"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

มาหัดอู้กำเมืองกั๋นดีกว่า ๖


"กำเมือง" ถ้าเฮาเบาะปากั๋นอู้ แล้วไผตี่ไหนจะมาอู้...แหมเหมาะ

๒๙/๐๙/๒๕๕๖

********

มาหัดอู้กำเมืองกั๋นดีกว่า ๖

อยากให้ข้อสังเกตทางด้านภาษากันอีกสักเล็กน้อย คือ คำเมืองนั้นมีความคล้ายคลึงกับภาษาลาวและภาษาอีสานอยู่มาก เสียงที่เปล่งออกมาส่วนมากคำที่เป็นควบกล้ำ มักจะไม่ออกเสียงเช่น กลอน = ก๋อน กล้วย = ก้วย ใกล้ = ใก้ ไกล = ไก๋ ครู = คู คลอง = คอง เป็นต้น

อีกอย่างหนึ่งการออกเสียงสระ เอือ ก็มักจะไม่ค่อยออกเหมือนกัน เสียงจะเป็น สระ เอีย เกือบทั้งหมด เช่น เกลือ = เกี๋ย มะเขือ = หม่ะเขีย เสือ = เสีย เป็นต้น

และอักษร ร เรือ ก็มักจะออกเป็น ล ลิง แทบทุกแห่ง ถ้าเป็นภาษาดั้งเดิมมักจะเป็นเช่นนั้น ปัจจุบันมีการผสมกลมกลืนให้เข้ากับภาษาไทย จึงดูว่า คำเมืองมีความสละสลวยออกเสียงควบกล้ำได้มากขึ้น พร้อมกันนี้ ลูกหลานคนเมืองก็มักจะนำภาษากลางมาพูดผสมกันมากด้วย เช่น ป้าอ้อยไปช่วยงานกิ๋นเลี้ยงของคูปิ่นก่อเหลาะ? ตะคืนฝนต๊กนัก..น่ามเหนือไหลบ่าเข้าท่วมบ้านป๋างเคาะเลยเหลาะ (เป็นทัศนะส่วนตัวเท่าที่ได้จากการสังเกตและฟังหลายท่านพูดกันมานะครับ)

วันนี้มุ่งหน้าบันทึก กำเมือง ไปยังกลุ่มสัตว์บกและสัตว์น้ำบ้าง ที่ออกเสียงเรียกขานเหมือนกันก็คงจะไม่ต้องกล่าวถึงหรอกนะครับ เอาเฉพาะที่เห็นว่ามีความคุ้นเคยและดูแตกต่างกันก็พอ ดังนี้...

คางคก = ขี้ค้างคาก /คางคก

"ขี้ค้างคากบ้านเฮานี่ตั๋วมันใหญ่เหน้าะ ยางในตั๋วมันใจ๊แก้ปิ๊ดตะขาบได้เหียเน่อ"

(คางคกบ้านเรานี้ตัวมันใหญ่นะ ยางในตัวของมันจ่วยแก้พิษของตะขาบได้เสียด้วย)

ลูกอ๊อด = อีฮวก/ อี่ฮวก

"บ้านเฮาบะเด่ว...เขาเบาะไขกิ๋นอี่ฮวกกั๋นแล้ว...เอาไว้หื้อมันแพ่พันธุ์"

(บ้านเราเดี๋ยวนี้...เขาไม่ค่อยกินลูกอ๊อดกันแล้ว...เอาไว้ให้มันขยายพันธุ์)

เขียดปาด = เขียดตะปาด

"แปกใจ๋ว่า..เขียดตะปาด..มันหยังมาซอบอยู่ในห้องน้ำแหมะใจ๋เหลาะ"

(แปลกใจว่า..ทำไมเขียดปาด..มันถึงชอบอยู่ในห้องน้ำจังเลยนะ)

ปลาไหล = ปลาเอี่ยน / ปลาเดี่ยน

"หม๊ดบ้านเฮานี่...บะมีไผหาป๋าเอี่ยนได้ดีเต่า..ป่อใหญ่นวยแหมแล้ว"

(คนทั้งหมู่บ้านเรานี้...ไม่มีใครที่จะหาปลาไหลได้เก่งเท่า..พ่อใหญ่นวยอีกแล้ว)

จิ้งเหลน = จั๊กเล่อ/ จ๊ะเล่อ

"ในหมู่บ้านเบาะมีป่าแพะจ๊ะตะก่อน...บะเด่วจั๊กเล่อมันปากั๋นมาอยู่ในบ้านคนเหียแล้วหน่ะ"

(หมู่บ้านของเราไม่มีสภาพเป็นป่าละเมาะเหมือนเมื่อก่อน...ตอนนี้จิ้งเหลนเลยพากันมาอยู่ในบ้านคนเสียแล้ว)

จิ้งจก = จั๊กกิ้ม /จี้กิ้ม

"ลองสังเกตผ่อหื้อดีนู่...บ้านเฮาบะเด่วจั๊กกิ้มมันหยังมานักแต้นักว่า"

(ลองสังเกตดูให้ดีนะ...บ้านเราเดี๋ยวนี้ทำไมมันมีจิ้งจกมากมายเหลือเกิน)

ตะกวด = แลน

"ฝนตกแล้วแดดออกจ๊ะอี้...ถ้าไผปาหมาไปล่าแลน..กะมีสิทธิ์ได้แหน้ ๆ ละ"

(ฝนตกแล้วแดดออกแบบนี้...หากใครพาหมาไปล่าตะกวด..มีสิทธิ์ได้แน่นอน)

ตุ๊กแก = ต๊กโต /ตกโต

"ต๊กโตบ้านเฮา...นอกจากจะฮ้องน่ากั๋วแล้ว...มันยังขี้เหม็นแถมก่อนเด้อ"

(ตุ๊กแกบ้านเรา...นอกจากจะร้องเสียงดังน่ากลัวแล้ว...มันยังขี้เหม็นอีกด้วย)

แย้ =แหย้

"ถ้ากันไผอยากไขได้แหย้ไปเลี้ยง...กะหื้อไปขอตี่สวนรุกฯบ้านแพะหั้นได้เลย..เปิ่นจะจับหื้อ...แต่ว่าต้องไปต๋อนหน้าแล้งเน่อ"

(ถ้าหากใครอยากได้แย้ไปเลี้ยง...ก็ให้ไปขอที่สวนรุกขชาติบ้านแพะได้เลย..เขาจะจับให้...แต่ว่าต้องไปตอนฤดูแล้งนะ)

ลองหันหน้าไปทางทุ่งนาหรือลงน้ำกันบ้างดีกว่านะ...เปลี่ยนบรรยากาศไปดูหอยหลากหลายชนิดกัน...

หอยขม(หอยนาลูกเล็ก) = หอยจูบ

ภาพจาก www.do2you.blogspot.com

"ออกแล้งแล้ว...หมู่แม่ฮยิงจั่งปากั๋นไปเซาะหาแสะหอยกั๋น...ตังบ้านไทยปุ้น"

(พอถึงฤดูแล้ง...พวกแม่บ้านมักจะพากันไปหาถากหอยกัน...ทางหมู่บ้านของคนไทย) หมายถึง หมู่บ้านแถวเขตอำเภอพิชัยห่างจากหมู่บ้านผมไปทางเขตพิษณุโลก

หอยโข่ง(หอยนาลูกใหญ่) = หอยอี่โว่

ภาพจาก http://ict4.moph.go.th/mophaccess/index.php

"หอยอี่โว่ ต๋ามต๊างนาบ้านเฮา...บะเด่วเบาะมีแล้ว...เพาะมันถูกหอยเชอรี่กิ๋นก๋ายพันธุ์ไปหม๊ด"

(หอยโข่ง ที่อยู่ตรงช่องระบายน้ำออกจากนาบ้านเรา...เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว...เพราะมันถูกหอยเชอรี่กินกลายพันธุ์ไปหมดแล้ว)

หอยกาบ (คล้ายหอยแมลงภู่ทะเล) = หอยอี่แง็บ

ภาพจากhttp://www.bansuanporpeang.com/node/16872

"ตี่แม่น้ำฮอกบ้านเฮาบะเด่ว...เบาะมีหอยอี่แง็บแหมแล้ว...เป๋นย้อนเขาลอกคองนี่ละ"

หอยนกเขา (คล้ายหอยหวานทะเล) = หอยเสียบ (ในภาพคือลูกเล็ก)

ภาพจาก http://www.siamfishing.com/content/view.php?nid=112659cat=article

"นอกจากจะเบาะมีหอยอี่แง็บแล้ว...หอยเสียบกะหาเบาะได้แหมเหมียนกั๋น...เบาะจักจะไปลอกคองฮยะหยังเหนาะ"

หอยกาบม้า (คล้ายหอยหวานทะเล) = หอยเล็บมือ

ภาพจาก http://www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=53284.400

"หอยเล็บมือตี่ก้นฝายเก่า...ตั๋มหมู่คองตี่เบาะได้ลอกนั้น...ฮยังมีหื้อหันและได้เก๊บมาแก๋งกันอยู่พ่อง...ส่วนตังบนฝายใหม่...เบาะถ้าถามหาละหม๊ดตี่เบาะมี"

บันทึกนี้คงพักเรื่องหอยไว้แต่เพียงนี้ ตามด้วยสำนวนหรือ กำหมะเก่า ปิดท้ายเพื่อการทรงจำสืบทอดกันต่อ ๆ ไป ดังนี้...

จ้าติว่าน้ำ บ่อหล้างเขียมปล๋า จ้าติว่านา บ่อหลอนไร้ข้าว

(ขึ้นชื่อว่า(แม่)น้ำ ไม่ร้างไร้ปลา ขึ้นชื่อว่านา ไม่มีหมดจากข้าว)

หมายถึง การที่คนเรามีความขยันขันแข็ง หนักเอาเบาสู้ มุมานะทำงานอย่างไม่ย่อท้อ ไม่มีทางที่จะอดอยาก ยากไร้ เหมือนกับน้ำที่มีปลา และนาที่ไม่ขาดจากข้าว

ใบบัวปกจ๊าง ต๊างนาซ่อนหอย

(ใบบัวปกช้าง ช่องระบายน้ำเข้าออกในนาซ่อนหอย)

หมายถึง คนเราจะทำอะไรไว้ไม่ว่า ดี หรือ ไม่ดี สิ่งเหล่านี้จะปรากฏให้เห็นเด่นชัดขึ้นสักวันจนได้ คล้ายกับสุภาษิตของไทยที่ว่า ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด ทางเหนือจะเสริมเข้าไปอีกคำหนึ่งว่า ต๊างนาซ่อนหอย ชี้ให้เห็นว่า ช่องตรงที่ระบายน้ำเข้าออกในนานั้นหอยขมและหอยโข่งมันชอบอาศัยอยู่ตรงนั้น จะซ่อนยังไงก็ซ่อนไม่ได้

เป็นสิ่งที่ชาวนาภาคเหนือเขาได้จากการสังเกตธรรมชาติและนำมาผูกเป็นคำสอนคนรุ่นต่อ ๆ มา นั่นแหละครับ

ที่มาของกำบะเก่าhttp://www.khonmuang.com/pages/gummagao10.htm

ฝากไว้ให้มิตรภาพทุกท่านได้ลองหัดอู้กั๋น และก็ลองนำเอาไปคุยเล่นกับเพื่อน ๆ ที่ทำงานให้เป็นที่สนุกสนานมีสาระกันก็ได้ครับ

ขอบคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ

ขอบคุณโกทูโนว์

หมายเลขบันทึก: 549542เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2013 10:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กันยายน 2013 16:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ปรับแก้เว้นวรรคไม่ได้ครับ แอดมิน

มีบางคำเรียกเหมือนภาษาอีสาน(บ้านผู้เขียน) ที่ต่างก็มี เช่น

คางคก เขียดปาด ลูกอ๊อด ปลาไหล แย้ ตะกวด เรียกเหมือนกัน

แต่

จิ้งเหลน อีสานเรียก ขี้โกะ

ตุ๊กแก อีสานเรียก กับแก้

จิ้งจก   เรียก ขี้เกี้ยม

ขอบคุณครับ

 

ขอบคุณคุณพ.แจ่มจำรัสมากนะครับที่ให้ข้อสังเกต  หากเราศึกษาประวัติศาสตร์ถึงรากเหง้าของกลุ่มคนไทในอดีตจากทางเหนือของไทย หรืออยู่ช่วงระหว่าง สิบสองปันนาลงมา รกรากภาษาไทยและลาวมีที่มาแห่งเดียวกัน  ไทยเหนือ ไทยอีสาน และลาว มีรากเหง้าอยู่ในกลุ่มเดียวกัน คำศัพท์สามารถฟังกันรู้เรื่อง เพี้ยนกันนิดหน่อย ตามสำเนียงของบรรพบุรุษที่พยายามให้ดูแตกต่าง เห็นได้จากคำศัพท์ที่ยกมาและที่ผมสังเกตเห็น เช่น

ซิ้น เท่ากับ  จิ๊น, ฮ้อน เท่ากับ ฮ้อน ,ฮักหรือมัก เท่ากับ ฮัก , ต่อน เท่ากับ ติ่น , ผ้าซิ่น เท่ากับ ซิ่น ฯลฯ หลากหลายคำศัพท์ที่ ไทยเหนือ ไทยอีสาน และลาว ใช้ตรงกัน

เป็นทัศนะส่วนตัวนะครับ ไม่ได้อิงวิชาการใด ๆ ส่วนใหญ่แล้วได้มาจากการพูด การอ่านและการสังเกตครับ

ขอบคุณครับ 

 

 ภาษาคำเมืองเหนือ ... อ่อนหวาน..ไพเราะ ... สงบ เย็น นะคะ ....

 

 

 

พยาม อ่านออกเสียงตาม ... ยังคง  ปัด-ปัด-เป๋-เป๋...ขัดหู ตัวเอง ยิ่งนัก///

แต่เมื่อฟัง "เจ้าถิ่น" เค้า   อู้กำเมืองกั๋น  ...ไย จึงเคลิ้ม จับไจ๋ แท้ เด๋อ.....

 

สวัสดี ด้วย อมยิ้ม ค่ะ

สวัสดีครับคุณหมอพี่เปิ้ล  ขอบคุณที่ให้คำชมมากครับ

ไปเที่ยวเชียงรายมาเหรอครับ เขายกให้เป็น "แขกแก้ว" นี่ไม่ธรรมดาแล้วนะครับ..ชื่นชม ๆ

สวัสดีครับอาจารย์จอย ขอบคุณที่เข้ามาอ่านและแสดงความคิดเห็น ลองหาฟังตัวอย่างที่เขาพูดกัน แล้วก็ลองฝึกไปพร้อม ๆ กันด้วยก็น่าจะดีนะครับ  เดี๋ยวผมจะมีตัวอย่างหนังสั้นมาให้ดูและลองฟังเสียง คั่นกับคำศัพท์ที่กำลังเขียนอยู่ในบันทึกต่อไปครับ

ขอบคุณอีกครั้งครับ

-สวัสดีครับ..

-ด้วยลักษณะกำอู้ของคนทางเหนือคล้ายกำภาษาลาว.ดังนั้นเมื่อผมมีโอกาสไปร่ำเรียนอยู่ที่อีสานยะฮื้อผมได้เปรีัยบเรื่องภาษาครับ 555

-ฟังเปิ้นกำเดียวกะเว่าได้....

-แต่เวลา"เว่าอีสาน"มีคนว่า"เว่าลาวเคิบ"ครับ...

-อันว่าเคิบ ผมคิดว่าน่าจะประมาณ เนิบนาบ หรือ บ่ค่อยลื่นหู น่ะครับ..

-หรือไผจะแปลว่าจะไดกะลองมาแลกเปลี่ยนได้ครับ..

-ขอบคุณครับ..

-เอา"แมงแก๋วลาว"มาฝากครับ...

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท