สอนเด็กให้เป็นคนดี : ๑๓. เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น (๒) เบื้องลึกของการสื่อสาร


 

          บันทึก ๑๙ ตอนนี้ มาจากการตีความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People : Progressive Parenting for the 21st Century เขียนโดย Annie Fox, M.Ed.   

          ตอนที่ ๑๓นี้ ตีความจากบทที่ ๖ How Do You Think That Makes Him/Her Feel? Stretching Young Minds and Hearts to Empathize   โดยที่ในบทที่ ๖มี ๔ ตอน   ในบันทึกที่ ๑๒ได้ตีความตอนที่ ๑และ ๒     ในบันทึกที่ ๑๓นี้จะเป็นการตีความตอนที่ ๓ และ ๔  

          ทั้งบทที่ ๖ ของหนังสือ เป็นเรื่องการฝึกลูก/ศิษย์ ให้รู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่น (empathize)   ไม่ดำเนินตามวัฒนธรรมโหดร้ายทารุณ ที่กำลังครองโลกอยู่ในปัจจุบัน   ให้คนรุ่นใหม่กล้าออกมาต่อต้านวัฒนธรรมชั่วร้ายนี้   โดยฝึกลูก/ศิษย์ ให้เข้าใจความรู้สึกของคนอื่น   เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

          ในตอนที่ ๓ เบื้องลึกของการสื่อสาร  ผู้เขียนบอกว่าในถ้อยคำที่คนสื่อสารออกมา มีส่วนที่อยู่เบื้องลึกหรือเบื้องหลัง (meta-message) ด้วยเสมอ   แม้แต่คนกับสุนัขเลี้ยง ก็มีการสื่อสารเบื้องลึก (meta-conversation) ต่อกัน โดยที่ต่างก็ไม่รู้ภาษาของกันและกัน   

          ผู้เขียนอ้างถึงคำคมของปราชญ์ท่านหนึ่งว่า “คนจะลืมสิ่งที่คุณพูด   คนจะลืมสิ่งที่คุณทำ   แต่คนจะไม่ลืมสิ่งที่คุณทำให้เขารู้สึก”   ดังนั้น การสื่อสารที่ได้ผลคือ ต้องกระทบใจผู้ที่เราสื่อสารด้วย   นี่คือข้อเตือนใจเรื่องวิธีสอนลูก/ศิษย์ ให้เป็นคนดี  

          เด็กที่จะเติบโตเป็นคนดี ต้องได้รับการฝึกฝนทักษะในการดำรงความสัมพันธ์ระยะยาวกับคนอื่น

          คำถามของเด็กอายุ ๑๑ ขวบ   “ผมจะทำอย่างไรดี   ผมถูกเพื่อนแกล้ง   แต่ก็ไม่อยากทำให้เพื่อนเสียใจ”

         คำตอบของผู้เขียน  “เธอโดนเพื่อนแกล้ง   และรู้สึกเดือดร้อน   แต่ก็ไม่อยากลุกขึ้นมาแสดงว่าไม่ชอบถูกกลั่นแกล้ง    เป็นการส่งสัญญาณที่ผิดไปยังเพื่อนว่า ที่เพื่อนทำนั้นเธอชอบ   และให้เพื่อนทำต่อไป    คำแนะนำคือ เธอต้องเป็นเพื่อนที่ดีที่สุดของตัวเธอเอง    ดังนั้นเธอต้องส่งสัญญาณไปยังเพื่อนว่า    ‘ฉันเป็นคนที่ควรได้รับความเคารพหรือเกรงใจ’   สัญญาณนี้อาจได้ผล หรืออาจไม่ได้ผล    แต่มันก็ช่วยบอกว่า เมื่อเขาทำไม่ดีต่อเธอ เธอไม่พอใจ  

          เธอบอกว่าเธอรู้สึกเดือดร้อน   แต่ก็ไม่อยากทำให้เพื่อนเดือดร้อนโดยการบอกให้เขาหยุดกลั่นแกล้ง    ฉันเข้าใจ   เพราะเขาอาจหาว่าเธอเป็นเหตุให้ความเป็นเพื่อนสั่นคลอน   หรือการบอกอาจได้ผลก็ได้   แต่ถ้าเฉยก็แน่นอนว่าเขาจะแกล้งอีกต่อไปเรื่อยๆ    เพราะฉนั้น หากเรากล้าที่จะลุกขึ้นมาบอก ทั้งเรื่องที่ตัวเราเองไม่พอใจ   หรือช่วยบอกแทนเพื่อน   เรากำลังหาทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” 

          ผมคิดว่า เรื่องแบบนี้ หากพ่อแม่/ครู เป็นที่ปรึกษาให้เด็กได้    และมีโอกาสพูดคุยกันโดยตรง    การสื่อสารสองทางจะช่วยให้ ครู/พ่อแม่ ทำหน้าที่ โค้ช ฝึกการสื่อสารที่มีความหมายเบื้องลึก (meta-message) ถูกต้องไปยังเพื่อนได้

          ในตอนที่ ๔ สื่อสารอย่างตั้งใจ ๑๐๐%   แนะนำพ่อแม่ให้หาเวลาพูดคุยกับลูกอย่างตั้งใจจริงๆ อย่างสม่ำเสมอ   มีการสบตา  ปิดเครื่องมือสื่อสารทั้งหลาย    เพราะจะเป็นการฝึกลูกให้มีทักษะ “ฟังอย่างลึก” (deep listening)   และทักษะการสื่อสารอย่างแสดงความเคารพ หรือให้ความสำคัญอีกฝ่ายหนึ่ง    เป็นเครื่องมือสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนอื่น  

          ผู้เขียนแนะนำให้ในครอบครัวชวนกันประเมินคุณภาพของการสื่อสารพูดคุยกันภายในครอบครัว    และแนะนำว่า ไม่ว่าพ่อแม่จะมีงานยุ่งเพียงใดก็ตาม    ต้องจัดเวลาสำหรับการพูดคุยอย่างมีคุณภาพกับลูก    เพราะนี่คือการเรียนรู้ปลูกฝังความเป็นคนดีของลูก

          คำถามของสาว ๑๖  “เพื่อนชายของหนูบอกเลิกมาทางอินเทอร์เน็ต    หนูปวดใจมาก ที่เขาไม่แคร์ความรู้สึกของหนูเลย   เขาบอกว่าเราไม่มีเวลาอยู่ด้วยกันอย่างเพียงพอ และไม่เคยเชื่อมใจกันอย่างจริงจัง   เรามีกิจกรรมยุ่งทั้งสองคน   เขาไม่ยอมต่อรองเลย   หนูพยายามเจรจา แต่เขาไม่คุยด้วยและหันไปเล่นเกมกับเพื่อน   ส่วนที่ยากที่สุดคือหนูยังอยากเป็นแฟนของเขา    หนูควรทำอย่างไร   การที่หนูพยายามง้อเขาเป็นสิ่งที่มีค่าควรทำหรือไม่”

          คำตอบของผู้เขียน   “ฉันเข้าใจความยากลำบากในการสื่อสารของเธอ   คนเราเมื่อมีเรื่องสำคัญเราจะคุยกันแบบพบหน้า   มีจักษุสัมผัส สังเกตน้ำเสียง ภาษาท่าทาง  และอ่านสีหน้าซึ่งกันและกัน    ในการสื่อสารผ่านระบบไซเบอร์ เราไม่มีการสื่อสารแบบ non-verbal เลย    การที่เพื่อนชายบอกเรื่องนี้ผ่าน อินเทอร์เน็ต ไม่หาทางคุยกันสองคน แสดงความไม่เคารพให้เกียรติและเห็นอกเห็นใจเธอ   การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ต้องเลือกคนที่มีค่านิยมตรงกัน    เนื่องจากการสื่อสารกันอย่างเคาระเห็นอกเห็นใจและให้เกียรติกันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเธอ   ต่อไปเมื่อเธอมีเพื่อนชายคนใหม่ (เชื่อขนมกินได้เลยว่าเธอต้องมีแน่ๆ)   จงเลือกคนที่คิดแบบเดียวกัน

          เพื่อนคนนี้ไม่เหมาะกับเธอ   จงลืมเขาเสีย  ทำใจให้ได้   เดินต่อไปในอนาคตที่ดีกว่านี้”   

          ผม AAR กับตนเองว่า การสื่อสารที่ดี เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นคนดี มีความเคารพเห็นอกเห็นใจคนอื่น   การสื่อสารที่ดีที่สุดนั้น เป็นการสัมผัสกันระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์   สัมผัสเข้าไปถึงเบื้องลึกของจิตใจ    พ่อแม่/ครู ต้องฝึกลูก/ศิษย์ ให้มีทักษะนี้

 

 

วิจารณ์ พานิช

๘ เม.ย. ๕๖

 

 

หมายเลขบันทึก: 554600เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 13:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2013 13:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความหนังสือ Teaching Kids to Be Good People ....ขอบคุณท่าน อาจารย์มากๆค่ะ

I'd consider as a part of human development to become empathy (พยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น) and more understanding of not just other humans but other things around. If we can see from a tree's point of view; if we can see from termites' point of view; if we can see from a wall's equilibrium... We can see better and react better to angers greed, drug and alcohol,...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท