เก็บตกเวที มมส วิจัยครั้งที่ 9 : อีกหนึ่งเสียงสะท้อนความสำเร็จเล็กๆ จากโครงการ "หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน"


การใช้เครื่องมือและการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการของการวิจัยนั้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้เราได้รับรู้ถึงสภาพทั่วไปอันเป็นทุนทางสังคม จุดอ่อน จุดแข็งของชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง “นิสิตกับชาวบ้าน” ซึ่งช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน หนุนส่งให้กระบวนการบริการวิชาการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในเวทีในเวทีการสัมมนา “มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 9” เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2556 ณ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

กองกิจการนิสิต ร่วมกับกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ตลอดจนศูนย์ส่งเสริมนักวิชาการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดมหาสารคาม (สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น) ได้จัดเวทีสะท้อนผลการดำเนิน "งานการบริการวิชาการแก่สังคม" อันเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยภายใต้โครงการ “หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน”

เวทีดังกล่าว
คณะกรรมการดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน ได้คัดเลือกสองโครงการจากสองหลักสูตรในปีงบประมาณ
2555 มาเป็น “บทเรียน” เพื่อร่วม “แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน” (ลปรร.)
นั่นก็คือ (
1) โครงการอาหารปลอดภัยชุมชนใส่ใจสุขภาพ (วท.บ. โภชนาการและการจัดการความปลอดภัยในอาหาร) คณะสาธารณสุขศาสตร์ (2) โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม (สาขาสารสนเทศศาสตร์) คณะวิทยาการสารสนเทศ
ซึ่งทั้งสองหลักสูตรยังคงขับเคลื่อนโครงการฯ ต่อเนื่องเป็นปีที่
2 ในพื้นที่เดิม




การจัดเวทีในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ในหมู่ “นักวิชาการ - นิสิต -ชาวบ้าน” ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานด้านการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) ซึ่งมีอาจารย์ นิสิตและชาวบ้านมาเข้าร่วมรับฟังจำนวนหนาตา
รวมถึงนักวิชาการจากสถาบันต่างๆ ในละแวกจังหวัดมหาสารคาม และจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยเช่นกัน

ในเวทีหรือห้องการเรียนรู้ครั้งนี้ ภาคเช้าเป็นการสะท้อนผลการดำเนินงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนจากปี 2555-2556 เป็นหลัก ด้วยการชูสองหลักสูตร หรือสองโครงการข้างต้น มาเป็น “ต้นแบบ” ของการสะท้อนองค์ความรู้เพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน
โดยมีการจัดนิทรรศการเล็กๆ เชื่อมโยงให้เห็นถึงภาพรวมของการดำเนินงานทั้งสองโครงการฯ
ส่วนภาคบ่ายนั้น เป็นเวทีการเสนอ “งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” จำนวน
7 โครงงานจากมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์และวิทยาลัยพยาบาลศรีมหาสารคาม ซึ่งผมเองต้องรับบทหนัก เนื่องเพราะต้องทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการในภาคเช้า และเป็นผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิพากษ์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในภาคบ่าย


การสะท้อนผลการดำเนินงานดังกล่าว มีประเด็นสำคัญๆ หลายประเด็นที่หยิบยกมาบอกเล่าสู่กันฟัง เช่น การพัฒนาโจทย์บนฐานของชุมชน การคัดเลือกพื้นที่ การออกแบบกระบวนการ การประเมินผล รวมถึงปัญหา อุปสรรค ผลสัมฤทธิ์ หรือแม้แต่แนวทางการขับเคลื่อนในปัจจุบันและในปีถัดๆ ไป เพื่อหนุนเสริมให้เกิดความเข้มแข็งในชุมชน หรือแม้แต่ก่อให้เกิดการปฏิรูปการเรียนการสอนของในแต่ละหลักสูตรอย่างเป็นรูปธรรม
และนั่นยังรวมถึงการจุดประกายถึงแนวทางของการยกระดับงานบริการวิชาการสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น หรืองานวิจัยในชั้นเรียนที่เชื่อมโยงออกมาสู่ชุมชนไปพร้อมๆ กัน


ภายใต้เวลาอันจำกัด และห้องหับที่ดูจะไม่กว้างใหญ่นัก
ผมพยายามสร้างสรรค์บรรยากาศของการสะท้อนผลการเรียนรู้ให้ดูมีชีวิต
มุ่งเน้นการชวนให้อาจารย์ทั้งสองท่าน “เล่าเรื่อง” เสมือนกำลังเล่าให้ “พี่น้อง” (คนบ้านเดียวกัน) ได้ร่วมรับรู้ และกระตุ้นให้ผู้ฟังได้ “เปิดมุมมอง" แลกเปลี่ยน แบ่งปันร่วมกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร
ซึ่งก็ถือว่าประสบความสำเร็จอยู่ค่อนข้างมาก เนื่องเพราะ
ทั้งนักวิชาการ นิสิตและชาวบ้าน ต่างโสเหล่กันอย่างออกรสออกชาติ จนลืมที่จะรับประทานอาหารเที่ยงไปเลยก็ว่าได้ -



ในช่วงหนึ่งที่ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเก็บข้อมูลชุมชน หรือการใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลชุมชนนั้น อาจารย์สุวิมล สงกลาง ผู้รับผิดชอบหลักโครงการอาหารปลอดภัยชุมชนใส่ใจสุขภาพ ได้สะท้อนเรื่องราวให้ได้รับรู้อย่างน่าสนใจว่า


“... การใช้เครื่องมือและการเก็บข้อมูลด้วยวิธีการของการวิจัยนั้น ไม่ใช่แค่ช่วยให้เราได้รับ รู้ถึงสภาพทั่วไปอันเป็นทุนทางสังคม จุดอ่อน จุดแข็งของชุมชนเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องมือในการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง “นิสิตกับชาวบ้าน” ซึ่งช่วยให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน หนุนส่งให้กระบวนการบริการวิชาการเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...”

ครับ- คำบอกเล่าเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่าเครื่องมือที่นำไปใช้เก็บข้อมูลชุมชนนั้น ไม่ใช่เพียงมีสถานะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ชุมชนเท่านั้น แต่กลับกลายเป็น “สะพาน” ที่เชื่อมโยงให้นิสิตและชุมชนได้ทำกิจกรรมร่วมกันได้เป็นอย่างดี
เสมอเหมือนการสร้างสัมพันธภาพให้เกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยหยั่งรากลึกลงในประเด็นหลักๆ หรือกิจกรรมที่เป็นหัวใจหลักที่ต้องขับเคลื่อน

นอกจากนั้น อาจารย์สุวิมล สงกลางยังบอกเล่าเพิ่มเติมว่า

“... ถึงแม้ระยะที่ 1 ผลการประเมินคุณภาพและมาตรฐานของ “ร้านจำหน่ายสินค้า” (แผงลอย) ในชุมชนจะไม่ผ่านเกณฑ์เกือบทั้งหมด แต่ชาวบ้านก็ยังร้องขอให้ทางหลักสูตร ได้กลับไปช่วยเหลือและร่วมขับเคลื่อนวิธีการต่างๆ ด้วยกันอีกครั้ง โดยปีที่ 2 นี้ เห็นได้ชัด
ว่าพลังการขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมกว่าเดิม เพราะชาวบ้านมีทัศนคติที่ดีต่อกระบวนการที่จัด
ขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดและท้องถิ่นก็ได้เข้ามาเป็นส่วนร่วมอย่างจริงจังกว่าปี
ที่ผ่านมา ตลอดจนนิสิตรุ่นก่อนที่เคยดำเนินงานในปีที่แล้ว ยังกลับมาช่วยเหลือและเป็น
ส่วนหนึ่งกับงานในปีที่
2 ซึ่งเป็นผลพวงของความรัก ความผูกพันที่มีต่อการเรียนรู้ นั่นเอง...”



ในทำนองเดียวกันนี้ ดร.ฉันทนา เวชโอสถศักดา ผู้รับผิดชอบหลักโครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัวฯ ได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นกับชุมชนหลายประเด็น อาทิ

“ .... อบต.มีระบบฐานข้อมูลของชุมชนที่สามารถค้นคว้าได้อย่างเป็นระบบ ทั้งในระบบ เอกสารและเว็บไซด์ โรงเรียนและนักเรียนสามารถค้นคว้าข้อมูลชุมชนตนเอง หรือเรียนรู้ ข้อมูลชุมชนตนเองผ่านเว็บไซด์ได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางมาที่
อบต. โดยตรง ...”

“ ... เกิดพื้นที่คุณภาพเชิงไอทีและพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่มีชีวิตใน อบต. ที่ช่วยให้เด็กและ เยาวชนมาใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้เรื่องราวบ้านเกิดตัวเอง
มีจิตสำนึกรักษ์ท้องถิ่น และการมาศึกษาค้นคว้าที่ อบต. ยังช่วยผ่อนคลายความวิตกกังวล ของผู้ปกครองที่เกรงว่าลูกหลานจะไปมัวสุมในสถานที่อื่นๆ ..."



ครับ – นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเวที “มหาวิทยาลัยมหาสารคามวิจัย ครั้งที่ 9” ซึ่งสะท้อนถึงความงดงามเล็กๆ จากเวทีการขับเคลื่อนงานโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชนภายใต้แนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ” ที่ถึงแม้จะยังไม่อาจชี้วัดได้ถึง “ความเข้มแข็งอันแท้จริงของชุมชน” หากแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหมือนกันว่า นี่คือ “แนวโน้ม” ของ ”ความเข้มแข็ง” ที่ว่านั้น

หรือแม้แต่การเป็น “ความงดงามของการเรียนรู้” ที่ทำให้นิสิตได้มี “ห้องเรียน” ที่หลากหลายขึ้นกว่าเดิม และการได้เรียนรู้ในชุมชนนั้น ได้ช่วยให้นิสิตเรียนรู้คุณค่าของการ “ใช้ชีวิต” ที่เชื่อมโยงกับความเป็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย (เป็นที่พึ่งของสังคมและชุมชน) และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยฯ (เป็นผู้ช่วยเหลือสังคมและชุมชน) ได้แจ่มชัดมากขึ้น และมากขึ้น



หมายเหตุ
1.ปี 2556 โครงการศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อบต.หนองบัว อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม (สาขาสารสนเทศศาสตร์) คณะวิทยาการสารสนเทศ นอกจากขับเคลื่อนในมิติงานบริการวิชาการ (โครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน) แล้วยังต่อยอดเป็นงานวิจัยเพื่อชุมชนในชื่อ “โครงการพัฒนารูปแบบศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนตำบลหนองบัว อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม”
2.ไฟล์ภาพเพิ่มเติม
https://www.facebook.com/media/set/?set=oa.626577427364502&type=1



ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ อาจารย์พนัส

- มาติดตาม การพัฒนางานวิจัย อย่างรอบด้าน ของ มหาสารคาม

ขอชื่นชม ด้วยความจริงใจ  ใน "กลวิธี" การเชื่อมร้อย งานวิจัย เข้ากับ งานพัฒนาการเรียนการสอน นำไปสู่ ประโยชน์ ต่อชุมชน อย่างยั่งยืน...

....    “...  ถึงแม้ระยะที่ 1 ผล การประเมินคุณภาพและมาตรฐานของ “ร้านจำหน่ายสินค้า”                              (แผงลอย) ในชุมชนจะไม่ผ่านเกณฑ์เกือบทั้งหมด  แต่ชาวบ้านก็ยังร้องขอให้ทางหลักสูตร                     ได้กลับไปช่วยเหลือและร่วมขับเคลื่อนวิธีการต่างๆ ด้วยกันอีกครั้ง ......

- จะติดตาม อย่างเกาะติด นะคะ

- ขอบคุณ ที่นำมา เผยแพร่ ให้เห็น  กลยุทธ์  การปฏิบัติ  ให้เห็นผล ได้จริงค่ะ

สวัสดีครับ อ.Joy

หมุดหมายอันแท้จริง  นอกจากชาวบ้าน และผู้ประกอบการแล้ว
ทางหลักสูตรปักธงลงในระบบ นั่นก็คือ การหนุนให้เกิดแผนที่เป็นรูปธรรมใน "อบต" และ "รพ.สต"
นอกจากนั้น ก็เชื่อมโยงสู่ระดับอำเภอและจังหวัด โดยเฉพาะ "สสจ"  ที่ต้องเข้ามากำกับ ติดตาม และหนุนเสริมให้เกิดความเข้มแข็งอันแท้จริง ครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท