พระเกียรติคุณแห่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช


 

            สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 19 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์แรกของไทยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา  ซึ่งถือว่าทรงมีพระชนมายุมากกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์  ที่สำคัญทรงดำรงสมณศักดิ์สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก รวม 24 ปี ถือว่ายาวนานที่สุดเมื่อเทียบกับสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ในอดีตที่ผ่านมา

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิมคือ สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532  ราชทินนามดังกล่าวนับเป็นราชทินนามพิเศษ เนื่องจากสมเด็จพระสังฆราชที่มิได้เป็นพระบรมวงศานุวงศ์ ตามปกติจะใช้ราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สำหรับสมเด็จพระสังฆราชที่เป็นพระบรมวงศานุวงศ์จะใช้พระราชทินนามว่า สมเด็จพระมหาสมณเจ้า หรือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า อย่างเช่น สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ดังนั้นนับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่มีการใช้ราชทินนาม สมเด็จพระญาณสังวร สำหรับสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเป็นพระเกียรติคุณทางวิปัสสนาธุระของพระองค์ ซึ่งเป็นราชทินนามเดิมของสมเด็จพระญาณสังวร (สุก ญาณสังวร) วัดราชสิทธาราม สมเด็จพระสังราชในยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับการถวายพระนามใหม่ในพระนามสมเด็จพระอริยวังษญาณ และเสด็จมาประทับที่วัดมหาธาตุยุวราษฎร์รังสฤษดิ์ เป็นสมเด็จพระสังราชที่ได้รับการยกย่องว่าโดดเด่นในทางวิปัสสนาธุระ

               นอกจากพระองค์จะเป็นพระสุปฎิปันโน มีพระเกียรติคุณด้านวิปัสสนาธุระแล้ว  พระองค์ยังทรงมีผลงานโดดเด่นด้านคันถธุระ โดยทรงศึกษาจนจบพระปริยัติธรรมขั้นสูงสุด คือ เปรียญธรรม 9 ประโยค  และพระองค์ได้นิพนธ์หนังสือทางพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง  เช่น เถรธรรมกถา, โลกเหนือโลก, การศึกษาเพื่อความเป็นคนที่สมบูรณ์, ความสุขที่หาได้ไม่ยาก, ความสุขอันไพบูลย์, พระพุทธศาสนากับสังคมไทย, วิธีสร้างบุญบารมี, 45 พรรษาของพระพุทธเจ้า ทรงสั่งสอนพระพุทธศาสนาให้แก่ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ 

               ในภารกิจด้านการเผยแผ่  พระองค์ทรงนำพระพุทธศาสนาไปเผยแผ่ออสเตรเลียเป็นครั้งแรก โดยสร้างวัดพุทธรังษีขึ้นที่เมืองซิดนีย์ และทรงให้กำเนิดคณะสงฆ์ในประเทศอินโดนีเซีย รวมถึงทรงช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศเนปาล โดยเสด็จไปบรรพชาแก่กุลบุตรสกุลศากยะในประเทศเนปาล ทำให้ประเพณีการบวชฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่งในเนปาลยุคปัจจุบัน รวมทั้งทรงสานสัมพันธ์ทางศาสนากับพุทธศาสนานิกายวัชรยาน โดยทรงคุ้นเคยกับองค์ทะไล ลามะ พระประมุขสูงสุดของธิเบต ในคราวที่องค์ทะไลลามะเสด็จเยือนเมืองไทย ก็จะเข้าเฝ้าสนทนาธรรมกับพระองค์ และเดินทางไปเสวนาธรรมกับท่านพุทธทาสภิกขุที่สวนโมกขพลารามด้วย

                ในด้านพระเกียรติคุณระดับนานาชาติ  ทรงเป็นพระประมุขแห่งพุทธจักรพระองค์แรกที่ได้รับทูลเชิญให้เสด็จเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ แม้ว่าจีนจะปกครองในระบอบคอมมิวนิสต์หรือสังคมนิยมมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ทางรัฐบาลแห่งพม่าได้ถวายตำแหน่งอภิธชมหารัฐคุรุ (พระมหาครูแห่งรัฐ ผู้เป็นดั่งธงอังสูงส่ง) อันเป็นสมณศักดิ์สูงสุดแห่งคณะสงฆ์พม่า และที่ประชุมผู้นำสูงสุดแห่งพุทธศาสนาโลกที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2555 ทูลถวายตำแหน่งผู้นำสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาโลกทั้งนิกายเถรวาทและมหายานแก่พระองค์

                 และที่สำคัญสมเด็จพระสังฆราช เมื่อยังทรงสมณศักดิ์ที่พระศาสนโสภณได้ทรงปฏิบัติหน้าที่พิเศษอันมีความสำคัญยิ่ง คือ ทรงเป็นพระอภิบาล(พระพี่เลี้ยง)ของพระภิกษุพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบันเมื่อครั้งเสด็จออกทรงผนวช ปี 2499 ณ วัดบวรนิเวศวิหาร พร้อมทั้งทรงถวายความรู้ในพระธรรมวินัยตลอดระยะเวลาแห่งการทรงผนวชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
 

หมายเลขบันทึก: 551750เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2013 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2013 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอผลบุญกุศลที่ท่านบำเพ็ญมาโดยตลอด อัญเชิญท่านสู่สวรรคาลัย

ข้าพระพุทธเจ้าฯ...ขอน้อมถวายความอาลัย

สาธุ อนุโมทนา นิพพานปติโยโหตุ  

ขอต่อเจ้าของสวรรค์ โปรดพิจารณาในความดีของท่านก่อนจะรับท่านเข้าสู่เขตสวรรค์. ท่านจะได้หลุดพ้นจากการฝากของมนุษย์ทั่วไป. มันจะเป็นการผ่านไปด้วยขึ้นกับความดีของท่านเองได้อย่างชัดแจ้ง. ขอจงพิจารณา และ รับท่านเข้าสู่สวรรค์ด้วยเทิญ.

ขอบคุณมากครับ  ดร.พจนา  แย้มนัยนา  ที่ได้ร่วมอนุโมทนาในพระราชกุศลที่พระองค์ได้ทรงบำเพ็ญ

โดยเฉพาะในประโยคสุดท้าย  ที่จริงเป็นภาษาบาลีคำที่ถูกต้อง คือ นิพพานปัจจโย  โหตุฯ แปลว่า "ขอกุศลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญจงเป็นปัจจัยเพื่อการบรรลุพระนิพพาน"  ในทางพระพุทธศาสนา ผลแห่งกุศลมีอยู่ ๒ ระดับ คือ ถ้าทำคุณงามความดีแต่ยังไม่สิ้นอาสวะกิเลส ก็จะเข้าถึงสวรรค์ตามลำดับชั้นที่ตนเองได้บำเพ็ญบุญกุศล  (ไม่มีใครเป็นเจ้าของสวรรค์นะครับ ท่าน คห. 2 กรุณาเข้าใจให้ถูก) แต่เมื่อบำเพ็ญคุณงามความดีและสามารถทำลายอาสวะกิเลสได้  ก็จะบรรลุพระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา  ในกรณีขององค์สมเด็จพระสังฆราชนั้น ผมก็ไม่ทราบได้ว่าพระองค์จะดำรงอยู่ในสภาวะใด  แต่เชื่อมั่นได้ว่าพระองค์จะทรงดำรงอยู่ในสภาวะอันสูงส่งอย่างแน่นอน   

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท