สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๕. การยอมรับ (๒) เรียนรู้การเปลี่ยนแปลง และภาพใหญ่ของชีวิต


 

          บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

          ตอนที่ ๑๕นี้ ตีความจากบทที่ ๗ How About Me?! Seeing Beyond Likes and Dislikes to the Bigger Picture    โดยที่ในบทที่ ๗ มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๔ได้ตีความตอนที่ ๑ และ ๒     และในบันทึกที่ ๑๕นี้เป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

          ทั้งบทที่ ๗ ของหนังสือ เป็นเรื่อง การสอนเด็กให้เป็นคนดีโดยขยายความสนใจจากตัวเอง และเรื่องใกล้ตัว ไปสู่โลกกว้าง    ให้เข้าใจว่าในโลกนี้ยังมีคนอื่น สิ่งอื่นอีกมากมาย   ที่เด็กจะต้องทำความรู้จักและมีความสัมพันธ์ที่ดี   คนอื่นเหล่านี้ต่างก็มีชีวิตเลือดเนื้อและความต้องการของเขา    การเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน    เป็นการปูพื้นฐานไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีชีวิตที่ดี  หรือเป็นคนดี

          ตอนที่ ๓  ถึงเวลาเปลี่ยน   เป็นการทำความเข้าใจว่าชีวิตคือการเปลี่ยนแปลง   พ่อแม่/ครู ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูก/ศิษย์ เป็นช่วงๆ    จากชีวิตที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ตัวเอง    ไปสู่ชีวิตที่มีหลายศูนย์กลาง และมีปฏิสัมพันธ์ที่ซับซ้อน   เพื่อให้เด็กค่อยๆ เรียนรู้ “ภาพใหญ่” ของชีวิต 

          ปัญหาที่เด็กเผชิญในช่วงต่างๆ ของชีวิต เป็น “เรื่องเด็กๆ” หรือเรื่องเล็กสำหรับผู้ใหญ่   แต่เป็นเรื่องใหญ่และจริงจังสำหรับเด็ก   ข้อเตือนใจสำหรับพ่อแม่/ครู ก็คือ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจการเปลี่ยนแปลง    โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่น   ผู้ใหญ่ต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์   จากเป็นผู้กำกับพฤติกรรม มาทำหน้าที่โค้ช ของการพัฒนาชีวิตอิสระของลูก/ศิษย์  

          ในช่วงที่เป็นทารกและเด็กเล็ก   ชีวิตเกือบทั้งหมดอยู่กับพ่อแม่   เมื่อโตขึ้น แวดวงของเด็กก็กว้างขึ้น   และกลายเป็นโลกของปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนในช่วงวัยรุ่น    พ่อแม่/ครู ต้องช่วยโค้ช เด็ก ให้เรียนรู้พัฒนาตนเองไปถูกทาง ในช่วงของการพัฒนาชีวิตอิสระนี้   ทักษะนี้ของพ่อแม่/ครู มีความสำคัญอย่างยิ่ง    และเป็นประเด็นสำคัญของบทนี้ 

          ผู้ใหญ่พึงตระหนักว่า ในช่วงวัยรุ่น คนเราต้องการอิสระ   แต่อิสระแบบไร้ขอบเขตเป็นอันตรายต่อเด็กมากกว่าเป็นผลดี    การดูแลเด็กวัยรุ่นอย่างพอเหมาะพอดีระหว่างการให้ความเป็นอิสระ และการมีกรอบกติกา จึงเป็นความท้าทายยิ่ง    และเป็นการเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบ    รวมทั้งเป็นโจทย์วิจัยที่ท้าทาย   เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา   

          คำถามของครูของลูก   “ลูกสาว (สมมติว่าชื่อ แอนน์) เรียน ป. ๖   เริ่มแต่งหน้าทาปาก และแต่งตัวเป็นสาวเริ่ด   ในขณะที่เด็กผู้หญิงในชั้นเกือบทั้งหมดไม่    พ่อแม่ของเพื่อนลูกบอกว่า เขามองแอนน์เป็นตัวอย่างไม่ดีของลูกเขา    ฉันอยากให่เขาแต่งตัวเรียบร้อย และไม่แต่งหน้าทาปาก    พ่อแม่คนอื่นๆ บอกว่าเป็นสงครามที่ไม่มีทางชนะ   สามีและลูกชายวัย ๑๘ บอกว่าแม่กังวลเกินไป    ฉันวิตกเกินไปหรือเปล่า”

          คำตอบของผู้เขียน   “ฟังดูแล้วคล้ายกับว่าคุณคิดว่าคุณไม่มีทางกำกับพฤติกรรมของลูกอายุ ๑๒   จริงๆ แล้วคุณมีอย่างเหลือเฟือ   ฟังดูคล้ายๆ มีอะไรขาดไป   เด็กเอาเงินที่ไหนไปซื้อเสื้อผ้า และเครื่องสำอาง    คุณไปกับลูกหรือเปล่าตอนเธอซื้อเสื้อผ้าและเครื่องสำอาง    หากคุณยอมตามที่ลูกซื้อ ก็เท่ากับคุณส่งสัญญาณว่าคุณเห็นด้วยกับที่ลูกจะแต่งหน้าและแต่งตัวอย่างนั้น    ถ้าคุณไม่เห็นด้วยกับการแต่งตัวอย่างนั้น คุณก็ไม่ควรจ่ายเงินซื้อให้”

          คำามรอบสอง    “สามีเป็นคนซื้อเป็นส่วนใหญ่    ตอนที่แม่ไปด้วยลูกก็ไปลองเสื้อเอง    โดยแม่ไม่คิดว่าจะเป็นเสื้อที่เปิดเผยร่างกายอย่างนั้น   ทั้งพ่อและพี่บอกว่าแม่คิดมากไป   แต่ก็มีพ่อแม่ของเพื่อนลูกสาวคนหนึ่งบอกว่าอย่าเอาอย่างลูกสาว   ตนได้หาทางพูดกับลูกสาว ว่าผู้คนเขาจะตัดสินว่าเธอเป็นคนอย่างไรจากการแต่งกาย   สามีเริ่มเข้าใจว่า การแต่งกายแบบยั่วยวนและแต่งหน้าจะมีผลอย่างไรต่อลูกสาว”

          คำตอบของผู้เขียน   “ลูกสาวต้องการคุณเป็นที่พึ่ง    เพราะเธอยังไม่เข้าใจผลของการแต่งกายแบบยั่วยวน   ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งสัญญาณไปยังเด็กหนุ่มในโรงเรียน   คุณต้องคุยกับสามี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการสอนลูกสาวว่าการแต่งกายเช่นนั้น ไม่เหมาะสม   เป็นอันตรายต่อตัวลูกเอง    และนี่คือกติกาของบ้าน   รวมทั้งบอกลูกชายอายุ ๑๘ ว่า อย่าเข้ามายุ่ง”

          ตอนที่ ๔  ภาพใหญ่ของชีวิต    เป็นธรรมดาที่เด็กวัยรุ่นจะเผชิญวิกฤติของชีวิตหรือความผิดหวัง เป็นครั้งคราว    เป็นวิกฤติสั้นๆ   และส่วนใหญ่เป็น “เรื่องเด็กๆ”   เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่จะช่วยประคับประคอง ช่วยเหลือ เตือนสติ    ให้ฟันฝ่าวิกฤตินั้นไปได้ พร้อมกับเรียนรู้เป็นประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า    คอยเตือนสติเด็กว่า วิกฤตินั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพใหญ่ในชีวิต ซึ่งยังอีกยาวไกล  

          ยามเด็กมีทุกข์ ให้ โค้ช เตือนความจำถึงทุกข์ในอดีต ที่เด็กเคยผ่านมาแล้ว   และชี้ให้เห็นว่า เด็กเคยเอาชนะหรือทนความทุกข์เช่นนั้นได้    ความทุกข์คราวนี้ เด็กก็จะเอาชนะหรือฟันฝ่าไปได้เช่นเดียวกัน   

          ชีวิตคือการเดินทางและเรียนรู้จากเรื่องจริงที่ประสบกับตนเอง    หรือตนเองเป็นผู้แสดง    ในหนังสือเล่มนี้ กล่าวถึงการเดินทางของอารมณ์ความรู้สึกมากเป็นพิเศษ   เป็นการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงและรวดเร็ว เมื่อเด็กโตขึ้น   และผู้ใหญ่มักไม่มีความรู้ความเข้าใจหรือทักษะในการช่วยเหลือเด็ก   โดยหลักการคือให้ใช้ความรักความเมตตาเห็นอกเห็นใจเป็นยาขนานหลัก   เจือด้วยความเข้าใจการเปลี่ยนแปลง/พัฒนาการ ของเด็ก   ตามที่ระบุในหนังสือ

          เมื่อพ่อแม่/ครู ช่วยโค้ชเด็กด้วยความรักความเมตตา    สิ่งที่ได้รับคือ การปลูกฝังความรักความเมตตาในตัวเด็ก   ให้เขาเติบโตเป็นคนดี   ซึ่งเท่ากับพ่อแม่/ครู ได้ช่วยกันทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น 

          สิ่งหนึ่งที่เด็กควรได้เรียนรู้  คือการแสดงอารมณ์ความรู้สึก (อย่างสุภาพ สร้างสรรค์) เป็นเรื่องปกติของมนุษย์    แต่การอาละวาดตีโพยตีพายไม่ใช่สิ่งควรทำ     ตอนเป็นทารกคนเราต้องร้อง ต้องโวยวาย เพราะทำได้แค่นั้นเพื่อเรียกร้องความสนใจ    แต่เมื่อเติบโตขึ้น คนเราสามารถพูดได้ แสดงออกได้หลายทาง    เราต้องเรียนรู้ที่จะแสดงออกอย่างสร้างสรรค์

          การแสดงออกด้วยการโวยวาย คร่ำครวญ บ่น โทษคนอื่น เป็นการแสดงออกซึ่งทัศนคติและพฤติกรรมด้านลบของตน    ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อตนเอง     คนเราต้องฝึกทัศนคติและพฤติกรรมด้านบวก    คือการลงมือทำอย่างสร้างสรรค์ อย่างรับผิดชอบ และอย่างเคารพและเห็นอกเห็นใจหรือมีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น

          คำถามของสาว ๑๓   “หนูมีผลการเรียนเป็นเยี่ยม   ตลอดช่วง ม. ต้น หนูเห็นเพื่อนๆ มีเพื่อนชาย แต่หนูไม่มี    คนหน้าตาดีระดับ ๙.๕ จากคะแนนเต็ม ๑๐   เป็นนักบาสเกตบอลล์ และวอลเล่ย์บอลล์   และได้รับรางวัลศิลปินเยี่ยมของโรงเรียน   ทำไมจึงไม่มีแฟน   หนูสูงเกินไปหรือเปล่า   หรือว่าหนูเป็นคนมั่นใจตัวเองเกินไป   หนูไม่ใช่คน ป๊อบปูล่าร์   แต่ก็ไม่มีคนตั้งข้อรังเกียจหนู   หนูไม่คิดว่าควรจะประเมินคนด้วยความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างเพศ   แต่หนูก็สงสัยว่ามีอะไรผิดปกติในตัวหนู   หนูรู้สึกว่าตัวเองอาจต้องอยู่คนเดียวตลอดไป   หนูอยากรู้ว่าตนเองทำอะไรผิด   เพื่อว่าเมื่อขึ้น ม. ปลาย จะได้แก้ไขตนเอง”

          คำตอบของผู้เขียน   “เห็นใจที่เพื่อนๆ มีเพื่อนชายแต่เธอไม่มี   การที่คนเราจะต้องตาต้องใจกันนั้นเป็นเรื่องบังเอิญหรือโชคชตา    ในขณะที่เธอทำอะไรไม่ได้กับโชคชตา แต่เธอก็ปรับปรุงตัวเองได้    โดยการฝึกตนเองให้คิดด้านบวก    ไม่คิดว่าตนเองจะต้องอยู่คนเดียวไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นความคิดด้านลบ   เธอคิดถูกแล้วที่บอกว่า เราไม่ประเมินคนจากการมีเพื่อนต่างเพศ   คำแนะนำคือให้เชื่อความคิดว่าการไม่มีแฟนไม่ใช่ปัญหา    และลองคิดใหม่ว่า การยังไม่มีเพื่อนชายเป็นสิ่งดี   แล้วดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิต” 

          ผมไม่ค่อยถูกใจนัก ต่อคำตอบของผู้เขียนข้างบน    ถ้าเป็นผมผมจะตอบว่า ชีวิตข้างหน้ายังอีกยาวนัก   โอกาสพบเพื่อนชายที่ถูกใจยังมีอีกมาก   และวิธีทำให้ตัวเองมีเสน่ห์ดึงดูดใจ เพิ่มจากความสามารถที่เธอมีอยู่ล้นเหลือคือความร่าเริงเบิกบาน    ที่จะเกิดจากการมองโลกแง่บวก ตามที่ผู้เขียนแนะนำ

          ผมใคร่ขอย้ำไว้ ณ ที่นี้ว่า คำแนะนำของผู้เขียนต่อคำถามที่ยกมานั้น   เป็นการตอบตามบริบทของสังคมอเมริกัน   หากจะนำมาใช้ในบริบทสังคมไทย ต้องปรับให้เหมาะสม   

 

 

วิจารณ์ พานิช

๙ เม.ย. ๕๖

 

    

       

หมายเลขบันทึก: 556017เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2013 10:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท