ให้ธรรมะ ชนะให้ทุกอย่าง (เหรอ?)


ทเทยฺย ปุริโส ทานํ อปฺปํ วา ยทิวา พหุ (เกิดมาเป็นคน จะมากหรือน้อย ก็ควรให้ปันบ้าง)

ถาม

กับพุทธพจน์ที่ว่า "สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ" การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง

ถ้าท่านหิวข้าวจนหน้ามืดตามัวจนจะสิ้นใจ มีคนมาให้ทานท่าน ๒ คน คนหนึ่งเอาน้ำกับข้าวมาให้ท่าน ๑ กล่อง อีกคนหนึ่งไม่มีอะไรมาให้เลยแต่เค้ามาแสดงธรรมให้ท่านฟัง ท่านจะเลือกเอาสิ่งไหน? ที่ทำให้ท่านจะรอดตาย และท่านคิดว่าการให้ทานธรรมะชนะการให้ทานทั้งหมดทั้งปวงจริงหรือไม่?

 

ตอบ

มองโดยลำดับ ท้องย่อมมาก่อนเสมอ แต่เมื่อท้องอิ่มแล้ว ก็ควรมองให้ยิ่งกว่านั้น เพื่อไม่ให้พร่องอีก

ทานในพุทธศาสนา เมื่อมองในขั้นพื้นฐาน คือการมีชีวิตโดยฝึกให้มีจิตเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ในพระคัมภีร์บอกว่า เพียงเทน้ำข้าวล้างจานสู่ดิน ยังจิตให้อิ่มเอิบว่า สังเสทชะสัตว์เล็กผู้อาศัยดินเป็นต้น จักได้อิ่มเพียงเศษอาหารเรา คนนั้นย่อมได้บุญนับประมาณ

มิต้องนับถึงสรรพสัตว์ผู้ประเสริฐยิ่งกว่าสัตว์เล็กเหล่านั้นเลย...

บริบทของพระพุทธพจน์ที่ว่า "การให้ธรรมะ ชนะให้ทุกอย่าง" นั้น ไม่มุ่งมองเพียงแค่ให้เขาอิ่มหนึ่งมื้อ ข้าวหนึ่งจาน เพราะ "ชาวพุทธที่ดีเลิศ" ย่อมไม่ละทิ้งการให้เหล่านี้อยู่แล้ว ดังนั้น "การให้ธรรมะ ชนะให้ทุกอย่าง" ทรงตรัสในบริบทที่ควรเข้าใจและปฏิบัติได้ซึ่ง "เมตตาธรรมพื้นฐาน" เช่นนี้สมบูรณ์แล้ว คือมากกว่าเพียงการให้สิ่งของทั่วไปแก่คนเข็ญใจ อันจับต้องเห็นเข้าใจในสำนึกได้โดยง่าย

แต่ ทรงสอนยิ่งขึ้นไปว่า เราควรสอนให้เขาเข้าใจธรรมะยิ่งขึ้นด้วย ในความหมายโลกิยะ คือสอนให้เขาคิดเป็น ทำงานเป็น พึ่งตนเองเป็น ดังสุภาษิตจีนว่า "ให้ปลาพันครั้ง มิเท่าสอนเขาจับปลาครั้งเดียว" เป็นต้น กล่าวคือ ทรงสอนให้ชาวพุทธพึงให้ความสำคัญกับ การสอนให้เขารู้จักที่จะพัฒนาตนเอง ยิ่งไปกว่าเพียงเป็นผู้รอคอยรับผลจากการพัฒนาจิตใจของคนอื่น (ซึ่งหลักการพัฒนาตนนี้เป็นหลักการสำคัญของพระพุทธศาสนา)

ในความหมายเชิงผู้ปกครองบ้านเมือง คือควรให้ธรรมะ คือบริหารบ้านเมืองตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม จัดการบ้านเมืองให้สมบูรณ์ เป็นที่โคจรแห่งพ่อค้า สมบูรณ์ด้วยไร่นาทรัพย์สิน เมื่อนั้นคนมีกินสมบูรณ์ ย่อมเป็น การให้ทานอย่างยิ่งในระดับมหภาค

ในที่สุด ทรงสอนว่า แม้การให้ทานอย่างยิ่งเหล่านั้น บ้านเมืองจักเจริญเพียงใด หากแต่คนไม่มีธรรมะต่อกัน ไม่เมตตากัน โดยที่สุด ไม่รู้จักที่จะให้อภัยต่อกัน แม้จะมีข้าวปลาบริบูรณ์เพียงไร ก็หาความสุขสงบเย็นเป็นไม่ได้

เช่นที่เราเห็นในการรบต่าง ๆ มีสงครามโลกครั้งที่ ๑ และ ๒ เป็นต้น เราผู้ได้ศึกษามาแล้วว่า เขาเหล่านั้นก็มีอาหารบริบูรณ์ดี สมบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ และทรัพย์สินบ้านเรือนมิดชิดดีพร้อมแล้วทุกอย่าง แต่ก็กระทำการฆ่ากัน รวมทั้งการล้างเผ่าพันธุ์โดยไร้เหตุผลทางมนุษยธรรมได้ เช่น กรณี The Holocaust ในยุโรป หรือการขัดแย้งเพียงเพราะความคิดไม่ตรงกัน เช่น กรณี Srebrenica massacre ในบอสเนีย ช่วงสงครามเย็น และกรณีทุ่งสังหาร ซึ่งกระทำในยุคเขมรแดง ใกล้ ๆ ประเทศไทยเรานี้ เป็นต้น (ขอไม่เข้ามาในไทยละกัน เดี๋ยวยาว)

ดังนั้น การให้ธรรมะเช่นอภัยทาน เพื่อประคับประคองตนให้รักเมตตากัน จึงเป็นธรรมพื้นฐานสำคัญที่ควรปลูกให้มีในตน ซึ่งนั่นย่อมหมายรวมไปถึงการให้ข้าวปลาอันเป็นพื้นฐาน เพื่อสอนให้เรารู้จักที่จะลดละความถือมั่นในความมีความเป็นมากพอของตน แลมุ่งเป็นผู้แบ่งปันความสุขเหล่านั้นแก่เพื่อนสรรพสัตว์ผู้ร่วมโลก เพื่อรู้จักที่จะมองในมุมของผู้อื่น เข้าใจกันบ้าง มีความสุขจากการเป็นผู้ให้บ้าง เช่นนี้ บ้านเมืองย่อมเจริญตั้งมั่นอยู่ได้โดยผาสุกดี

You get the best out of others when you give the best of yourself.
"คุณจะได้รับสิ่งที่ดีที่สุดของคนอื่น ก็ต่อเมื่อคุณได้ให้สิ่งที่ดีที่สุดของคุณไป"
(Harvey Firestone)

ขอให้เจริญยิ่งในธรรม

 

https://lh3.googleusercontent.com/-yHAxpCgli-s/UgYgMjwODSI/AAAAAAAAfCw/v-CDozFBUvk/s720/2.jpg

หมายเลขบันทึก: 552282เขียนเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2013 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2013 01:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท