วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 3 พ.ศ. 2519 - 2556


วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 3 พ.ศ. 2519 - 2556

พีระพงศ์ วาระเสน (Peeraphong Varasen)
รวบรวม 24 ตุลาคม 2556

พ.ศ. 2519

เหตุการณ์ที่ 1

มีโครงการหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง ตามพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ จัดที่ดินป่าไม้ ซึ่งมีสภาพเสื่อมโทรม ให้แก่เกษตรกรที่ยังไม่มีที่ดินทำกินและมีความขยันขันแข็ง จัดเป็นรูปหมู่บ้านสหกรณ์กรรมสิทธิ์ที่ดินจะรับพระราชทานเป็นของสหกรณ์หมู่บ้าน

เหตุการณ์ที่ 2

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้มีการเพิ่มจำนวนกรรมการดำเนินการจากเดิม 9 คน เป็น 11 คน และปี2520 เพิ่มเป็น 15 คน และยังมีการระดมเงิน ทุนเข้ามานอกเหนือจากรับเงินฝากประเภทประจำแล้ว ยังได้มีการออกตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยนายไพเราะ ไพรอนันต์ เป็นผู้ออกแบบตั๋ว ในระยะที่ออกตั๋วสัญญาใช้เงินนั้น ผลการดำเนินงานยังไม่บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งนี้เนื่องจากในขณะนั้นมีข่าวทรัสต์ล้ม และรูปแบบ ของตั๋วสัญญาใช้เงินยังไม่เป็นที่น่าจูงใจ แต่อย่างไรก็ดี ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ก็มีทุนดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากตั๋วสัญญาใช้เงินด้วยเหมือนกัน



พ.ศ. 2520

เหตุการณ์ที่ 1

จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์ร้านค้ากู้ยืม
จัดตั้งเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อให้สหกรณ์การเกษตรกู้ยืมสำหรับสร้างฉาง ซื้อและปรับปรุงที่ดิน


.ศ. 2522

สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนที่จดทะเบียนแล้ว 14 แห่ง ได้ร่วมประชุมจัดตั้งชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ประเภทสหกรณ์ออมทรัพย์โดยใช้ชื่อว่า “ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด” เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522

พ.ศ. 2523
จัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนเพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพของสมาชิกสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด

พ.ศ. 2525

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยและกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับ มูลนิธิ Friedrich Ebert Stiftung (FES) ศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อตั้งบริษัทประกันภัยในสหกรณ์ จัดประชุมระดมแนวคิดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้นำสหกรณ์ทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพานิชย์,กรมการประภัย

พ.ศ. 2526

เริ่มโครงการเสริมสร้างสหกรณ์การเกษตรสหกรณ์ที่อ่อนแอได้ความช่วยเหลือจากรัฐบาล โดยได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ให้มีการจัดจ้าง ผู้จัดการ และพนักงานสหกรณ์ในตำแหน่งต่างๆดังนี้ พนักงานสินเชื่อ พนักงานการตลาด พนักงานบัญชี อย่างละ 1 ตำแหน่ง โดยทางกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบในด้านการจ่ายเงินเดือนให้ ผู้จัดการและพนักงานสหกรณ์ต่างๆที่ทางกรมส่งเสริมสหกรณ์ จัดจ้าง จะถูกให้เข้ารับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ เพื่อแก้ไขให้ทางสหกรณ์สามารถบริการในด้านต่างๆแก่สมาชิก และได้มีการปรับปรุงกิจการของสหกรณ์ในหลายๆด้าน จน สหกรณ์ดำเนินธุรกิจ สามารถให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกในหลายๆด้าน และมีผลให้สหกรณ์สามารถบริการสมาชิกให้ได้รับความพึงพอใจ เมื่อมีส่วนเกิน(surplus) สามารถจ่ายเงินเฉลี่ยคืน และเงินปันผลแก่สมาชิก พร้อมพัฒนาสังคมและชุมชนที่สมาชิกอาศัยอยู่ทั้งในปัจจุบัน และอนาตต

พ.ศ. 2529

กรมส่งเสริมสหกรณ์มีหนังสือเผยแพร่แนวคิด ชี้แจง ทำความเข้าใจ และเชิญชวนสหกรณ์ทั่วประเทศระดมทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทสหกรณ์ประกันภัย ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยทั้งนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ (ในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์) ได้พิจารณาเห็นชอบในหลักการ โดยสรุปได้ว่า "การถือหุ้นในบริษัทประกันภัยของสหกรณ์ ให้ถือว่านายทะเบียนสหกรณ์ได้อนุญาตไว้แล้ว ตามความในมาตรา 21 (8) แห่ง พระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช 2511 โดยสหกรณ์ไม่ต้องขออนุญาตอีก

พ.ศ. 2532

ในวันที่ 9 พ.ย. 2532 ก่อตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. เป็นแห่งแรกในประเทศไทย คือ สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส เชียงใหม่ จำกัด

พ.ศ. 2533

ก่อกำเนิดชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 10 กรกฏาคม 2533

พ.ศ. 2534

เหตุการณ์ที่ 1

เกิดโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียนตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล็ง เห็นว่าการ ปลูกฝังหลักการ สหกรณ์แก่เด็กและเยาวชนโดย เริ่มจากโรงเรียนเป็นอันดับแรก จะก่อให้เกิดความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจในกลุ่ม ของเด็กนักเรียน ตลอดจนครู และประชาชนในท้องถิ่น อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม การรวมกลุ่มกันในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อการดำรง ชีวิตที่ดีขึ้น จึงทรงมีพระราช กระแสรับสั่งแก่ อธิบดีกรมตำรวจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านภูต่าง อำเภอบ้านโคกจังหวัดอุตรดิตถ์เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ให้ดำเนินการสหกรณ์ ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และทรงมีพระราชกระแส แก่ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ณ พระตำหนัก จิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ ๗มิถุนายน ๒๕๓๔ ให้ ส่งเสริมวิธีการสหกรณ์ให้แพร่หลายไปยังเด็กนักเรียน ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนกรม ตำรวจและกรมส่งเสริมสหกรณ์ จึงได้ เริ่มดำเนินโครงการส่ง เสริมสหกรณ์ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ๖ แห่งเป็นโครงการนำร่องในปี ๒๕๓๔ เป็นต้นมา

เหตุการณ์ที่ 2

ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ (กสส.) และกรมตรวจบัญชีสหกรณ์(กตส.) สนับสนุนและช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ารวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้นในทุกจังหวัด ที่มีสำนักงาน ธ.ก.ส. สาขาระดับจังหวัดตั้งอยู่ โดยใช่ชื่อว่า “สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. จำกัด (สกต.) ชื่อภาษาอังกฤษ “ AGRICULTURAL MARKETING CO – OPERATIVE LIMITED (AMC)” หลังจากตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้าธ.ก.ส. ขึ้นเป็นครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2532 โดยในระยะ 5 ปีแรก สกต. ตกลงให้ ธ.ก.ส. เข้าไปช่วยเหลือในด้านการบริหารงานและการจัดการเพื่อวางรากฐานการเนินงานให้ สกต.

พ.ศ. 2536

เหตุการณ์ที่ 1

กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ในพื้นที่เกษตรพื้นที่สูง ตามแผนแม่บทของกรมส่งเสริมสหกรณ์ (พ.ศ. 2536 – 2539) รวม 4 ปี ดำเนินการในพื้นที่โครงการหลวง 5 จังหวัดคือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน แม่ฮ่องสอน

เหตุการณ์ที่ 2

27 กรกฎาคม 2536 กระทรวงพาณิชย์ โดย ฯพณฯ อุทัย พิมพ์ใจชน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นชอบในหลักการ โครงการจัดตั้งบริษัทประกันภัยของสหกรณ์ โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ 6 ข้อ ตามหนังสือกระทรวงพาณิชย์12 ตุลาคม 2536 คณะรัฐมนตรี มีมติ เห็นชอบ อนุมัติให้ดำเนินการได้โดยให้อยู่ภายใต้เงื่อนไข 6 ข้อ โดยเคร่งครัด

พ.ศ. 2537

เหตุการณ์ที่ 1

กำเนิดโครงการเมืองสหกรณ์อันเนืองมาจากพระราชดำริ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังธุดงคสถานถาวรนิมิต ( ปัจจุบันคือ วัดป่าศรีถาวรนิมิต) บ้านบุ่งเข้ ตำบลหนองแสง อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก เพื่อทอดพระเนตรพื้นที่สร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับธุดงคสถานถาวรนิมิต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีความห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรบริเวณรอบ ๆ พื้นที่
ที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำคลองสีเสียด อำเภอปากพลี จังหวัดนครนายก จึงได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานพัฒนาแหล่งน้ำและงานพัฒนาอาชีพของราษฎร สรุปความว่า ถ้ามีแหล่งน้ำเกิดขึ้นก็จะทำให้ป่าไม้ดูชุ่มชื่นเขียวชอุ่ม เมื่อน้ำไหลผ่านไร่นาของเกษตรกร ก็จะเป็นผลให้ทำไร่ทำนาได้ผลผลิตพอกินพอใช้ เหลือกินก็ขายได้ ในฤดูแล้งปลูกผักผลไม้ให้เกิดความร่มรื่นเขียวขจี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นชาวบ้านที่ทิ้งถิ่นที่อยู่เข้าไปขายแรงงาน ในเมืองและในกรุงเทพมหานคร ก็จะให้ความสนใจถิ่นที่อยู่และกลับไปทำมาหากินที่บ้านเกิดเมืองนอนอย่างแน่นอน และให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ เต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ที่ปลูกไว้กินผลตามบ้านเรือน ภายในบ้านมีสวนครัว และเลี้ยงสัตว์ จำพวกเป็ดไก่ จัดบ้านเรือนให้สะอาดถูกสุขอนามัย สร้างให้ครอบครัวมีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าเดิม เป็นเมืองน่าอยู่น่าอาศัย ต่อมาเมื่อวันที่ 5 กรกฏาคม พ.ศ.2537 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ไปยัง วัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ทรงมีพระราชปรารภกับพระราชพิพัฒนาทร (ถาวร จิตตถาวโร ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร ที่กฏิหน้าศาลาพระราชศรัทธา ว่า
....หากเกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ชาวบ้านจะไม่ทิ้งถิ่นฐานที่อยู่ไปขายแรงงานในเมือง....
พระราชพิพัฒนาทร (ถาวร จิตตถาวโร ) จึงได้ถวายพระพรขอพระราชทานจัดทำโครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

เหตุการณ์ที่ 2

บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด 28 กุมภาพันธ์ 2537 ได้ยื่นขออนุญาตจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท 24 ตุลาคม 2537 ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิต โดยกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพานิชย์

พ.ศ. 2538

17 มีนาคม 2538 บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด ดำเนินการประกอบธุรกิจประกันชีวิต เป็นบริษัท ลำดับที่ 13 ของบริษัทประกันชีวิตในประเทศไทย สำนักงานใหญ่แห่งแรกตั้งอยู่ที่ เลขที่ 13 อาคารบุญจิราธร สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย แขวงนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร1 เมษายน 2538 บริษัทเริ่มให้ความคุ้มครองสหกรณ์ออมทรัพย์ครูร้อยเอ็ด จำกัด เป็นครั้งแรก

พ.ศ. 2542

ได้มีการออกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ขึ้น มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2542 โดยยกเลิกพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 140 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่247 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2515และ พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่2) พ.ศ.2524 ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการพัฒนาการสหกรณ์แห่งชาติประกอบด้วยรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นนายทะเบียนสหกรณ์ มีหน้าที่กำกับดูแลสหกรณ์ นอกจากนี้ยังให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ขึ้นในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรียกโดยย่อว่า “กพส.” เพื่อเป็นทุนส่งเสริมกิจการของสหกรณ์
บทบัญญัติที่ตัดออก จากพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 ได้แก่ บทบัญญัติในส่วนที่ว่าสหกรณ์ไม่จำกัดออกทั้งหมด ตั้งแต่มาตรา 54ถึงมาตรา 69 เพราะในทศวรรษที่ผ่านมาไม่มีประชาชนขอจดทะเบียนสหกรณ์ชนิดไม่จำกัด และสหกรณ์ชนิดไม่จำกัด ก็จดทะเบียนเปลี่ยนเป็นสหกรณ์ชนิดจำกัดไปหมดแล้ว บทบัญญัติส่วนที่ว่าด้วยสหกรณ์ชนิดไม่จำกัดจึงหมดความจำเป็นไปแล้ว ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือ ทุนกลางของบรรดาสหกรณ์ไม่จำกัดสินใช้มีเงินเหลืออยู่ประมาณ 40 ล้านจึงบัญญัติคงทุนกลางไว้อีก

พ.ศ. 2548

การกำหนดประเภทของสหกรณ์ครั้งที่ 4 ภาคสหกรณ์ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดประเภทของสหกรณ์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน เป็นสหกรณ์ประเภทที่ 7 ตามกฏกระทรวงกำหนดประเภทสหกรณ์ที่รับจดทะเบียน พ.ศ.2548
กฎกระทรวง กำหนดประเภทสหกรณ์ที่จะรีบจดทะเบียน พ.ศ.2548 กำหนดไว้ 7 ประเภท ดังต่อไปนี้
1. สหกรณ์การเกษตร
2. สหกรณ์ประมง
3. สหกรณ์นิคม
4. สหกรณ์ร้านค้า
5. สหกรณ์บริการ
6. สหกรณ์ออมทรัพย์
7. สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน

.ศ. 2556

เหตุการณ์ที่ 1

วันที่ 30 กรกฎาคม 2556 ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงในการพัฒนาความร่วมมือในการพัฒนาการให้บริการทางการเงินระหว่าง ธนาคารออมสิน กับ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ไทย ไอซีที จำกัด

เหตุการณ์ที่ 2

วันที่ 5 ตุลาคม 2556 บัตร ATM CO-OP Thai ICT ใช้ได้เป็นครั้งแรก กับตู้ ATM ธนาคารออมสิน ทั่วประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 0.30 น. เป็นต้นไป นับว่าขบวนการสหกรณ์ไทย มีบัตร ATM ของตนเองเป็นครั้งแรก

อ้างอิง

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย
http://www.clt.or.th/

ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด

http://www.co-opthai.com/

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด
http://www.fsct.com/fsct_firstmain.php

ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนียนแห่งประเทศไทย จำกัด
http://www.cultthai.coop/

ชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด
http://www.ccft.co.th/

ชุมนุมสหกรณ์บริการเดินรถแห่งประเทศไทย จำกัด
http://it1.cpd.go.th/profile/report_inter_profile.asp?select_coop1=99&year_data=2554

บริษัทสหประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
http://www.sahalife.co.th/about.aspx

Coopinthailand.com
http://www.coopinthailand.com/1860

สหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส. (สกต.)
http://www.sktbaacmarket.com/about/

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ ไอซีที จำกัด
http://www.coopthaiict.org/

การสหกรณ์ในประเทศไทย กรมส่งเสริมสหกรณ์ Cooperative Promotion Department

บางเรื่อง บางสหกรณ์ โดย พันเอกสุรินทร์ ชบประเสริฐ

ชีวิตการทำงานสหกรณ์ทั้งในและต่างประเทศ โดย ประดิษฐ์ มัชฌิมา อดีตผู้อำนายการสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย และ อดีตผู้เชี่ยวชาญการสหกรณ์ของสหประชาชาติ

สหกรณ์ I want you , I need you , I love you โดยชมรมข้าราชการบำนาญ กรมส่งเสริมสหกรณ์

ปกิณกะสหกรณ์ โดย ชมรมข้าราชการบำนาญกรมส่งเสริมสหกรณ์

คุณสมบัติผู้นำเพื่อพัฒนาสหกรณ์ให้สำเร็จ โดย ศาตราจารย์พิเศษ อาบ นคะจัด

ประมวลพระราชดำรัส สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นททุรกันดาร พุทธศักราช 2524 – 2553

หมายเลขบันทึก: 551324เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 10:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 15:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณบันทึกที่ดีมีประโยชน์นะคะ

น่าจะเพิ่มเหตุการณ์ของสหกรณ์คลองจั่น ที่ทำให้ระบบสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทั่วประเทศได้รับผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของสมาชิก ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของสหกรณ์

นับว่าเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์มาก งานสหกรณ์ในประเทศไทยส่วนใหญ่เราไม่ค่อยจะศึกษาจากอดีตและนำมาปรับปรุง แก้ไขเพื่ออนาคต กิจการสหกรณ์ไทย จึงไม่แตกต่างจากการเมืองไทย เพราะเรานับหนึ่งกันอยู่ตลอดเวลา ไม่เคยนับสอง สาม สี่ ฯลฯ จึงทำให้ขบวนการสหกรณ์ไทยไม่พัฒนาก้าวหน้า ต้องขอบคุณ คุณพีระพงศ์ วาระเสน เป็นอย่างยิ่งที่ไปค้นหาประวัติการสหกรณ์ในประเทศไทย มาให้ศีกษาความเป็นมาของอดีตสหกรณ์ไทย ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งกับการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ไทย.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท