สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ
มูลนิธิสยามกัมมาจล สร้างโอกาสการเรียนรู้ สร้างเยาวชนคุณภาพ สร้างสังคมคุณภาพ มูลนิธิสยามกัมมาจล

กานต์พิชชา ทำสวน กับความประทับใจ “หลักสูตรนักถักทอชุมชน”


จงทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก อย่าทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตัวหนูเองก็นำมาปรับใช้ที่ทำงาน

ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมกระบวนการใน "หลักสูตรนักถักทอชุมชน เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัว" หลายครั้ง และเห็นว่าเป็นหลักสูตรเชิงปฏิบัติการที่น่าสนใจที่เกิดจากการร่วมมือกันของสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) ร่วมกับ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) และภาคีต่างๆ ในแต่ละพื้นที่จังหวัดเครือข่าย ทั้งภาคกลาง จ.สุพรรณบุรี และภาคอีสาน จ.สุรินทร์ ซึ่งจะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นมากมายในระยะเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา

เป้าหมายหลักของหลักสูตร คือการเข้าไปพัฒนา นักถักทอ หรือเป็นเจ้าหน้าที่ตำแหน่งต่างๆ ของอบต. เครือข่าย ซึ่งต้องทำงานเกี่ยวข้องกับชุมชนโดยตรงอยู่แล้ว ให้สามารถทำงานร่วมกับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลมากขึ้น คือ คนทำงานเองก็มีความสุข หรือชุมชนก็มีความสุข เพราะปัญหาในชุมชนได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุดนั่นเอง

สำหรับกิจกรรมในหลักสูตรฯ หลักๆนั้นจะเป็นเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการ โดยทีมนักถักทอ
จะนำหลักความรู้ที่ได้จากการอบรมในหลักสูตร ไปวางแผน หรือจัดกิจกรรมต่างๆ ไปใช้จริง เพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวในพื้นที่ของตัวเอง โดยจะประสานงานร่วมกันกับภาคีในชุมชน และทีมวิทยากร ที่คอยให้หลักความรู้และคำปรึกษาจากการลงพื้นที่นิเทศติดตามงานอย่างใกล้ชิด นำโดย ท่านอาจารย์ ทรงพล เจตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการ สรส.

โดยในขณะนี้ หลักสูตรดังกล่าวขับเคลื่อนการทำงานจนมาถึง เวทีอบรมครั้งที่ 6 แล้ว ทำให้ผู้เขียนเองได้เห็นกิจกรรมเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวในแต่ละพื้นที่เด่นชัดมากขึ้น และยังมีกิจกรรมหนึ่งคือ กิจกรรมการถอดบทเรียนของนักถักทอ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นองค์ความรู้ที่ผู้เข้าอบรมได้ไป มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งผู้เข้าอบรมเอง ก็น่าจะเป็นบุคคลที่สามารถบอกเล่าออกมาซึ่งคำตอบนั้นได้ดีที่สุด

ทั้งนี้นักถักทอชุมชนหลายท่าน ได้เขียนถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือไว้อย่างน่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือคุณบลู หรือ กานต์พิชชา ทำสวน หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.ไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ที่เขียนถึง อ.อ๊อด (คุณนวลทิพย์ ชูศรีโฉม) ทีมวิทยากร จาก สรส. ไว้อย่างน่าประทับใจ ดังนี้

โต๊ะท้ายสุด มุมหนึ่งของห้อง

องค์การบริหารส่วนตำบลไผ่กองดิน

หมู่ที่ ๑ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖

อาจารย์อ๊อดสุดสวยที่คิดถึง....

ตั้งแต่วันนั้น (๑๙ ๒๑ มีนาคม ๕๖) จวบจนถึงวันนี้...หนูได้พบเห็นและเรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง จนไม่ทราบว่าจะเริ่มต้นตรงไหนดี แต่ที่ทราบก็คือ มีหลายมุมมองที่ทำให้หนูมีความคิดเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเกี่ยวกับตนเอง ครอบครัว และการทำงาน เริ่มจากวันแรกที่ได้รับทราบว่าจะมีโครงการฝึกอบรมนักทักทอชุมชนของสถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส.) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่น มูลนิธิสยามกัมมาจลล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ก็รู้สึกว่าอะไรเยอะแยะเต็มไปหมด และก็ยังไม่ค่อยเข้า หรือจะว่าไม่สนใจเลยก็ได้ แต่ก็ต้องสมัครเข้าร่วมโครงการเพราะนั่นคือ คำสั่งและหน้าที่ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายและคิดว่าก็คงจะเหมือนอบรมทั่วๆไปที่เคยอบรมมา ยิ่งมาเห็นใบสมัครก็ยิ่งรู้สึกว่าน่าเบื่อเพราะต้องกรอกอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด ก็เลยกรอกๆเขียนๆไปงั้นๆ ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากมาย จนถึงวันที่ต้องไปอบรมครั้งแรกที่ สถาบันพัฒนาบุคลากรท้องถิ่นที่ ปทุมธานี ไปก็ไปสายเกือบจะเที่ยงอยู่แล้ว เข้าไปนั่งฟังก็ยังงงๆอยู่ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ให้มาทำอะไร เมื่อไร (จะพักหิวน่ะ) พอช่วงบ่ายก็มีการให้ชมนิทรรศการก็รู้ดีหน่อยไม่เบื่อสักเท่าไร ขณะที่เดินชมตามซุ้มต่างๆ ก็ได้เห็นได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆหลายอย่างก็น่าสนใจดีค่ะ แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเราจะทำอะไรต่อไปและเกี่ยวอะไรกับเรานะ อาจารย์อ๊อดคะ..ฟังๆดูก็เหมือนความคิดเด็กๆนะคะ ที่เป็นอย่างนี้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าประสบการณ์การอบรมที่หนูเคยพบเห็นมันก็มิได้มีอะไรที่พิเศษ และได้นำไปใช้อย่างจริงจังอะไรมากมาย คิดว่าเหมือนเป็นการนำงบประมาณมาละลายเล่น เหมือนตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ หรือขี้ช้างไล่จับตักแตนประมาณนี้ล่ะค่ะ.. ต่อเลยนะคะ พอช่วงบ่ายแก่ๆหลังจากชมนิทรรศการแล้ว ทางอาจารย์วิทยากร ก็ให้มาทำกิจกรรมสันทนาการ มีกิจกรรมมากมาย มีการถอดบทเรียนต่างๆ มันทำให้หนูรู้สึกสนุกไม่เบื่อ ไม่ง่วง และกล้าเปิดใจมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เห็นเป้าหมายที่ชัดเจนเท่าไรของการอบรมครั้งนี้

อาจารย์อ๊อดคะ..เมื่อมีการอบรมครั้งต่อมาที่ ตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ความคิดว่าการอบรมเป็นสิ่งที่น่าเบื่อก็เริ่มลดน้อยลงและในที่สุดก็กลายเป็นความสนุกและชอบ ทำให้ตนเองเป็นคนกล้าเปิดใจมากขึ้น และเริ่มจุดประกายความคิดใหม่ๆเข้ามาจากการที่อาจารย์วิทยาการ (ท่าน อ.ทรงพล) ได้สอน ได้ให้ความรู้ ฝึกฝนให้รู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะ และนำหลักทรงงานและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯมาให้เรียนรู้และนำไปใช้ และได้ถอดบทเรียนในหลายๆเรื่อง รวมทั้งกิจกรรมต่างๆ และการได้ศึกษาดูงานจากแหล่งภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เขาทำแล้วประสบผลสำเร็จและเห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จากการได้ไปอบรมมาหลายครั้งหลายแห่งของหลักสูตรนักทักทอฯ ทำให้ได้ข้อคิดที่ดี สามารถซึมผ่านเข้าไปถึงจิตใต้สำนึก(ที่ดี) ทำให้รู้สึกว่าตนเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างสรรค์และนำคุณค่าสู่สังคมได้...แล้วจึงทำให้นึกย้อนกลับไปมองที่ตนเอง ครอบครัว องค์กรและชุมชนของตนเองมากขึ้น ว่าเราควรจะจัดการอย่างไรเพื่อให้เกิดสิ่งดีๆได้

อาจารย์อ๊อดคะ การอบรมหลักสูตรนักทักทอชุมชนก็ได้ผ่านมาจนเกือบจะถึงช่วงปลายแล้ว ที่ผ่านมาทั้งหมดก็มิได้ผ่านไปเปล่า หนูได้เปลี่ยนไปแล้วจริงๆ...แม้จะไม่ทั้งหมดแต่ก็มีหลายสิ่งที่นำไปใช้ไปปฏิบัติได้เกิดผลที่ดีอย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ก่อนอื่นเลย สำหรับในด้านตัวหนูเองมันทำให้หนูเป็นคนที่มีไฟมากขึ้นสามารถปลุกอุดมการณ์ที่มันได้มืดดับไปแล้วกลับมาสว่างไสวอีกครั้ง รู้สึกว่าตนเองมีพลัง มีคุณค่า ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เป็นคนมีเหตุมีผลมากขึ้น นิ่งมากขึ้น ฟังคนอื่นมากขึ้น และที่สำคัญมองโลกในเชิงบวกมากขึ้น ทำให้ชีวิตมีความสุขมากกว่าแต่ก่อน สำหรับในด้านครอบครัว ซึ่งตัวหนูเองก็มีครอบครัวมีลูกน้อยที่ยังอยู่ในวัยเรียน การได้เรียนรู้เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนจากการฝึกอบรมครั้งนี้ ทำให้หนูมีความเข้าใจในบทบาทของความเป็นพ่อและแม่มากขึ้น และเข้าใจในบทบาทของคนเป็นลูกมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้หนูได้มองเห็นลูกมากขึ้นซึ่งแต่ก่อนหนูอาจจะมองเค้า..แต่ไม่เคยเห็นเค้าเลย แต่มาวันนี้หนูเห็นเค้ามองเห็นไปที่จิตใจของเค้า และเข้าใจเค้าและเรามากขึ้น และสามารถที่จะขจัดปัญหาและลดช่องว่างระหว่างวัยกับเค้าได้ดีขึ้น

และสุดท้ายที่สำคัญเช่นกัน ด้านชีวิตการทำงานและการอยู่ร่วมกันในองค์กร หลายๆองค์กรก็จะมีปัญหาคล้ายๆกันคือ เรื่องความสามัคคี เพราะเมื่อคนเราหลายๆคนมาจากหลายที่ และต่างครอบครัว ก็ย่อมจะมีความแตกต่างกันเป็นธรรมดา การที่จะมีความคิดที่ไม่ลงรอยกันย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งที่ทำงานของหนูเองก็มีเช่นกัน จากแต่ก่อนตัวหนูเองมักจะกังวลเมื่อมีปัญหาไม่เข้าใจกันกับเพื่อนร่วมงาน เพราะทำให้การทำงานร่วมกัน การติดต่อประสานงานกันเป็นไปด้วยความลำบาก เพราะไม่คุยกัน แต่ปัจจุบันนี้ถึงแม้จะมีปัญหากัน แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานเพราะ รู้จักแยกแยะมากขึ้น และความขัดแย้งกันก็ลดน้อยลงอาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่ง หนูนิ่งมากขึ้น และพยายามหาสาเหตุแห่งความขัดแย้ง และคิดว่าถ้าหากเราแก้ที่ตัวผู้อื่นไม่ได้ก็ควรหันมามองที่ตัวเรา แก้ที่ความคิดของเรา ดีกว่าจะเสียเวลาไปต่อว่า หรือตำหนิคนอื่น ถ้าหากเราไม่สามารถขจัดปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้ เราก็ควรจะทำให้มันหยุดอยู่แค่ตรงนั้นไม่ควรจะทำให้มันเป็นไปมากกว่านี้ ซึ่งคือวิธีสุดท้ายที่ดีที่สุดแล้ว...(มีประโยคหนึ่งที่ท่านอาจารย์ทรงพล เคยให้เป็นข้อคิดที่ดีมากที่หนูจำได้ดี คือ จงทำเรื่องใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก อย่าทำให้เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งตัวหนูเองก็นำมาปรับใช้ที่ทำงาน)...และการนิ่งจะช่วยให้เราผ่านมันไปด้วยดี ไม่ควรจะเก็บเอามากังวลและเครียดกับสิ่งเหล่านั้น และหันมาตั้งใจทำงานของเรา หน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ชุมชน สังคม ยังรอเราอยู่ มีเรื่องอีกมากมายที่จะต้องทำเพื่อชุมชนที่เป็นสุข

อาจารย์อ๊อดคะ..ทั้งหมดที่เล่าให้ฟัง อาจารย์ซึ้งมั๊ยคะ (ถามจิ๊ง อิอิ) ยังคะยังไม่หมดเท่านี้นะคะ ตั้งแต่ทำงานมาเกือบแปดปีผ่านการอบรมมาหลายครั้ง การอบรมครั้งนี้มันทำให้หนูมีจิตสำนึกที่ดี มีหลักแนวคิด มีทักษะเพิ่มขึ้นมากมายและรอบด้าน ทำให้รู้สึกมีความหวังและกำลังใจในการที่จะปฏิบัติภารกิจให้บรรลุเป้าหมาย อย่างเช่นการดำเนินโครงการตลาดนัดครอบครัว ที่ อบต.ไผ่กองดิน พึ่งจะเริ่มดำเนินการขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งก็ดูเหมือนจะยากเย็นอยู่พอควร แต่ตัวหนูเองและทีมงานนักทักทอฯ ก็ไม่เคยที่จะยอมแพ้และท้อถอย พวกเราได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องทำให้มันสำเร็จ เห็นเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน และจะต้องเป็นโครงการที่ยั่งยืน ก่อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชุมชน และสามารถถ่ายทอดโครงการจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

สุดท้ายนี้ หนูอยากจะบอกอาจารย์อ๊อดว่า..สิ่งหนึ่งที่สำคัญในการที่ทำให้หนูมีแรงบันดาลใจ มีการปรับเปลี่ยนทัศนคติที่ดีในหลายเรื่อง มีความมุ่งมั่น มีความหวังและกำลังใจ ที่จะนำสิ่งที่ได้รับจากการฝึกอบรมครั้งนี้มาใช้เพื่อประโยชน์สุขของชุมชน คือ การที่ได้เห็นถึงความตั้งใจจริงของอาจารย์วิทยากรและทีมงานทุกท่านที่ได้ทำงานและถ่ายทอดความรู้ ทักษะต่างๆให้แก่นักทักทอฯ อย่างเต็มกำลังความสามารถเพื่อที่จะสร้างสรรค์นักทักทอที่ดี และสามารถเป็นกำลังที่จะทักทอและสานฝันที่งดงามสู่สังคมให้ร่มเย็น....ขอบคุณมากนะคะสำหรับสิ่งดีๆที่ผ่านมา ที่ให้และทำเพื่อหนูและนักทักทอทุกคน........ขอบคุณจริง...จริง

เคารพรัก และคิดถึงเสมอ

หนูบลู

(กานต์พิชชา ทำสวน)

นักทักทอชุมชน อบต.ไผ่กองดิน

นอกจากคุณบลูแล้ว นักถักทอท่านอื่นๆ ก็เขียนเรื่องราวดีๆ ไว้อีกมากมายเช่นกัน หากท่านใดสนใจสามารถรอติดตามกันต่อได้ในบล็อกมูลนิธิสยามกัมมาจลนี้

หรือในเว็บไซต์มูลนิธิฯ(http://www.scbfoundation.com)

และในเฟซบุ๊กมูลนิธิฯ (https://www.facebook.com/SCBFOUNDATION)

หมายเลขบันทึก: 549970เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 16:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 ตุลาคม 2013 16:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท