พลังของการสร้างความกระจ่างแจ้งในการโค้ช โดย ศิริรัตน์ ศิริวรรณ


เมื่อพูดถึงทักษะการโค้ช คนส่วนใหญ่มักคิดถึงทักษะการถาม การฟัง ที่จริงแล้วมีทักษะอีกข้อหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้ทักษะการถาม และการฟัง คือทักษะการสร้างความกระจ่างแจ้ง (Clarifying) ผู้เขียนขอแปล Clarifying ว่าการสร้างความกระจ่างแจ้ง แทนคำว่า การสร้างความชัดเจน เพราะจะให้ความหมายที่ชัดเจนตรงกับความเป็นจริงมากกว่า Clarifying เปรียบเสมือน การส่องกระจกแล้วเห็นหน้าตนเองในกระจกชัดเจน แม้กระทั่งสิวอุดตันที่อาจจะซ่อนอยู่ภายใต้ผิวหน้า

โค้ชที่เก่งจะใช้ทักษะการสร้างความกระจ่างแจ้งได้อย่างยอดเยี่ยม คม กระชับ และสามารถสร้างการตระหนักรู้ ตื่นตัวให้แก่โค้ชชี่ โค้ชที่ใช้ทักษะในการสร้างความกระจ่างแจ้งได้ดี คือโค้ชที่มีทักษะการฟังที่ดี สามารถฟังได้อย่างลึกซึ้ง เข้าถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูด คือ อารมณ์ ความรู้สึก ค่านิยม กรอบความคิด (Paradigm) แรงจูงใจ ความต้องการเบื้องลึก และอัตตาของโค้ชชี่

ในการสื่อสารการโค้ชที่มีประสิทธิผล โค้ชจะ Clarify เป็นระยะเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับสิ่งที่โค้ชชี่พูด เพราะโค้ชชี่ซึ่งอยู่ในสถานการณ์ อาจไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆได้อย่างรอบด้าน และกระจ่างชัด เหมือนคนที่มองไม่เห็นคิ้วหรือด้านหลังของตนเอง โค้ชชี่อาจเล่าถึงสถานการณ์ ปัญหา ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลจำนวนมากที่อาจปะปนกันทั้งข้อเท็จจริง และการตีความ อารมณ์ ความรู้สึกที่เกิดขึ้น หลังจากฟังสิ่งที่โค้ชชี่พูด โค้ชมีหน้าที่ในการ Clarify เพื่อสรุปสิ่งที่ตนเข้าใจ ประเด็นสำคัญ หรือสะท้อนกลับสิ่งที่โค้ชชี่พูดทั้งในแง่ข้อเท็จจริง และอารมณ์ ความรู้สึก โดยควร Clarify กลับไปเป็นประโยคสั้นๆ เพื่อให้โค้ชชี่เข้าใจได้ง่าย สามารถเข้าถึง หรือตระหนักในความต้องการหรือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจลึกๆ สามารถแยกแยะความจริงออกจากความคิดเห็น อารมณ์ รวมถึงประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องในสถานการณ์ รวมถึงความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆอย่างเป็นระบบ

คุณค่าของการสร้างความกระจ่างแจ้ง (Clarifying) สามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

  • ช่วยให้โค้ชเกิดความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับความคาดหวังของโค้ชชี่ที่มีต่อการโค้ช
  • ช่วยให้โค้ชและโค้ชชี่เข้าถึงประเด็นที่แท้จริงในการโค้ช
  • ช่วยให้การสนทนามีโฟกัสที่ชัดเจน ทำให้การโค้ชดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้เวลาอย่างเหมาะสม
  • ช่วยให้โค้ชชี่เกิดความเข้าใจความเป็นจริงของสถานการณ์ ความคิด ความรู้สึกของตน
  • ช่วยให้โค้ชชี่เกิดการตระหนักรู้ถึงความจริง ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการนำพาตนเองให้หลุดออกจากปัญหา สามารถกำหนดเป้าหมาย และแสวงหาวิธีดำเนินการแก้ไขปัญหา หรือจัดการกับสถานการณ์นั้นได้อย่างมีประสิทธิผล

โค้ชสามารถ Clarify ได้ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้

  • ใช้คำถามปิดถามกลับไป เพื่อให้แน่ใจว่ามีความเข้าใจถูกต้องตรงกัน เช่น จากสิ่งที่คุณเอพูดมา ดูเหมือนว่าประเด็นสำคัญของเรื่องนี้จะอยู่ที่การสื่อสารระหว่างแผนก ถูกต้องไหมคะ?
  • สรุปประเด็นให้ฟังเป็นข้อๆ จากที่คุณเก่พูดมา ดิฉันขอสรุปประเด็นสำคัญออกเป็น 3 ประเด็นนะคะ 1) คุณเก๋มองว่าปัญหาของหน่วยงานเกิดจากผู้ใต้บังคับบัญชายังไม่มั่นใจในตัวคุณเก๋ 2) คุณเก๋ยินดีที่จะทำบางอย่างเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ และ 3) หัวหน้าของคุณเก๋ยินดีสนับสนุนคุณเก๋เต็มที่ ไม่ทราบว่าดิฉันสรุปได้ครอบคลุมทุกประเด็นไหมคะ?
  • สะท้อนกลับสิ่งที่โค้ชชี่พูดกลับไปในรูปประโยคที่สั้น กระชับ ได้ใจความ แต่สามารถสะท้อนสิ่งที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังคำพูดทำให้โค้ชชี่ตื่นตัว หรือเกิดการตระหนักรู้ขึ้น เช่น ดูเหมือนว่า คุณกำลังมองหาวิธีการที่สร้างสรรค์กว่าที่องค์กรเคยทำมา คุณกำลังรู้สึกเหมือนขุนพลที่ต้องออกรบไม่มีที่สิ้นสุด

โค้ชที่ดีควรให้ความสำคัญในการฝึกฝนทักษะการ Clarify โดยเริ่มต้นจากการฝึกฝนทักษะการฟังอย่างลึกซึ้ง การมีสติ สมาธิ และจิตว่าง จะช่วยให้โค้ชสามารถเข้าถึงโค้ชชี่มากกว่าสิ่งที่โค้ชชี่พูด การสังเกตคำพูดที่โค้ชชี่ใช้ ซึ่งรวมถึงน้ำเสียง และภาษากายที่แสดงออกมาโดยปราศจากการตัดสินหรืออคติ จะช่วยให้ท่าน Clarify ได้อย่างคม กระชับ และลึก โค้ชควรพึงระวังความคิดของตน การตัดสินต่างๆที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการโค้ช โค้ชควรอยู่กับปัจจุบัน ปล่อยวางตนเอง ถ้าโค้ชยึดถึอตัวเองไว้จะทำให้การเข้าถึงความคิด ความรู้สึก ตัวตนของโค้ชชี่ได้ยาก ซึ่งส่งผลถึงความไว้วางใจที่โค้ชชี่มีต่อโค้ช และความสำเร็จในการโค้ช

หมายเลขบันทึก: 549977เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 18:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 18:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท