เทคนิคและวิทยาการจัดการเรียนรู้และสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้


    เทคนิคการจัดการเรียนรู้

1. การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน (Inquiry Method)
      การจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวนเป็นการฝึกให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้ด้วยกระบวนการคิดหาเหตุผลหรือแนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องด้วยตนเองโดยผู้สอนตั้งคำถามกระตุ้นให้   นักเรียนใช้ความคิดหาวิธีแก้ปัญหาได้เองและสามารถนำการแก้ปัญหานั้นมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน
     1.เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนสืบสวนสอบสวนความรู้หรือข้อเท็จจริงด้วยตนเอง
     2.เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดหาเหตุผล
     3.เพื่อฝึกให้นักเรียนรู้จักคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง
ขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน

ขั้นที่ 1 การสังเกต (Observation) หลังจากที่กำหนดประเด็นปัญหาแล้ว ให้นักเรียนสังเกตสภาพการณ์หรือสิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิดปัญหา พยายามนำความคิดรวบยอดเดิมมาแก้ปัญหาคิดหาเหตุผล จัดลำดับความคิดในรูปแบบต่างๆ ให้สอดคล้องสัมพันธ์กับสภาพการณ์อันเป็นปัญหานั้น
ขั้นที่
 2 การอธิบาย (Explanation) นักเรียนจัดระบบความคิด ตั้งสมมุติฐานเพื่ออธิบายความคิดรูปแบบต่าง ๆ ในการแก้ปัญหา ทบทวนความคิด และทำความเข้าใจปัญหานั้นๆ ให้ชัดเจน
ขั้นที่
 3 การทำนาย (Prediction) เมื่ออธิบายความคิดรูปแบบต่างๆ ในการแก้ปัญหา  
แล้วให้นักเรียนทำนายหรือพยากรณ์ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้อีกว่าเมื่อเกิดแล้วจะเกิดผล
และ
  แก้ไขอย่างไร
ขั้นที่
 4 การนำไปใช้และสร้างสรรค์ (Control and Creativity) นักเรียนสามารถนำเหตุผลและความเข้าใจในการแก้ปัญหาไปใช้ประโยชน์ให้กว้างไกลในชีวิตประจำวันได้ มีความคิดสร้างสรรค์และนำไปใช้ในสภาพการณ์อื่นๆ

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน
       1.นักเรียนสามารถใช้ความคิด สติปัญญาและประสบการณ์เดิมของตนเองอย่างมีอิสระ
       2.ช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเป็นคนช่างสังเกต มีเหตุผลไม่เชื่ออะไรง่ายๆ โดยไม่ตรวจสอบ
       3.นักเรียนเกิดความเชื่อมั่น กล้าแสดงความคิดเห็น

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน
1.ครูมีบทบาทสำคัญในการจัดการเรียนรู้แบบสืบสวนสอบสวน เนื่องจากครูต้องป้อนคำถามให้กับนักเรียนเพื่อนำไปสู่การคิดค้นคว้า
2.ครูต้องให้โอกาสนักเรียนทุกคนอภิปราย วางแผน และกำหนดวิธีการแก้ปัญหาเอง
3.ปัญหาที่กำหนดเพื่อสืบสวนสอบสวนไม่ควรยากเกินความสามารถของนักเรียนถ้าปัญหายากเกินไป ครูต้องเตรียมการสำหรับการร่วมแก้ปัญหาไว้ด้วย

2. การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน (Committee Work Method)

การจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ครูมอบหมายให้นักเรียนทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มร่วมมือกันศึกษาค้นคว้าหาวิธีการแก้ปัญหาหรือปฏิบัติกิจกรรมตามความสามารถ ความถนัด หรือความสนใจ เป็นการฝึกให้นักเรียนทำงานร่วมกันตามวิถีแห่งประชาธิปไตย

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน
     1.เพื่อให้นักเรียนมีความรับผิดชอบร่วมกันในการทำงานนั่นคือส่งเสริมการทำงานเป็นทีม
     2.เพื่อสร้างวัฒนธรรมในการทำงานร่วมกันอย่างมีระบบและมีระเบียบวินัย รู้จักทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี
    3.เพื่อฝึกทักษะในการแก้ปัญหาตามวิธีการวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยปฏิบัติงานทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
     4.เพื่อให้นักเรียนได้ทำงานตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ
     5.เพื่อให้นักเรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการทำงาน

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน
     1.ครูและนักเรียนร่วมกันกำหนดความมุ่งหมายของการทำงานในแต่ละกลุ่ม ขั้นตอนนี้เป็นขั้นที่กำหนดความมุ่งหมายและวิธีการทำงานอย่างละเอียด
     2.ครูเสนอแนะแหล่งวิทยาการที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้ ได้แก่ บอกรายละเอียดของหนังสือที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้านักเรียนร่วมกันวางแผนและปฏิบัติงานตามที่ได้รับมอบหมาย
    3.ครูและนักเรียนประเมินผลการทำงาน ในกรณีที่เป็นครูให้สังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในการปฏิบัติงาน ในกรณีที่เป็นนักเรียนให้ร่วมกันประเมินผลการปฏิบัติงานในกลุ่มตนเอง โดยบอกขั้นตอนการปฏิบัติงาน ผลที่ได้รับ และการพัฒนางานในโอกาสต่อไป

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน
      1.นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นของตนเองอย่างเต็มที่
      2.นักเรียนได้ทำงานตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจของตนเอง

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงาน
     1.ถ้าครูเพิ่งเริ่มจัดการเรียนรู้แบบแบ่งกลุ่มทำงานเป็นครั้งแรก ครูควรดูแลนักเรียนใกล้ชิด เช่น ต้องดูแลให้นักเรียนทุกคนทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย นักเรียนผู้ที่เป็นหัวหน้ากลุ่มทำหน้าที่ประสานงานระหว่างสมาชิกในกลุ่มและนอกกลุ่ม รวมทั้งประสานงานกับครู
    2.หน้าที่การเป็นหัวหน้ากลุ่ม ควรหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันตามโอกาส เพื่อฝึกการเป็นผู้นำ และการเป็นผู้ตามที่ดี
    3.การปฏิบัติกิจกรรมในกลุ่มควรปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อย่างเคร่งครัด

3. การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย (Inductive Method)
     การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยเป็นการจัดการเรียนรู้จากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์หรือจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์ นั่นคือ นักเรียนได้เรียนรู้ในรายละเอียดก่อนแล้วจึงสรุป ตัวอย่างของการจัดการเรียนรู้แบบนี้ ได้แก่ ให้โอกาสนักเรียนในการศึกษาค้นคว้า สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบแล้วพิจารณาค้นหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุป

ความมุ่งหมายของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย
     1.เพื่อให้นักเรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญๆ ด้วยตนเอง โดยการทำความเข้าใจความหมาย แล้วจึงสร้างความสัมพันธ์ของความคิดให้แจ่มแจ้งก่อนที่จะนำมาสรุปกฎเกณฑ์ ครูผู้สอนมีหน้าที่ในการกระตุ้นและให้แนวทางการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองของนักเรียน  
     2.เพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการสรุปหลักเกณฑ์จากรายละเอียดอย่างมีระบบ
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย
    1.ขั้นเตรียมนักเรียน เป็นการเตรียมความรู้และแนวทางในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียนด้วยการทบทวนความรู้เดิม กำหนดจุดมุ่งหมาย และอธิบายความมุ่งหมายให้เข้าใจ
    2.ขั้นเสนอตัวอย่างหรือกรณีศึกษาต่าง ๆ ให้นักเรียนพิจารณาเปรียบเทียบสรุปกฎเกณฑ์ได้ การเสนอตัวอย่างควรเสนอหลาย ๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้
   3.ขั้นหาองค์ประกอบรวม คือ การให้นักเรียนมีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบจากตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์
    4.ขั้นสรุปข้อสังเกตต่าง ๆ จากตัวอย่างเป็นกฎเกณฑ์ นิยาม หลักการ ด้วยตัวของนักเรียนเอง
    5.ขั้นนำข้อสรุปหรือกฎเกณฑ์สิ่งที่ได้จากการทดลองหรือสิ่งที่เข้าใจไปใช้ในสถานการณ์อื่น

ข้อดีของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย
    1.นักเรียนสามารถเข้าใจรายละเอียดและหาข้อสรุปได้อย่างแจ่มแจ้ง ทำให้จดจำได้นาน
    2.นักเรียนได้รับการฝึกทักษะการคิดตามหลักการเหตุผล และหลักวิทยาศาสตร์
    3.นักเรียนเข้าใจวิธีการในการแก้ปัญหาและสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ดี

 

ข้อสังเกตของการจัดการเรียนรู้แบบอุปนัย
    1.ในการสอนแต่ละขั้น ครูไม่ควรเร่งรัดเวลาในการปฏิบัติกิจกรรมของนักเรียน ควรให้โอกาสในการคิดอย่างอิสระ
     2.ครูควรสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอนที่ไม่เป็นทางการบ้างเพื่อลดความเครียดและความเบื่อหน่าย
    3.การจัดการเรียนรู้แบบอุปนัยจะให้ผลสัมฤทธิ์สูง ถ้าครูทำความเข้าใจทุกขั้นตอนอย่างดีก่อนจัดการเรียนรู้

 

      การจัดการสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากบุคคลหลายฝ่ายแต่ที่สำคัญที่สุดคือสิ่งแวดล้อมในห้องเรียนเราเนื่องจากเราเป็นผู้ดูแลจะต้องรับผิดชอบและใรส่วนอื่นๆงทั้งโรงเรียนและชุมชนตั้งแต่ผู้บริหาร ครูอาจารย์ นักเรียน โดยเราควรจัดการสิ่งแวดล้อมทั้งทางกายภาพและทางตัวบุคคล ทางกายภาพ ได้แก่ ในห้องเรียน ทางตัวบุคคล ได้แก่ บุคลิกภาพของครู การจัดชั้นเรียนของครู การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับเด็ก การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและโรงเรียนให้ผู้ปกครองมองโรงเรียนในแง่บวกและอยาจะฝากลูกหลานกับเราอย่างมั่นใจ ดังนั้นการนำเอาเทคนิคและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยกัยผสมผสานและจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมก็จะทำให้เด็กมีการเรียนรู้ที่ดีอย่างแน่นอน

 

อ้างอิง

http://www.sahavicha.com/?name=article&file=readarticle&id=158

หมายเลขบันทึก: 549265เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2013 19:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท