องค์ประกอบของการอ่าน


มีนักการศึกษาได้กล่าวถึงองค์ประกอบของการอ่านไว้ดังนี้

                  บุญรวม งามคณะ (2555) ได้สรุปองค์ประกอบของการอ่าน ไว้ว่า องค์ประกอบของการอ่าน

เกี่ยวข้องกับวัยและความสามารถของผู้อ่าน สิ่งแวดล้อม อารมณ์ แรงจูงใจ บุคลิกภาพ ความหมายของสาร การเลือกความหมาย และการนำไปใช้ รวมไปถึงสารที่นำมาใช้อ่าน กระบวนการในการอ่าน โดยผู้อ่านควรมีความพร้อมทั้งด้านร่างกาย สมอง อารมณ์ และสังคม มีความสามารถในการอ่านเหมาะกับระดับของสารที่นำมาใช้เป็นสื่อและได้รับการฝึกฝนให้อ่านตามลำดับขั้นของกระบวนการอ่านจึงจะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการอ่าน และสิ่งที่จะช่วยให้การอ่านมีประสิทธิภาพนั้นต้องอาศัยความรู้ทางภาษา และความรู้ในด้านอื่นๆ โดยเฉพาะประสบการณ์เดิมของนักเรียน และความรู้รอบตัวด้านต่างๆ ตลอดจนความเชื่อ ถ้าผู้รับสาร และผู้ส่งสารมีความเข้าใจตรงกัน ผู้รับสารก็จะยิ่งเข้าใจความหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น

                   สุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์(2540) กล่าวถึงองค์ประกอบของการอ่านที่สำคัญมี 3 ประการ ซึ่งสรุปได้คือ

                   ประการแรก คือ สารที่ใช้อ่านควรมีความยากง่ายเหมาะสมกับวัยและความสามารถในการอ่านของผู้อ่านในระดับชั้นเรียนนั้นๆ นอกจากนั้นเรื่องราวของสารที่ใช้อ่านควรมีเนื้อหาตรงกับความสนใจของนักเรียนด้วย

                   ประการที่สอง ครูควรคำนึงถึงความพร้อมในการอ่านของผู้อ่านทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ สังคม และประสบการณ์ทางภาษาที่ได้รับจากทางบ้านและทางโรงเรียนทั้งด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน และการเห็นด้วยตา

                   ประการสุดท้าย กระบวนการในการอ่านซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนการอ่านเริ่มตั้งแต่ท่าทางในการอ่าน การจัดหนังสือ การวางระยะห่างระหว่างตัวอักษร การเคลื่อนตา การกวาดสายตา โดยสมองจะทำหน้าที่รับรู้ และแปลสัญลักษณ์ของตัวอักษร ถ้าเป็นการอ่านในใจจะใช้กระบวนการ “See and Think” กล่าวคือ เมื่อสายตารับรู้สัญลักษณ์ที่เป็นอักษรก็จะส่งไปให้สมองคิดเพื่อแปลความ ถ้าเป็นการอ่านออกเสียงจะใช้กระบวนการ “See , Say  and Think” เมื่อสายตารับรู้ตัวอักษรก็จะเปล่งเสียงและให้สมองแปลความ คำ และข้อความที่อ่านนั้นอีกครั้งหนึ่ง ในการอ่านออกเสียงยังต้องคำนึงถึงน้ำเสียงที่เปล่งออกมา การเว้นวรรคตอนและความถูกต้องในการออกเสียงด้วย

สรุปได้ว่า องค์ประกอบของการอ่านที่ต้องคำนึงถึงคือ

         1.  ระดับสติปัญญา  เด็กมีสติปัญญาไม่เท่าเทียมกัน  ย่อมมีผลอย่างยิ่งต่อการอ่าน จึงไม่ควรเน้นให้แต่ละบุคคลอ่านได้เท่ากันในเวลาเดียวกัน

          2.  วุฒิภาวะและความพร้อม  การอ่านต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบย่อย ๆ เช่น ทักษะการใช้สายตา การใช้อวัยวะเกี่ยวกับการออกเสียง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมทางด้านร่างกายของเด็ก      จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการสอนอ่าน

          3.  แรงจูงใจ  แรงจูงใจมีทั้งภายนอกและภายใน   ภายนอกได้แก่ พ่อ แม่ ครู ฯลฯ ภายในได้แก่การค้นพบด้วยตนเองว่าชอบหรือไม่อย่างไร

          4.  สภาพร่างกาย สภาพร่างกายที่สมบูรณ์จะช่วยให้สุขภาพจิตดี ร่าเริง แจ่มใส มีความกระตือรือร้นมากกว่าร่างกายที่อ่อนแอ  และเจ็บป่วย

          5.  สภาพอารมณ์  อารมณ์ที่มั่นคงสม่ำเสมอ แจ่มใส ไม่มีแรงกดดันจากความคาดหวังของครูหรือผู้ปกครองจะทำให้เด็กอ่านได้ดี

 ที่มา : บุญรวม  งามคณะ.(2555). การพัฒนาการอ่านสรุปความโดยหนังสืออิเล็กทรอนิกส์นิทาน สำหรับ

                     นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2. “วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและ

                     การสอน มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์.

         สุนันทา  มั่นเศรษฐวิทย์.(2540). การเขียนเพื่อการสื่อสาร.กรุงเทพฯ: พัฒนาการศึกษา

หมายเลขบันทึก: 552299เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2013 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2013 09:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท