หอมยาแก้โรคหวัดไอจาม ชื่อ “อำมฤควาที” หรือประสะชะเอม ตำรับยาไทยโบราณ
จัดบดเป็นชนิดผง เสร็จแล้ว ตั้งใจนำไปฝากแม่ชีที่เช้าๆทั้งจามและไอ รวมทั้งขออนุญาตให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่าก่อนพระอาทิตย์ขึ้น อากาศสดชื่น ให้ออกไปรับตะวันกัน รับพลังจากจักวาล จะยืน เดิน นั่ง ก็ได้หมด หากไม่สบายลุกไม่ไหว เดินไม่สะกวด ก็ให้จะหาเก้าอี้พับไปนอนแสงตะวันให้กระดูกได้พิทักษ์ตัวมันเองด้วยจะดีไหม
สำหรับตำรับยาโบราณที่มีส่วนผสมของสมุนไพรมากมายหลายชนิดนี้เป็นที่เปิดเผยโดยทั่วไปเว้นแต่เคล็ดลับในกรรมวิธีบางประการเท่านั้นที่หมอโบราณบางท่านไม่เปิดเผย ที่ไม่เปิดเผยคงไม่เกี่ยวกับการหวงวิชาแต่ประการใด แต่ก็อย่างที่ทราบกัน ในโลกนี้ไม่มีอะไรขาวหรือดำอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นผู้เป็นแพทย์แผนไทย หรือแผนอื่นๆต่างต้องมีจรรยาบรรณอันเคร่งครัดปฏิบัติเป็นกิจบูชาครูบาอาจารย์ที่ท่านได้ประสาทวิชามาให้
เมนูปรุงยายาสมุนไพรบรรเทาอาการไอ ขับเสมหะพันคอ สำหรับฤดูปลายฝนต้นหนาวนี้ ขอแนะนำ
ยาตำรับแผนไทย “อำมฤควาที” ให้ได้ลองทำกินกันเองดังนี้
ตำรับยาอำมฤควาที เข้ายาสมุนไพรถึง 6 ชนิด ได้แก่ (ของดั่งเดิมมี 7 ชนิดอ่านเหตุผลที่หมายเหตุ)
- โกฐพุงปลา
- ลูกมะขามป้อม
- ลูกสมอพิเภก
- เทียนขาว
- ลูกผักชีลา
ทั้ง 5 สิ่งนี้ หนักสิ่งละ 7 กรัม - ชะเอมเทศหนักเท่ากับ สมุนไพร 5 ตัวรวมกัน คือ 35 กรัม
- (เพิ่มเติม:ตำรับโบราณแท้ๆใช้ สมุนไพรข้อ 1-5 และไคร้เครือ รวมเป็น 6 สิ่ง หนักอย่างละ 15 กรัม หรือ 1 บาท ขะเอมหนักเท่ากับ 1-5 +ไคร้เครือ เท่ากับ 6 บาท หรือ 90กรัม)
ลองมาดูว่าสมุนไพรในตำรับยา อำมฤควาที นี้มีสรรพคุณและรสแต่ละอย่างเป็นอย่างไร
1.โกฐพุงปลา
ลักษณะเป็นปมปูดออกมาจากต้นไม้ที่นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาคือโกศพุงปลาจากต้นสมอไทย เมื่อก่อนไม่รู้จักนึกว่าต้นสมอไทยเป็นโรคร้อยหัว ก็จะเอามีด สับๆ ริดๆๆออก บางทีก็ขุดแคะลงไปในเนื้อไม้ เพราะเข้าใจว่าต้นไม้ติดโรค ก็จะพยายามปาด หรือแคะทิ้งไป มารู้ทีหลังว่ามันเป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งก็ รู้สึกว่าเสียดายที่ไม่รู้เรื่องสมุนไพรของหายาก ของโกฐพุงปลา ที่มีลักษณะคล้ายถุงพุงปลา ออกจะแบนๆ โกศพุงปลาเกิดจากเนื้อไม้ที่ถูกแมลงกัดกิน และต้นไม้นั้นก็จะสร้าง ผลิตสารเพื่อใช้ป้องกันตนเองทำให้เนื้อไม้บริเวณนั้นมีลักษณะเป็นปมปูดแข็ง แมลงก็จะไม่กัดเจาะ และถ้าปล่อยไว้นานๆบางทีก็ผุด้วยมีน้ำฝนกักขังอยู่ หรือบ้างก็แห้งเป็นเนื้อไม้อีกแบบหนึ่งที่ชวนมองก็มี
โกศพุงปลานี้คนอิสานเรียกกันว่าปูดกกส้มมอ มีรสฝาดขมมาก นิยมนำมาใช้เป็นยาแก้บิด ถ่ายเป็นมูกเลือด แก้ฝี แต่ในตำรับนี้คงใช้เป็นยาฝาดสมาน เพื่อกวาดคอ แก้ซาง นึกถึงเด็กเล็กๆที่ที่ถูกพาไปกวาดยา แก้อาการอักเสบในลำคอ กินนมไม่ได้ร้องโยเยอีกทั้งยังเป็นยาที่ใช้คุมรสเปรี้ยวของมะขามป้อมและลูกสมอพิเภก
- มะขามป้อม
ใช้เนื้อมะขามป้อม รสเปรี้ยวฝาดบันทึกถึงตรงนี้แล้วร่างกายก็มีน้ำย่อยมารอรับรู้รสเปรี้ยวฝาดอมขมเล็กน้อยของมะขามป้อม อย่างรู้ทันกัน นิยมใช้ผลแก่เขียวๆเหลืองๆ มีสรรพคุณช่วยขับเสมหะ ให้ความชุ่มชื่นที่คอเมื่อได้ลิ้มรส ว่ากันว่ามะขามป้อมนี้ยังใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้อีกด้วย
- สมอเทศ
เป็นทั้งสมุนไพรป่า และผลไม้ป่าที่คนโบราณใช้แก้ เสมหะเหนียวพันคอ รสเปรี้ยวฝาดหวาน
- เทียนขาว หรือเมล็ดยี่หร่า
รสเผ็ดร้อน ขมนิดๆ สรรพคุณ ช่วยขับลม ขับเสมหะ แก้แก้ดีพิการ ช่วยย่อยอาหาร และกระตุ้นการเต้นหัวใจเมื่อชีพจรอ่อนแรง
- ลูกผักชีลา
รสขมฝาดร้อนหอม สรรพคุณช่วยแก้ไข้เนื่องจากซาง แก้อาการคลื่นเหียนอาเจียน
แก้ตาเจ็บ แก้สะอึก ช่วยขับลมในลำไส้
- ชะเอมเทศ
ในชะเอมเทศมีสารชื่อ สารกลีไซไรซิน (Glycyrrhizin) เป็นสารรสหวานที่ได้จากชะเอม น้ำยาสกัดของรากชะเอมมีรสหวาน จึงใช้ผสมในยาแก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว บำรุงกำลังมีรสหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 50 เท่า หากบริโภคสารนี้นาน ๆ จะทำให้เกิดอาการบวม เพราะทำให้เกิดการคั่งค้างของเกลือโซเดี่ยมในเซลล์ ทำให้ความดันเลือดสูง แต่ขณะเดียวกันชะเอมยังถูกนำมาใช้รักษาแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้ได้อีกด้วยดังนั้นการนำชะเอมมาใช้แม้ว่าชะเอมจะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมชวนให้คิดถึงอาหารจากประเทศเพื่อนบ้านชาวอิตาเลี่ยน หรือแม้แต่ชาวอินเดีย และชาวเวียตนาม ก็ยังพากันหลงใหลในรสหอมหวานของชะเอม แต่ก็ควรต้องนำมาใช้อย่างระมัดระวังในกรณีผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน และไต ซึ่งต้องศึกษาเพิ่มมากขึ้น
สำหรับตำรับยาแก้ไออำมฤควา ที่นำเอาชะเอมเทศ มาใช้ในตำรับนี้ มีปริมาณเท่ากับ ตัวยาทั้ง 6 รวมน้ำหนักกันแล้ว เท่ากับน้ำหนักของชะเอมที่ใช้ ทั้งนี้เพื่อแต่งรสยา ขม อมฝาด ให้น่ารับประทานยิ่งขึ้น ยาอำมฤควาที หรือเรียกอีกชื่อหนี่งว่า ยาประสะชะเอมเทศ
วิธีปรุงทำได้ 2 วิธี คือบด เป็นยาผง และปรุงเป็นยาน้ำโดยการนำตัวยาทั้งหมดต้มรวมกันไปเลย
โดยนำยารวม ต้ม ให้น้ำ 3 ส่วน ต้มจนน้ำลดเหลือ 1 ส่วน
วิธีรับประทานยาผง มี 2 วิธี คือแบบผงเวลารับประทานจะบีบน้ำมะนาวสด และเกลือตัวผู้
ลงไปผสมให้รวมเป็นเมล็ดเล็กๆอมหรือนำผงยา มะนาว เกลือ มาชงกับน้ำอุ่นจิบไปเรื่อยๆ ขนาดปริมาณ 1 ช้อนชา
วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น สำหรับเด็กลดลงไปตามส่วน
ถ้าเป็นน้ำผู้ใหญ่ก็ 2 ช้อนโต๊ะก็ประมาณ 30 c.c
เด็ก เด็กเล็กก็ลดลงไปตามส่วน
ข้อควรระวัง สำหรับการนำเกลือผสมไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไต
หมายเหตุ ยาวสูตรนี้โบราณจะใส่สมุนไพรชื่อ ไคร้เครือ ไม้ต้นเล็ก รากใหญ่สะสมสารอาหารไว้เพียบ มีสรรพคุณยาแก้ไข้เซื่องซึม รากไคร้เครือแก้ไข้จับสั่นและที่สำคัญมากๆเลยก็คือ ในปี ค.ศ. 2002 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้พืชสกุล Aristolochia เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และสมุนไพรไคร้เครือนี้ก็มีสาร Aristolochia
ขอบคุณข้อมูลความรู้เรื่องสาร Aristolochia ไคร้เครือจาก
http://www.nlem.in.th/medicine/herbal/list/659
และกราบขอบพระคุณ ครูบาอาจารย์ผู้ประสาทความรู้มาให้
ขอบคุณทุกท่านที่ให้เกียรติแวะมาอ่านบันทึกอำมฤควาที ยาไทยแผนโบราณ ยาสามัญประจำบ้าน บัญชียาหลักแห่งชาติ