Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : เพื่อเข้าใจและจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กข้ามชาติบนพื้นที่สูง


แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : เพื่อเข้าใจและจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กข้ามชาติบนพื้นที่สูง

คำนำของรายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูง

: สาเหตุ ธรรมชาติของเรื่อง และแนวคิดในการจัดการปัญหาภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕

เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๖

https://www.facebook.com/note.php?saved&&note_id=10151743119353834

------------------------------------

๑. แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : คืออะไร ? ทำไม ?

------------------------------------

“แม่สรวยศึกษา” เป็นคำที่พวกเรามักใช้เรียกงานวิจัยด้านสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to legal personality) ที่เราที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มต้นศึกษาที่อำเภอแม่สรวยในช่วง พ.ศ.๒๕๓๙ – ๒๕๔๕ ซึ่งเป็นงานที่เริ่มต้นจากคำร้องของคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์และศูนย์พระจิตเจ้าแห่งอำเภอแม่สรวย เพื่อชาวบ้านแม่สรวยที่ประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติ

แต่ใน “แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง” นั้น กลับเป็นงานที่เราที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นฝ่ายเริ่มต้นไปชวนมิตรเก่าในคณะกรรมการคาทอลิกเพื่อกลุ่มชาติพันธุ์และศูนย์พระจิตเจ้าแห่งอำเภอแม่สรวย เพื่อที่จะช่วยเราเปิดพื้นที่ในอำเภอแม่สรวย เพื่อการศึกษาถึงปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กที่อาศัยบนพื้นที่สูงของประเทศไทย

ในงานแม่สรวยศึกษาในครั้งแรก เราได้คิดค้นสูตรสำเร็จทางนิติศาสตร์เพื่อขจัดปัญหาความไร้สัญชาติให้แก่ชาวเขาดั้งเดิมหรือบุคคลบนพื้นที่สูงที่อาศัยติดแผ่นดินมาแต่ดั้งเดิม ซึ่งสิ่งที่เราค้นพบครั้งนั้น ก็ถูกขยายผลออกไปจัดการปัญหาของคนในสถานการณ์เดียวกันในพื้นที่สูงอื่นของประเทศไทย เรายังมีความเชื่อเหมือนเดิมว่า องค์ความรู้ที่เราค้นพบที่อำเภอแม่สรวยน่าจะมีผลใช้ได้ในทุกพื้นที่สูงของประเทศไทย ซึ่งปรากฏใน ๒๐ จังหวัดของประเทศไทย[1] ดังนั้น ในแม่สรวยศึกษาครั้งที่สอง เราก็ตั้งความหวังว่า สูตรสำเร็จทางนิติศาสตร์ที่เราค้นคว้าที่อำเภอแม่สรวยครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่ของประเทศไทยอีกเช่นกัน

ในแม่สรวยศึกษาครั้งแรก เราใช้เวลา ๗ ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๙ ถึง พ.ศ.๒๕๔๕ แต่ในแม่สรวยศึกษาครั้งที่สอง เราตั้งใจที่จะทำให้เสร็จภายใน ๕ ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๕ ถึง พ.ศ.๒๕๕๙

------------------------------------

๒. แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : จากบ้านห้วยน้ำอุ่น ถึงบ้านห้วยน้ำเย็นและบ้านกิ่วจำปี

------------------------------------

แม่สรวยศึกษาครั้งแรกใช้บ้านห้วยน้ำอุ่น ตำบลวาวี เป็นพื้นที่สร้าง “ห้องทดลองทางสังคม” กล่าวคือ (๑) เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจสาเหตุของปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติที่ปรากฏแก่ชาวเขาหรือบุคคลบนพื้นที่สูง (๒) เพื่อทดลองรวบรวมพยานหลักฐานในการพิสูจน์สิทธิในสัญชาติไทยให้แก่ชาวบ้านดังกล่าว และ (๓) เพื่อทดลองพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนไทยให้แก่ชาวบ้านดังกล่าว ในรายที่มีสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ก็พัฒนาสิทธิในการลงรายการสัญชาติไทยหรือเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร หรือในรายที่ไม่มีสิทธิในสัญชาติไทย ก็พัฒนาสิทธิในการสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวร ซึ่งอาจนำไปสู่สิทธิในสัญชาติไทยภายหลังการเกิดในวาระต่อไป

แต่ในแม่สรวยศึกษาครั้งที่สอง ซึ่งจะทำงานในระหว่าง พ.ศ.๒๕๕๕ – พ.ศ.๒๕๕๙ อันเป็นช่วงเวลาที่ทับซ้อนกับช่วงเวลาที่ประชาคมอาเซียนจะเปิดเสรีทางเศรษฐกิจเต็มรูปใน พ.ศ.๒๕๕๘/ค.ศ.๒๐๑๕  ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งในประเทศไทยและอีกใน ๙ ประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียน เราตระหนักว่า เด็กบนพื้นที่สูงมีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาความด้อยโอกาสในหลายสาเหตุแม้ในช่วงเวลาก่อน พ.ศ.๒๕๕๘/ค.ศ.๒๐๑๕  แต่เมื่อปรากฏมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตามมากับการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจในประเทศอาเซียนแล้วนั้น สถานการณ์ด้านเด็กย่อมจะมีความซับซ้อนมากขึ้น ในการทำงานเบื้องต้นบนพื้นที่สูงตามแนวชายแดนไทย – พม่า เราพบว่า การเดินทางข้ามชาติปรากฏมีมากขึ้นของมนุษย์ที่อาศัยอยู่บนแผ่นดินอาเซียน และเราสังเกตเห็นอย่างชัดเจนว่า การข้ามชาติที่มากมายนั้นเป็นการข้ามชาติทางเศรษฐกิจอย่างแน่นอน ซึ่งคนข้ามชาติจำนวนมาก ก็คือ นักลงทุนและแรงงาน ซึ่งมีทั้งที่มีฝีมือ กึ่งไร้ฝีมือ และไร้ฝีมือ เมื่อสังคมเปลี่ยน กฎหมายก็ย่อมต้องเปลี่ยน เมื่อความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่ชายแดน เราซึ่งเป็นนักวิจัยด้านนิติศาสตร์จึงต้องเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงที่ชายแดน ในโครงการศึกษาของเราจึงตั้งชื่อว่า “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย (๒๕๕๕ - ๒๕๕๙)”[2] หรือที่เราเรียกกันเองว่า “โครงการใหญ่” ซึ่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดูแลโครงการนี้ กล่าวคือ “คำสั่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ที่ ๔๕๕/๒๕๕๕ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนจังหวัดตากและชุมชนกลุ่มจังหวัดชายแดนในประเทศไทย” [3] หรือที่เราเรียกกันเองว่า “กรรมการโครงการใหญ่”

เราเชื่อว่า เราจะต้องทำงานบนพื้นที่จริง เราจะต้องลงพื้นที่รับฟังเรื่องราวร้องทุกข์ของมนุษย์บนพื้นที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่  การหารือของเรามีความลังเลอยู่บ้างว่า เราควรจะทำ “ห้องทดลองทางสังคม” ในพื้นที่ชายแดน กล่าวคือ อำเภออุ้มผางหรืออำเภอแม่สอดหรืออำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดน หรือเราควรถอยมาทำในพื้นที่ชั้นในซึ่งเป็นพื้นที่รองรับคนข้ามชาติจากชายแดน กล่าวคือ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย

ในที่สุด เราก็เลือก “อำเภอแม่สรวย” มีหลายเหตุผลที่เราเลือกพื้นที่นี้

ในประการแรก คนในอำเภอแม่สรวยที่ยังมีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายนั้น มีความหลากหลายมากกว่าในพื้นที่ชายแดนจริงๆ เราน่าจะพบคนข้ามชาติใน ๒ ลักษณะบนพื้นที่ชั้นในดังอำเภอแม่สรวย กล่าวคือ   (๑) คนข้ามชาติที่ “มี” ความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้ว กล่าวคือ ชาวเขาดั้งเดิมติดแผ่นและชาวเขาที่อพยพมานานแล้วที่ยังประสบปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติอยู่ไม่น้อย แม้ไม่มากเท่าเมื่อสิบปีก่อน และเมื่อพวกเขายังไม่ได้รับการรับรองสิทธิในสถานะคนสัญชาติไทยหรือสิทธิในสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรในประเทศไทย พวกเขาก็จะมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว และอาจ “ถูกถือเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ทั้งที่พวกเขาอาจจะเกิดในประเทศไทย[4] และ (๒) คนข้ามชาติที่ “ยังไม่มี” ความกลมกลืนกับสังคมไทย  ชาวเขาจากประเทศพม่าที่เพิ่งอพยพเข้ามาอาศัยในอำเภอแม่สรวย ทั้งนี้ เพราะอำเภอนี้เป็นพื้นที่ที่มีงานทำมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจผลิตกาแฟที่ทำให้แรงงานจากชายแดนจำนวนมากอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สรวย พวกเขาย่อมมีสถานะเป็น “คนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองที่มิชอบด้วยกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง” และในส่วนบุตรหลานของพวกเขา ก็ย่อมมีสถานะเช่นเดียวกัน แม้เกิดในประเทศไทยก็ตาม การศึกษาคนที่มีความหลากหลายดังนี้ย่อมจะนำมาซึ่งโอกาสทางการศึกษามากกว่า

ในประการที่สอง เราซึ่งมีความเชี่ยวชาญในงานด้านการจัดการสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายย่อมมีโอกาสได้ใช้องค์ความรู้ของเขาในการช่วยเหลือประชาชนไร้สถานะบุคคลตามกฎหมายมหาชนดังกล่าว เหมือนที่เราเคยทำในเวลาที่ผ่านมาในงานแม่สรวยครั้งแรก

ในประการที่สาม เรามีกัลยาณมิตรมากมายที่พร้อมจะช่วยเราทำงานบนแผ่นดินแม่สรวย โดยเฉพาะ ศูนย์พระจิตเจ้าแห่งอำเภอแม่สรวย หรือมูลนิธิดวงใจพ่อ ซึ่งก่อตั้งโดยปัญญาชนที่เคยร่วมมือกับเราในงานแม่สรวยครั้งแรก และที่งดงามมากที่สุด ก็คือ ชาวเขาที่เราเคยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย จนพวกเขาได้รับการขจัดปัญหาความไร้สัญชาติ จนได้รับการรับรองสิทธิในสัญชาติไทยโดยการเกิด ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นมวลมิตรในชุมชนที่อาสาที่จะช่วยเราทำงานวิจัยครั้งนี้

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นการวิจัยในปีแรกของการทำงานจึงมุ่งที่จะศึกษา “สาเหตุและธรรมชาติของปัญหาความด้อยโอกาสของเด็ก ตลอดจนแนวคิดในการจัดการปัญหา” ขอบเขตของการศึกษาไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การจัดการปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก เราเรียกโครงการวิจัยของเราในครั้งนี้ว่า “โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วารี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕” หรือที่เราเรียกกันเองว่า “โครงการเล็กปีที่หนึ่ง” [5]

พื้นที่ทำงานสำหรับแม่สรวยศึกษาครั้งที่สองอยู่ใน ๒ หมู่บ้าน กล่าวคือ (๑) บ้านห้วยน้ำเย็น ตำบลวาวี ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวเขาที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยมากแล้ว และ (๒) บ้านกิ่วจำปี ตำบลป่าแดด ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวเขาที่ยังไม่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยมากนัก

------------------------------------

๓. แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : เป็นห้องเรียนเรื่องจริงของสังคมไทยสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย

------------------------------------

อีกประการหนึ่งที่จะต้องยืนยัน แม่สรวยศึกษาครั้งแรกและครั้งที่สองมีความเหมือนกันอีกประการหนึ่ง ก็คือ งานวิชาการเชิงลึกครั้งนี้เป็นความร่วมมือระหว่างคณาจารย์และนักศึกษา แม่สรวยศึกษาจึงเป็นเสมือนห้องเรียนที่คณาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ในชั้นปริญญาตรี โท และเอก มาสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการ ใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) พวกเขามีโอกาสเดินทางมาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันจากเรื่องจริง ณ อำเภอแม่สรวย[6] และ (๒) คณาจารย์ที่มาลงพื้นที่อาจนำเอาเรื่องจริงที่แม่สรวยไปสร้าง “บทเรียน[7]” เพื่อสอนในห้องเรียนธรรมศาสตร์ทั้งที่ท่าพระจันทร์ รังสิต และลำปาง

------------------------------------

๔. แม่สรวยศึกษาอีกครั้งหนึ่ง : ข้อค้นพบเกี่ยวกับสูตรสำเร็จในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูงสำหรับเด็กใน ๖ สถานการณ์ โดยทีมวิจัยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย –  งานหนึ่งในหลายงานของแม่สรวยศึกษาครั้งที่สอง

------------------------------------

ในงานแม่สรวยศึกษาครั้งที่สอง ได้มีการแบ่งงานระหว่างคณะผู้ศึกษาที่มาลงพื้นที่ในช่วงปีแรกของการวิจัย (มิถุนายน ๒๕๕๕ – พฤษภาคม ๒๕๕๖) ในหลายลักษณะงานที่แตกต่างกัน กล่าวคือ งานสำรวจปัญหาของชุมชน[8] งานค้นคว้าวิจัย หรืองานอบรม หรืองานช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย

สำหรับรายงานผลการวิจัยฉบับนี้ ก็เป็นผลของงานส่วนหนึ่งของ “โครงการเล็กปีที่หนึ่ง” ซึ่งมุ่งสรุปข้อค้นพบในปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กจำนวนมากในบ้านห้วยน้ำเย็นและบ้านกิ่วจำปีมีสาเหตุมาจากเรื่องราวหลายลักษณะ

รายงานผลการศึกษาฉบับนี้เป็นผลงานของคณาจารย์และนักศึกษากลุ่มหนึ่ง[9] ที่เลือกเอาคำร้องทุกข์ของชาวบ้าน ๕ ครอบครัวมาเป็นกรณีศึกษา ทั้งนี้ เพราะเราพิจารณาว่า เรื่องราวของทั้ง ๕ ครอบครัวนี้มีความโดดเด่นและน่าจะเป็นตัวอย่างของปัญหาที่ปรากฏมากทีเดียวในพื้นที่สูงของประเทศไทย

การทำงานวิจัยโดยใช้กรณีศึกษา ๕ ครอบครัวนี้เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๖ และเมื่อจะต้องสรุปผลการวิจัยให้เสร็จก่อนวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖ เราค้นพบปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูงได้ใน ๖ ลักษณะด้วยกัน กล่าวคือ (๑) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่ไร้รัฐผู้รับรองตัวบุคคลในทะเบียนราษฎรของทุกรัฐบนโลก (๒) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่ประสบปัญหาความไร้รัฐผู้รับรองสถานะคนสัญชาติ(๓) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่มีสถานะคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย  (๔) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่มีครอบครัวซึ่งมีสถานะที่มิชอบด้วยกฎหมาย (๕) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่ประสบปัญหาความพิการ และ (๖) การจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญา

ในที่สุด ผู้เขียนคำนำหวังว่า ๔ ประเด็นที่นำเสนอนี้ จะทำให้ผู้อ่าน “รายงานผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เรื่องปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูง : สาเหตุ ธรรมชาติของเรื่อง และแนวคิดในการจัดการปัญหา” มองเห็น “ก้าวแรก” ของงานศึกษาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายที่กลับมาสร้างห้องทดลองทางสังคมอีกครั้งหนึ่งที่อำเภอแม่สรวย ซึ่งอาจจะยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ก็เป็นองค์ความรู้ที่ใช้ในการจัดการปัญหาความด้อยโอกาสให้แก่เด็กใน ๖ สถานการณ์ที่ยากลำบากได้ระดับหนึ่ง

 

                                                          ๒๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๖

                                                          รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

                                                         อ.ดร.ชาติชาย เชษฐสุมน

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

                                                         อ.ดร.รัชนีกร ลาภวณิชชา

                                                         คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

 

 

[1] โดยข้อ ๔ แห่ง ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการพิจารณาลงรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรให้แก่บุคคลบนพื้นที่สูง พ.ศ. ๒๕๔๓ จังหวัดที่ถือเป็น “พื้นที่สูง” ก็คือ ๑) จังหวัดกาญจนบุรี ๒) กำแพงเพชร ๓) เชียงราย ๔) เชียงใหม่ ๕) ตาก ๖) น่าน ๗) ประจวบคีรีขันธ์ ๘) พะเยา ๙) พิษณุโลก ๑๐) เพชรบุรี  ๑๑) เพชรบูรณ์  ๑๒) แพร่  ๑๓) แม่ฮ่องสอน  ๑๔) ราชบุรี  ๑๕) เลย  ๑๖) ลำปาง  ๑๗) ลำพูน  ๑๘) สุโขทัย ๑๙) สุพรรณบุรี ๒๐) อุทัยธานี

[2] โปรดดูรายละเอียดของโครงการในภาคผนวกชุดที่ ๑ โครงการที่เกี่ยวข้อง หน้า ๑-๑

[3] โปรดดูรายละเอียดของคำสั่งในภาคผนวกชุดที่ ๒ คนทำงาน หน้า ๒-๑

[4] ทั้งนี้ อาจเป็นผลมาจากมาตรา ๕๗ – ๕๘ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ หรืออาจจะเป็นผลมาจากมาตรา ๗ ทวิ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ และ โดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑

[5] โปรดดูรายละเอียดของโครงการในภาคผนวกชุดที่ ๑ หน้า ๑-๘

[6] โปรดดูรวมรูปภาพการทำงานวิจัยเรื่องปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูงสาเหตุ ธรรมชาติของเรื่องและแนวคิดในการจัดการปัญหาในภาคผนวกชุดที่ ๓ : เอกสารการทำงาน หน้า ๓-๕๓

[7] โปรดดูกรณีศึกษาอันเป็นผลของการบูรณาการผลการวิจัยและการเรียนการสอนในเอกสารอันเป็นผลมาจากการบูรณาการวิชาการ รวมถึงการพัฒนาการเรียนการสอนและ/หรืองานวิจัยอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ หน้า ๔-๑ เป็นต้นไป

[8] โปรดดูบันทึกสรุปประเด็นปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่เป้าหมายของการวิจัยนำมาหารือในระหว่างการลงพื้นที่ภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ โดย นางสาววิกานดา พัติบูรณ์ และอ.ดร. รัชนีกร ลาภวณิชชา ภาคผนวกชุที่ ๓ เอกสารการทำงาน หน้า ๓-๑๕

[9] โปรดดูรายชื่อคณะนักวิจัยเรื่องปัญหาความด้อยโอกาสของเด็กบนพื้นที่สูง : สาเหตุ ธรรมชาติของเรื่อง และแนวคิดในการจัดการปัญหา: รายงานผลการวิจัยภายใต้โครงการศึกษาวิจัยและให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเด็กและผู้ด้อยโอกาสในชุมชนหมู่บ้านกิ่วจำปี ต.ป่าแดด และหมู่บ้านห้วยน้ำเย็น ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประจำปีการศึกษา ๒๕๕๕ , ในภาคผนวกชุดที่ ๒ : คนทำงาน หน้า ๒-๔

 

หมายเลขบันทึก: 555442เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ธันวาคม 2013 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท