สุขฟรีๆ มีจริงๆ (๒)


"ผมภาวนาว่านักศึกษาทุกคนที่ได้เริ่มสัมผัสกับสุขแท้ที่ได้มาฟรีๆ นี้ จะเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป"

ภาคเรียนที่ผ่านมา ผมได้เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาหนึ่งในหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม หลักสูตรนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ทำงาน มีครอบครัวแล้ว วิชาที่สอนชื่อวิชาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตและงาน 2 (สปช.2) 

วิชานี้เน้นการพัฒนาชีวิตด้านในหรือคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียน เป็นวิชาที่ต่อเนื่องมาจากวิชา สปช.1 ที่เน้นการพัฒนาชีวิตด้านกายภาพ การแก้ปัญหาปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหาร การวางแผนทางการเงิน การวางแผนใช้หนี้ ที่ดินทำกิน สุขภาพ ฯลฯ

เหตุที่จัดลำดับการเรียนเช่นนี้ก็เพราะเชื่อว่า หากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตได้รับการจัดการให้เป็นระบบระเบียบ มีแบบมีแผน มีเป้าหมาย มีความหวังได้ในระดับหนึ่งแล้ว การเรียนเรื่องชีวิตด้านในหรือจิตวิญญาณจะประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น 

ปีสุดท้ายยังมีวิชา สปช.3 ที่ผู้เรียนจะได้เรียนวิชา สปช.3 ว่าด้วยการพัฒนาอาชีพการงาน ซึ่งเป็นหน้าที่พื้นฐานของมนุษย์ ที่หากเป็นสัมมาอาชีวะที่ทำด้วยฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้ว ก็จะเป็นมงคลแก่ชีวิตและจะประสบแต่ความเจริญทั้งในชีวิตส่วนตัวและครอบครัว มีความสุขกับการงานที่ทำ

ทั้ง สปช.1 สปช.2 และ สปช.3 ใช้วิธีการเรียนรู้ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย โดยมีการทำโครงงานพัฒนาชีวิตตนเองแต่ละด้านเป็นแกนหลัก (Project-based Learning - PBL)

วิชา สปช.2 เป็นวิชาที่ว่าด้วยการรู้จักตนเองและที่เกี่ยวข้องกับการดูแลจิตวิญญาณตนเอง การรักและเมตตาต่อตนเอง การอุทิศตน การรักและเมตตาต่อผู้อื่น การเห็นคุณค่าและศักดิ์ศรีของตน (self-esteem) และการเปลี่ยนแปลงตนให้กลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (becoming more fully human) โดยอาศัยทั้งความรู้ทางจิตวิทยาและศาสนามาประกอบการทำกิจกรรมและโครงงาน

ผมจัดกิจกรรมให้นักศึกษาค้นหาบุคลิกภาพตนเอง จากนั้นให้แต่ละคนหยิบยกจุดอ่อนของตนที่ตนพบในบุคลิกภาพนั้นมาเป็นหัวข้อโครงงาน โดยขอให้เป็น "เรื่องเล็กๆ" เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะเรื่องใหญ่ๆ มักมีความซับซ้อนจนเข้าใจยาก ผมเชื่อว่า สรรพสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน หากเริ่มทำอย่างหนึ่งแล้วจะเกิดผลกระทบไปถึงเรื่องอื่นอีกมากมาย 

โครงงานที่นักศึกษาหยิบยกขึ้นมาทำ ได้แก่ การฝึกตรงต่อเวลา ฝึกรักษาสัญญา ฝึกนิสัยความซื่อสัตย์-ไม่หลอกลวงตนเองและคนอื่น ฝึกบอกความรู้สึกของตนต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ ฝึกพูดปฏิเสธการร้องขอของคนอื่นที่ทำให้เราเดือดร้อน ฝึกรัก-เมตตา-อภัยตนเองและคนอื่น ฝึกจดจ่อกับการงานตรงหน้า ฝึกทำอะไรให้เสร็จทีละอย่าง-ไม่คิดแต่โครงการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลาทั้งที่โครงการเก่ามากมายก็ยังไม่เสร็จ ฝึกลงมือทำทันที-ไม่ผลัดวันประกันพรุ่ง ฝึกลดความใจร้อนโดยเดินให้ช้าลง ขับรถให้ช้าลง เคี้ยวอาหารให้ช้าลง ฯลฯ 

วิธีปฏิบัติโครงงานที่ใช้เป็นหลักก็คือ การสังเกตตนเอง (Self-observation) และการเขียนบันทึกประจำวัน (Journal writing) แล้วก็นำผลการสังเกตและบันทึกนั้นมานำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้่นเรียนเป็นระยะ

ด้วยกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ ผมพบนักศึกษาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงตน (Self-transformation) ขึ้นจำนวนมากในแต่ละครั้งที่ไปสอน ตัวอย่างเช่น

- นักศึกษาที่มีของกิจการของตนเองคนหนึ่ง ทำโครงงาน "ลดความใจร้อนด้วยการฟังคนอื่นอย่างสงบ" เขาบอกเหตุที่ทำให้เขาเลือกทำโครงงานนี้โดยเล่าเรื่องสะเทือนใจเรื่องหนึ่งให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนฟังว่า เขาเพิ่งใช้ไม้เบสบอลทุบตีทำร้ายลูกจ้างคนหนึ่งบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาล เมื่อจับได้ว่าลูกจ้างคนนั้นเป็นผู้ขโมยของไปขายหลายครั้ง หลังจากทำไปแล้ว เขาเสียใจกับเหตุการณ์นั้น และกับอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน เมื่อทำโครงงานนี้แล้วเขาพบตนเองเปลี่ยนแปลงไป เขาเล่าเรื่องการเปลี่ยนแปลงเรื่องหนึ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นนำผลของโครงงานมานำเสนอว่า ลูกน้องคนหนึ่งขับรถไปเฉี่ยวรถคนอื่นที่จอดอยู่ข้างทาง เจ้าของรถสืบทราบว่ารถใครมาเฉี่ยว โทรศัพท์มาหาเขา เขาบอกว่าหากเป็นเมื่อก่อน ลูกน้องคนนั้นคง "โดนอัด" แต่ครั้งนี้เขาเลือกที่จะเรียกลูกน้องมาสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น เขาให้อภัย และบอกว่าต่อไปให้บอกเขาทันทีที่มีอุบัติเหตุแม้เพียงเล็กน้อย แล้วเขาก็โทรศัพท์ไปบอกเจ้าของรถคันที่ถูกเฉี่ยวว่า "ขอโทษ" เขาพร้อมจะชดใช้ค่าเสียหายให้ทั้งหมด ขอให้แจ้งมาว่าเท่าไร แต่เขาต้องพบกับความแปลกใจเมื่อเจ้าของรถฟังเสียงเขาแล้ว บอกว่า "ไม่เป็นไร" เรื่องดีๆ เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ทำให้เขาตั้งใจที่จะ "ฟัง" เสียง "หัวใจ" ของผู้อื่นมากขึ้น จากที่ไม่ใคร่สนใจความรู้สึกของคนอื่น ก็สนใจขึ้น ผมบอกเขาในชั้นเรียนว่า เขากำลังปลดปล่อยความเมตตาและความกรุณาที่หลับไหลอยู่ในส่วนลึกของจิตใจเขาให้ได้แสดงตัวออกมา แต่อย่าเข้าใจผิดว่าการแสดงความเมตตากรุณาเป็นเรื่องเดียวกับการทำอะไรเพื่อเอาใจผู้อื่น คนที่มีจิตเมตตาไม่จำเป็นต้องมีพฤติกรรมเอาอกเอาใจใคร

ผมประทับใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของเขามาก จึงไม่แปลกใจที่ได้รับโทรศัพท์จากเขาหลังสิ้นสุดภาคเรียนไปได้เพียงสัปดาห์เดียว เขาโทรมาปรารภกับผมว่า เขาเกรงว่าสิ่งดีๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเขาจะมอดไป มีหนังสือหรือกิจกรรมอะไรที่จะทำให้เขาอยู่ใน "กระแส" แห่งการพัฒนาชีวิตด้านในนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผมก็แนะนำว่าให้ปฏิบัติโครงงานที่ทำมาตลอดภาคการศึกษาที่ผ่านมานี้ต่อไปเถิด ผมจะแนะนำกิจกรรมฝึกอบรมหรือสัมมนาที่เหมาะกับเขาให้ พร้อมให้หนังสือเขา 2 เล่มที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่การก้าวเดินต่อไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้นของเขา 

- คนที่ทำโครงงานตรงต่อเวลาคนหนึ่ง ชื่อโครงงานเขาคือ "ไปถึงที่นัดหมายก่อนเวลา ๑๐ นาที" เขียนไว้ในรายงานผลโครงงานว่า ขณะทำโครงงานนี้ เขารู้สึกไม่สบายใจทุกครั้งที่ทำท่าว่าจะไปไม่ทันนัดไม่ว่าจะนัดกับภรรยา หรือไปรับส่งลูกที่โรงเรียนผิดเวลา รวมทั้งการมาเรียนของตนเอง แต่ก็มีน้อยครั้งลงเรื่อยๆ ที่เขาไปไม่ทัน   ในวิชาที่ผมสอน เขาปรากฏตัวที่ห้องเรียนเป็นคนแรกๆ เสมอ ผมทราบเพราะผมไปถึงห้องเรียนก่อนเวลาเสมอ เขาเองก็บอกว่าเขาเผื่อเวลาไว้เสมอ และเสียใจที่บางครั้งไปไม่ทัน แต่เขาก็ไม่แก้ตัวแล้ว แต่ก่อนเขามีข้ออ้างมีคำแก้ตัวมาอธิบายสารพัด (ทั้งที่ไม่มีใครถาม) แววตาเขาเป็นประกายในวันนำเสนอผลโครงงานขณะที่เล่าว่าลูกและภรรยาได้บอกเขาว่าเขาเปลี่ยนแปลงไป ผมก็บอกเขาว่า คนเราเปลี่ยนได้เพียงเรื่องเดียวก็ยิ่งใหญ่แล้ว ในวิชา สปช.1 นักศึกษาที่ลดละอบายมุขได้เพียงเรื่องเดียว ไม่ว่าจะเลิกเหล้า เลิกบุหรี่ เลิกการพนัน เลิกเที่ยว เลิกเจ้าชู้ ล้วนพบกับความสุขบางอย่างในชีวิต ถ้าเปลี่ยนแปลงได้สองอย่างนับเป็นอัศจรรย์ จากการสังเกตของผม การทำดีก็คล้ายการทำชั่ว เมื่อเริ่มออกเดินก้าวแรกได้แล้ว ยากที่จะหยุดได้ ขณะนี้ "บัญชีเครดิตแห่งการเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ" ได้เปิดขึ้นแล้ว เขาได้รับความเชื่อถือมากขึ้นจากสมาชิกในครอบครัว ในที่ทำงาน ต่อไปก็จะได้รับความเชื่อถือจากทุกคนที่เขาสัมพันธ์ด้วย และจากเครดิตเรื่องเดียวก็จะพัฒนาไปสู่เรื่องอื่นๆ ด้วย 

- อีกคนหนึ่งเป็นสุภาพสตรี ทำโครงงานนับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด เธอเล่าในชั้นเรียนถึงความทุกข์ของเธอที่ดำเนินต่อเนื่องมาหลายปี นั่นคือเธอต้องอารมณ์เสียขึ้นเสียงกับลูกแทบทุกเช้ากว่าที่จะปลุกลูกอายุไม่ถึง 10 ขวบให้ลุกจากเตียงได้ ลุกขึ้นมาแล้วกว่าจะอาบน้ำแต่งตัวไปโรงเรียนได้ก็ยืดยาดแล้วยืดยาดอีก บางครั้งต้องใช้กำลังฉุดกระชากลากตัวให้ทำโน่นทำนี่ บางครั้งที่โมโหมากๆ ก็เผลอตะคอกด้วยเสียงดังหรือแม้กระทั่งทุบทีก็เคย แต่...ทั้งหมดนี้ไม่เคยได้ผล วิธีนี้ไม่ทำให้พฤติกรรมของลูกเปลี่ยนแปลงได้ แถมความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกมีแต่เลวลง ผมถามว่า เมื่อเข้าใจว่าวิธีการ "บังคับควบคุม" ไม่ได้ผล ระหว่างปฏิบัติโครงงานนี้ทำอย่างไรบ้าง เธอบอกว่า ก่อนที่จะหลุดคำพูดตำหนิหรือด่าว่าลูก หากนึกขึ้นมาได้หรือ "รู้สึกตัว" ขึ้นมาว่ากำลังทำโครงงานฝึกฝนตนเองอยู่ก็จะนับหนึ่งถึงร้อยในใจ เธอพบว่า บางครั้งเพียงเสี้ยววินาทีที่นับ บางครั้งไม่ต้องถึงร้อย ใจเธอก็สงบลง ซึ่งส่งผลให้วาจาและกายสงบลงด้วย ผมแนะนำให้เธอลองใช้วิธี "บอกอารมณ์ความรู้สึก" ที่กำลังเกิดขึ้นในตัวเธอและเธอสามารถเห็นมันนั้นแก่ลูก แทนการ "แสดงอารมณ์" (หงุดหงิด โมโห โกรธ) ออกไปผ่านวาจาและการกระทำ จากนั้นบอก "ความต้องการ" ของเราต่อเขา  การที่เธออยากให้ลูกมีระเบียบวินัยนั้นเกิดจากความรักที่เธอมีต่อลูก และคาดหวังให้เขาเป็นคนที่มีระเบียบวินัยดี (อย่างเธอ?) แต่กลับแสดงออกด้วยการบังคับควบคุม ผมตั้งคำถามว่า ในโลกนี้มีใครบังคับควบคุมใครได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า? เราเองแต่ละคนยังไม่สามารถบังคับควบคุมตนเองได้เสมอไปไม่ใช่หรือ

ต่อมาในวันนำเสนอรายงานผลของโครงงาน เธอเล่าในชั้นเรียนว่า ความสัมพันธ์ของเธอกับลูกดีขึ้นมากหลังจากทำโครงงานนี้เมื่อได้ไปทำตามที่ผมแนะนำ ผมขอให้เธอเล่าว่าทำอย่างไร เธอบอกว่าเมื่อโมโหขึ้นมาก็นึกถึงโครงงานนับหนึ่งถึงร้อย ไม่แสดงอารมณ์โกรธออกไปทันที รอจนเมื่อตั้งหลักได้แล้ว สงบลงแล้ว เธอก็จะกอดลูกด้วยความรัก พร้อมบอกลูกว่า ใจแม่ไม่สงบ มีความทุกข์ แม่กังวลว่าลูกจะไปโรงเรียนสาย แม่ก็จะไปทำงานสายด้วย จึงขอร้องให้ลูกลุกขึ้นไปอาบน้ำแต่งตัว ผลปรากฏว่าลูกยินดีทำตามคำขอของแม่ แม้บางครั้งจะขอบิดขี้เกียจสักพักหนึ่งก่อน หลังจากนั้น เธอพบปรากฏการณ์ที่สร้างความประหลาดใจอีกหลายเรื่องระหว่างเธอกับลูก เช่นเย็นวันก่อนที่เธอจะมานำเสนอผลของโครงงาน ลูกบอกว่าหลังเลิกเรียนเขาจะขอถ่ายรูปกับแม่ เขารักแม่ ผมเชื่อว่าเพื่อนร่วมชั้นเรียนที่ได้ฟังพร้อมกันในวันนั้นได้ความประทับจากเรื่องเล่าเล็กๆ ดีๆ นี้ของเธอ และได้แรงบันดาลใจบางอย่างที่จะนำไปประยุกต์กับครอบครัวตน

- นักศึกษาสตรีอีกคนหนึ่งทำโครงงานสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ชื่อโครงงานของเธอคือ "ฝึกบอกความต้องการของข้าพเจ้าต่อผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา" เธอทำงานในสถานประกอบการด้านสุขภาพแห่งหนึ่ง ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีแม้สักครั้งเดียวที่จะถกเถียงกับใครแม้ไม่เห็นด้วย อีกทั้งไม่เคยแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ผมสังเกตว่าในชั้นเรียนเธอก็ไม่เคยพูดอะไร ผมเคยถามเธอด้วยคำถามเดิมๆ 2 ครั้ง เธอก็ไม่เคยตอบ บางทีอาจเพราะคำถามบางข้อของผมอาจไม่ใช่คำถามที่เธอสามารถตอบได้ในทันทีทันใด เช่น เหตุใดบางคนจึงเชื่อมั่นในคนอื่นได้ มีอยู่คนเดียวที่เราไม่สามารถเชื่อมั่นได้คือตนเอง? หรือ เธอคิดว่าตนเองน่าจะหนักไปทางจริตใดในจริต ๖? ผมมักนำโปสเตอร์ที่พิมพ์ด้วยไวนิลขนาด 80x120 ซ.ม. ไปแขวนที่ผนังห้องเรียนเป็นสื่ออ้างอิงประกอบการสอนด้วยทุกครั้ง โปสเตอร์ที่ผมทำไว้มีหลายแผ่นโดยสรุปแนวคิดสำคัญๆ จากเอกสารประกอบการเรียนเป็นแผนภูมิ เป็นภาพ หรือเป็นข้อความสั้นๆ หนึ่งในนั้นคือ จริต ๖ อันเป็นแนวคิดเรื่องประเภทของคนที่พระอรรถกถาจารย์ในพุทธศาสนาถ่ายทอดมา เธอได้แต่มองโปสเตอร์นั้นแล้วก็เงียบไปนาน ความเงียบทำให้ผมต้องพูดออกมาเองว่า ไม่เป็นไร ไม่ต้องตอบก็ได้ครับ ผมเพียงแต่ถามให้เธอได้คิดเท่านั้นเอง การตอบตนเองได้สำคัญกว่าตอบอาจารย์มาก ได้คำตอบแล้วไม่ต้องบอกผมก็ได้ 

เมื่อสิ้นสุดภาคเรียน ผมได้อ่านบันทึกที่เธอเขียนระหว่างการปฏิบัติโครงงานแล้วจึงได้เข้าใจความรู้สึกในใจเธอ รู้สึกทึ่ง และรู้สึกประทับใจในความบริสุทธิ์ใจ ความใสซื่อ และความมุ่งมั่นที่จะเป็นอิสระจากความกลัวที่ครอบงำเธอมาตลอดชีวิตสามสิบกว่าปี เช่น 

  • "13 พฤษภาคม วันนี้ตั้งใจจะฝึกการสร้างความมั่นใจด้วยการต่อรองราคากับแม่ค้าในตลาด แต่แม่ค้าไม่ยอมลดราคาให้..." ผมอ่านแล้วจึงได้รู้ว่า สำหรับบางคน แม้แต่การเอ่ยปากต่อรองราคากับแม่ค้าก็ต้องรวบรวมความกล้าหาญเป็นอย่างมาก เรื่องการต่อรองกับแม่ค้านี้ยังปรากฏในบันทึกวันอื่นๆ ด้วย ดังบันทึกของเธอในอีก 2 สัปดาห์ต่อมา "26 พฤษภาคม วันนี้มีตลาดนัดแถวบ้าน ตั้งใจจะฝึกต่อรองราคากับแม่ค้า รู้สึกสนุกกับการได้พูดคุยและต่อรองราคา มันไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ต่อรองแล้วไม่ได้ก็ไม่เห็นจะเป็นไร อย่างน้อยเราก็มีความกล้ามากขึ้น" สำหรับผม เธอประสบความสำเร็จแล้ว นั่นคือ เธอสามารถปลดปล่อยคุณธรรมอันหนึ่งที่หลับไหลอยู่ในจิตใต้สำนึกมากว่า 30 ปีออกมาได้ นั่นคือ ความกล้าหาญ
  • "16 พฤษภาคม วันนี้เรียนวิชาผู้นำนันทนาการ ต้องออกมานำเล่นเกม ร้องเพลงแสดงท่าทาง รู้สึกตื่นเต้นและกังวล...สูดลมหายใจลึกๆ นึกถึงคำขวัญในโครงงาน สังเกตเพื่อนๆ ก็สนุกสนาน หัวเราะ รู้สึกภาคภูมิใจในการกล้าแสดงออกของตนเอง" ผมรู้สึกยินดีที่เธอได้นำเทคนิคการอยู่นิ่งๆ แล้วหายใจลึกๆ ช้าๆ ที่ผมเชิญชวนนักศึกษาให้ร่วมกันฝึกกันบ่อยๆ ทุกครั้งที่พบกันในชั้นเรียนก่อนเริ่มกิจกรรมการเรียนการสอน ผมเรียกกิจกรรมนี้ว่า "การฝึกสมาธิสั้น 2 นาที" เทคนิคนี้ช่วยให้จิตใจเราสงบลงได้เมื่อเราต้องเผชิญเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่ปกติหรือที่เราไม่คุ้นเคย
  • "17 พฤษภาคม วันนี้ที่ทำงานมีประชุมแผนก มีบางประเด็นที่เรามีความคิดเห็นแตกต่างจากคนอื่น จึงรวบรวมความกล้า ยกมือขออนุญาตพูด ที่ประชุมรับฟังและขอนำไปพิจารณา" สำหรับผมแล้ว นี่คือชัยชนะอันยิ่งใหญ่ในช่วงชีวิตของคนๆ หนึ่ง นั่นคือการชนะความกลัวของตัวเอง ความกลัวที่ครอบงำจิตใจเธอมาค่อนชีวิต เมื่อกล้าที่จะยกมือแสดงความคิดเห็นเป็นครั้งแรก ก็ย่อมจะมีครั้งต่อๆ ไป การที่คนๆ หนึ่งจะปลดปล่อยตนเองให้เป็นอิสระจากความกลัวบางอย่างที่ครอบงำตนมานานนับแต่เยาว์วัย ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมสามารถจินตนาถึงความสุขของคนที่ได้สัมผัสกับอิสรภาพบางอย่างเป็นครั้งแรกอย่างเธอได้
  • "18 พฤษภาคม หลังเลิกงาน เพื่อนมานั่งรอหน้าบ้าน บอกว่ามีเรื่องจะปรึกษา รู้สึกเป็นเกียรติมากที่เพื่อนไว้วางใจ หลังจากฟังเพื่อนเล่าอย่างสงบ แล้วให้คำแนะนำเท่าที่สามารถทำได้ รู้สึกภูมิใจตนเองที่เพื่อนมองเห็นคุณค่าในตัวเรา" ผมอ่านแล้วถึงกับกลั้นน้ำตาแห่งความยินดีไปกับเธอไว้ไม่อยู่ ข้อความนี้เปิดเผยให้เห็นสิ่งที่ในวิชาจิตวิทยาเรียกว่า การเห็นคุณค่าแห่งตน (self-esteem) ที่เป็นประเด็นปัญหาของนักศึกษาผู้ใหญ่จำนวนมากที่ผมได้พบ

เรื่องราวของนักศึกษาสตรีที่ดูเงียบๆ และขี้กังวลคนนี้ สร้างความประหลาดใจให้ผมมากในปลายภาคเรียน ผมไม่ค่อยได้พบพัฒนาการด้านการเห็นคุณค่าตนเอง เชื่อมั่นในตนเอง พบกับศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ของตนเอง ที่พัฒนาได้อย่างรวดเร็วเช่นนี้มากนัก ก็หวังว่าประสบการณ์จากการฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนแปลงตนของเธอจากการเรียนรู้ในวิชานี้ จะเป็นก้าวแรกให้เธอได้มีก้าวที่สองต่อไป วางใจในตนเองมากขึ้น กล้าหาญขึ้น มีพลังมากขึ้นในการแสดงความรู้สึก การบอกความต้องการของตนต่อคนอื่นอย่างจริงใจและตรงไปตรงมา ตามชื่อโครงงานของเธอ หวังว่าเธอจะสามารถก้าวเดิน เติบโตต่อไปสู่การกลายเป็น (becoming) มนุษย์ที่รู้จักตนเองอย่างถ่องแท้ (self-actualization) หรือเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ขึ้น (more fully human) ต่อไป 

นักจิตวิทยาแนวมนุษยนิยมที่สนใจด้านการพัฒนาทางจิตวิญญาณ (คำ จิตวิญญาณ นี้ ผมหมายความอย่างเดียวกับคำ จิตตปัญญา) บางคนเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาพร้อมจิตที่บริสุทธื์ เราสงบมากขณะอยู่ในครรภ์มารดา เราซื่อสัตย์กับความรู้สึกที่แท้จริงของเรา เราวางใจในตนเองและคนอื่น เราไม่หลอกลวงใคร เช่นที่เด็กกล้าร้องไห้เสียงดัง ขณะที่ผู้ใหญ่จำนวนมากอายที่จะให้ใครเห็นน้ำตาตน เมื่อเกิดมาใหม่ๆ เราไม่มีความกลัวใดๆ การเติบโตขึ้นมาในครอบครัวและสิ่งแวดล้อมได้ค่อยๆ ทำให้เรา "กลายเป็น" บางสิ่งบางอย่างที่เป็นเราอยู่ในขณะนี้ โดยเราหลายคนได้หลงลืมความสงบ ความซื่อสัตย์ ความกล้าหาญที่ยังคงดำรงอยู่ในตัวเราไป การพัฒนาตนตามแนวคิดนี้ก็คือการพยายามหาทางเชื่อมโยงกับความดีงามที่อยู่ในจิตใต้สำนึกเราอยู่แล้วนี้ให้กลับคืนมาอีกครั้งหนึ่ง เปิดโอกาสให้ความดีงามเหล่านี้ได้เบ่งบานขึ้นมาในจิตสำนึกใหม่ นักจิตวิทยาแนวนี้บางท่านเรียกจิตเดิมแท้นี้ว่า บ้าน (home) การพัฒนาตนเองตามแนวนี้เปรียบเสมือนการหาทาง "กลับบ้าน" ให้พบนั่นเอง มนุษย์ที่พบทางกลับบ้านจะพบกับความสุขทางใจ ซึ่งเป็นความสุขแท้ที่ลึกล้ำมาก ต่างจากความสุขที่เกิดจากการได้รับการสนองตอบต่อความต้องการจากวัตถุหรือปัจจัยภายนอกทั้งมวล ในพุทธศาสนาฝ่ายมหายานเรียกจิตเดิมแท้ของมนุษย์นี้ว่า จิตประภัสสร ซึ่งหมายถึง จิตที่งดงาม

ผมขออวยพรให้นักศึกษาท่านนี้ รวมทั้งท่านอื่นๆ ที่ทุกข์ทรมาณกับความกลัว ความเก็บกด จากการไม่สามารถวางใจในตนเองและผู้อื่น ซึ่งในทางจิตวิทยาเชื่อว่าพัฒนาการมาตั้งแต่วัยเด็กนี้ ได้รับเปลี่ยนแปลงไปจนสามารถกลับถึง "บ้าน" หรือสามารถเชื่อมโยงกับจิตเดิมแท้ที่ดีงามของตนได้ในที่สุด

- มีนักศึกษาสตรีคนหนึ่ง ทำโครงงานเดินให้ช้าลง เนื่องจากพบว่าตนเป็นคนซุ่มซ่าม เดินชนหรือเตะนั่นเตะนี่บ่อย ผมพอใจโครงงานนี้มาก เพราะการปฏิบัติโครงงานเดินช้าลงนี้ จะว่าไปแล้วก็คือการฝึกทำอะไรอย่าง "รู้ตัว" ในชีวิตประจำวันนั่นเอง เป็นการเจริญสติอยู่ในทุกๆ ขณะที่รู้สึกตัวขึ้นมา เป็นการฝึก "อยู่กับปัจจุบันขณะ" โดยไม่ต้องไปฝึกสมถกรรมฐานในสถานปฏิบัติธรรม (แต่ไม่ได้หมายความว่าการไปฝึกในสถานปฏิบัติธรรมไม่ดี) เธอเล่าว่า ขณะไปซื้อของกับครอบครัว ด้วยความใจร้อนเธอมักเดินนำลิ่ว ทิ้งทุกคนอยู่ข้างหลัง สามีได้เตือนว่าไม่ ทำโครงงานอยู่ไม่ใช่หรือ ทำให้เธอหยุด แล้วเดินช้าๆ ไปพร้อมกับครอบครัว เธอบอกว่า เป็นวันหนึ่งที่เธอมีความสุขมาก คนที่ทำโครงงานเคี้ยวช้า หรือขับรถช้าคนอื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน ล้วนได้ฝึกการมีสติอยู่กับเนื้อกับตัวตามแนวนี้ ต่างก็ได้พบกับความสุขสงบบางอย่างเสมอ

ผมภาวนาว่านักศึกษาทุกคนที่ได้เริ่มสัมผัสกับ "สุขแท้" ที่ได้มา "ฟรีๆ" นี้ รวมทั้งผมเองด้วย จะเติบโตเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นต่อไป.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๐ ก.ย. ๒๕๕๓

หมายเลขบันทึก: 392770เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2010 17:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 14:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะอาจารย์ มาอ่านบันทึกดีๆ สุขฟรี ที่สัมผัสได้แวดล้อมเรา บนโลกอันมหัศจรรย์ใบนี้ ขอบพระคุณค่ะ

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ที่เอื้อเฟื้อแบ่งปันข้อคิดดี ๆ ให้สังคมอยู่เสมอ สุขฟรี มีจริงๆ กำลังคิดจะทำโครงการกับตนเองดูบ้าง จะลองพยายามเต็มที่ดูค่ะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท