ถอดบทเรียนสร้างศักยภาพเครือข่ายสร้างสุขภาวะด้วยสุนทรียปัญญา สื่อศิลปะละครชุมชน : (๑) สุนทรียวิจัยจากชุมชนปฏิบัติ


การพัฒนารูปแบบและสั่งสมปัญญาปฏิบัติไปบนการทำงาน สื่อศิลปะและเครือข่ายละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง มูลนิธีสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม)

 

                       

 

มูลนิธิสื่อชาวบ้าน ซึ่งผมมักติดปากที่จะเรียกว่ากลุ่มมะขามป้อม จัดโครงการสัมมนาของเครือข่ายคนทำงานละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง และช่วงหนึ่งของการสัมมนา ก็อยากเพิ่มพูนประสบการณ์และพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายคนทำงานในด้านการถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาการจัดการความรู้และการสื่อสารด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้ปฏิบัติกิจกรรม เพื่อช่วยให้กระบวนการทำงานต่างๆ มีมิติของการสร้างความรู้ จัดการความรู้ ถ่ายทอด และขายผลการทำงาน ผสมผสานอยู่บนวิถีปฏิบัติ ให้ได้พัฒนางานและได้พัฒนาตนเองไปด้วย ทางโครงการจัดสรรเวลาให้ผม ๒ วัน ๑ คืน ระหว่าง ๑๐-๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๖ ที่พนาศรมรีสอร์ต อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แต่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหิดลศาลายา จนเหมือนกับอยู่ในเขตอำเภอพุทธมณฑล นครปฐม

กลุ่มมะขามป้อม เป็นกลุ่มทำงานพัฒนาภาคเอกชนและเป็นองค์กรภาคประชาสังคมทำงานภาคสาธารณะโดยเน้นงานสื่อและศิลปะการทำละคร เพื่อพัฒนาการสื่อสาร สร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างเสริมความเข้มแข็งของปัจเจก ชุมชน และองค์กรภาคประชาชนตามกลุ่มปัญหาและกลุ่มการรวมตัวด้วยประเด็นความสนใจต่างๆ ให้มีความสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เพื่อได้ทักษะแก้ปัญหา พร้อมกับก่อเกิดสุขภาวะทางสุนทรียปัญญา ที่สอดแทรกมากับศิลปะละครชุมชน มีประสบการณ์ในการทำงานมากว่า ๓๐ ปี ในประเด็นทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม การศึกษา การปฏิรูปการเรียนรู้ การปฏิรูปสื่อ การจัดการทรัพยากร การสื่อสารเพื่อลดอคติทางวัฒนธรรม เพศสภาวะ ชาติพันธุ์ เหล่านี้เป็นต้น จัดว่าเป็นเครือข่ายคนทำงานคนหนุ่มคนสาวและเป็นทุนทางสังคมวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการ ที่เป็นที่ยอมรับ มีบทบาทต่อสังคมและมีผลงานแพร่หลาย น่าสนใจมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง

กลุ่มมะขามป้อมและภาคีเครือข่ายที่ร่วมกันดำเนินงานโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานเพื่อร่วมสร้างสุขภาวะสังคมด้วยสื่อศิลปะการละคร ได้รับการสนับสนนุนจาก สสส หรือกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ในโครงการนี้ มีเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่การทำงานในทุกภูมิภาคของประเทศ ที่เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ประกอบด้วยศูนย์ประสานงานในพื้นที่ระดับภูมิภาคจาก ๖ จังหวัด คือ สงขลา ชลบุรี อุบลราชธานี มหาสารคาม อุตรดิตถ์ และเชียงใหม่ และศูนย์ประสานงานกลางที่นนทบุรีอีก ๑ แห่ง แต่ละจังหวัดมีคณะทำงานมาร่วม ๔-๕ คน รวมเป็นกลุ่มสัมมนาเชิงปฏิบัติในเวทีนี้ประมาณ ๓๐ คน กำลังพอเหมาะ

การทำงานสื่อและศิลปะละคร เพื่อพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้ นอกจากมีเครือข่ายที่มีประสบการณ์การทำงานบนของจริงของประเทศ รวมทั้งมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องหลายทศวรรษ และมีองค์กรจัดการ เพื่อสามารถทำงานและอยู่ได้กับความเป็นจริงของเศรษฐกิจสังคม ที่ดีมากเป็นลำดับแล้ว ทางด้านการศึกษาวิจัย ตลอดจนการพัฒนาความรู้และพัฒนารูปแบบต่างๆ ก็มีการดำเนินการไว้มากพอสมควร 

ผมเองนั้น ก็ได้ดูแลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้ทำงานศึกษาวิจัยในขั้นสูงระดับปริญญาเอกและปริญญาโทไว้ ๒-๓ เรื่อง แต่โดยมาก ก็เป็นการสร้างความรู้ขึ้นโดยใช้ความรู้และกรอบที่วางบนแนวคิดทฤษฎีที่คนอื่นมองมาจากข้างนอก มาเป็นแนวทำการศึกษาวิจัย ซึ่งก็ทำให้สังคมมีองค์ความรู้ที่ดีและช่วยส่งเสริมการพัฒนาให้ดียิ่งๆขึ้นได้ในระดับหนึ่ง 

กระนั้นก็ตาม ก็เป็นการมองด้วยความรู้และพิจารณาไปตามหลักทฤษฎี ซึ่งก็เข้าไม่ถึงความลึกซึ้ง และหยั่งไม่ถึงความเป็นจริงอีกหลายสิ่งของสื่อศิลปะละคร ที่เข้าถึงโดยขาดองค์ประกอบด้านการปฏิบัติไม่ได้ อีกทั้งภูมิปัญญาในการปฏิบัติ ระดับความเป็นชีวิตจิตใจ และมิติจิตวิญญาณของศิลปะนั้น หากจะเข้าถึงจนสามารถถ่ายทอดออกมาได้นั้น ก็ไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีผิวเผินได้ นอกจากต้องมีชีวิตจิตใจ ได้ซาบซึ้ง และเป็นสิ่งนั้นไปด้วย แล้วเล่าความรู้ออกมาใหม่เพื่อถ่ายทอดสื่อสาร ในสิ่งที่มิใช่เป็นการคิดด้วยความรู้และตรวจสอบไปบนหลักทฤษฎี แต่สะท้อนออกมาจากการรู้จักและเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งนั้น

องค์ความรู้ในส่วนที่มักขาดหายอยู่นี้ จัดว่าเป็นความรู้ซึ่งหลอมรวมอยู่กับบริบทของการปฏิบัติและเป็นทฤษฎีที่ต้องสร้างขึ้นจากทรรศนะผู้ปฏิบัติ (Grounded Theory) ซึ่งก็คือตัวปัญญาและการสร้างความรู้ ที่ต้องร่วมกันถอดบทเรียนและพัฒนาขึ้นเพิ่มขึ้นมาอีกแง่มุมหนึ่งจากชุมชนปฏิบัติเอง นั่นเอง

แต่การสร้างความรู้ที่พัฒนาขึ้นจากชุมชนปฏิบัติเอง (Community-Based Knowledge and Wisdom) นั้น ก็พอได้ทราบจากข้อมูลบอกกล่าวเป็นเบื้องต้นว่านอกจากยังไม่เคยริเริ่มทำขึ้นมาอย่างเป็นระบบในระดับกลุ่มและเครือข่ายองค์กรแล้ว โดยมาก กลุ่มคนทำงานละครเองซึ่งเป็นกลุ่มคนจำนวนเล็กน้อย ก็ไม่มีประสบการณ์ ขาดกำลังคน และมีขีดจำกัดที่จะทำเองแต่โดยลำพัง และนี่เอง ทำให้คุณก๋วยและทีมประสานงาน นำเอาความสนใจในแง่มุมนี้มาหารือและออกปากขอแรงผมไปทำให้หน่อย

ผมพอจะจินตนาการออกว่าคงจะยากน่าดูเหมือนกัน แต่ผมให้ความสำคัญในความเป็นกลุ่มทำงานสื่อศิลปะเพื่อสังคมเช่นนี้ว่า หาคนทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะนอกจากจะอยู่ได้ยากด้วยตนเองในสังคมเศรษฐกิจดังปัจจุบันแล้ว ก็ใช้ทักษะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝนด้วยความทุ่มเท ทำงานหนักและต้องมีความอดทนมุ่งมั่นสูง คนทำงานแนวนี้ รวมทั้งองค์กรเพื่อเป็นแหล่งบำรุงรักษาคนทำงานอย่างนี้ให้ทำงานและใช้ชีวิตกับมันได้ จึงมักอยู่ได้ยาก ซึ่งก็ทำให้สังคมโดยรวมเสียโอกาสในการพัฒนาตนเองไปด้วยอีกหลายอย่าง

ดังนั้น เมื่อมีโอกาสก็ต้องให้การส่งเสริมและสนับสนุนลงไปบนกลุ่มที่ก่อเกิดและพัฒนาตนเองได้ดีอยู่แล้ว ให้เป็นต้นทุนขยายผลแก่สังคม ร่วมมือกันสร้างปัจจัยแวดล้อมเพื่อเสริมความเข้มแข็งให้ในทางอ้อม ซึ่งงานทางความรู้และการพัฒนาการสื่อสารเรียนรู้กับสังคมที่เริ่มออกมาจากกลุ่มคนทำ ก็เป็นแง่มุมหนึ่งที่สนองตอบต่อความจำเป็นดังกล่าวนี้ได้ 

แม้จะมีเวลาสั้นมากเพียง ๒ วัน ซึ่งเพียงเกริ่นนำก็คงจะหมดเวลาแล้ว แต่ก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับผม เพราะอย่างน้อย เพียงแค่ทำให้คนทำงานในสาขานี้ได้สัมผัส ทำความรู้จัก หากมีความสนใจก็พอเห็นช่องทางไปศึกษาและพัฒนาตนเองต่อไปได้ ก็นับว่าเป็นการเริ่มต้นสร้างทางเดินไปสู่เป้าหมายเพื่อต่างก็ได้ร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีแก่สังคมแล้ว ก็เป็นโอกาสดีที่ผมเองก็จะได้ร่วมมือ ศึกษาเป็นกรณีตัวอย่าง ด้วยข้อมูล วิธีคิด และคำอธิบายต่างๆ ที่ถ่ายทอดขึ้นมาจากชุมชนปฏิบัติเอง เอาไว้ให้ได้ร่วมนำไปถ่ายทอด สื่อสาร สร้างคน และมีส่วนร่วมในการขยายผล สร้างความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เสริมกำลังปัญญาและความริเริ่มสร้างสรรค์ของสังคมในสิ่งนี้ ช่วยกันได้อีกทางหนึ่ง ดังเช่นการเผยแพร่ในสื่อออนไลน์นี้ก็เป็นตัวอย่างใกล้มืออย่างหนึ่ง 

ดังนั้น เวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียน จากทรรศนะคนทำงานเองครั้งนี้ จึงมีการออกแบบให้เป็นการถอดบทเรียนตนเองและร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในหมู่คนทำงานจากพื้นที่ต่างกันทั่วประเทศ และระหว่างเครือข่ายคนทำงานในโครงการนี้กับแหล่งวิทยาการภายนอก ที่จะมาจัดกระบวนการให้และเสริมแนวคิดทฤษฎีบางส่วน ตามประเด็นที่เชื่อมโยงออกมาจากบทเรียนการทำงาน 

กรณีตัวอย่างและองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะได้จากการทำงานถอดบทเรียนเวทีนี้ จัดว่าเป็นองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการทางการศึกษาและการสื่อสารเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงด้วยสื่อศิลปะละครชุมชน (Community Thearter) เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสุขภาวะทางสุนทรียปัญญาของสังคม เป็นมิติหนึ่งของกระบวนการทางการศึกษาและการสื่อสารเรียนรู้ ที่บูรณาการอยู่กับงานศิลปะและความสร้างสรรค์ ซึ่งริเริ่มโดยภาคประชาสังคม.

หมายเลขบันทึก: 551265เขียนเมื่อ 19 ตุลาคม 2013 07:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2013 07:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ  อาจารย์วิรัตน์ที่เคารพ

เห็น  (๑)   เหมือนเกริ่นนำนะคะ  จึงรออ่านต่อ  (๒)    ขอบคุณมากค่ะ

แวะมาร่วมเรียนรู้เป็นครั้งที่ 2 ค่ะ 

หากอยู่ใกล้ๆจะขอเรียนรู้กิจกรรมสุนทรียวิจัยด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

เจอกลุ่มนี้ตอนลงพื้นที่ต่าง

เขาสอนเด็กๆโรงเรียนหมู่บ้านเด็กด้วย

เอาผักแมลง งง งง มาฝาก

ปลูกปนๆกันไป งามมาก

ในภาพมีต้นยอ ผักปรัง มะระขี้นก กำลังมีตำลึงมาเพิ่มครับ

วันที่ 29 ตค จะเอาเมล็ดผักไปฝากนะครับ

 

ใช่แล้วครับคุณหมอธิรัมภาครับ
เป็นบทเกริ่นนำแล้วก็ขึ้นโครงไว้หลายตอนเหมือนกันครับ แต่ช่วงที่ผ่านมานี้ แถวบ้าน(เข้าใจว่าทั้งเชียงใหม่เลยด้วย) เจอฝนตรกพรำๆติดต่อกันทั้งวันทั้งคืนเป็นสัปดาห์ ตามมาด้วยน้ำเอ่อ ห้องน้ำน้ำล้น ท่อน้ำตัน เสื้อผ้าหนังสือเปียกชื้น ขึ้นรา เละเทะครับ เลยนอกจากต้องจัดข้าวของเสียใหม่แล้ว ก็เล่นเอาโกลาหลทั้งระบบ ไม่ต้องได้ไปไหน แล้วก็ไม่ได้ทำอะไรเลยละครับ

สวัสดีครับ krutoiting ครับ
การวิจัยและพัฒนาทางด้านศิลปะและสุนทรียะปัญญา เป็นสาขาหนึ่งที่น่าสนใจและมีเรื่องให้น่าทำอีกเยอะเลยนะครับ 
คำนี้ผมขอนำมาใช้ต่อจากที่ได้ยินผู้ช่วยศาสตราจารย์ศิวกานท์ ปทุมสูติ กวีศรีเมืองกาญจน์ อดีตคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฎกาญจนบุรี ท่านได้พูดเชิงสรุปมโนทัศน์ไปบนสิ่งที่ผมกับท่านนั่งเสวนากันประสามิตรทางวิชาการกัน เมื่อครั้งที่ท่านสัญจรไปเป็นวิทยากรให้กับหลายหน่วยงานในภาคเหนือแล้วแวะไปอ่วกันที่บ้านผมแว่บหนึ่ง ท่านบอกว่าได้แนวคิดมาจากศาสตราจารย์เจตนา นาควัชระมาอีกต่อหนึ่ง แล้วท่านใช้ความเป็นนายภาษาและเป็นกวีนิยามว่าสุนทรียวิจัย ผมไม่รู้ว่ามีใช้กันมาก่อนหน้านี้อย่างไร แต่ผมได้ยินอย่างเป็นเรื่องเป็นราวก็จากท่านนี่แหละครับ

ดูมันไม่มีหนอนแมลงจริงๆด้วยนะครับอาจารย์ขจิตครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท