เก็บตกการเป็นวิทยากร (3) : เทา-งามสัมพันธ์ "บันเทิง เริงปัญญา" (ตามประสาพี่ๆ น้องๆ)


นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม จึงมีสถานะสำคัญคือ นำพาองค์ความรู้และวัฒนธรรมของตนเองไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนิสิตนักศึกษาต่างสถาบัน รวมถึงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับ “ชุนชน” อย่างเสร็จสรรพภายใต้หลักคิดสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ “เรียนรู้คู่บริการ” ไม่ใช่ขับเคลื่อนกระบวนการภายใต้หลักคิดของการเป็น “นักสังคมสงเคราะห์”

ในงานเทา-งามสัมพันธ์ ครั้งที่ 17  ระหว่างวันที่ 20-26 ตุลาคม 2556  ณ มหาวิทยาลัยบูรพา  ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรนำเสวนาร่วมระหว่างนิสิต นักศึกษาและผู้บริหารสถาบันในเครือเทางามที่ประกอบด้วย ม.ศรีนครินทรวิโรฒ (กรุงเทพฯ) ม.นเรศวร (พิษณุโลก)  ม.ทักษิณ (สงขลา,พัทลุง) ม.บูรพา (ชลบุรี)  และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม  (มหาสารคาม)

 

จะว่าไปแล้วเวทีการเสวนาทำนองนี้ห่างหายไปจากโครงการเทา-งามสัมพันธ์ยาวนานไม่ใช่ย่อย 
      กระทั่งล่าสุดเมื่อไม่กี่เดือน  ผมเป็นหนึ่งในผู้คนเพียงไม่กี่คนที่พยายามกระตุกกระตุ้นให้เกิดเวทีแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน- เรียนรู้ผ่านมุมมองของ “นิสิต-นักศึกษา”  และเชื่อมโยงมุมมองไปยัง “ผู้บริหาร”  เพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการทางความคิด สู่การออกแบบกิจกรรมและลงมือทำกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์ร่วมกัน 

      และที่สำคัญเลยก็คือการเพียรพยายามใช้เวทีดังกล่าวเป็นเวทีแห่งการสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของงานเทา-งามสัมพันธ์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน  เสมอเหมือนการ “ปฐมนิเทศ”  การเข้าร่วมกิจกรรมฯ ดีๆ นั่นเอง

 

 

 

ครับ- เวทีเสวนาที่ว่านี้  ประหนึ่งชวนเชิญใครๆ ได้หวนทบทวน “ประวัติศาสตร์” ของโครงการนี้อย่างสุภาพ  
       อีกหนึ่งคือการเตรียมความพร้อม หรือถามทักและหนุนเสริมให้แต่ละคนมี “ทุนทางปัญญา”  เกี่ยวกับโครงการนี้ร่วมกัน 
       ไม่ใช่ลงสู่ “เนื้องาน”  แต่ปราศจากซึ่ง “ต้นทุนเดิม”  ของโครงการ   
       ไม่ต่างอะไรจากการ  “เดินหน้าฆ่าลูกเดียว”  โดยไม่สนใจเหลียวหลังเบิ่งมองกลับไปยัง “ที่มาที่ไป” หรือ “ต้นสายปลายราก” ของเรื่องนั้นๆ 

การเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 2556  ภายใต้หัวข้อ “เทางามสัมพันธ์สร้างสรรค์สามัคคี” โดยมีนายกองค์การนิสิต จาก 5 สถาบันร่วมเสวนากับผู้แทนฝ่ายบริหารของสถาบันในเครือเทางาม จำนวน 1 ท่าน คือ ดร.อนุพันธ์  สิทธิโชคชัยวุฒิ (รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร)

ครับ-ผมได้รับเลือก (กึ่งเรียนเชิญและบังคับเจาะจง) ให้ทำหน้าที่เป็นผู้นำการเสวนา  ซึ่งคาดว่าน่าจะมาจากเหตุผลหลักสำคัญๆ คือ  เป็นผู้ชูประเด็นให้เกิดเวที (จึงต้องรับผิดชอบ)  เป็นคนช่างจดช่างจำ  และเป็นเคยผ่านงานเทา-งามสัมพันธ์มาหลายยุคสมัย  รวมถึงเคยเป็นนิสิตในเครือ “มศว” (ศรีนครินทรวิโรฒ) มาก่อน  จึงพอมองเห็นร่องรอยการเชื่อมต่อทางปรากฏการณ์ต่างๆ ได้บ้าง

 

 

 

ผมเปิดเวทีด้วยการบอกเล่าสังเขปการก่อเกิด "เทา-งามสัมพันธ์"  อย่างรวบรัด 
       จากนั้นจึงถามทักผู้เข้าร่วมเสวนาในประเด็น “มุมมองที่มีต่อเทา-งามสัมพันธ์”  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงการนิยามความหมายของ “เทา-งามสัมพันธ์” ของแต่ละคน 
       ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีมุมมองไม่ต่างกัน นั่นก็คือ “พี่น้องมาพบปะสังสรรค์กัน” 
       พร้อมๆ กับการจัดกิจกรรมบริการสังคมร่วมกัน ผ่านกิจกรรมหลักคือกีฬา  วิชาการ ศิลปวัฒนธรรม และอาสาพัฒนา
 

ทันทีที่เสร็จสิ้นการสะท้อนมุมมองของแต่ละคน 
        ผมไม่รั้งรอที่จะขมวดนิยามเหล่านั้นง่ายๆ ในสไตล์ที่ผมถนัด นั่นก็คือ “บันเทิง-เริงปัญญา”  อันหมายถึงการพบปะสังสรรค์ดังกล่าว  ไม่ใช่ “ดู-แดก-ดิ้น” หรือ “เฮฮาปาร์ตี้”  อย่างที่คิด
       หากแต่หมายถึง  การมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกันและกัน ทั้งในมิติการเรียน การใช้ชีวิต การทำงานของนิสิตและบุคลากรในสาย “พัฒนานิสิต” หรือ “กิจกรรมนิสิต” 
       และการแลกเปลี่ยนที่ว่านี้  ก็ดำเนินคู่ไปกับ "กิจกรรมทางสังคม" หรือ “บริการสังคม” 

       กระบวนการเหล่านั้น  จึงหนุนเสริมให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์บนฐานวัฒนธรรมของแต่ละสถานศึกษา
       รวมถึงการร่วมเรียนรู้วิถีอันเป็นบริบทของชุมชน หรือสถานที่ของการจัดกิจกรรมไปในตัว 

       ด้วยเหตุนี้นิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรม  จึงมีสถานะสำคัญคือ นำพาองค์ความรู้และวัฒนธรรมของตนเองไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนนิสิตนักศึกษาต่างสถาบัน
       รวมถึงการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนกับ “ชุนชน” อย่างเสร็จสรรพภายใต้หลักคิดสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบ “เรียนรู้คู่บริการ”  ไม่ใช่ขับเคลื่อนกระบวนการภายใต้หลักคิดการเป็น “นักสังคมสงเคราะห์”

 

 

 

แน่นอนครับ โดยเนื้อแท้ประเด็นนี้  ผมพยายามปลุกเร้าให้ผู้เกี่ยวข้อง ทั้งอาจารย์ เจาหน้าที่ นิสิต ได้ตระหนักถึงสถานะของกิจกรรมของตนเองว่ามีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากิจกรรมอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงอย่างออกหน้าออกตาในสังคม  

           ซึ่งบางทีเมื่อเทียบรุ่นต่อรุ่น จังหวะต่อจังหวะ  อาจเทียบไม่ได้เลยกับงาน “เทา-งามสัมพันธ์”  ซึ่งก่อเกิดและดำเนินการยาวนานมากว่า 2 ทศวรรษ

          เพียงแต่ที่ผ่านมา  ต้องยอมรับว่าไม่มีการถอดบทเรียนให้เห็นชุดความรู้และพลังแห่งการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้นเอง  จนทำให้งานเทา-งามสัมพันธ์กลายเป็นกิจกรรมชายขอบในมหาวิทยาลัย รับรู้กันในวงแคบเฉพาะฝ่ายพัฒนานิสิต 
          หรือแม้แต่ถูกตีตราว่าเป็นกิจกรรม “พบปะสังสรรค์”  เท่านั้นเอง

 

และถัดจากนั้น
    ผมก็ชวนเสวนาหลากประเด็น  บ้างก็ให้แต่ละคนบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตในเวทีเทา-งามสัมพันธ์  เพื่อสะท้อนเรื่องราวกิจกรรมของแต่ละปีย้อนหลังไปในตัว 
    เช่นเดียวกับการถามทักถึงสิ่งที่แต่ละคนได้รับจากการเข้าร่วมงานเทา-งามสัมพันธ์  ทั้งในเชิงสร้างสรรค์และในแง่มุมอันชวนหดหู่

    และนอกจากนั้น  ยังเปิดประเด็นให้แต่ละคนได้เสนอแนวคิดของการจัดงานเทา-งามสัมพันธ์  โดยกล่าวย้ำว่าให้ “พูดแบบจริงจัง จริงใจ”  มิใช่ “เขินอาย” หรือ “หวั่นเกรง” กับระบบ  ซึ่งมีประเด็นหลายประเด็นที่นิสิตและผู้บริหารได้เปิดเปลือยทิ้งไว้ให้พิจารณาสู่การขับเคลื่อนต่อไป เช่น

 

  • ส่งเสริมให้ศิษย์เก่าได้มีส่วนร่วมในงานเทา-งามสัมพันธ์
  • มีระบบประชาสัมพันธ์ที่กว้างขวางในแต่ละสถานศึกษา มิใช่จำกัดอยู่แต่เฉพาะวงในของการ “ส่วนกลาง”  อันหมายถึงการสื่อสารให้กว้างขวางไปยังคณะต่างๆ เพื่อให้ผู้บริหารและนิสิตนักศึกษาในระดับคณะได้รับรู้และสนใจเข้าร่วมอย่างหลากหลาย
  • มีระบบการสร้างฐานข้อมูลที่เป็นรูปธรรม  เพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ หรือปรากฏการณ์ต่างๆ ของแต่ละปี เพื่อก่อให้เกิดการศึกษา ค้นคว้า ต่อยอด
  • มีระบบการประเมินผลที่หลากหลายกว่าที่ผ่านมา  เช่น การทำวิจัย  วีดีทัศน์ หนังสั้น  สารคดี เรื่องเล่าเร้าพลัง  ทั้งในระดับเฉพาะสถาบันและในภาพรวมของสถาบันเครือข่ายฯ
  • ฯลฯ

 

 

 

ครับ- จากวันนั้นจนถึงวันนี้ เวทีที่ว่านั้น  ยังคงแจ่มชัดในหัวสมองของผม

       ผมสุขใจกับการได้รับเชิญเพื่อทำหน้าที่ชักพาใครๆ ได้หันไปทบทวนประวัติศาสตร์ของตนเองร่วมกัน
       ผมสุขใจกับการได้รับเชิญเพื่อทำหน้าที่เปิดเวทีให้นิสิตและผู้บริหารได้สะท้อนมุมมองร่วมกันอย่างไม่มีพรมแดน เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิตได้มีส่วนร่วมในการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง  มิใช่ผู้ใหญ่คิดและให้เด็กๆ ได้ทำตามในทุกกระบวนยุทธ
      และสุขใจที่นิสิตนักศึกษามีเวทีแห่งการบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตผ่านงานเทา-งามสัมพันธ์ 
      เพราะถ้าไม่ใช่เวทีนี้  ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่าจะมีเวทีการแลกเปลี่ยนอย่างเป็นรูปธรรม และมีพลังสักแค่ไหน ลำพังพบปะแลกเปลี่ยนกันในโลกอินเทอร์เน็ต ก็ยากยิ่ง 
      เพราะคงเป็น “บันเทิง” มากกว่าการเป็น “บันเทิง เริงปัญญา”

      ครับ-ที่เหลือ ยังคงต้องลุ้น หรือแม้แต่ช่วยกันในทุกภาคส่วน  เพื่อยกระดับงานเทา-งามสัมพันธ์ให้มีที่ยืนอย่างมีตัวตนในแต่ละสถานศึกษา และรวมพลังสร้างสรรค์กิจกรรมให้ได้รับความเชื่อมั่นว่านี่คืออีกหนึ่งทางเลือกของการ “พัฒนานิสิตนักศึกษาไทย”  เพื่อให้เติบใหญ่เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมไทย (หรือแม้แต่สังคมโลก)
       เพราะเป็นกระบวนการของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างนิสิตกับนิสิต-ระหว่างนิสิตกับชุมชน
       รวมถึงการหนุนเสริมให้นิสิตได้เกิดการเรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านการลงมือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนต่างสถาบันและชุมชน  ซึ่งล้วนก่อเกิดและถูกหล่อหลอมมาจากวัฒนธรรมและต้นทุนที่มีทั้งเหมือนและต่างกัน-
       และที่แน่ๆ คือกระบวนการเรียนรู้ในหลักคิด "เรียนรู้คู่บริการ"  (บันเทิง เริงปัญญา) ที่ยึดโยงถึงกลไกแห่งการบ่มเพาะเรื่องจิตอาสา หรือจิตสำนึกสาธารณะอย่างไม่ต้องกังขา -


หมายเลขบันทึก: 553713เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2013 12:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2013 15:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • กิจกรรมดีดี มีให้เห็นอยู่เสมอนะคะ
  • อาจารย์เก่งจัง

สวัสดีครับ พี่ มนัสดา

โครงการเทางามสัมพันธ์ฯ  เป็นเสมือนความร่วมมือทางใจของ 5 สถาบันที่เคยเป็นวิทยาเขตในความเป็น "มศว" ...
ทุกการปิดภาคเรียนต้น จึงนำนิสิตเข้าร่วมพบปะจัดกิจกรรมร่วมกัน เน้นการแลกเปลี่ยนและบริการทางสังคม ผ่านกิจกรรมกีฬา วิชาการ ศิลปะวัฒนธรรม และอาสาพัฒนา โดยสลับกันเป็นเจ้าภาพในแต่ละปี และในแต่ละปีนั้น สถาบันต่างๆ ก็จะได้รับมอบหมายการเป็นเจ้าภาพในกิจกรรมแต่ละด้าน...

เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนานิสิตผ่านระบบและกลไกกิจกรรมนอกชั้นเรียนครับ...
ทุกมหาวิทยาลัย จะมีกิจกรรมบังคับเหมือนกันคือสอนการแสดงของแต่ละภูมิภาคให้กับเด็กๆ ในชุมชนที่ไปออกค่าย จากนั้นก็ให้เด็กๆ เหล่านั้นได้แสดงให้ผู้ปกครองได้ดูชมในวันปิดค่าย...พร้อมๆ กับมอบอุปกรณ์การแสดงเหล่านั้นไว้ให้เด็กๆ และโรงเรียนต่อยอดกันต่อไปครับ


 

กึ่งบังคับเจาะจง  จนได้สาระแบบสบาย ๆ นะคะ

  • สวัสดีครับอาจารย์
  • บันทึกนี้มีคำสำคัญเพื่อสังคมมากมายครับ
  • กิจกรรมทางสังคม, บริการสังคม, เรียนรู่คู่บริการ ฯลฯ
  • มีความสุขครับ

เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์เพื่อสังคมดีมากจ้ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท