วิชาการรู้จักตนเอง


นักศึกษาสถาบันการเรียนรู้เพื่อปวงชน(มหาวิทยาลัยชีวิต)ทุกคนต้องเรียนวิชาการรู้จักตนเองในปีแรก

วิชานี้จัดให้เรียนในภาคเรียนที่ ๒ หลังจากได้เรียนวิชาการวางเป้าหมายและแผนชีวิตในภาคเรียนที่ ๑ มาแล้ว

เหตุที่จัดให้เรียนวิชาการรู้จักตนเองหลังจากเรียนวิขาการวางเป้าหมายและแผนชีวิต
ก็เพราะต้องการให้นักศึกษาได้จัดการชีวิตตนเองด้านกายภาพก่อน
ได้แก่การวางเป้าหมายชีวิต (อะไร ทำไม อย่างไร) แล้ววางแผนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น
โดยนักศึกษาต้องวางแผน ๔ แผนต่อไปนี้ด้วย คือ

  1. แผนอาชีพ
  2. แผนการเงิน
  3. แผนสุขภาพ
  4. แผนการใช้เวลาในชีวิต (การจัดการเวลา)

เมื่อได้เริ่มจัดการชีวิตนอกตัวและเริ่มดำเนินชีวิตตามแผนนั้นแล้ว จึงจัดให้ได้เรียนรู้และปฏิบัติเรื่องข้างในตน
ด้วยวิชาการรู้จักตนเอง ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีบันใด ๕ ขั้น แห่งความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์
ที่เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกความต้องการปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต (อาหาร เครื่องนุ่มห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค)
ขั้นที่สองความมั่นคงปลอดภัย ขั้นที่สามความรักและการได้รับความรัก (การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม)
ขั้นที่สี่การเห็นคุณค่าของตน (self-esteem) และขั้นที่ห้าคือ การรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ (self-actualization)

การเข้าใจและรู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ไม่ใช่เรื่องง่าย นับประสาอะไรจะไปเข้าใจและรู้จักคนอื่

บางครั้งเราไม่เข้าใจว่าทำไมคนอื่นไม่เข้าใจเรา
ขณะที่เราเกิดความคิดว่าคนอื่นไม่เข้าใจเรานั้นก็เพราะ
ภาพตนเองที่เราเห็นตนเองกับ
ที่ที่คนอื่นเห็นเป็นคนละภาพกัน (หรือเปล่า?)

 

เราเห็นแต่พฤติกรรมภายนอกของคนอื่น จาก คำพูดและการกระทำ
ส่วนพฤติกรรมภายใน เช่นความคาดหวัง ความต้องการที่แท้จริง ความคิด ความเชื่อ ฯลฯ
เราได้แต่คาดเดาเอา ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง

คนจำนวนมากก็ไม่เปิดเผยความรู้สึก ความต้องการ ความคิดของตนให้คนอื่นรู้ง่ายๆ

  • บางคนก็ชอบเสแสร้ง เช่น ข้างในเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส แต่ปากบอก ไม่เป็นไร ขี้เกรงใจจนยอมเบียดเบียนตนเองเพื่อคนอื่น เพื่อมายืมเงิน ตนไม่มีก็เที่ยวไปยืมไปกู้คนอื่นมาให้เขา บ่อยครั้งก็ใช้หนี้แทนเขาด้วย
  • คนโผงผางขี้โมโหส่วนใหญ่ข้างในจิตใจดีงาม อยากเห็นความถูกต้อง ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความเป็นธรรม
  • คนเงียบๆ พูดน้อย ยิ้มยาก ส่วนใหญ่อยากมีเพื่อน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง รักใครก็ไม่กล้าบอกเขา
  • บางคนมีนิสัยขี้กังวลจนไม่กล้าลงมือทำอะไรหรือเดินทางไปไหน
  • บางคนผิดนัดผิดสัญญาโดยไม่รู้สึกอะไร ทำเฉยเหมือนไม่เคยรับปากอะไรกันไว้ ไม่รู้สึกอะไร แถมยังเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาจนคนอื่นตามไม่ทัน

แต่ละคนมีทุกข์กันไปคนละแบบ

  • คนเสแสร้งไม่รู้ว่าทำไมตนไม่กล้าปฏิเสธคนอื่น ไม่กล้าแสดงออกอย่างตรงไปตรงมา บางครั้งอยากพูดคำว่า "ไม่" แต่ไม่รู้จะพูดยังไง
  • คนขี้โมโหก็ไม่รู้ว่าเหตุใดตนเป็นแบบนี้ ทั้งที่ไม่อยากเป็น บ่อยครั้งที่รู้สึกเสียใจหลังจากใช้คำพูดหรือการกระทำอะไรที่รุนแรงกับคนอื่น  บ่อยครั้งที่แอบร้องให้คนเดียว ไม่กล้าให้ใครเห็น ไม่เข้าใจว่าการเอ่ยคำขอโทษทำยังไง เหตุใดตนจึงกลัวที่จะพูดคำนี้ บางครั้งจึงสับสนว่าตนเป็นคนกล้าจริงหรือเปล่า 
  • คนเจ้าระเบียบก็ไม่รู้ว่าทำไมตนจึงหงุดหงิดง่าย แม้กับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ แม้แต่รอยนิ้วมือบนกระจกที่คนอื่นแทบสังเกตไม่เห็น แต่เราก็เห็นจนได้ เห็นแล้วก็ก่อกวนความรู้สึก(ก่อทุกข์)ในใจเราได้มากกว่าคนอื่น
  • ฯลฯ

การรู้จักตนเอง คนทั่วไปที่ไม่ได้เรียนรู้วิชานี้ โดยเฉพาะการเรียนที่มีครูคอยช่วยชี้แนะ ก็ยากที่จะรู้จัก
เว้นแต่เป็นคนที่หมั่นสังเกตตนเองอยู่เสมอ 

วิชานี้จัดให้เรียนผ่านกิจกรรม ทั้งกิจกรรมกลุ่ม (เป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน) และกิจกรรมเดี่ยว (ได้ไตร่ตรองและเชื่อมต่อกับสิ่งที่อยู่ใต้จิตสำนึกหรือที่เรียกว่าส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ในน้ำ) รวมทั้งให้นักศึกษาแต่ละคนได้ทำโครงงานสังเกตตนเองในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นรูปธรรม (เพราะเรื่องใหญ่ๆ อาจซับซ้อน เข้าใจยาก) เรื่องเล็กๆ ก็เช่น ฝึกบอกความต้องการของตนเองแก่ผู้อื่นอย่างจริงใจ (ต้องจริงใจกับตนเองก่อนจึงบอกคนอื่นได้) ฝึกพูดคำว่า "ไม่" อย่างตรงไปตรงมา ฝึกทำอะไรให้ช้าลง เช่น เคี้ยวข้าวให้ช้าลง ขับรถให้ช้าลง เดินให้ช้าลง (เลิกเดินนำลิ่วทิ้งครอบครัวไว้ข้างหลัง) ฝึกยิ้มทักทายคนอืน ฝึกไปถึงที่นัดหมาย(หรือเข้าที่ทำงาน) ๑๕ นาทีก่อนเวลานัด 

ด้วยเหตุนี้ นักศึกษามหาวิทยาลัยชีวิตทุกคนจึงต้องเรียนวิชานี้ ส่วนใครจะรู้จักตนเองได้แค่ไหน เร็วช้าแค่ไหน ขึ้นอยู่กับผู้เรียนแต่ละคน รวมทั้งขึ้นอยู่กับผู้สอนด้วย ผู้สอนที่ยังฝึกฝนการสังเกตตนเองมาน้อยก็ช่วยผู้เรียนได้น้อย

ลิงก์ข้างล่างนี้คือผลการเรียนวิชาลักษณะนี้ที่ผมเคยสอน

http://www.gotoknow.org/posts/392770

http://www.gotoknow.org/posts/319588

d

 

หมายเลขบันทึก: 552198เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2013 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2013 09:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วิชานี้ดีมากเลยครับ ผมพยายามเรียนรู้จริง ๆ หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว...นับว่าเป็นวิชาที่ทุกคนต้องเรียนกันตลอดชีวิต ไม่ใช่เพียงช่วงเวลาที่เป็นนักศึกษา

วิชานี้เมื่อเรียนแล้วสามารถนำมาปรับใช้กับตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมได้ ทีี่่สำคัญคือสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองได้อย่างดีเยี่ยม อยากให้วงการศึกษาได้นำวิชานี้ไปใช้ในระบบการศึกษาเพื่อนักเรียนและนศ.ในระบบจะได้เรียนรู้ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท