การโค้ชผลการปฏิบัติงานถือว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาบุคคลากร และขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน ยิ่งบุคลากรในองค์กรปลดปล่อยศักยภาพของตนเองออกมาได้มากเท่าไร องค์กรย่อมได้รับผลประโยชน์มากเท่านั้น การปลดปล่อยศักยภาพของบุคลากรเท่ากับการปลดปล่อยศักยภาพขององค์กรด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม องค์กรส่วนใหญ่ยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการใช้การโค้ชเป็นเครื่องมือหลักในการพัฒนาองค์กร ผู้บริหารส่วนใหญ่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการโค้ชเพียงผิวเผิน ทำให้องค์กรต้องสูญเสียโอกาสอย่างมากในการพัฒนาผลการปฏิบัติงาน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ ผลผลิต ผลกำไร รายได้ ต้นทุน ประสิทธิภาพ คุณภาพของบุคลากร และการตอบสนองความต้องการของลูกค้า
โดยสรุปแล้ว การโค้ชผลการปฏิบัติงานก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. ผู้ใต้บังคับบัญชา /พนักงานผู้รับการโค้ช
• ค้นพบ และมีความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง รวมถึงเป้าหมายที่ตนต้องการบรรลุชัดเจนขึ้น
• ได้ปลดปล่อยศักยภาพของตนเอง ทำให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในตนเองมากขึ้น และมีขวัญและกำลังใจในการทำงาน
• มีวิธีคิด หรือมุมมองต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นแตกต่างไปจากเดิม มองว่าปัญหาเป็นความท้าทาย และทำให้เกิดการเรียนรู้
• มีทัศนคติและมุมมองต่อการทำงาน และการใช้ชีวิตเป็นไปในทิศทางที่สร้างสรรค์ ส่งเสริมต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรม และการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับความคาดหวังขององค์กร
• มีความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น
• สามารถทำงานด้วยความมั่นใจ เป็นอิสระแก้ไขปัญหา หรือจัดการกับสถานการณ์ท้าทายต่างๆได้ด้วยตนเอง
• สามารถคิดริเริ่มสร้างสรรค์วิธีการทำงาน หรือโครงการใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในความรับผิดชอบของตน รวมถึงหน่วยงาน และองค์กร
• มีโอกาสที่จะเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และประสบความสำเร็จต่อไป
2. ผู้บังคับบัญชาของโค้ชชี่
• มีทีมงานที่แข็งแกร่ง เป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้แก่หน่วยงาน และตนเอง
• สามารถใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยให้เวลามากขึ้นกับการทำงานด้านการวางแผน หรือวางกลยุทธ์การทำงาน เพราะผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถทำงาน และแก้ไขสถานการณ์ต่างๆได้ด้วยตนเอง
• สามารถใช้ศักยภาพของทีมงานในการคิดค้นและสร้างสรรค์วิธีการทำงานใหม่ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานและองค์กร
• มีโอกาสประสบความสำเร็จและก้าวหน้าในอาชีพการงานมากยิ่งขึ้น
3. องค์กร
• ปลดปล่อยศักยภาพผ่านทางผลการปฏิบัติงาน เช่น การเพิ่มขึ้นของรายได้ ความสามารถในการทำกำไร การตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้า ผลผลิตและประสิทธิภาพในการทำงาน การเพิ่มส่วนแบ่งตลาด ความสามารถในการแข่งขัน คุณภาพของบุคลากร รวมถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ในรูปของผลิตภัณฑ์ การพัฒนากระบวนการ และระบบงานด้านต่างๆ
• อยู่รอด พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และเติบโตอย่างยั่งยืน
ไม่มีความเห็น