ศาสนาในทัศนะของนักวิทยาศาสตร์


 

                เนื้อหาต่อไปนี้ผมรวบรวมมาจากหนังสือ "วิทยาศาสตร์กับศาสนา" ของนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพ (Relativity Theory) นั่นคือ อัลเบิร์ต  ไอน์สไตน์ ทัศนะของท่านเป็นทัศนะที่น่าสนใจมากสำหรับผู้อยู่ในแวดวงศาสนา  ไอน์สไตน์ได้สรุปเอาไว้อย่างชัดเจนว่า  "ศาสนาที่ขาดวิทยาศาสตร์ก็เหมือนคนตาบอด  วิทยาศาสตร์ที่ขาดศาสนาก็เหมือนคนง่อยเปลี้ย" 

 

 ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและวิทยาศาสตร์

             แม้ว่าเขตแดนของศาสนาและวิทยาศาสตร์จะแยกจากกันโดยเด็ดขาดด้วยนิยามเบื้องต้นแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังมีความสัมพันธ์ในเชิงผกผันและความเกี่ยวโยงพึ่งพาซึ่งกันและกันระหว่างเขตแดนทั้งสองอย่างแน่นแฟ้นและลึกซึ้ง  แม้ศาสนาจะเป็นตัวกำหนดจุดหมายสูงสุดแห่งการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็ตาม  แต่ในแง่กว้างแล้วศาสนาก็ต้องเรียนรู้จากวิทยาศาสตร์ถึงวิธีการที่จะใช้เพื่อบรรลุจุดหมายที่กำหนดไว้  ในลักษณะเดียวกันวิทยาศาสตร์จะสร้างขึ้นได้ก็ต้องอาศัยผู้ซึ่งซาบซึ้งด้วยความเชื่อในความจริงและความเข้าใจอย่างมั่นคง  ความรู้สึกซาบซึ้งดังกล่าว  ย่อมถือกำเนิดจากแหล่งเดียวคือศาสนา

 

ความสงสัยของนักวิทยาศาสตร์ต่อ(บาง)ศาสนา

          หากรูปธรรมของพระเป็นเจ้าทรงไว้ซึ่งความเป็นนิรันดรโดยแท้จร้งแล้วไซร้  เหตุการณ์ทุกอย่าง พฤติกรรมทุกประการ  ความคิดความรู้สึกและความปราถนาของมนุษย์ย่อมเป็นผลงานของพระเป็นเจ้าพระองค์นั้นด้วยเช่นกัน  ฉะนี้แล้วใยมนุษย์จึงต้องก้มหน้ารับผิดชอบและไถ่บาปอันเนื่องมาจากการกระทำและความคิดนั้น ต่อเบื้องพระพักตร์ของพระผู้เป็นเจ้าในการลงทัณฑ์และปูนบำเหน็จรางวัลแก่ทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระองค์  ย่อมสมควรที่พระองค์จะผ่านคำตัดสินนั้นไปสู่พระองค์เองด้วย  หากเป็นเช่นนี้ คำสรรเสริญเกี่ยวกับความดีและความยุติธรรมของพระเป็นเจ้าจะอธิบายได้เช่นไร

  

บทบาทของศาสนาและผู้เผยแผ่ศาสนา

         คำสอนใด ๆ ก็ตามซึ่งไม่สามารถแสดงตัวได้ในที่แจ้ง  แต่ต้องหลบซ่อนอยู่เฉพาะในเขตแดนแห่งอวิชชานั้น  จะสูญเสียความหมายต่อมนุษยชาติไปในที่สุด  และจะนำความสูญเสียอันคำนวนมิได้มาสู่ความก้าวหน้าของมนุษยชาติด้วย

          ในการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อคุณค่าเชิงจริยธรรม  ครูผู้สอนศาสนาต้องมีภูมิธรรมพอที่จะโยนคำสั่งสอนของพระผู้เป็นเจ้าเชิงรูปธรรมทิ้งไป  กล่าวคือต้องเลิกยึดมั่นในแหล่งกำเนิดของความกลัวและความหวัง  ซึ่งในอดีตเป็นสิ่งที่ทำให้นักบวชมีอำนาจเหนือมวลชนอย่างมากมาย

          ในการดำเนินการศึกษา  ครูเหล่านี้ต้องมอบตัวเองให้กับพลังซึ่งสามารถดึงเอาความดี  ความสัตย์และความงามที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวมนุษย์ออกมาตีแผ่เพื่อประโยชน์สูงสุดให้ได้  งานนี้จึงเป็นงานที่ยากลำบากท้าทายแต่มีคุณค่ายิ่งนัก  เมื่อใดที่ครูผู้สอนศาสนาทั้งหลายได้ทำงานอันละเอียดอ่อนและยากเย็นแสนเข็ญนี้สำเร็จลุล่วงลง  เขาจะตระหนักได้ถึงความรื่นรมปรีดาที่เขาได้มีส่วนยกศักดิ์ศรีและเพิ่มพูนความลุ่มลึกแก่ศาสนาโดยใช้ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์

 

ความสอดคล้องกันของศาสนาและวิทยาศาสตร์

            การมุ่งแสวงหาเอกภาพแห่งเหตุและผลของเหลี่ยมต่าง ๆ  ของปรากฏการณ์ทำให้วิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จสูงสุด  ถึงแม้ว่าในมุมกลับกันความพยายามนี้เองที่ทำให้วิทยาศาสตร์ตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะกลายเป็นเหยื่อของสิ่งลวงตาไปในที่สุด  แต่ใครก็ตามที่ไดผ่านประสบการณ์อันลุ่มลึกสู่ความก้าวหน้าในเขตแดนนี้ย่อมเกิดความซาบซึ้งต่อความสง่างามของการแสดงออกซึ่งความมีเหตุผลของการดำรงอยู่ (Existence)  โดยความเข้าใจสั่งสมจากประสบการณ์  เขาได้สลัดตัวเองหลุดพ้นจากโซ่ตรวนแห่งความหวังและกิเลสตัณหาพาตนเองเข้าสู่ความอ่อนน้อมแห่งจิตวิญญาณเพื่อเป็นหนทางทอดไปยังความงดงามยิ่งใหญ่ของเหตุผลอันกำเนิดร่วมกับการดำรงอยู่  ซึ่งในมิติอันล้ำลึกสุดหยั่งได้โดยมนุษยชน (Enlightenment)

  

พระพุทธศาสนากับวิทยาศาสตร์ 

            The religion of the future will be a cosmic religion. It should transcend personal God and avoid dogma and theology. Covering both the natural and the spiritual, it should be based on a religious sense arising from the experience of all things natural and spiritual as a meaningful unity. Buddhism answers this description. If there is any religion that could cope with modern scientific needs it would be Buddhism. (Albert Einstein)        

"ศาสนาในอนาคตจะต้องเป็นศาสนาสากล ศาสนานั้นควรอยู่เหนือพระเจ้าที่มีตัวตนและควรจะเว้นคำสอนแบบสิทธันต์ (คือเป็นแบบสำเร็จรูปที่ให้เชื่อตามเพียงอย่างเดียว)และแบบเทววิทยา(คือพึ่งเทวดาเป็นหลักใหญ่)ศาสนานั้นเมื่อครอบคลุมทั้งธรรมชาติและจิตใจจึงควรมีรากฐานอยู่บนสามัญสำนึกทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ต่อสิ่งทั้งปวง คือทั้งธรรมชาติและจิตใจอย่างเป็นหน่วยรวมที่มีความหมายพระพุทธศาสนาตอบข้อกำหนดนี้ได้ ....ถ้าจะมีศาสนาใดที่รับมือได้กับความต้องการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ปัจจุบันศาสนานั้นก็ควรเป็นพระพุทธศาสนา"

 

 

 

  ต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่นำมาจากหนังสือ  "พระพุทธศาสนาในฐานะที่เป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์"  ของท่านพระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)  

" ไอน์สไตน์บอกว่า 

       "ในยุควัตถุนิยมของพวกเรานี้  ผู้ทำงานทางวิทยาศาสตร์อย่างเอาจริงเอาจัง  เป็นคนจำพวกเดียวเท่านั้น  ที่มีศาสนาอย่างลึกซึ้ง"

          ไอน์สไตน์เห็นว่า ในยุคนี้หาคนที่มีศาสนายาก  มีนักวิทยาศาสตร์พวกเดียวเท่านั้นที่เป็นคนมีศาสนาอย่างจริงจัง  แต่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานอย่างบริสุทธิ์ใจอย่างที่เรียกว่า เป็นคนทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง  และแกบอกต่อไปอีกว่า

       "วิทยาศาสตร์เกิดขึ้นได้  โดยเป็นการสร้างสรรค์ของคนที่เปี่ยมด้วยความใฝ่ปราถนาต่อสัจธรรมและปัญญาที่เข้าใจความจริง... บุคคลที่เราเป็นหนี้ผลสำเร็จในทางสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทางวิทยาศาสตร์ทุกคนล้วนเต็มเปี่ยมไปด้วยความเชื่อมั่นทางศาสนาอย่างแท้จริงว่า  สากลจักรวาลของเรานี้  เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์และสามารถรับรู้ได้ด้วยการแสวงหาความรู้อย่างมีเหตุผล"

         อันนี้เขาเรียกว่าเป็นความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนา  กล่าวคือความใฝ่รู้ความจริงของธรรมชาติ  และความเชื่อว่าเบื้องหลังธรรมชาติมีกฏแห่งความเป็นจริงที่แน่นอนครอบคลุมทั่วสากล  อันนี้ไอน์สไตน์เรียกว่าเป็น  "ความรู้สึกทางศาสนา"  หรือ "สำนึกทางศาสนา"  โดยเฉพาะเป็น  cosmic  religious  feeling  คือ  "สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากล"  แล้วเขาก็บอกว่า

          "สำนึกทางศาสนาที่หยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้  เป็นแรงจูงใจที่แรงกล้าและประเสริฐที่สุดสำหรับการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์"

         "พุทธศาสนา....มีสภาวะที่เรียกว่า  cosmic  religious  feeling  คือความรู้สึกหรือสำนึกทางศาสนาอันหยั่งโยงสรรพสิ่งทั่วสากลนี้อย่างเข้มข้น  หรือแรงกล้ามาก"

         นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์คนอื่นที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสนาตะวันออก  ดังต่อไปนี้

       "The  general  notions  about  human  understanding...which  are  illustrated  by  discoveries  in  atomic  physics  are  not  in  nature  of  things  wholly  unfamiliar,  wholly  unheard  of,  or  new.  Even  in  own  our  culture  they  have  history,  and  in  Buddhist  and  Hindu  thought  a  more  considerable  and  central  place.  What  we  shall  find  is  an  examplification,  an  encouragement,  and  a  refinement  of  old  wisdom. 

                                                                    Julious  Robert  Oppenheimer

  

      "For  a  parallel  to  the lesson  of  atomic  theory...  [we  must  turn]  to  those  kinds  of  epistemological  problems  with  which  already  thinkers  like  the  Buddha  and  Lao  Tzu  have  been  confronted,  when  trying  to  hamonize  our  position  as  spectators  and  actors  in  the  great  drama  of  existence."

                                                                                        Niels  Bohr

 

หมายเลขบันทึก: 553864เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2013 04:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 กรกฎาคม 2014 09:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

บันทึกนี้เป็นการนำเสนอความเห็นของอัลเบิร์ต ไอสไตน์ นักวิทยาศาสตร์ผู้ที่โลกยกย่องว่ายิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ ๒๐ ที่มีต่อศาสนาต่าง ๆ และพระพุทธศาสนา  อย่างไรก็ตามการที่ผู้เขียนนำเสนอการยอมรับพุทธศาสนาของไอสไตน์ก็มิได้หมายความว่า พระพุทธศาสนายิ่งใหญ่เพราะการยอมรับของไอสไตน์ พระพุทธศาสนามีความยิ่งใหญ่อยู่แล้วแม้ว่าไอสไตน์จะยอมรับหรือไม่ก็ตาม  แต่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอคือความสอดคล้องและสัมพันธ์กันของพระพุทธศาสนาและวิทยาศาสตร์ (ในบางเรื่อง)  เพราะฉะนั้นหากจะมีผู้ใดต้องการโต้แย้ง ให้ถือว่าเป็นการโต้แย้งกับไอสไตน์  เพราะทัศนะเหล่านี้ไม่ใช่ทัศนะส่วนตัวของผู้เขียน ผู้เขียนเป็นเพียงผู้นำเสนอข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจองค์ความรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาปัญญาของสังคมต่อไป

ทั้งหมดที่ผมนำเสนอเป็นทัศนะของนักวิทยาศาสตร์ของโลกและนักปราชญ์ทางพุทธศาสนา ในส่วนตัวผมแล้ว ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะผมเคยเสนอบันทึกมาแล้วว่า พุทธธรรม (สัจธรรมและจริยธรรม) ของพุทธศาสนา เป็นกฏของธรรมชาติที่เป็นระบบอย่างสมบูรณ์แบบในตัวเอง พระพุทธองค์ไม่ได้คิดขึ้น แต่พระองค์ทรงค้นพบแล้วนำมาเผยแผ่เหมือนกับพวกนักวิทยาศาสตร์ค้นพบทฤษฎีต่าง ๆ ความแตกต่างกันมีอยู่เพียงแค่ว่าพระพุทธองค์นอกจากค้นพบกฏแห่งสรรพสิ่งแล้วพระองค์ยังค้นพบกฏทางจิตและกฏทางจริยธรรมที่สมบูรณ์ที่สุด แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบกฏทางกายภาพหรือฟิสิกส์เท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธศาสนาไม่ได้หยุดอยู่แค่การยอมรับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความคิดเชิงเหตุผลเท่านั้น เพราะเหล่านี้เป็นเพียงโลกียปัญญา พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนธรรมะขั้นสูงในระดับอุตรภาพ (Transcendental Truth) ซึ่งเป็นปัญญาในระดับโลกุตตระ ที่อยู่เหนือความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความคิดเชิงเหตุผล ซึ่งการจะเข้าถึงส่วนนี้ได้ต้องอาศัยการเจริญจิตตภาวนา หรือ สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งเป็นโลกุตรปัญญาอันเป็นปัญญาขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนา

เห็นด้วยอย่างยิ่ง ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่งถ้าจำไม่ผิดชื่อ "ไอน์สไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น" เป็นหนังสือแต่งโดย ทันตแพทย์สม สุจีรา มีเนื้อหาทั้งทางวิทยาศาสตร์และหลักการทางพุทธศาสนา

ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์ค่ะ

ขอบคุณมากครับ สำหรับความเห็นของทั้งสองท่าน

หนังสือของทันตแพทย์สม สุจีรา เรื่อง ไอสไตน์พบ พระพุทธเจ้าเห็น เป็นหนังสือที่เขียนได้ดีมาก เพราะท่านเป็นผู้มีความรู้อย่างลึกซึ้งทางวิทยาศาสตร์และได้ปฎิบัติวิปัสสนากรรมฐานขั้นสูงกับพระวิปัสสนาจารย์ใหญ่ พระอาสภะ ภทันตะมหาเถระ ผู้เป็นศิษย์คนสำคัญของท่านพระอาจารย์มหาสีสยาดอ มหาเถระ พระวิปัสสนาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพม่า

เพราะฉะนั้น เนื้อหาที่ท่านนำเสนอจึงมีความสมบูรณ์ทั้งทางพุทธศาสน์และวิทยาศาสตร์ ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงสัมพันธ์ของสัจธรรมที่ศาสตร์ทั้งสองได้ค้นพบ สัจธรรมเป็นสิ่งสากล เมื่อผู้ใดเข้าถึงหรือศึกษาจนรู้แจ้ง ไม่ว่าผ่านกระบวนการทางศาสนาหรือเทคนิควิทยาทางวิทยาศาสตร์ก็ย่อมที่จะเข้าใจในสิ่งนั้นได้ตรงกัน ไม่ขัดแย้งกัน แต่กลับส่งเสริมกันให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ความรู้จากวิทยาศาสตร์ทำให้เราเข้าใจความจริงสากลเชิงกายภาพ ส่วนปัญญาทางพระพุทธศาสนาทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความจริงสากลเชิงนามธรรมที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถหาคำตอบได้ นี้คือคุณูปการที่เราได้รับจากวิทยาศาสตร์และพระพุทธศาสนาครับ

อาจารย์บรรพตค่ะ ดิฉันขออนุญาตลบบทสนทนาของผู้ที่ไม่ประสงค์ออกนามออกไปค่ะ เนื่องจากเป็นการก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งทางศาสนาค่ะ

ขอบคุณมากครับ  คุณจันทวรรณ  ผมก็อึดอัดใจอยู่เหมือนกัน ต้องพยายามใช้ความอดทนไม่ตอบโต้แรง ๆ  ใช้ความเมตตา พยายามอธิบายด้วยหลักการและเหตุผล  เพราะพระพุทธองค์สอนให้ใช้ขันติธรรมและเมตตาธรรมต่อผู้ที่มีความคิดและความเชื่อต่างจากเรา

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท