กัลป์ในทางพระพุทธศาสนา


กัลป์

ความหมายของกัลป์

          พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ อธิบายคำว่า กัลป์ ไว้ว่า กาลกำหนด, กำหนดอายุของโลก, ระยะเวลายาวนานเหลือเกินที่กำหนดว่าโลกคือสกลจักรวาลประลัยครั้งหนึ่ง ท่านให้เข้าใจด้วยอุปมาว่า เปรียบเหมือนมีภูเขาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง ด้านละ 1 โยชน์ ทุก 100 ปี มีคนนำผ้าเนื้ออย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง จนกว่าภูเขานั้นจะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยาวนานกว่านั้น” (พระพรหมคุณาภรณ์, 2551: 10)

ประเภทของกัลป์

          พระพรหมคุณาภรณ์ (2551: 10-11) อธิบายคำว่า กัลป์ ซึ่งได้แก่ มหากัลป์ อสงไขยกัลป์ อันตรกัลป์ สุญกัลป์ และอสุญกัลป์ ว่า

          1. มหากัลป์ กัลป์ใหญ่ คือ กำหนดอายุของโลกอันหมายถึงสกลพิภพ

          2. อสงไขยกัลป์ คือ กัลป์อันนับเวลามิได้ คือ ส่วนย่อยแห่ง 4 มหากัลป์ ได้แก่

                   - สังวัฏฏกัลป์ กัลป์เสื่อม คือ ระยะกาลที่โลกเสื่อมลงจนถึงวินาศ

                   - สังวัฏฏฐายีกัลป์ ระยะกาลที่โลกพินาศแล้วทรงอยู่

                   - วิวัฏฏกัลป์ กัลป์เจริญ คือ ระยะกาลที่โลกกลับเจริญขึ้น

                   - วิวัฏฏฐายีกัลป์ คือ ระยะกาลที่โลกเจริญแล้วทรงอยู่

          3. อันตรกัลป์ คือ กัลป์ในระหว่าง ได้แก่ ระยะกาลที่หมู่มนุษย์เสื่อมจนส่วนใหญ่พินาศแล้ว ส่วนที่เหลือดีขึ้นเจริญขึ้นและมีอายุยืนยาวจนถึงอสงไขย แล้วกลับทรามเสื่อมลง อายุสั้นลง จนเหลือเพียงสิบปีแล้วพินาศ ครบรอบนี้เป็นอันตรกัลป์หนึ่ง 64 อันตรกัลป์เป็น 1 อสงไขยกัลป์

          4. สุญกัลป์  กัลป์ที่ว่างเปล่า คือ กัลป์ที่ไม่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ (รวมทั้งไม่มีพระปัจเจกพุทธเจ้า พระพุทธสาวกและพระเจ้าจักพรรดิราชด้วย)

          5. อสุญกัลป์  กัลป์ไม่สูญ คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ มี 5 ประเภทคือ

                   - สารกัลป์ (กัลป์ที่มีสาระขึ้นมาได้โดยมีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้ามาอุบัติ 1 พระองค์

                   - มัณฑกัลป์ (กัลป์เยี่ยมยอด) คือ กัลป์ที่พระพุทธเจ้าอุบัติ 2 พระองค์

                   - วรกัลป์ (กัลป์ประเสริฐ) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 3 พระองค์

                   - สารมัณฑกัลป์ (กัลป์ที่มีสาระเยี่ยมยอดยิ่งกว่ากัลป์ก่อน) คือ กัลป์ที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 4 พระองค์

                   - ภัทรกัลป์ (กัลป์ที่เจริญหรือกัลป์ที่ดีแท้) คือ กัลป์ที่พระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์ (กัลป์ปัจจุบันที่มีพระพุทธเจ้าอุบัติ 5 พระองค์ คือ พระกกุสันธะ พระโกนาคมน์ พระกัสสปะ พระโคตมะ ที่อุบัติแล้วและพระเมตไตรย์ที่จะอุบัติต่อไป)

สัตถันตรกัลป์ ทุพพิกขันตรกัลป์และโรคันตรกัลป์

          ทั้งสัตถัน ทุกพิกขและโรคัน ล้วนสนธิกับคำว่า อันตรกัลป์ ซึ่งหมายถึง การวินาศของสัตว์โลกอันเนื่องมาจาก สัตถัน (อาวุธ) ทุพพิกขะ (ความอดอยาก) โรคะ (โรคภัยไข้เจ็บ) ระยะเวลาแห่งการเกิดการเกิดสัตถันตรกัลป์ โรคันตรกัลป์  และทุพพิกขันตรกัลป์ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี และเต็มไปด้วยกิเลส ซึ่งมีอยู่ 3 อย่าง คือ ราคะ โทสะ และโมหะ หากมนุษย์มีความกิเลสหนักไปในทางใด ก็จะบังเกิดเป็นไปในลักษณะต่าง ๆ ดังนี้

          1) สัตถันตรกัลป์สาเหตุของการเกิดสัตถันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยโทสะ ความอาฆาตพยาบาทซึ่งกันและกัน การผูกเวรต่อกัน ไม่ยำเกรงเคารพในบิดา มารดา ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ฆ่าผู้มีพระคุณ ล่วงประเวณี บิดา มารดา ญาติพี่น้องของตน บัดนั้นมนุษย์ทั้งปวงจึงหยิบอาวุธขึ้นประหัตประหารกันตายเกลื่อนแผ่นดิน มีระยะเวลา 7 วัน สัตว์ส่วนใหญ่ที่ตายไปบังเกิดในจตุราบายเพราะอำนาจของโทสะเป็นหลัก (กรมศิลปากร เล่ม 1, 2520: 88)

          2) โรคันตรกัลป์  สาเหตุของโรคันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยราคะ โรคาพยาธิต่าง ๆ ก็บังเกิดแก่มนุษย์ สัตว์ทั้งหลายก็ล้มตายกลาดเกลื่อนทั่วแผ่นดินชมพูทวีป มีระยะเวลาการเกิด 4 เดือน สัตว์ที่ตายด้วยโรคันตรกัลป์ไปบังเกิดยังสวรรค์โดยมากเพราะเหตุที่มีเมตตาจิตต่อกัน (อานุภาพเมตตา) (กรมศิลปากร เล่ม 1, 2520: 93)

          3) ทุพภิกขันตรกัลป์สาเหตุของทุพภิกขันตรกัลป์ คือ เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปมีอายุขัย 10 ปี เต็มไปด้วยโมหะ สัตว์ทั้งปวงก็ตายด้วยความอดอยากอาหารกลาดเกลื่อนไปทั่วแผ่นดินชมพูทวีป มีระยะเวลาการเกิด 7 เดือน สัตว์ที่ตายด้วยทุพภิกขันตรกัลป์ส่วนใหญ่ไปเกิดในเปตวิสัยเนื่องจากเต็มไปด้วยความอยากในอาหาร (กรมศิลปากร เล่ม 1, 2520: 93)

          ในพระไตรปิฎก จักวัตติสูตร ศาสนาพระพุทธเจ้าโคดมพระองค์ปัจจุบันมีอายุ 5000 ปี (คือ พ.ศ. 5000) เมื่อถึงเวลานั้นมนุษย์จะไม่รู้บาปรู้บุญ ทำอนาจารกับพ่อ แม่ พี่น้อง ญาติ ครูบาอาจารย์ตนเองประดุจสัตว์เดรัจฉาน มนุษย์จะมีอายุขัยเพียง 10 ปี เมื่อมีอายุ 5 ปีจะสมรสเป็นสามี ภรรยากัน เมื่อนั้นจะบัง “สัตถันตรกัลป์” คือ การฆ่าฟันกันด้วยอาวุธ หยิบจับสิ่งใดก็เป็นอาวุธประหัตประหารซึ่งกันและกันอันเนื่องมาจากโทสะที่แรงกล้าเป็นสาเหตุ ระยะเวลาที่เกิดคือ 7 วัน บุคคลผู้มีปัญญาจะไม่หลบซ่อนตามป่าเขาเมื่อพ้น 7 วันแล้วก็ออกมาแล้วเห็นผลของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต่างพากันสมาน “กุศลกรรมบท 10 ประการ” อายุของลูกหลานพวกเขาเหล่านั้นจึงเจริญขึ้นเรื่อยๆ จนถึงอสงไขยแล้วอายุลดลงมาเหลือ 80,000 ปีก็จะมีพระศรีอาริยเมตไตรย์ลงมาอุบัติพร้อมกับพระเจ้าสังขจักรพรรดิราช

ไฟบรรลัยกัลป์

            หรือกัลป์วินาศด้วยไฟ ในพระไตรปิฎก สัตตสุริยสูตร กล่าวถึงกัลป์วินาศด้วยไฟ พระพุทธเจ้าทรงตรัสถึงสมัยที่มีพระอาทิตย์ขึ้น 7 ดวงว่า เมื่อเวลาล่วงไป ฝนไม่ตก พืชพรรณต่างๆ เหี่ยวเฉาตายไป จึงเกิดพระอาทิตย์ขึ้นดวงที่ 2 แม่น้ำลำคลองก็จะแห้งเหือดไปทั้งหมด เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 3 แม่น้ำปัญจมหานที คือ คงคา ยมมุนา อจิรวดี สรภูและมหิ จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 4 สระใหญ่ต่างๆ เช่น อโนดาต กุณาลา มันทกินิยะ เป็นต้น ก็จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 5 น้ำในมหาสมุทรจะเหือดแห้งไปเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 6 แผ่นดินทั้งหลายและเขาพระสุเมรุจะเกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 7 จึงบังเกิดเปลวไฟเผาผลาญสรรพสิ่ง ไฟที่เผาผลาญนี้จะไม่มีเถ้าถ่านเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว

          คัมภีร์โลกทีปกสาร กล่าวถึงกัลป์วินาศด้วยไฟ ว่า 100,000 ปี ก่อนเกิดไฟบรรลัยกัลป์ เทวดาสวรรค์ฉกามาพจรชื่อ โลกพยุหะ นุ่งผ้าแดง พลางร้องไห้มาประกาศกับหมู่มนุษย์ว่าอีก 100,000 ปีจะเกิดไฟบรรลัยกัลป์ พวกท่านจงเร่งทำกุศลก็จะพ้นจากไฟบรรลัยกัลป์ เมื่อครบ 100,000 ปี ฝนไม่ตกเป็นระยะเวลานาน จึงเกิดพระอาทิตย์ขึ้นดวงที่ 2 แม่น้ำลำคลองก็จะแห้งเหือดไปทั้งหมด เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 3 แม่น้ำปัญจมหานที คือ คงคา ยมมุนา อจิรวดี สรภูและมหิ จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 4 สระใหญ่ต่างๆ เช่น อโนดาต กุณาลา มันทกินิยะ เป็นต้น ก็จะเหือดแห้งไป เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 5 น้ำในมหาสมุทรจะเหือดแห้งไปเหลือเพียงนิดเดียวเท่านั้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 6 แผ่นดินทั้งหลายและเขาพระสุเมรุจะเกิดกลุ่มควันพวยพุ่งขึ้น เมื่อบังเกิดพระอาทิตย์ดวงที่ 7 จึงบังเกิดเปลวไฟเผาผลาญสรรพสิ่งไปจนถึงพรหมชั้นอาภัสสราไฟที่เผาผลาญนี้จะไม่มีเถ้าถ่านเหลืออยู่แม้แต่นิดเดียว

          กัลป์วินาศด้วยน้ำและลมผมจะไม่ขอกล่าวถึงเพราะเป็นไปในลักษณะเดียวกันแต่เปลี่ยนเป็นลมและน้ำเท่านั้น (ทั้งหมดนี้สกัดจากความรู้บางส่วนในวิทยานิพนธ์เรื่อง “ไตรภูมิฉบับหอสมุดแห่งชาติกรุงปารีส: ความสัมพันธ์ระหว่างคติพุทธกับพราหมณ์-ฮินดู” วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวรรณคดีไทย บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร. เสาวณิต  วิงวอน เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา)

ในหัวข้อต่อไปผมจะอธิบายเกี่ยวกับยุคพระศรีอาริเมตไตรย์และคุณธรรมสำคัญที่เป็นปัจจัยให้มนุษย์มีอายุยืนหรือลดลงนั่นคือ “กุศลกรรมบท 10” และ “อกุศลกรรมบท 10”

เอกสารอ้างอิง

พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตโต). 2551. พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ. 2549. พระบาลีสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม 10. กรุงเทพฯ: อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง

ธรรมปรีชา, พระยา. 2520. ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา ฉบับที่ 2 (ไตรภูมิฉบับหลวง) เล่ม 1. กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 549255เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2013 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 17:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชอบเรียนได้ไง แม่ว่ายากจะตาย คริๆ

คงเป็น "ของเก่า" ในภพอดีตที่ติดตัวมาครับแม่ 

เขียนได้ละเอียดมาก

ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท