วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 2 พ.ศ. 2496 - 2518


วิวัฒน์การสหกรณ์ไทย ส่วนที่ 2 พ.ศ. 2496 - 2518

พีระพงศ์ วาระเสน (Peeraphong Varasen)
รวบรวม 24 ตุลาคม 2556

พ.ศ. 2496

เหตุการณ์ที่ 1
เปลี่ยนชื่อกระทรวงการสหกรณ์ เป็น กระทรวงสหกรณ์

เหตุการณ์ที่ 2
จัดตั้งสหกรณ์บริการไฟฟ้าหนองแขม จำกัด อำเภอหนองแขม กรุงเทพมหานคร เป็นสหกรณ์ที่ให้บริการด้านสาธารณูปโภค

พ.ศ. 2497

จัดตั้งสหกรณ์มีดอรัญญิก จำกัด ที่ตำบลทุ่งช้าง อำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

พ.ศ. 2500

มีเงินทุนส่งเสริมการสหกรณ์รวมทั้งสิ้น  91.904 ล้านบาทถ้วน

พ.ศ. 2505

กรมสหกรณ์ธนกิจได้รับคำสั่งจาก กระทรวงสหกรณ์ ให้ดำเนินการเปลี่ยนธนาคารสหกรณ์ ทั้งสอง 2 ธนาคาร คือ ธนาคารสหกรณ์จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นสหกรณ์ประเภทอื่น และให้หยุดดำเนินการธนาคารเพราะว่า รัฐสภา ได้ออกพระราชบัญญัติธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาใช้ นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2505 มีบทบัญญัติว่า ธนาคารพาณิชย์จะตั้งขึ้้นได้ก็แต่ในรูปบริษัทนจำกัด ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 ความหวังที่จะขยายการจัดตั้งธนาคารสหกรณ์จังหวัดให้แพร่หลายออกไปเป็นอันสิ้นสุดลง

และมาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใด นอกจากธนาคารพาณิชย์ ใช้ชื่อ หรือคำแสดงชื่อ ในธุรกิจว่า "ธนาคาร" หรือคำอื่นใดที่มีความหมายเดียวกัน

ที่มา : อาลัยสหกรณ์จังหวัด เชิญ บำรุงวงศ์

พ.ศ. 2506

ยุบเลิกกระทรวงสหกรณ์และโอนงานทั้งหมดไปเป็นของกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
กรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ สังกัด กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ

การแบ่งส่วนราชการในกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ
สำนักงานปลัดกระทรวง มี กองงานนายทะเบียนสหกรณ์ กองฝึกอบรมสหกรณ์ กองวิชาการ และกองเศรษฐการสหกรณ์ ซึ่งเป็นเจ้าสังกัดของสหกรณ์จังหวัด และสหกรณ์อำเภอ ดูแลสหกรณ์หาทุน
กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ ดูแล สหกรณ์เครดิตเพื่อผลิตกรรม สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ร้านค้า เป็นต้น
กรมสหกรณ์ที่ดิน ดูแล สหกรณ์บำรุงที่ดิน สหกรณ์นิคม สหกรณ์บำรุงที่ดิน สหกรณ์เช่าที่ดิน และสหกรณ์เช่าซื้อที่ดิน เป็นต้น
กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ทำหน้าที่ตรวจบัญชีให้แก่สหกรณ์ต่าง ๆ ทุกสหกรณ์

พ.ศ.2507

เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ องค์ปัจจุบันเสด็จแปรพระราชฐานประทับ ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2507 พระองค์เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียน และทรงดูแลทุกข์สุขของราษฎรตามท้องที่เขตจังหวัดใกล้เคียง ในวโรกาสนั้น พระองค์ได้ทราบถึงความเดือดร้อนของเกษตรกรกลุ่มชาวสวนผักชะอำ จำนวน 83 ครอบครัว ว่าขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำไปประกอบอาชีพ พระองค์จึงทรงรับเกษตรกรเหล่านี้ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กู้ยืมไปลงทุน เป็นจำนวนเงิน 3 แสนบาท ภายหลังไม่ปรากฏผู้ใดนำเงินจำนวนที่กู้ยืมไปทูลเกล้าถวายคืนแก่พระองค์ท่านเลย และความได้ทราบฝ่าละอองพระบาทว่าเกษตรกรเหล่านี้ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ได้อาศัยเช่าของกรมประชาสงเคราะห์ โดยเฉลี่ยครอบครัวละไม่เกิน 2 ไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ ฯพณฯ องคมนตรี ม.ล.เดช สนิทวงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ไปจัดหาพื้นที่ในเขตจังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรนับเป็นจุดเริ่มต้นหมู่บ้านตัวอย่างในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการไทย-อิสราเอล เพื่อพัฒนาชนบท ตำบลเขาใหญ่ อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

.ศ. 2508

มีการตั้งกลุ่มเครดิตยูเนี่ยนแห่งแรกชื่อว่า “กลุ่มเครดิตยูเนี่ยนศูนย์กลางเทวา" เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2508 แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์

พ.ศ. 2509

เหตุการณ์ที่ 1
มีการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนจัดสหรกรณ์ที่ดินและอาคาร

เหตุการณ์ที่ 2
มีพระราชบัญญัติจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร"ขึ้น ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตรให้กว้างขวางออกไป ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มีวัตถุประสงค์ให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เกษตรกร กลุ่มเกษตรกร และสหกรณ์การเกษตร สำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรมหรืออาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มรายได้หรือพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรหรือครอบครัวของเกษตรกร นายจำเนียร สาระนาค ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คนแรกได้วางรากฐานการดำเนินงานพร้อมทั้งอุดมการณ์การทำงานให้พนักงาน ธ.ก.ส. ทุกคนละเว้นการอันควรละเว้นต่าง ๆ โดยได้อบรมสั่งสอนให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว ซื่อสัตย์ สุจริต และไม่เบียดเบียนลูกค้า เพราะ งานสินเชื่อเพื่อการเกษตร เป็นงานที่กว้างขวางและซับซ้อน ต้องศึกษาและค้นคว้าเพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้มีความรู้ ความชำนาญยิ่งขึ้น ขอให้ท่านละเว้นการอันควรละเว้น ไม่เบียดเบียนเกษตรกรลูกค้า จงทำงานหนัก เร่งรัด ฉับไว ถูกต้อง และแม่นยำ กอร์ปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ซึ่งพนักงาน ธ.ก.ส. ถือปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ. 2511

เหตุการณ์ที่ 1

เริ่มก่อตั้งสันนิบาตสหกรณ์ จำกัดสินใช้ คณะผู้ริเริ่มก่อตั้งสันนิบาตสหกรณ์ฯ จำนวน ๒๒ คน นำโดยนายปกรณ์ อังศุสิงห์ ปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ขณะนั้น เป็นประธานคณะผู้ริเริ่มจัดตั้ง ได้มีการประชุมคณะผู้ริเริ่มก่อตั้งฯ เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๑ โดยที่ประชุมได้มีมติตกลงให้ดำเนินการขอจดทะเบียนจัดตั้งฯ ด้วยคะแนนเสียง ๒๑ งดออกเสียง ๑ เพื่อขอจดทะเบียนจัดตั้งขึ้นเป็น “ชุมนุมสหกรณ์" กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการของบรรดาสหกรณ์ทั่วประเทศ ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้เกิดแก่กิจการของสหกรณ์ จัดบริการฝึกอบรมแก่เจ้าหน้าที่สหกรณ์ เป็นศูนย์กลางทางการเงินของสหกรณ์
โดยในระยะแรก ให้ใช้ทุนจากเงินสะสมช่วยจัดสหภาพสหกรณ์มาเป็นเงินทุนรายได้ประเดิมเพื่อใช้ในการบริหารจัดการคณะกรรมการดำเนินการสันนิบาตสหกรณ์ฯ ชุดที่ ๑ มีนายปกรณ์ อังศุสิงห์ เป็นประธานกรรมการดำเนินการ คนแรก มีนายทนุ สาตราภัย เป็นรองประธานกรรมการดำเนินการ และมีผู้แทนสหกรณ์ จำนวน ๑๖ คน เป็นผู้แทนเอกชน จำนวน ๘ คน เป็นกรรมการดำเนินการชั่วคราว
ได้มีการประชุมกันครั้งที่ ๑/๒๕๑๑ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๑ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ ห้องประชุมศูนย์ฝึกอบรมกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ซึ่งเป็นวันที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งจากนายทะเบียนสหกรณ์ในสมัยนั้นคือ พันเอกสุรินทร์ ชลประเสริฐ รองปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ โดยจดทะเบียนเป็นสมาคมสหกรณ์ประเภท ชุมนุมสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พุทธศักราช ๒๔๗๑ มีชื่อว่า สันนิบาตสหกรณ์ จำกัดสินใช้" ตามหนังสือนายทะเบียนสหกรณ์ที่ พก. ๐๒๐๓/๒๒๑ ลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๑
จึงถือได้ว่าสันนิบาตสหกรณ์ฯ ได้กำเนิดขึ้นในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๑ ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นขบวนการสหกรณ์ของประเทศไทย พร้อมกับได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารที่ทำการสันนิบาตสหกรณ์ฯ โดยมี ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ สมัยนั้น (นายพจน์ สารสิน) เป็นประธาน
การประชุมในวันดังกล่าว ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการเตรียมการก่อสร้างอาคารสำนักงาน โดยมี นายเทพ ไสยานนท์ เป็นประธานกรรมการ และมีแผนงานการจัดสร้างในวงเงินไม่เกิน ๒ ล้านบาท โดยให้ก่อสร้างขึ้นในบริเวณศูนย์ฝึกอบรมกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ถนนพิชัย เขตดุสิต (ที่ตั้งเดิมในปัจจุบัน) วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๑ จึงเป็นวันกำเนิดสันนิบาตสหกรณ์ฯ ภายใต้ชื่อว่า สันนิบาตสหกรณ์ จำกัดสินใช้" พร้อมๆ กับพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารสำนักงานฯ ไปด้วย

เหตุการณ์ที่ 2

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 มีพระบรมราช โองการ ประกาศพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่20 มิถุนายน พ.ศ.2511 ยกเลิกพระราชบัญญัติที่มีอยู่เดิมทั้งหมด โดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 นี้

เหตุการณ์ที่ 3

พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีผลทำให้สันนิบาตสหกรณ์ แห่งประเทศไทย จำกัดสินใช้ เลิกไป และมีสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ขึ้นแทน

เหตุการณ์ที่ 4

เปิดโอกาสให้สหกรณ์ควบเข้าด้วยกัน เนื่องจากสหกรณ์ที่จัดตั้งไว้เป็นแบบไรฟ์ไฟเซน
การขยายตัวทำได้ไม่สะดวกจึงใช้วิธีการควบเข้าด้วยกัน ทำให้ควบคุมเนื้อที่กว้างขึ้น สมาชิกมากขึ้น ผลิตผลต่างๆ บริการต่างๆ เพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2511 เป็นต้นมาจนถึงปี พ.ศ.2515

เหตุการณ์ที่ 5

มีการกำหนดประเภทสหกรณ์ ครั้งที่ 2 เมื่อมีการยุบกระทรวงสหกรณ์ แล้วตั้งกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ระหว่าง พ.ศ. 2511 – 2516 ตาม พรบ.สหกรณ์ พ.ศ. 2511 มีสหกรณ์ 8 ประเภท คือ
1. สหกรณ์การธนกิจ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์ธนกิจ
2. สหกรณ์การซื้อ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ
3. สหกรณ์การขาย ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ
4. สหกรณ์บริการ ขึ้นกับกรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ
5. สหกรณ์การเช่าที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
6. สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ขึ้นกับกรมสหกรณ์ทีดิน
7. สหกรณ์นิคม ขึ้นกับกรมสหกรณ์ที่ดิน
8. สหกรณ์อเนกประสงค์ ขึ้นกับสำนักงานปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ

พ.ศ. 2512

วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2512 สหกรณ์ขายส่งแห่งประเทศ ไทย จำกัดสินใช้ ขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อต่อกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติในขณะนั้น โดยเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด" มีฐานะเป็นชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ โดยโอนสมาชิกเดิมมาเป็นสมาชิกของชุมนุมสหกรณ์ใหม่ และต่อมาได้มีการขยายรับสหกรณ์ท้องถิ่นเป็นสมาชิกทั่วประเทศ

พ.ศ. 2513

เหตุการณ์ที่ 1

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2513 จากการเจรจาเกี่ยวกับการร่วมทุนระหว่างสหกรณ์ไทยกับชุมนุมสหกรณ์การเกษตรญี่ปุ่น มีการจัดตั้ง“บริษัท ที.เจ.ซี เคมี จำกัด" เพื่อประกอบกิจการโรงงานผลิตยาปราบศัตรูพืช เพื่อจำหน่ายแก่สหกรณ์สมาชิกและเกษตรกรทั่วไป ทุนจดทะเบียนครั้งแรก 5 ล้านบาท ต่อมาเพิ่มเป็น 60 ล้านบาท ฝ่ายไทยถือหุ้น51 % ฝ่ายญี่ปุ่นถือหุ้น 49% การดำเนินงานของบริษัท มีความก้าวหน้า จนถึงปัจจุบัน

เหตุการณ์ที่ 2
มีการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนจัดตั้งและส่งเสริมสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนม

พ.ศ. 2514

เหตุการณ์ที่ 1

กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในจังหวัดราชบุรี ได้จัดตั้งสหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ มีสมาชิกแรกตั้ง 185 คนได้เข้าชื่อกัน จดทะเบียนเป็นสหกรณ์ในวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2514 โดยใช้ชื่อ “สหกรณ์โคนมราชบุรี จำกัด"เป็นสหกรณ์ประเภทบริการ

เหตุการณ์ที่ 2

สมาชิกของหมู่บ้านเกษตรกรหุบกะพง มีความเข้าใจได้ดีพอแล้ว จึงเข้าชื่อกันเพื่อขอจดทะเบียนเป็นสหกรณ์การเกษตร โดยชื่อว่า“สหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด" เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โปรดเกล้าพระราชทานทะเบียนให้ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด กับได้พระราชทานโฉนดที่ดินบริเวณหุบกะพง จำนวน 3 ฉบับ รวมพื้นที่12,079 – 1 – 82 ไร่ ให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และสหกรณ์การเกษตรหุบกะพง จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบ ตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

พ.ศ. 2515

เหตุการณ์ที่ 1

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ได้รับการจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2515 ชสอ. มีสำนักงานแห่งแรกอยู่ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ เทเวศร์ โดยอาศัยพื้นที่ส่วนหนึ่ง พร้อมทั้งบุคลากรของงานสหกรณ์ออมทรัพย์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นสำนักงานชั่วคราว

เหตุการณ์ที่ 2

มีการยุบการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ.2515 ทำให้กรมสหกรณ์ที่ดิน กรมสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจและสำนักงานกระทรวงปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติรวมกันเหลือเพียงกรมเดียว คือ “กรมส่งเสริมสหกรณ์" ส่วนกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้คงอยู่ มีฐานะเป็นกรม และทั้ง 2 หน่วยงานนี้ ย้ายไปขึ้นกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2515

พ.ศ. 2516

เหตุการณ์ที่ 1

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) ได้เริ่มประกอบธุรกิจ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2516
ในระยะแรกของปี 2516 ชสอ. มีทุนดำเนินงานเพียง 1.9 ล้านบาท ได้มาจากเงินกู้สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) มีเงินรับฝากและหุ้นเพียงเล็กน้อย

เหตุการณ์ที่ 2

การกำหนดประเภทสหกรณ์ ครั้งที่ 3 เมื่อมีการยุบกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ ตั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรวมงานส่งเสริมสหกรณ์มาไว้ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ ระหว่าง พ.ศ. 2516 - 2548
ประเทศไทยได้กำหนดประเภทสหกรณ์ไว้ 6 ประเภท ตามประกาศกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2516 ประกอบด้วย
(1) สหกรณ์การเกษตร อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์การเกษตร
(2) สหกรณ์นิคม อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์นิคม
(3) สหกรณ์ประมง อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์การเกษตร
(4) สหกรณ์ออมทรัพย์ อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ
(5) สหกรณ์ร้านค้า อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ
(6) สหกรณ์บริการ อยู่ในความรับผิดชอบของ กองสหกรณ์พาณิชย์และธนกิจ

พ.ศ. 2517

ธุรกิจของ ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ปี 2517 ได้เน้นไปในด้านการรับฝากเงิน ให้เงินกู้ จำหน่ายเครื่องเขียนแบบพิมพ์

พ.ศ. 2518

เหตุการณ์ที่ 1

ชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด มีโครงการซื้อไซโลเพื่อเก็บและอบข้าวโพดส่งไปขายต่างประเทศ จำเป็นต้องกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แต่ข้อบังคับของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ไม่สามารถให้กู้ได้เพราะชุมนุมสหกรณ์การขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด มีร้านสหกรณ์เป็นสมาชิก (จะให้กู้เฉพาะสถาบันที่มีเกษตรกรเป็นสมาชิกเท่านั้น) จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่และมีมติให้คืนหุ้นที่ร้านสหกรณ์ถือไว้ ให้แก่ร้านสหกรณ์ทั้งหมด คงเหลือไว้แต่หุ้นของ สหกรณ์การเกษตร และขอจดทะเบียนเปลี่ยนข้อบังคับและเปลี่ยนชื่อเป็น “ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด" เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2518 เป็นต้นมาปัจจุบัน ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด ได้ย้ายที่ทำการจากแขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร (เดิม คือ ตำบลลุมพินี อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร) มาก่อสร้างสำนักงานแห่งใหม่ที่ 79 ถนนงามวงศ์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 (ตรงข้ามมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์)

เหตุการณ์ที่ 2

ชุมนุมร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อและเปลี่ยนข้อบังคับเมื่อ วันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2518 โดยใช้ชื่อย่อว่า “ชรสท." เกิดจากการแยกตัวของ ชุมนุมการขายและการซื้อแห่งประเทศไทย จำกัด ออกเป็นชุมนมุร้านสหกรณ์แห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด

เหตุการณ์ที่ 3


มีการจัดตั้งเงินทุนหมุนเวียนโครงการเร่งรัดพัฒนาดินเปรี้ยวเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร

เหตุการณ์ที่ 4

สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด เปลี่ยนจาก สหกรณ์ประเภท สหกรณ์บริการ เป็นสหกรณ์ประเภท สหกรณ์การเกษตร

เหตุการณ์ที่ 5

สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมศึกษาความเป็นไปได้ โดยความร่วมมือกับ Volunteer Development Corps. (VDC) โดยเสนอตั้งบริษัทประกันภัยแบบสหกรณ์ในรูปความรับผิดชอบร่วมกัน

เหตุการณ์ที่ 6

ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ได้เริ่มงานด้านตรวจสอบกิจการ โดยเริ่มปี 2518 ในเขตกรุงเทพมหานคร และงานด้านวิชาการ โดยการจัด สัมมนาในเรื่องการบริหารงาน บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ จัดโครงการฝึกอบรมครั้งแรก ที่จังหวัดกำแพงเพชร และได้ทยอยจัดโครงการตามภูมิภาคต่างๆ ในการจัดสัมมนาแต่ละครั้ง ชสอ.จะได้รับการสนับสนุนเกี่ยวกับค่า ใช้จ่ายจาก บริษัท ซันโย ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์

เหตุการณ์ที่ 7


จัดสหกรณ์การเช่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพแล้ว ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

คำสำคัญ (Tags): #การสหกรณ์#2496 - 2518
หมายเลขบันทึก: 551321เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2013 10:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2018 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท