนะครับ ผมจะขอ septum ที่ไม่ใช้แล้ว มาใช้ต่อเองครับ

หมายเลขบันทึก: 556191เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2013 11:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท