ปรับหลักสูตรแกนกลางดีอย่างไร?


ปรับหลักสูตรแกนกลางดีอย่างไร ?

อาจารย์สิริรัตน์ นาคิน

กลุ่มวิชาหลักสูตรและการสอน

คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

เป็นสิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปฏิรูปหลักสูตรที่ผ่านมานั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าหากมองว่าในดีมีเสียก็คงไม่ผิดเพราะการสร้างหลักสูตรไม่ได้สร้างให้เสร็จสำเร็จรูปได้ภายในเวลาไม่กี่วัน และเมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ต้องนำไปทดลองใช้เพื่อหาแนวทางแก้ไขปรับปรุง แต่สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดผลเลยหากไม่ได้รับความร่วมมือจากครูผู้สอน จากผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์และบุคลากรทางศึกษาทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานชิ้นนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆกับการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับการศึกษาไทย เพราะการปรับลด ตัดเพิ่มหลักสูตรอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วครูผู้สอนเป็นเพียงผู้นำไปใช้ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการคิด ศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหา เพราะด้วยภาระหน้าที่การงานที่แบกไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายรวมถึงครูที่เอาใจใส่ให้ความสนใจในการปรับเปลี่ยนหลักสูตร ในที่นี้ต้องการให้หลายฝ่ายช่วยมองปัญหาว่าเป็นยาที่จะมาช่วยรักษาระบบการศึกษาของไทยให้เดินหน้าเสียที หากเราแก้ไม่ถูกทางก็เหมือนใช้ยาผิดขนานและก็บานปลายไม่รู้จบสิ้น ดังนั้นได้เวลาแล้วที่ควรวิเคราะห์ใคร่ครวญถึงประเด็นปัญหาของหลักสูตรกันก่อนไม่ดีกว่าหรือ ?

ประเด็นที่หนึ่ง ถ้ามองในด้านหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ที่ใช้กันอยู่ในสถานศึกษาทุกวันนี้ ผู้เขียนขอสะท้อนปัญหาจากการนำหลักสูตรมาใช้ในส่วนของครูผู้สอน แน่นอนว่าเป็นไปได้น้อยมากที่มีการปรับหลักสูตรให้เข้ากับสถานศึกษาของแต่ละที่ซึ่งครูผู้สอน ผู้บริหารก็ยึดตามหลักสูตรแกนกลาง และสอนตามชุดคู่มือครูเหมือนเดิม อาจปรับเปลี่ยนในเรื่องของเทคนิค วิธีการสอน สื่อที่นำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนแต่ละเนื้อหาวิชา ขาดการบูรณาการหลักสูตรทั้ง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ หากจะมองย้อนให้ลึกลงไปถึงการนำหลักสูตรมาใช้ในสถานศึกษา อยากให้สร้างความเข้าใจที่ตรงกันเสียก่อนทั้งผู้บริหาร ครูผู้สอน ศึกษานิเทศก์และผู้ที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะนำไปใช้จริง และปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เข้ากับบริบทการเรียนการสอนของสถานศึกษานั้นๆ เพื่อทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องของการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลาง จะเห็นได้ว่า หลักสูตรได้กำหนดมาตรฐานตัวชี้วัดมาให้อย่างละเอียด เป็นสิ่งที่ส่วนกลางได้จัดไว้ให้เรียบร้อยเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการนำไปจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าสามารถจัดการเรียนการสอนได้ครบตามมาตรฐานและตัวชี้วัดที่กำหนดมาหรือไม่ มีการวัดและประเมินผล มีการสะท้อนผลของผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง ตรงตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดหรือยัง หากแต่จัดการเรียนการสอนเพียงเพื่อให้ครบแต่ไม่เกิดองค์ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงกับผู้เรียน นั่นก็หมายความว่าเราให้ความสนใจแต่เพียงด้านเนื้อหาวิชาที่ต้องสอนให้ครบตามหนังสือ บทเรียนที่กำหนดมาแต่ไม่ได้คำนึงถึงผู้เรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้พบบ่อยมากในโรงเรียนต่างจังหวัดและโรงเรียนที่ไม่อยู่ในเขตเมือง นับว่าเป็นปัญหาโลกแตกเลยก็ว่าได้ เพราะครูผู้สอนบางคนยังไม่สามารถจัดทำหลักสูตร ไม่สามารถบูรณการการเรียนการสอน ไม่สามารถเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ และไม่วัดและประเมินผลตามสภาพจริง สิ่งเหล่านี้คือปัญหาที่เกิดขึ้นจริงแต่สังคมส่วนใหญ่ไม่รับรู้ หรือแกล้งไม่รู้กันแน่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งหลายทั้งปวงจะไม่ถูกแก้ไข และไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะจากการประเมินคุณภาพการศึกษาก็เปรียบเสมือนการขายผ้าเอาหน้ารอดไปทุกครั้ง ไม่ได้ทำอย่างจริงจังและใส่ใจ

“ขณะที่ความเห็นของครูในระดับปฏิบัติอย่าง "กรรณิการ์ เรียงทองหลาง" ครูประจำชั้นปีที่ 6 โรงเรียนชลประทานสงเคราะห์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ให้ความเห็นว่า เห็นด้วยกับการปรับหลักสูตรแกนกลาง ที่จะทำให้มีการบูรณาการทุกสาขาวิชา เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบันสังเกตเห็นว่า ครูแต่ละวิชาต่างเร่งที่จะสอนวิชาของตนเอง เมื่อจบชั่วโมงเรียนก็จะสั่งการบ้านให้ไปทำ ดังนั้นในแต่ละวันนักเรียนจะได้การบ้านไปทำหลายวิชาพร้อมกัน จึงเกิดความเครียด และนักเรียนบางคนก็เลือกที่จะทำบางวิชาเท่านั้น โดยยอมให้ครูทำโทษในรายวิชาที่ไม่ได้ส่งการบ้าน” "ดิฉันเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับครูหรือนักเรียนโดยตรง แต่เกี่ยวกับหลักสูตรที่ไม่มีความสอดคล้องกัน หากจัดหลักสูตรให้สอดคล้องกัน และให้การบ้านแบบบูรณาการหลายๆ วิชาในเรื่องเดียวกัน จะส่งผลดีต่อทั้งครูและนักเรียนด้วย" กรรณิการ์ระบุ

หากมองให้ดีแล้วสิ่งเหล่านี้ก็เป็นผลพวงมาจากการจัดทำหลักสูตรให้สอดคล้องกับเนื้อหารายวิชา

หรือไม่ การปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษา 2551 ในระยะที่ผ่านมาเราก็พอจะทราบประเด็นปัญหา ในการใช้หลักสูตรมาบ้างแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำความเข้าใจอย่างลุ่มลึกคือการปรับแก้ที่ตัวเราก่อน คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาทุกคนต้องร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดว่าจะปรับ จะลด จะเพิ่มอะไรตรงไหน ปรึกษากันให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจที่ตรงกัน มิเช่นนั้นไม่ใช่กระทบแค่ตัวครูกับเด็ก แต่มันสะเทือนทั้งวงการการศึกษา ผู้ปกครองที่เขาส่งบุตรหลานมาเรียนก็มีความคาดหวังให้ได้รับความรู้ ทักษะ และสร้างคนเพื่อไปสร้างชาติ ถ้าไม่คาดหวังถึงขนาดนั้นก็ให้ผู้เรียนสามารถเรียนจบแล้วมีความสามารถในการใช้ทักษะชีวิตได้ก็ยังดี ถือว่าหลักสูตรสร้างคนให้ประสบความสำเร็จ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะมองประเด็นใดก่อนหลัง จะปรับแก้อะไรเห็นใจครูผู้สอนสักนิด เพราะว่ากว่าครูจะทำความเข้าใจเรื่องหลักสูตรก็ยากพอสมควรแล้ว ต้องถอดบทเรียนจากหลักสูตรไปสู่การสอน การจัดการชั้นเรียน การประเมินผล จะโทษครูฝ่ายเดียวตอนนี้ก็คงไม่ถูกเพราะครูมีหน้าที่รับนโยบาย และปฏิบัติตามก็ไม่ต่างกับว่าทำงานแบบ Routine มากกว่าการสร้างสรรค์ผลงาน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนในฐานะนักพัฒนาหลักสูตรและการสอน อยากสะท้อนปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นจริงให้ได้รับทราบว่าบางครั้งหลักสูตรถูกสร้างขึ้นมาอย่างสวยหรู แต่ก็ไม่ได้นำไปใช้ให้เข้ากับบริบทสถานศึกษาหรือนำไปถอดบทเรียนลงสู่ชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การปรับหลักสูตรในแต่ละครั้งเกิดปัญหาไม่แตกต่างกัน ถ้ามองในเชิงบวกก็เป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยกันคิดแก้ไขมากกว่าการแก้ตัวโทษกันไปมา เพราะทั้งนี้แล้วผลกระทบที่ตามมาก็คือทุกคนที่เกี่ยวข้องทางการศึกษาและแพะรับบาปนั้นก็คงเป็น “ผู้เรียน” ของเรานั่นเอง..

หมายเลขบันทึก: 554346เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2013 01:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2015 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

...ปรับหลักสูตรแกนกลางดีอย่างไร?นั้นหมายถึงได้ปรับเรียบร้อยแล้ว...น่าจะเป็นการเสนอข้อแนะนำ...แนวทางการปฏิบัติที่ดี...หลังจากที่มีการปรับหลักสูตรแกนกลางแล้วนะคะ

ไม่ได้ข่าวอาจารย์นานมากๆๆ

เข้าใจว่างานยุ่งๆ

อาจารย์สบายดีนะครับ

ตอนนี้กำลังทำหลักสูตรท้องถิ่นกับโรงเรียนอยู่ครับ

ปรับหลักสูตรดีแน่ ถ้าปรับแล้วทำให้การสอนคนเป็นคนดีได้ ไม่ใช่ชั่วช้าคิดแต่ล้างผิด ไม่ฟังเสียงศาล คนออกไปชุมนุมก็บอกว่าคนไปตามกระแส คิดดีกันหน่อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท