เติบโตไปด้วยกัน : การสร้างสมรรถนะของกลุ่ม PLC โรงเรียนทางเลือก (๕)


วันที่ ๒๗ ก.ย. ๕๖  ที่ห้องรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ  คณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนทอสี  รุ่งอรุณ เพลินพัฒนา และปัญญาประทีป ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเป็นครั้งที่ ๓ เพื่อแลกเปลี่ยนวิธีการในการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ทางภาษาที่แต่ละโรงเรียนใช้กันอยู่ รวมถึงการนำประสบการณ์ที่น่าสนใจอื่นๆ มาเรียนรู้ร่วมกัน

 

การพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ทางด้านภาษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ

 

ในการประชุมครั้งก่อนโรงเรียนรุ่งอรุณได้นำเสนอกระบวนการเรียนการสอนภาษาไทยในระดับประถม ที่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตามหลักการการทำงานของสมอง (BBL) ในภาพรวม  ครั้งนี้จึงเป็นการเปิดชั้นเรียนห้อง ป.๖ ให้ได้มาเรียนรู้กันแบบเจาะลึกถึงห้องเรียน

 

 

คุณครูเจี๊ยบ – ชลธิชา เจ้าของชั้นเรียนในวันนี้สะท้อนหลังสอนว่าไม่เคยเปิดชั้นเรียนมาก่อน ทั้งครูและเด็ก จึงตื่นเต้นกันมาก  

เนื้อหาที่เรียนกันในชั่วโมงนี้คือ วรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอน กำเนิดพลายงาม

 

เป้าหมายของการสอน คือ ทบทวน / สรุปเรื่อง / จับใจความ ด้วยการแบ่งนักเรียนออกเป็นสองกลุ่ม ให้กลุ่มหนึ่งลำดับภาพ  อีกกลุ่มหนึ่งลำดับบทกลอนจากเรื่อง  แล้วทำการจับคู่ภาพ และบทกลอนเข้าด้วยกัน  หลังจากนั้นจึงทำลงในสมุด

 

ในการทำงานกลุ่มใหญ่พบว่ากลุ่มภาพ ไปได้เร็วกว่ากลุ่มบทกลอน  โดยคนที่แม่นยำในเนื้อเรื่องเรื่องจะมาช่วยเรียง แต่ถึงกระนั้นก็ยังผิดพลาด

 

ในการทำงานเดี่ยวที่เป็นการทำลงในสมุดพบว่าหลายคนแปะภาพก่อน  มีบางคนเรียงกลอนก่อน  และบางคนทำภาพกับกลอนไปพร้อมกัน  ส่วนคนที่ยังไม่แม่นเรื่องก็จะลังเล

 

ในขั้นสรุปความจากเรื่อง ผ่านกิจกรรมเขียนเล่าเรื่องเป็นร้อยแก้ว ครูสามารถเห็นความสามารถของเด็กเป็นรายบุคคล

 

คุณครูจิ๋ว - สกุณี  คุณครูใหญ่โรงเรียนประถม สะท้อนว่า

 

ขั้นอุ่นเครื่องมีการนำเอาการปรบมือ ๗ จังหวะของโรงเรียนปัญญาประทีปมาใช้ แต่ครูลืมให้เด็กนับ ๑-๗

จังหวะในห้องมีรอยต่อที่ขาดช่วงไป คนที่เรียงภาพเสร็จก่อน ครูเข้าไปถาม เข้าไปดู เวลาสำหรับเด็ก ๑๒ คน เสียไป  และครูไม่ได้เตรียมการแก้ไขปัญหาของช่องว่างที่เกิดขึ้น

 

ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าการเปิดชั้นเรียน

ในการเรียนวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดตัวละคร

  • ครูจัดรายการวิทยุ ให้เด็กๆ เกิดความสนใจ คุณครูเจี๊ยบแปลงตัวเป็นดีเจจัดรายการคู่กับคุณครูเต้ย (ชาย-หญิง) นักเรียนจับใจความจากรายการวิทยุได้ค่อนข้างดี และเริ่มสนใจตัวละครแต่ละตัวว่ามีที่มาอย่างไร
  • อ่านออกเสียง  จับคู่ความหมาย  สรุปความรู้  ทำรหัสสร้างความจำ เอาบัตรข้อความมาทำซ้ำ
  • ขั้นฝึกฝน ทำแบบฝึกหัด มีคำถามเชิงคิดวิเคราะห์  ฝึกและทำซ้ำด้วยกระบวนการอีกรูปแบบหนึ่ง
  • ขั้นสะท้อนความรู้ และคุณค่าที่แทรกอยู่  เด็กสะท้อนว่ามีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม ศาสนา อยู่ในเรื่องที่เรียน

 

ปัจจัยความสำเร็จ

  • ใช้สื่อท้าทาย เพื่อให้เด็กตื่นตาตื่นใจ อยากอ่าน ติดตามด้วยตัวเอง สนุก ตื่นตัว
  • แนะนำตัวละคร เชื่อมโยงการแต่งกายของพลายงาม กับ การแต่งกายของตัวเองในยุคปัจจุบันจึงมีคำถามเกิดขึ้นมากมาย
  • มีการแบ่งการเรียนรู้เป็นคู่  เป็นกลุ่ม เนื่องจากวรรณคดีที่เรียนยากและยาว 

 

เทคนิคการสอนเรื่องการจับใจความจากเรื่อง

  • อ่านให้เพื่อนฟัง  ฝึกการพูด การนำเสนอ และจดบันทึก
  • แบ่งกันทำงานคนละหน้า ให้คนฟังเป็นคนจดบันทึก
  • ลำดับเรื่องราวโดยใช้ใบงานที่ครูออกแบบไว้ให้ช่องแต่ละช่องมีขนาดแตกต่างกัน เมื่อ  ตัดข้อความมาเรียง แล้วติดลงไปในช่อง ที่มีช่องเล็ก ช่องใหญ่ เด็กตรวจสอบด้วยตัวเองได้ว่าข้อความตอนใดผิดไปจากขนาดของช่อง
  • นำความรู้ ความเข้าใจ เขียนออกมาอีกครั้ง เป็นการทำซ้ำอีกรอบหนึ่ง
  • ขั้นตอนสุดท้ายเขียนสรุปความลงในใบงาน และเพิ่มเติมคำเชื่อมประโยคลงไป เพื่อทำให้สละสลวยยิ่งขึ้น
  • วิเคราะห์ สรุปด้วยกัน 

 

ประเด็นที่วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้

 

คุณครูจิ๋ว – สกุณี   ครูนำวรรณคดีเรื่องนี้มาสอนเรื่องการเขียน  และให้ผู้เรียนนำความรู้มาสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ  มีการประเมินความรู้ความเข้าใจในเชิงวิเคราะห์  และการนำเสนอตอนที่ตัวเองสนใจด้วยรูปแบบที่สร้างสรรค์ ทั้งหมดเป็นการสอนวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นการนำเอาทฤษฎี BBL มาประยุกต์ใช้  และบูรณาการสู่ชีวิต เป็นการทำให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เรียน

 

 

 

คุณครูอ้อน – บุปผาสวัสดิ์  การสอนคุณค่าตัวใหญ่  โดยเอากำเนิดพลายงามมาเป็นตัวดำเนิน คืออะไร

 

คุณครูวิทิต  ถ้ามองจากมุมของโรงเรียนปัญญาประทีป  คิดว่าน่าจะเอาเรื่องนี้ไปเรียนวิชาชีวิต เรียนเรื่องความกตัญญู  และคุณค่าชีวิต

 

คุณครูจิ๋ว - สกุณี  ครูจะมีคำถามถามนักเรียนว่าถ้าวันทองตามพลายงามไปจะเกิดอะไรขึ้น เป็นต้น  เหล่านี้เป็นคำถามอยู่ในใบงานให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ 

 

ในการเลือกวรรณคดีที่ควรเรียน ในระดับชั้นป.๖  รุ่งอรุณเลือกเรียนขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม  สภาพสังคม  ภาษา คุณธรรมที่แสดงให้เห็นความรักของแม่กับลูก ที่เป็นร้อยกรอง และเลือกเรียนเรื่องเทพเจ้ากวนอู เป็นร้อยแก้ว เพื่อสอนเรื่องความซื่อสัตย์

 

เรื่องคุณธรรมจะมีแทรกอยู่ตลอดเวลา เช่น ความรัก ความกตัญญู  ในภาพรวมทั้งหมด เด็กจะได้เอง โดยที่ครูไม่ได้วางเอาไว้ก่อน คุณธรรมจะมาเอง แต่ละคนสรุปออกมาแตกต่างกัน ให้เขาเอาเข้ามาอยู่ในตัวเอง  สรุปด้วยตัวเอง  ด้วยการเห็นความจริง  วิเคราะห์  เชื่อมโยงกับประสบการณ์  เกิดเป็นความเข้าใจซึ่งกันและกันว่าทุกคนแตกต่าง  ประกอบกับการเรียนรู้ และวิเคราะห์ เพื่อเข้าใจเรื่อง

 

คุณครูเจี๊ยบ – ชลธิชา คุณธรรมอยู่กับอารมณ์ความรู้สึก  ทำให้เรื่องที่เรียนมีความหมายกับผู้เรียนอย่างไร มีการฝึกเรื่องการใช้ภาษาที่ไพเราะ  มีการนำเอาความประทับใจมาแลกเปลี่ยนกันในชั้นเรียน

 

คุณครูปาด ศีลวัต  ในแผนการเรียนรู้ในส่วนของจุดประสงค์เพื่อบรรลุผลการเรียน ได้ระบุคุณค่า ว่า การจับใจความมีความสำคัญคือ เป็นการสรุปเรื่องให้สั้น และได้ใจความสำคัญครบทั้งหมด  คุณค่าที่ระบุไว้นี้ได้ส่งผลต่อแผน  และแผนส่งผลต่อผู้เรียน

เพลโตให้ความหมายของคุณค่า  “คุณค่า”  ว่า ความดี ความงาม ความจริง  = สุนทรียะ  และพูดถึงความจริงแท้  และความจริงสัมพัทธ์ ซึ่งอาจจะมาเชื่อมโยงถึงความจริงในสมัยขุนช้างขุนแผน  และความจริงในสมัยนี้ว่าแตกต่างกันอย่างไร

 

ห้องเรียน BBL ในความเข้าใจของคุณครูปาด 

-    ผู้เรียนมีความพร้อมจะเรียน  มีความรู้สึกถึงความปลอดภัย  และมีความตื่นตัว  เรื่องนี้เห็นชัด

-    ในขั้นปฏิบัติการการเรียนรู้  ที่ว่าสมองที่เรียนรู้ได้ดีเมื่อรู้สึกท้าทาย และเมื่อได้เผชิญกับความไม่รู้เพื่อสร้างความรู้ใหม่  ยังไม่เห็น

 

 แนวทางในการพัฒนาต่อ

-   ห้องเรียนนี้ Ownership  อยู่ที่ครูมากกว่าจะอยู่ที่เด็ก

-  วิธีเรียนรู้จากการเรียงลำดับภาพยังไม่ท้าทายพอ  หากเปลี่ยนเป็นให้เด็กเขียน story board เอง เพื่อให้เกิดการสรุปความคิดออกมาเป็นภาพด้วยตัวเขาเองจะท้าทายมากขึ้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 551069เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2013 17:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 ตุลาคม 2013 14:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท